ร่องรอยลัวะเมืองสันกำแพง : ป่าดงปงไหว

ร่องรอยลัวะเมืองสันกำแพง : ป่าดงปงไหว

 

ชาวบ้านที่อาศัยในเขตเขาสูงทางภาคเหนือหลายพื้นที่ต่างมีความเชื่อว่าเจ้าของพื้นที่ดั้งเดิมก่อนพวกตนจะเข้ามาอาศัยหาอยู่หากินก็คือ กลุ่มชาวลัวะ เช่นเดียวกับชาวบ้านที่อาศัยทางฟากตะวันออกติดเขตเขาสูงของอำเภอสันกำแพงก็มีเรื่องเก่าที่เล่าสืบต่อกันมาว่า พวกตนสืบเชื้อสายมาแต่บรรพบุรุษผู้เป็นชาวลัวะซึ่งถิ่นฐานเดิมก่อนอพยพลงสู่ที่ราบของชาวลัวะเหล่านั้นถูกเรียกรวมว่า ป่าดงปงไหว อยู่ห่างจากกู่ลัวะ ศาสนสถานสมัยล้านนาเรืองอำนาจมาทางทิศตะวันออกประมาณ 800 เมตร

 

ตำแหน่งที่ตั้งของป่าดงปงไหว (ที่มา : Google Map) 

 

 

เส้นทางศึกษาธรรมชาติบริเวณป่าดงปงไหว

 

ป่าดงปงไหว เป็นภาษาล้านนา หมายถึง ผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ที่มีดินพรุ ซึ่งผิวดินจะสั่นสะเทือนเมื่อมีคนเดินเข้าไปใกล้ๆ ป่าดงปงไหวอยู่ถัดจากช่องกิ่วแฮ่หรือช่องหินแฮ่ หมายถึง หินแร่หรือแร่เหล็ก ช่องกิ่วแฮ่เป็นช่องเขาแคบๆ จากกู่ลัวะข้ามช่องกิ่วแฮ่มาทางทิศตะวันออกราว 800 เมตร จะถึงบริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า ป่าดงปงไหว ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตสวนพฤกษศาสตร์ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่บ้านป่าตึง ตำบลห้วยทราย และบ้านม่วงเขียว ตำบลร้องวัวแดง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ โดยทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาขุนตาลหรือเทือกเขาผีปันน้ำตะวันตก

 

ปงไหว เป็นพื้นที่ที่ดินด้านบนจะอ่อนนุ่มเป็นพิเศษ ต้นไม้ใหญ่ไม่สามารถขึ้นได้ มีเพียงวัชพืชและพืชขนาดเล็กขึ้นปกคลุมเท่านั้น

ชาวบ้านให้ความสำคัญกับพื้นที่บริเวณปงไหวมากจนนำมาตั้งเป็นเรียกพื้นที่รวมว่า ป่าดงปงไหว

 

ชิ้นส่วนขี้แร่และตะกรันเหล็กที่พบบริเวณแหล่งเตาหลอมเหล็ก

 

ชิ้นส่วนขี้แร่และตะกรันเหล็กที่พบบริเวณแหล่งเตาหลอมเหล็ก

 

ปัจจุบันป่าดงปงไหว (พิกัด 18.753952, 99.188533) นับเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ผืนใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ ปกคลุมไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยหนาแน่น ด้านในมีตาน้ำธรรมชาติหลายแห่งซึ่งล้วนเป็นต้นกำเนิดทางน้ำเล็กๆ ที่ไหลหล่อเลี้ยงพื้นที่รอบๆ ชาวบ้านไม่เพียงเข้าไปใช้ประโยชน์ด้วยการหาของป่าและพืชสมุนไพรตามฤดูกาลเท่านั้น แต่เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ชาวบ้านในพื้นที่ได้ร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นผลักดันให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยวทางธรรมชาติซึ่งมีจุดแวะพักเที่ยวชมที่กำหนดขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่ทางธรรมชาติในบริเวณนั้น บ้างกำหนดให้สอดคล้องกับโบราณวัตถุที่พบซึ่งเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของกลุ่มคนลัวะซึ่งเชื่อว่าเป็นเจ้าของพื้นที่ดั้งเดิม ได้แก่ แหล่งเตาหลอมเหล็ก (พิกัด 18.753889, 99.187805) ตั้งอยู่บริเวณชายเขาใกล้ลำห้วย พื้นที่นี้มีขนาดประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร บนผิวดินรอบๆ พบขี้แร่และตะกรันจากการถลุงเหล็กหลายขนาดกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ชาวบ้านเล่าต่อกันมาว่า คนลัวะจะหลอมเหล็กในบริเวณนี้แล้วนำไปเหล็กที่ได้ไปส่งที่พันนาปูคาและพันนาแช่ช้างซึ่งปัจจุบันคือ ตำบลแม่ปูคา และตำบลแช่ช้าง เหล็กเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับตีดาบ หอก และเครื่องมือจำเป็นต่างๆ อย่างไรก็ดีจากการสำรวจเบื้องต้นยังไม่พบร่องรอยเตาถลุงเหล็กในพื้นที่

 

ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่พบบนผิวดินบริเวณลานสังคโลก

 

ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่พบบนผิวดินบริเวณลานสังคโลก

 

ข่วงเจิง (พิกัด 18.753646, 99.190151) เชื่อว่าคนสมัยก่อนใช้เป็นที่ฝึกสอนมวย ชาวบ้านจึงนำรูปปั้นชายฉกรรจ์ในท่วงท่ากำลังประลองหมัดมวยมาตั้งไว้เป็นสัญลักษณ์ ลานสังคโลก (พิกัด 18.753875, 99.189970) อยู่ใกล้ลำห้วยเล็กๆ 2 สายซึ่งไหลลงมาจากเขาสูง บนพื้นผิวดินในบริเวณนี้พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผากระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ทั้งชิ้นส่วนภาชนะดินเผาประเภทเนื้อดินธรรมดาและเนื้อแกร่ง บางชิ้นจากเตาเวียงกาหลง บ้างจากเตาสันกำแพงปะปนอยู่กับชิ้นส่วนเศษอิฐแตกหัก ชาวบ้านเล่าว่าเคยมีผู้พบเห็นเตาเผาภาชนะลักษณะเดียวกับเตาเผาภาชนะตรงข้ามวัดเชียงแสน ตั้งอยู่ลึกเข้าไปในพื้นที่ป่า แต่ปัจจุบันพังทลายลงหมดแล้ว ไม่สามารถระบุตำแหน่งได้ นอกจากนั้นชาวบ้านบางคนยังเล่าว่า เคยพบชิ้นส่วนกล้องสูบยาดินเผาในบริเวณนี้ด้วย

 

รูปปั้นนักรบโบราณกำลังประลองวิชาหมัดมวยที่ลานข่วงเจิง

 

สภาพพื้นที่บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าดงปงไหว

 

ลึกเข้าไปทางทิศตะวันออกตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ จะพบจอผีหมา (พิกัด 18.754548, 99.194098) ตั้งอยู่ริมลำห้วยสายเล็กซึ่งไม่ห่างจากตำแหน่งที่เป็นต้นน้ำมากนัก ชาวบ้านเชื่อว่าพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นสถานที่ประกอบพิธีบูชายัญมาแต่โบราณด้วยการนำสุนัขดำมาฆ่าที่นี่ เป็นการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์และร้องขอให้เกิดความสงบสุข ฝนตกต้องตามฤดูกาล จันทร์ฉาย ธิมโน มัคคุเทศก์ท้องถิ่นผู้นำชมในครั้งนี้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “พิธีบูชายัญทำสืบต่อกันมานาน แม้จะเลิกไปเมื่อกว่า 20 ปีก่อน เพราะถูกสังคมมองว่าเป็นการทรมานสัตว์ แต่ในช่วงแรกก็ยังมีชาวบ้านที่เคยร่วมพิธีแอบมาประกอบพิธีบ้าง เชื่อว่าหากไม่ทำพิธีดังเดิมจะเกิดอาเพศ แต่สุดท้ายก็ต้องค่อยๆ เลิกไป ทุกวันนี้จะมีก็แค่ชาวบ้านที่นับถือพากันนำเครื่องเซ่นของไหว้มาตั้งบูชาที่นี่เท่านั้น ไม่มีการฆ่าสุนัขดำเพื่อบูชายัญอีก” ถัดออกมาไม่ไกลจากจอผีหมามีตาน้ำ 1 แห่ง ชาวบ้านเรียกว่า ตาน้ำจอผีหมา (พิกัด 18.754111, 99.194093) เล่าว่าน้ำในตาน้ำแห่งนี้ไม่เคยเหือดแห้ง

 

จอผีหมา เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านในอดีตใช้เป็นสถานที่สำหรับประกอบพิธีบูชายัญ

ปัจจุบันมีการปั้นรูปสุนัขดำไว้เป็นสัญลักษณ์

 

หนึ่งในตาน้ำธรรมชาติใกล้จอผีหมา ชาวบ้านเล่าว่าน้ำในตาน้ำนี้ไม่เคยเหือดแห้งลง

 

‘น้ำบ่อยา’ ใกล้ปงไหวยังมีน้ำซึมขึ้นมาตลอดทั้งปี ชาวบ้านในพื้นที่นิยมเดินทางมาตักน้ำจากน้ำบ่อยานี้ไปดื่มกิน

เชื่อว่าเป็นน้ำบริสุทธิ์ที่สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้หายได้

 

บนเส้นทางศึกษาธรรมชาตินี้ มีบ่อน้ำซับที่ชาวบ้านเรียกว่าน้ำบ่อยาอยู่หลายแห่ง บางแห่งน้ำแห้งขอด บางแห่งยังมีน้ำซับขึ้นมาเป็นแอ่งน้ำมากน้อยต่างกันไป โดยข้างน้ำบ่อยาแต่ละแห่งจะพบศาลศักดิ์สิทธิ์ขนาดเล็กตั้งอยู่คู่กันเสมอ ตัวอย่างน้ำบ่อยาที่ยังมีน้ำซับซึมขึ้นมา ได้แก่ น้ำบ่อยาปงไหว อยู่ไม่ไกลจากปงไหว ชาวบ้านนิยมตักน้ำบ่อยาไปดื่มกิน เชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ช่วยรักษาให้หายขาดจากโรคภัยต่างๆ ได้ เพราะเป็นน้ำสะอาดที่ไหลซึมผ่านรากไม้สมุนไพรต่างๆ ขึ้นมา ใกล้กันคือ ปงไหว (พิกัด 18.751916, 99.191436) มีลักษณะเป็นเวิ้งน้ำกว้าง ด้านบนมีวัชพืชขึ้นปกคลุมหนาแน่น คุณจันทร์ฉายเล่าว่า “ดินบางช่วงในปงไหวอ่อนนุ่ม ถ้าเดินไปใกล้ๆ พื้นจะสั่นไหว สมัยก่อนมีชาวบ้านนำวัวควายมากินหญ้าบริเวณนี้ วัวควายหลายตัวพลัดตกลงไปในดินนุ่มนั้นก็มี” ด้วยความเป็นพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์พิเศษจึงกลายมาเป็นที่มาของชื่อเรียกป่าดงปงไหว เป็นสัญลักษณ์สำคัญของพื้นที่ในบริเวณนี้

 

ศาลศักดิ์สิทธิ์ขนาดเล็กซึ่งมักพบตามใต้ต้นไม้ใหญ่ และบริเวณน้ำบ่อยา พบหลายแห่งบนเส้นทางนี้

 

ศาลศักดิ์สิทธิ์ขนาดเล็กซึ่งมักพบตามใต้ต้นไม้ใหญ่ และบริเวณน้ำบ่อยา พบหลายแห่งบนเส้นทางนี้

 

ศาลาประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็ก ไม่ไกลจากปงไหว

ตั้งอยู่ใกล้อาคารโถงขนาดย่อมที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักสำหรับนักปฏิบัติธรรมผู้ต้องการปลีกวิเวก

 

อย่างไรก็ดี นอกจากจุดแวะชมที่กล่าวมาแล้ว ยังมีจุดแวะชมที่อยู่บนเส้นทางศึกษาธรรมชาตินี้อีกหลายจุด เช่น ไร่ลุงแสน เถาวัลย์สวย หินสามเส้า ถ้ำวัว นาน้อย และลานไม้หอม เป็นต้น ศรัณยู จันทรา ชาวบ้านในพื้นที่และสมาชิกสภา อบต.ร้องวัวแดง ให้ข้อมูลที่ได้ยินคนเฒ่าคนแก่เล่าต่อกันมาว่า “...คนลัวะที่อาศัยบนที่สูงแถบนี้เป็นทหารของพ่อขุนหลวงวิลังคะ ลูกหลานซึ่งเป็นคนลัวะอาศัยอยู่สืบต่อกันมา ปู่ของผมเล่าจากที่ได้ยินมาว่า นับย้อนไปเมื่อราว 300 ปีก่อน มีครอบครัวลัวะ 5 ครอบครัว พวกเขาใส่เครื่องประดับเต็มตัว ทำให้เวลาเดินไปไหนมาไหนจะมีเสียงดังเป็นสัญญาณบอก ลูกหลานที่สืบต่อมาเช่น พวกนามสกุลอินตาแก้ว คำปัน การคำ ในสมัยต่อมาพื้นที่ในป่าแถบนี้ยังเคยเป็นหนึ่งในสถานที่พักแรมของบรรดาพ่อค้าวัวต่างม้าต่างด้วย”

 

จุดแวะชมบริเวณไร่ลุงแสนซึ่งตั้งชื่อตามบุคคลสำคัญในพื้นที่

 

สภาพพื้นที่บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าดงปงไหว

 

(ส่วนหนึ่งในโครงการเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์สังคมเมืองสันกำแพงโบราณและแหล่งหัตถกรรมสันกำแพง ร่วมกับ Spark U Lanna)      

 


เกสรบัว อุบลสรรค์

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ