บุญบั้งไฟ เป็นงานบุญใหญ่ของชาวอีสานที่สืบทอดกันมาเนิ่นนาน จัดขึ้นในเดือน 6 อันเป็นช่วงเริ่มการทำนา ถือเป็นหนึ่งใน “ฮีตสิบสอง” หรือประเพณี 12 เดือนของชาวอีสาน ประเพณีแห่บั้งไฟสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติคือ พญาแถน หรือ ผีฟ้า ผู้คอยดูแลเรื่องฟ้าฝนที่จะตกลงมาสู่โลกมนุษย์
รถแห่บั้งไฟน้อยของชาวบ้านในอีสาน เมื่อราวปี พ.ศ. 2519 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
ในความเชื่อของชาวอีสาน การจุดบั้งไฟพุ่งทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าก็เพื่อบูชาพญาแถน ขอให้ช่วยดลบันดาลให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านจะได้มีน้ำเพียงพอสำหรับทำนาข้าว ซึ่งความเชื่อเกี่ยวกับผีฟ้าพญาแถนนั้น ยังเกี่ยวพันกับนิทานและตำนานทางภาคอีสานด้วย ได้แก่ เรื่องผาแดง-นางไอ่ และ พญาคันคาก
ในนิทานเรื่อง ผาแดง-นางไอ่ กล่าวถึงพญาขอมหลวง ผู้ครองเมืองเอกธีตาหรือหนองหาน มีพระธิดาผู้มีรูปโฉมงดงามชื่อว่านางไอ่คำ ตอนหนึ่งของนิทานเล่าว่าพญาขอมหลวงคิดสร้างบุญกุศลใหญ่ จึงเชิญชวนให้บ้านเมืองต่างๆ ที่ตั้งอยู่โดยรอบทำบั้งไฟมาประชันกันในช่วงงานบุญเดือน 6 เมื่อถึงวันงานบุญบั้งไฟ ชาวเมืองต่างๆ ที่ตั้งอยู่ทั้งสี่ทิศของเมืองหนองหาน ต่างพากันแห่แหนขบวนบั้งไฟมาร่วมอย่างเนืองแน่นจนเต็มทุ่งนาหลวง รวมถึงท้าวผาแดงแห่งเมืองผาโพงที่แอบมาลักลอบได้เสียกับนางไอ่คำ บั้งไฟแสนของท้าวผาแดงมีขนาดใหญ่และงดงาม ทำให้พญาขอมหลวงถูกใจอยากได้ท้าวผาแดงมาเป็นเขย จึงชวนเสี่ยงทายว่าหากบั้งไฟของท้าวผาแดงยิงขึ้นฟ้าแล้วไม่แตกจะยกพระธิดาและบ้านเมืองให้ ท้าวผาแดงทูลกลับว่าหากบั้งไฟของตนเองแตกก่อน ก็จะยกเมืองผาโพงให้พญาขอมหลวงเช่นกัน แต่เมื่อถึงวันจุดบั้งไฟ บั้งไฟของพญาขอมหลวงและท้าวผาแดงต่างจุดไม่ขึ้นทั้งคู่ คำพูดที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้จึงเป็นโมฆะ
รถแห่บั้งไฟน้อยของชาวบ้านในอีสาน เมื่อราวปี พ.ศ. 2519 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
ตำนานอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเพณีบุญบั้งไฟคือ พญาคันคาก มีเรื่องเล่าว่า พญาคันคาก เป็นบุตรของนางสีดาและพญาเอกราช เจ้าเมืองชมพู แรกเกิดมีรูปร่างเป็นคางคก หากแต่เป็นผู้มีบุญญาธิการ เมื่อเติบใหญ่ได้ครองราชสมบัติเป็นพญาคันคาก ปกครองบ้านเมืองจนเจริญรุ่งเรือง ทำให้ชาวเมืองและสรรพสัตว์น้อยใหญ่ต่างให้ความเคารพศรัทธากราบไหว้บูชา จนพากันหลงลืมพญาแถนไปเสียหมด เหตุนี้พญาแถนที่อยู่บนเมืองฟ้าพิโรธมาก จึงดลบันดาลให้ฝนไม่ตกลงมายังโลก แผ่นดินแห้งแล้ง ผู้คนอดอยากล้มตายกันถ้วนหน้า
พิพิธภัณฑ์พญาคันคาก จังหวัดยโสธร ออกแบบภายนอกอาคารเป็นรูปตัวคันคากหรือคางคก
พิพิธภัณฑ์พญานาค ตั้งอยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑ์พญาคันคาก จังหวัดยโสธร
พญาคันคากเห็นเช่นนี้ จึงลงไปหาพญานาคที่เมืองบาดาลเพื่อถามหาสาเหตุ พญานาคกล่าวว่าเป็นเพราะพญาแถนโกรธที่ผู้คนเคารพกราบไหว้พญาคันคากมากกว่า พญาคันคากจึงให้พญานาคทำถนนขึ้นไปถึงเมืองพญาแถน และนำทัพสัตว์ใหญ่น้อยต่างๆ ขึ้นไปท้ารบกับพญาแถน การรบพุ่งดำเนินไปกระทั่งในที่สุดพญาแถนก็พ่ายแพ้ให้พญาคันคาก พญาคันคากสั่งให้พญาแถนบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล พร้อมกันนั้นได้นำพันธุ์ข้าวจากเมืองฟ้าลงมาปลูกยังโลกมนุษย์ด้วย ซึ่งพญาแถนถามกลับมาว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไรจะถึงเวลาที่ต้องปล่อยน้ำฝนลงมายังโลกมนุษย์ พญาคันคากจึงตอบไปว่าเมื่อถึงเวลาจะให้พญานาคเกาะขึ้นไปกับบั้งไฟ หากเห็นพญานาคที่มากับบั้งไฟเมื่อใด ก็จงบันดาลให้เกิดฝนตกทันที ดังนั้น “บั้งไฟ” ที่จุดขึ้นฟ้าจึงเป็นดั่งสัญญาณที่พญาคันคากใช้บอกเตือนแก่พญาแถนว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องปล่อยน้ำจากฟ้าลงมาให้มนุษย์และสรรพสัตว์ได้ใช้อุปโภคบริโภค
"บั้งไฟ" ประดับอยู่บนเสาไฟฟ้าที่จังหวัดยโสธร สะท้อนถึงความสำคัญของงานบุญบั้งไฟที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี
รถแห่บั้งไฟน้อยของนักเรียนที่บ้านกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรพิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด
ปัจจุบันชาวอีสานยังคงยึดถือประเพณีนี้อย่างมั่นคง และปฏิบัติสืบต่อกันมาตามหลักฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ประเพณีการแห่บั้งไฟถือเป็นงานยิ่งใหญ่และงานประจำจังหวัดของภาคอีสาน เช่น งานบุญบั้งไฟจังหวัดยโสธร งานบุญบั้งไฟบ้านกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรพิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นต้น
รถแห่บั้งไฟสำหรับการประกวดที่บ้านกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรพิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด
แหล่งอ้างอิง
สุกัญญา สุจฉายา, ศาสตราจารย์. “ผาแดง-นางไอ่ บันทึกการทำสงครามของละว้า ขอม และนาค” ใน เมืองโบราณ. ปีที่ 42 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2549), หน้า 97-102.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. “พญาคันคาก หรือคากคกยกรบ ตำนานบั้งไฟพญานาค คำบอกเล่าของชาวบ้านสองฝั่งโขง เมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว” ข้อมูลจาก https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_135189