หากได้ยินคำว่า “หมา” โดยทั่วไปคงนึกถึง สุนัข สัตว์เลี้ยงสี่ขาเพื่อนยาก แต่หากเป็นคนถิ่นใต้ คำว่า “หมา” ยังมีความหมายถึงภาชนะสำหรับตักน้ำประเภทหนึ่ง
ในอดีตหมาตักน้ำล้วนทำมาจากวัสดุธรรมชาติ ถือเป็นภูมิปัญญาของคนถิ่นใต้ที่เข้าใจสรรหาวัสดุในธรรมชาติรอบตัวมาผลิตเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน หมาตักน้ำมีหลายชนิด เรียกตามวัสดุที่นำมาทำ เช่น หมาจาก ทำด้วยใบจาก นำมาคลี่ซ้อนกันจนเป็นแผ่น แล้วรวบหัว รวบท้าย มัดด้วยตอกก้านจาก แล้วผูกไขว้กันเป็นหูจับหรือเป็นที่ผูกเชือกสำหรับใช้หย่อนลงไปตักน้ำในบ่อ
การทำ "หมาจาก" ที่นครศรีธรรมราช ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2521 (ภาพ : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
หมาต้อ หรือ หมาต้อหมาก ทำมาจากกาบหมากหรือต้อหมาก ซึ่งเป็นส่วนของกาบใบที่ห่อหุ้มลำต้น นำมาพับแล้วเย็บให้คงรูปด้วยหวายหรือคล้า หมาต้อหมากค่อนข้างมีความคงทน สามารถใช้งานได้ 1-2 ปี
การทำ "หมาจาก" ที่นครศรีธรรมราช ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2521 (ภาพ : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
หมาต้อหลาวโอน หรือ หมาหลาวโอน ทำมาจากกาบของต้นหลาวชะโอนหรือหลาวโอนตามภาษาถิ่นใต้ ซึ่งเป็นพืชที่มีลักษณะคล้ายต้นหมาก ต่างกันที่ต้นหลาวชะโอนมีหนามแหลมคมทั่วทั้งลำต้น เวลานำกาบมาใช้จะต้องใช้มีดเกลาหนามออกให้หมด กาบหลาวโอนมีขนาดใหญ่และหนามากกว่ากาบหมาก จึงเก็บไว้ใช้งานได้นานถึง 2-3 ปี หรือหากเก็บรักษาอย่างดีก็อาจจะใช้ได้นานกว่านั้น
นำตอกก้านจากมามัดรวบใบจากเข้าด้วยกัน แล้วจับไขว้เป็นหูจับ (ภาพ : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
ในท้องถิ่นนครศรีธรรมราชพบว่ามีการทำหมาแบบต่างๆ มาแต่ดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็น หมาจาก ทำกันมากในแถบอำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร และพื้นที่ชายฝั่งทะเล ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่มีแหล่งน้ำกร่อย ตามริมคลองจึงมีต้นจากขึ้นอยู่หนาแน่น โดยเฉพาะตามปากแม่น้ำต่างๆ หมาต้อหมาก พบในแถบอำเภอร่อนพิบูลย์และลานสกา ซึ่งเป็นแหล่งปลูกต้นหมาก และ หมาต้อหลาวโอน พบในแถบพื้นที่ป่าเขา เช่น อำเภอพรหมคีรี
หมาจากที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ด้านบนไขว้เป็นหูจับ (ภาพ : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
สมัยต่อมาพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงวัสดุทำหมาตักน้ำ โดยผลิตในระบบโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งที่ทำด้วยสังกะสี เรียกว่า หมาถัง และที่ทำจากพลาสติก เรียกว่า หมาพลาสติก อย่างไรก็ตาม ยุคปัจจุบันที่ผู้คนหวนกลับไปใช้วัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ ด้วยคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม จึงเริ่มมีการนำหมาตักน้ำแบบดั้งเดิมมาปรับใช้ เช่น หมาจากขนาดย่อมๆ สำหรับเป็นภาชนะใส่น้ำดื่ม นอกจากจะใช้งานได้จริงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว รูปลักษณ์ภายนอกยังดูสวยงามเก๋ไก๋อีกด้วย
แหล่งอ้างอิง
ปาริชาต เรืองวิเศษ, บรรณาธิการ. นครศรีธรรมราช. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2537.
วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. พจนานุกรมหัตถกรรมเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2546.