วิถี พานิชพันธ์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวไว้ในหนังสือ วิถีล้านนา ว่า “สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับชาวล้านนาคือ เมี่ยง ซึ่งเป็นของขบเคี้ยวประจำและใช้ต้อนรับแขกหรือใช้อมแทนหมากเมื่อรับประทานอาหารเสร็จ แม้ต้องเดินทางไกลก็จะพกไปด้วย สิ่งที่ต้องมีควบคู่กับการกินเมี่ยงคือ บุหรี่มวนโต ที่เรียกว่า ขี้โย เป็นยาสูบที่นิยมทั่วไปในล้านนา พม่าและไทใหญ่ ชาวล้านนาไม่นิยมรับประทานของหวานหลังอาหาร แต่ชอบอมเมี่ยงและสูบบุหรี่ขี้โยแทน”
กองบรรณาธิการเมืองโบราณได้มีโอกาสเดินทางไปเก็บข้อมูลยังจังหวัดสุโขทัย พบว่าในสมัยหลังมานี้มีการประยุกต์รูปแบบการรับประทานเมี่ยง โดยทำเป็น “เมี่ยงหวาน” ที่ต่างจากเดิมซึ่งนิยมเคี้ยวใบเมี่ยงเปล่าๆ หรือหากจะมีการปรุงแต่งรสชาติก็เพียงการใส่เกลือเม็ดเท่านั้น
คุณยายขายเมี่ยงหวานที่ตลาดเมืองสวรรคโลก
“เมี่ยงหวาน” เป็นการผสมผสานระหว่างเมี่ยงที่ชาวเหนือชอบกินเข้ากับ “เมี่ยงคำ” ที่นิยมรับประทานกันในภาคกลาง โดยนำใบเมี่ยงมาห่อถั่ว มะพร้าวคั่ว และน้ำตาลปี๊บ ซึ่งความหอมมันของถั่วและมะพร้าวคั่ว ประกอบกับความหวานของน้ำตาลปี๊บจะช่วยปรับรสชาติของใบเมี่ยงที่ฝาดเฝื่อน ให้สามารถรับประทานได้ง่ายขึ้น แม้กับผู้ที่ไม่เคยเคี้ยวใบเมี่ยงมาก่อน
ใบเมี่ยงห่อถั่ว มะพร้าวคั่ว และน้ำตาลปี๊บ
การขายเมี่ยงหวาน มักจะจัดไว้เป็นคำๆ บรรจุอยู่ในกรวยใบตองที่ทำขึ้นอย่างง่ายๆ ภายในกรวยใบตอง 1 อัน จะมีเมี่ยงหวาน 3 คำ ราคาขายอยู่ที่ 20 บาท ซึ่งเมี่ยงหวานนี้ พบวางขายอยู่ในตลาดเมืองสวรรคโลก รวมถึงร้านอาหารต่างๆ ในแถบอำเภอทุ่งเสลี่ยม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คนนิยมรับประทานเมี่ยงก่อนแล้ว ด้วยเพราะส่วนใหญ่มีบรรพบุรุษเป็นคนล้านนาที่อพยพย้ายมาจากอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง
ภายในกรวยใบตองมีเมี่ยงหวาน 3 คำ ขายกันอยู่ที่ราคา 20 บาท
สำหรับที่มาของการประยุกต์เมนู “เมี่ยงหวาน” ในทัศนะของ คุณสมชาย เดือนเพ็ญ ซึ่งเป็นคนสวรรคโลก กล่าวว่า “คนสวรรคโลกไม่ใช่ชาวล้านนา แต่เราก็ปรับเอาของกินล้านนามาเป็นของกินแบบที่ชาวสวรรคโลกจะกินได้ ซึ่งเมี่ยงหวานน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการ “ปรับ” ด้วยเช่นเดียวกัน”