เมื่อวันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ และวารสารเมืองโบราณ ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมบางกอกศึกษา ในประเด็น “ไขกลบท ขานกลกานท์ ในงานวรรณกรรม” ณ ศาลาเลื่อนศักดิ์ เจียมอุดม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อพูดคุยถึงความเป็นมาและความสำคัญของกลบทที่สะท้อนถึงความแตกฉานทางภาษาของนักปราชญ์ไทยสมัยก่อน โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ท่าน ได้แก่ รศ. ดร. เสาวณิต วิงวอน ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดีไทย และคุณวรรธนวรรณ จันทรจนา เจ้าของนามปากกา “วรรณวรรธน์” ผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่อง “หนึ่งด้าวฟ้าเดียว” ที่นำกลบทมาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินเรื่อง
จารึกโคลงกลบท-กลอักษร ประดับอยู่โดยรอบพระระเบียง พระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
อะไรคือ กลบท กลอักษร ?
อ.เสาวณิต กล่าวว่า คนไทยมีการเล่นกลบทมานานแล้ว เช่น ในเพลงพื้นบ้านก็พบว่ามีการร้อยเรียงเล่นถ้อยคำที่มีรูปแบบอย่างกลบท โดยปล่อยให้ลื่นไหลเป็นธรรมชาติ ไปตามความซับซ้อนของเสียง “กลบท” จึงเป็นการเล่นสนุกกับเสียงของถ้อยคำและตัวอักษร เช่น นำตัวอักษรมาสลับที่กัน เล่นเสียงกับ พยัญชนะ หรือซ่อนอยู่ในรูปแบบต่างๆ เช่น รูปดอกบัว ดอกไม้ ตาราง เป็นต้น โดยสามารถแบ่งออกอย่างกว้าง ๆ ได้ 2 กลุ่ม คือ 1) การเล่นเสียงและตัวอักษร และ 2) การซ่อนคำ ซ่อนความหมาย ที่ท้าทายให้ผู้อ่านถอดความที่ต้องการจะสื่อออกมาให้ได้
รศ. ดร. เสาวณิต วิงวอน ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดีไทย
กลบทในวรรณกรรมสมัยอยุธยา
อ.เสาวณิต ได้กล่าวถึง “กลบท” ที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมสมัยอยุธยาตอนต้นนั้น พบว่ามีอยู่ใน “ลิลิตยวนพ่าย” ซึ่งแต่งขึ้นเพื่อยอพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งในภายหลังได้มีการศึกษาโดยนำมาเทียบเคียงกลบทที่ถูกรวบรวมไว้ใน “ศิริวิบุลกิตติ์” และในจารึกวัดพระเชตุพน พบว่ามีรูปแบบกลบทถึง 7 ประเภทด้วยกัน ซึ่งมีทั้งการเล่นคำขึ้นต้นของแต่ละบาท หรือการเล่นคำซ้ำ ๆ ตัวอย่างเช่น คำขึ้นต้นของบาทที่ 1 กับ 3 และ 2 กับ 4 เป็นคำเดียวกัน ตัวอย่างเช่น
พระเสด็จแสดงดิพรแกล้ว การยุทธ ยิ่งแฮ
มาสำแดงสิทธิศิลป์ เลิศล้น
พระมายิ่งแมนรุทธิ เรืองเดช
มาสำแดงยศพ้น แพ่งถมา
ใน “จินดามณี” ฉบับพระโหราธิบดี ที่แต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เป็นการรวบรวมตัวอย่างกลบทที่ครูบาอาจารย์สอนสืบทอดมา กลบทที่ปรากฎในจินดามณี ได้แก่ ไทหลง ไทนับสอง ไทนับห้า ซึ่งเวลาที่เล่นกันอย่างจริงจังนั้น ผู้แต่งจะไม่บอกให้ผู้อ่านทราบล่วงหน้าว่าเป็นกลบทประเภทใด ผู้อ่านจะต้องใช้ความชำนาญในการถอดความด้วยตนเอง ส่วน “ศิริวิบุลกิตติ์” โดยหลวงศรีปรีชา สันนิษฐานว่าอาจมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นสมัยอยุธยาตอนปลาย สมัยธนบุรี หรือสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ล้วนแต่เป็นคนกลุ่มเดียวกันที่มีการสืบทอดความรู้สืบเนื่องกันมาทั้งสิ้น
ชื่องานเสวนาเขียนโดยใช้กลบทแบบ "ไทนับสาม"
บรรยากาศภายในงานเสวนามีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก
กลบทในวรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์
อ. เสาวณิต กล่าวว่า ในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ได้นำเอากลบทมาใช้ด้วย เพื่อแสดงถึงชั้นเชิงทางกวี เช่น “กลบทบุษบงแย้มผกา” ในบทชมโฉมนางมณโฑ ที่ว่า
“งามพักตร์ยิ่งชั้นมหาราช งามวิลาสล้ำนางในดึงสา งามเนตรยิ่งเนตรในยามา งามนาสิกล้ำในดุษฎี”
เช่นเดียวกับสุนทรภู่ที่น่าจะนำ “กลบทมธุรสวาที” มาใช้ด้วย ซึ่งลีลาทางภาษาของกลบทชนิดนี้คือ การเน้นสัมผัสใน หรือสัมผัสสระที่แทรกอยู่ภายในวรรคเดียวกัน โดยจะเห็นว่าตั้งแต่ “นิราศภูเขาทอง” เป็นต้นมา เริ่มมีการใช้สัมผัสในมากขึ้น ต่างจากนิราศเมืองแกลง ซึ่งเป็นงานยุคแรกๆ ที่ยังมีความเป็นกลอนอย่างโบราณอยู่มาก คือ ในแต่ละบาท หรือแต่ละวรรค จะไม่มีการเล่นสัมผัสในที่แพรวพราวมากนัก ซึ่ง “กลบทมธุรสวาที” มีมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยธนบุรี ดังนั้น จึงเชื่อว่าคงสืบทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ตัวอย่างบทกลอนในนิราศภูเขาทองที่ใช้กลบทมธุรสวาที เช่น
"เมื่อเคราะห์ร้ายกายเราก็เท่านี้ ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย
ล้วนหนามเหน็บเจ็บแสบคับแคบใจ เหมือนนกไร้รังเร่อยู่เอกา"
บรรยากาศภายในงานเสวนามีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก
อวดชั้นเชิงภาษาด้วยกลบท
การใช้กลบทในงานประเภทต่างๆ นั้น ไม่มีเงื่อนไข หรือข้อบังคับที่ตายตัว ดังนั้น จึงพบกลบทได้ในงานทุกประเภทไม่ว่าจะเป็น การยอพระเกียรติ บทละคร หรือนิราศ โดยหากมีจังหวะที่เหมาะสมในการเล่นคำ ก็สามารถเล่นได้ และถือเป็นการฝากฝีมือด้วย ซึ่ง อ. เสาวณิต ได้ยกตัวอย่างว่า ใน “มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มหาราช” ตอนพระเจ้ากรุงสญชัย โปรดเกล้าฯ ให้จัดทัพไปรับพระเวสสันดรนั้น การพรรณาถึงทัพของพระเจ้ากรุงสญชัยได้ใช้ “กลบทยัติภังค์” ถึง 16 วรรค หรือใน “โคลงดั้นปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน” พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส ได้นำกลบทมาใส่อยู่ในตอนท้ายๆ ที่เป็นโคลงดั้นวิวิธมาลี ไม่ว่าจะเป็นกลอักษรสลับ สารถีชักรถ ครอบจักรวาฬ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีที่เป็นได้ทั้งกาพย์และโคลง โดยใช้ชุดคำเดียวกัน เช่น “บทกุลาตีไม้” ที่สามารถอ่านได้ทั้ง 2 แบบ คือ ถ้าเป็นกาพย์จะแบ่งวรรคตอนว่า “ศักดานุภาพ เลิศล้ำแดนไตร สิทธิครูมอบให้ จึ่งแจ้งฤทธา เชี่ยวชาญชัย เหตุใดนาพ่อ พระเดชพระคุณปกเกล้าฯ ไพร่ฟ้าอยู่เย็น” ส่วนถ้าเป็นโคลงสี่สุภาพ จะแบ่งวรรคได้ดังนี้
"ศักดานุภาพเลิศล้ำ แดนไตร
สิทธิครูมอบให้ จึ่งแจ้ง
•ฤทธาเชี่ยวชาญชัย เหตุใด นาพ่อ
พระเดชพระคุณปกเกล้า ไพร่ฟ้า อยู่เย็น"
คนที่สนใจจะอ่าน หรือเขียนกลบทนั้น จำเป็นต้องมีความแม่นยำในฉันทลักษณ์ และต้องรู้วิธีการถอดความ ซึ่งบางครั้งผู้แต่งอาจจะบอกใบ้เฉลยไว้เป็นโคลงกลอนอีกบทหนึ่ง ผู้ถอดความจะต้องทำความเข้าใจให้ได้เสียก่อน จึงจะถอดได้ ส่วนประเภทที่เป็นการซ่อนคำนั้น อ.เสาวณิต กล่าวว่า ศ. ดร. ประเสริฐ ณ นคร ได้เคยแสดงทัศนะไว้ว่า คนที่มีหัวทางคณิตศาสตร์ สามารถแก้กลบทพวกนี้ได้อย่างรวดเร็ว
“กลบท” ใน “หนึ่งด้าวฟ้าเดียว”
วรรณวรรธน์ ผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่อง “หนึ่งด้าวฟ้าเดียว” ได้บอกเล่าถึงแรงบันดาลใจว่า ส่วนตัวรู้จักกลบทในจินดามณีและศิริวิบุลกิตติ์อยู่แล้ว จึงคิดเสมอว่า อยากจะนำมาสอดแทรกลงไปในบทประพันธ์ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับอัจฉริยภาพทางภาษาไทยที่ยังซุกซ่อนอยู่ ในนวนิยายเป็นเรื่องราวอิงประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ต่อเนื่องถึงสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งเป็นช่วงที่มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน จึงเลือกนำเสนอถึงแค่การขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเท่านั้น จึงต้องหาเกร็ดความรู้ใหม่ๆ มาสอดแทรกเป็นสีสัน นอกเหนือไปจากเรื่องของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นโอกาสที่ได้นำเรื่องกลบท กลโคลง รวมถึงขันทีสมัยอยุธยา มาแทรกไว้เพื่อเล่าถึงเรื่องราวฝ่ายใน สมัยอยุธยาตอนปลาย
คุณวรรธนวรรณ จันทรจนา เจ้าของนามปากกา “วรรณวรรธน์”
อย่างไรก็ตาม การนำกลบทมาสอดแทรกในนวนิยายร่วมสมัยนั้น คุณวรรณวรรธน์เห็นว่ายังมีข้อจำกัดอยู่เช่นกัน ทั้งความซับซ้อนของฉันทลักษณ์ และที่สำคัญคือ ตัวพยัญชนะในอดีตที่แตกต่างจากปัจจุบัน เช่น กลบทไทหลง หากยึดตามสูตรในจินดามณี จะไม่สามารถเทียบกับพยัญชนะในปัจจุบันได้ เช่นในสมัยนั้นมี “ส” แต่ไม่มี “ศ” และ “ษ” เป็นต้น ดังนั้น หากจำเป็นต้องใช้พยัญชนะเหล่านี้ จึงต้องพลิกแพลงโดยใช้การเทียบเคียงด้วยเสียงแทนตัวอักษร
จุดมุ่งหมายอย่างหนึ่งของคุณวรรณวรรธน์ ในการนำกลบท ตลอดจนเกร็ดทางประวัติศาสตร์ต่างๆ มาสอดแทรกในนวนิยาย ก็เพื่อได้นำเสนอสู่สายตาของนักอ่านที่เป็นคนรุ่นใหม่ ดังเช่น เรื่องกลบท ถือว่าเป็นการชี้ชวนให้ผู้อ่านได้เกิดความสนใจหรือข้อสงสัย นำไปสู่การศึกษาต่อ ซึ่งอาจจะกลับมาโต้แย้ง หรือถกเถียงว่าในนวนิยายชิ้นนี้ยังมีจุดบกพร่องตรงไหนบ้าง เพื่อให้กลบทที่แสดงถึงความซับซ้อนของภาษาไทยในอดีต ได้หวนกลับมาสู่บริบทในปัจจุบันมากขึ้น มากกว่าที่จะเป็นเรื่องที่สนใจกันเฉพาะกลุ่มผู้ศึกษาด้านภาษาศาสตร์และวรรณคดีเท่านั้น
ผู้เข้าร่วมงานทดลองถอดกลบทที่ปรากฏในจารึกวัดพระเชตุพน
ในช่วงท้าย ผู้เข้าร่วมเสวนาทัศนศึกษาจารึกโคลงกลบท-กลอักษร ที่ประดับอยู่โดยรอบพระระเบียง พระอุโบสถ นำชมโดย "พระราชเวที" ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน ร่วมด้วย อ. เสาวณิต วิงวอน และคุณวรรณวรรธน์
"พระราชเวที" ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน นำชมจารึกโคลงกลบท-กลอักษร