เกร็ดประวัติศาสตร์ สถานีรถไฟนครลำปาง

เกร็ดประวัติศาสตร์ สถานีรถไฟนครลำปาง

 

สถานีรถไฟนครลำปาง ตั้งอยู่บนถนนรถไฟ ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ห้ามพลาดหากต้องการทำความรู้จักนครลำปาง เริ่มก่อสร้างใน พ.ศ. 2458 และเปิดทำการเดินรถตั้งแต่ พ.ศ. 2459 สมัยนั้นสถานีรถไฟนครลำปางยังเป็นสถานีปลายทางของขบวนรถไฟสายเหนือ ก่อนจะขยายการก่อสร้างต่อไปถึงนครพิงค์หรือเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. 2464 พื้นที่แห่งนี้จึงเคยทำหน้าที่เป็นชุมทางขนส่งมวลชนที่ทันสมัยที่สุด และเป็นตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนเศรษฐกิจของเมือง ด้วยการเป็นจุดขนถ่ายกระจายสินค้าและส่งเสริมการเดินทางของผู้คนจากกรุงเทพฯ ก่อนจะเดินทางต่อไปสู่พื้นที่อื่นๆ ในภาคเหนือ

 

อาคารสถานีรถไฟนครลำปาง

 

วงเวียนน้ำพุทางด้านหน้าสถานีรถไฟนครลำปาง

 

อาจารย์กิติศักดิ์ เฮงษฎีกุล วิศวกรกรมชลประทาน คนย่านศรีชุม-น้ำล้อมในตัวเมืองลำปาง และเป็นนักอนุรักษ์ด้านสถาปัตยกรรมของนครลำปางคนสำคัญ ได้นำเราสำรวจพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟ พร้อมบอกเล่าเรื่องราวที่ปรากฏในเอกสารและถ่ายทอดเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากความทรงจำในฐานะคนใน โดยอาจารย์กิติศักดิ์ชี้ชวนให้สังเกตดูตามจุดต่างๆ ภายในสถานีที่น่าสนใจ ซึ่งคนต่างถิ่นอาจมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย

 

จุดที่ 1

ชื่อ “นครลำปาง” 

ตัวอักษร “นครลำปาง”  ที่ปรากฏเหนือช่องโค้งในอาคารสถานี ถูกขยายความถึงความสำคัญในการใช้คำว่า “นครลำปาง"” ไม่ใช่ “จังหวัดลำปาง” เช่นที่เรียกอยู่ในปัจจุบัน โดยคำว่า “นคร” ที่ใช้ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น หมายถึงเมืองหลักที่มีเมืองขึ้นหรือเมืองบริวาร เช่น  นครน่านที่มีเมืองบริวารอยู่เลยไปทางด่านห้วยโก๋นออกไป นครลำปางก็มีเมืองพะเยาและเมืองลองเป็นเมืองบริวาร ข้อมูลจากหนังสือ น้ำวัง รถไฟ ไฮเวย์ ประวัติศาสตร์ลำปางสมัยใหม่  โดย อาจารย์ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ หน้า 136 อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงในการใช้คำไว้ว่า

 

ป้ายชื่อสถานีรถไฟ “นครลำปาง” ที่ติดอยู่ภายในอาคารสถานี

 

ระบบมาตรฐานเกี่ยวกับชื่อเกิดขึ้นในปี 2459 โดยให้ปรับเปลี่ยนการเรียกขานชื่อเมือง และเริ่มใช้คำว่า ‘จังหวัด ขึ้นอย่างเป็นมาตรฐาน หลักฐานการจัดระบบการเรียกชื่ออำเภอและจังหวัดที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา ก็น่าจะแสดงให้เห็นถึงการตัดคำว่า นคร ออกจาก ลำปาง และเรียก จังหวัดลำปาง ในเอกสารของราชการมาตั้งแต่ปี 2460 เป็นอย่างช้า ที่น่าสังเกตก็คือการจัดตั้งมณฑลมหาราษฎร์ในปี 2459 ที่ระบุว่า ทำการแยกเมืองนครลำปาง เมืองนครน่าน เมืองนครแพร่ ออกมาจากมณฑลพายัพ เพื่อตั้งมณฑลมหาราษฎร์ กำหนดเริ่มเดือนเมษายน 2459 แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของชื่อเมืองนครลำปางกับเมืองอื่นๆ เนื่องจากคำว่า นคร ใน นครลำปาง นั้นเป็นชื่อเฉพาะ ไม่ใช่คำขยายคำว่าเมือง หรือการที่รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานนามสกุล ณ ลำปาง ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงการเน้นถึงเฉพาะชื่อ ลำปาง ในปี 2457 จึงอาจเป็นไปได้ว่าการตัดคำว่า นคร จากจังหวัดนครลำปางมาเป็น จังหวัดลำปาง เกิดจากความคิดเช่นนี้เอง

 

ป้ายสถานี “นครลำปาง”

 

จุดที่ 2

ป้ายแสดงความสูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง

ภายในสถานีมีป้ายติดตั้งแสดงข้อความว่า “แนวนี้สูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง 269.00 ม.  Above M S L. M.” อาจารย์กิติศักดิ์อธิบายว่าอักษรภาษาอังกฤษ Above M S L. M. มาจาก Above mean sea level metres หมายถึงความสูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง การคำนวณหาระดับอ้างอิงโดยใช้ค่าเฉลี่ยระดับน้ำทะเลปานกลางที่เกาะหลัก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตรงนั้นค่าเท่ากับ 00 เช่น กรณีกรุงเทพฯ ความสูงจากระดับน้ำทะเลแค่ 1 เมตร เป็นพื้นที่ซึ่งเกิดน้ำท่วมได้ง่าย วิธีวัดใช้กล้องส่องมาตามทางรถไฟ เดินหน้าถอยหลังหาค่าไปเรื่อยๆ ณ จุดนี้วัดได้ว่าสูงจากค่าเฉลี่ยที่เกาะหลัก 269 เมตร นายช่างฝรั่งชาวเยอรมันเป็นคนมาวัดระดับความสูง เพื่อสร้างทางรถไฟสายนี้

 

อาจารย์กิติศักดิ์ เฮงษฎีกุล กำลังอธิบายถึงป้ายแสดงความสูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง

 

จุดที่ 3

รอยกระสุนที่ขื่อคาน

บริเวณขื่อคานของสถานีรถไฟพบว่ามีรอยกระสุน อันเป็นผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่ 2 “สถานีรถไฟถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการทำลาย เนื่องจากเป็นเส้นทางลำเลียงเสบียงและยุทโธปกรณ์ของญี่ปุ่น” ปัจจุบันจึงยังเห็นรอยกระสุนเป็นวัตถุพยานอยู่

 

บริเวณขื่อคานของสถานีรถไฟที่พบรอยกระสุนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

 

รอยกระสุนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

 

จุดที่ 4

อาคารสถานี

อาคารสถานีแห่งนี้ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมแห่งสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประเภทอาคารสถาบันและสาธารณะ ประจำปี 2536 อาคารหลังนี้ออกแบบโดยนายเอินสท์ อัลท์มันน์ (Ernst Altmann) วิศวกรชาวเยอรมัน ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก แบบบาวาเรียน คอทเทจ (Bavarian Cottage) ที่มีการใช้ไม้ทแยงมุมยึดไม่ให้อาคารโยก ซึ่งเป็นเทคนิคการก่อสร้างแบบเยอรมัน ผสมผสานกับการประดับตกแต่งด้วยหัวเสาและซุ้มโค้ง รวมถึงลวดลายพื้นเมือง สันนิษฐานว่าได้รับแรงบันดาลใจจากประตูโขงที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ทำให้อาคารมีความสวยงามและกลมกลืน และที่โดดเด่นมากคือลวดลายหม้อปูรณฆฏะผสมลายเครือเถา นอกจากนี้ยังมีตัวเลข พ.ศ. 2458 และ ค.ศ. 1915 ซึ่งคือปีที่สร้างอาคารอยู่บนหน้าจั่วด้านข้างทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวอาคารสถานีด้วย

 

อาคารสถานีรถไฟนครลำปาง สถาปัตยกรรมแบบบาวาเรียน คอทเทจ

 

ตัวเลขระบุปี พ.ศ. ที่สร้างที่หน้าจั่วด้านข้างของตัวอาคารสถานี 

 

ไม้ฉลุลวดลายหม้อปูรณฆฏะผสมลายเครือเถาประดับอยู่ที่ตัวอาคารสถานี

 

นอกจากนี้ยังมีจุดอื่นๆ ที่อาจารย์กิติศักดิ์ชี้ชวนให้ชมเพื่อย้อนระลึกถึงความสำคัญของสถานีรถไฟนครลำปางครั้งวันวาน เช่น ตราชั่งจากเนเธอร์แลนด์ที่ยังทรงประสิทธิภาพใช้งานมายาวนานกว่าศตวรรษ พื้นที่คลังสินค้าสำหรับเป็นโกดังเก็บและกระจายสินค้า รวมถึงวงเวียนหน้าสถานีรถไฟ อาคารห้างร้าน และโรงแรมในย่านถนนรถไฟ สิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงความสำคัญของสถานีรถไฟนครลำปางและความเปลี่ยนแปลงของหย่อมย่านบ้านเมืองที่ยังรอการมาเยือนจากทุกท่าน

 

บานหน้าต่างภายในสถานีประดับด้วยลวดลายไม้ฉลุ

 

ตราชั่งจากเนเธอร์แลนด์สำหรับใช้ชั่งน้ำหนักสินค้า

 

ขอขอบคุณ

อาจารย์กิติศักดิ์ เฮงษฎีกุล

 

แหล่งอ้างอิง

นัฐวรรณ ไทยดี. สถานีรถไฟบนเส้นทางรถไฟสายเหนือ. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2554.

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. น้ำวัง รถไฟ ไฮเวย์ ประวัติศาสตร์ลำปางสมัยใหม่. ลำปาง : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, 2561.

 


จิราพร แซ่เตียว

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ