“จากหลักฐานศิลาจารึกและตำนานพงศาวดารที่กล่าวมานี้ ข้าพเจ้าคิดว่าพอจะแลเห็นได้ว่า นครศรีธรรมราชเป็นบ้านเมืองและเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองติดต่อมาหลายยุคหลายสมัย ที่มีหลักฐานที่แน่นอนแห่งหนึ่งของประเทศไทย ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 18 และต้นพุทธศตวรรษที่ 19 นั้น สถานะของนครศรีธรรมราชก็คืออาณาจักรที่มีอิทธิพลครอบคลุมไปทั้งแหลมมลายู”
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเมืองนครศรีธรรมราชในประวัติศาสตร์ไทยที่ปรากฏในหลักฐานเอกสารต่างๆ ไว้ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 4 ฉบับที่ 3 เมษายน-มิถุนายน พ.ศ. 2521 ไว้ดังนี้
ในศิลาจารึกหลักที่ 24 วัดเสมาเมือง ซึ่งเป็นจารึกภาษาสันสกฤต ระบุปี พ.ศ. 1773 มีการกล่าวถึง พระผู้เป็นใหญ่แห่งตามพรลิงค์ นอกจากนี้ชื่อ ตามพรลิงค์ ยังปรากฏในคัมภีร์มหานิเทศของอินเดีย ราวพุทธศตวรรษที่ 7-8 รวมไปถึงในจดหมายเหตุของจีนด้วย ทั้งหมดนี้ถือเป็นหลักฐานสำคัญถึงการมีอยู่ของเมืองตามพรลิงค์ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 7-8
ในตำนานมหาวงศ์ของลังกาและตำนานเมืองนครศรีธรรมราชยังปรากฏชื่อ พระเจ้าจันทรภานุ ว่าเป็นกษัตริย์เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเชื่อว่าก็คือเมืองตามพรลิงค์ในยุคสมัยต่อมา หลักฐานที่กล่าวถึงชื่อเมืองนครศรีธรรมราชอย่างชัดเจน ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 และในชินกาลมาลีปกรณ์ที่กล่าวถึงพระเจ้าสิริธรรมนคร ซึ่งเชื่อว่าคือผู้ปกครองเมืองนครศรีธรรมราชที่ได้ส่งทูตไปลังกาเพื่อขอพระพุทธสิหิงค์มาบูชาที่กรุงสุโขทัย สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองนครศรีธรรมราชกับเมืองสุโขทัย รวมไปถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทางลังกาด้วย
เอกสารที่ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเมืองนครศรีธรรมราชยังมีตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานพระมหาธาตุนครศรีธรรมราช ซึ่งกล่าวถึงประวัติการสร้างเมือง และที่สำคัญคือการเรียกขานพระนามกษัตริย์ผู้ปกครองเมืองแห่งนี้ว่า ศรีธรรมาโศกราช ซึ่งเป็นการเลียนพระนามพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย นอกจากนี้ในศิลาจารึกหลักที่ 35 พบที่แหล่งโบราณคดีดงแม่นางเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อ พ.ศ. 2499 มีใจความหนึ่งที่กล่าวถึงพระราชาธิบดีพระองค์หนึ่งพระนามว่า ศรีธรรมาโศกราช ซึ่งอาจสัมพันธ์กับเมืองนครศรีธรรมราช
ถึงแม้ว่าข้อเขียนนี้จะตีพิมพ์ลงในวารสารเมืองโบราณมาตั้งแต่ พ.ศ. 2521 และหลังจากนั้นก็มีการศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเกี่ยวกับเมืองนครศรีธรรมราชเป็นจำนวนมากจวบจนปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ดี ถือว่าเป็นข้อคิดเห็นที่น่าสนใจในการศึกษาบ้านเมืองโบราณแห่งนี้ ขอเชิญท่านผู้สนใจติดตามอ่านบทความฉบับเต็มได้ใน “นครศรีธรรมราชกับประวัติศาสตร์ไทย” ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 4 ฉบับที่ 3 เมษายน-มิถุนายน 2521 หน้า 87-98 อ่านฟรีที่ “10 ปีแรกวารสารเมืองโบราณ” คลิก https://www.yumpu.com/xx/document/view/67660241/-4-3
ภาพปก : วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2521 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)