แหล่งโบราณคดีเมืองงิ้ว หรือโนนงิ้ว ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านชาด ตำบลเค็งใหญ่ อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ สภาพของแหล่งโบราณคดีเป็นเนินดินทรงกลมขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 300 เมตร มีคูน้ำล้อมรอบ ทางทิศใต้ตรงข้ามคูเมืองเป็นที่ตั้งของ วัดป่าบึงศิลาราม ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองห่างจาก คลองเอียนดอน เพียง 200 เมตร คลองนี้เป็นลำน้ำสาขาที่แยกออกมาจาก ลำเซบก ซึ่งอยู่ถัดจากเมืองงิ้วไปทางทิศตะวันออกราว 800เมตรเท่านั้น อย่างไรก็ดีการเข้าถึงแหล่งโบราณคดีเมืองงิ้วในปัจจุบัน ไม่ลำบาก เพราะมีถนนลาดยางที่เชื่อมระหว่างเทศบาลตำบลเค็งใหญ่และบ้านชาดตัดผ่านฟากตะวันตกของแหล่งโบราณคดีเมืองงิ้ว
แผนที่แสดงที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีเมืองงิ้ว
ปัจจุบันแหล่งโบราณคดีเมืองงิ้วมีถนนตัดผ่าน สามารถเดินทางไปมาได้อย่างสะดวก
เล่าต่อกันมาว่า “...เมืองงิ้ว มีเจ้าเมืองปกครอง ขึ้นกับอยุธยา ต่อมาชาวลาวยกทัพมารุกราน เกิดสงครามขึ้น ที่สุดแล้วเมืองงิ้วถูกตีแตกประกอบกับเกิดโรคระบาด ผู้คนล้มตายไปมาก ที่นี่จึงกลายเป็นเมืองร้าง เหลือเพียงเศษซากปรักหักพัง คนที่รอดจากสงครามและโรคระบาดต่างกระจัดกระจายออกไปตั้งชุมชนใหม่ที่บ้านชาด บ้านสามัคคี และบ้านดู่ ชาวบ้านเชื่อว่าที่นี่มีดวงวิญญาณนักรบปกป้องรักษา จึงสร้างผาม หรือศาลขึ้นมาเพื่อให้เป็นที่สิงสถิตของดวงวิญญาณเหล่านั้น เรียกกันว่า ศาลปู่ตา มาจนถึงปัจจุบัน...”
ศาลปู่ตาภายในเนินดินเมืองงิ้ว
คูน้ำภายในแหล่งโบราณคดีเมืองงิ้ว
จากการสำรวจที่ผ่านมามีข้อมูลระบุว่า พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผากระจัดกระจายอยู่รอบเนินดิน ได้แก่ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อดินแบบที่ขึ้นรูปด้วยมือไม่ตกแต่งลวดลายใด แบบเขียนสีด้วยดิน ขูดขีดเป็นร่อง พบโครงกระดูกมนุษย์บรรจุในภาชนะดินเผาตามรูปแบบการฝังศพครั้งที่ 2 นอกจากนั้นยังพบเครื่องประดับสำริด เช่น แหวน กำไล ที่สำคัญคือพบใบเสมาหินทรายขนาดใหญ่ สมัยทวารวดี หรือในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-16
ใบเสมาที่พบกระจัดกระจายอยู่ในแหล่งโบราณคดีเมืองงิ้ว
ใบเสมาเหล่านี้มีทั้งที่ถูกเคลื่อนย้ายจากตำแหน่งเดิมมารวมกัน และที่ยังกระจัดกระจายตากแดดลมฝนบนพื้นดินในตำแหน่งเดิม บางกลุ่มมีหลังคาสร้างคลุมทับไว้ ใบเสมาที่พบนี้มีทั้งที่ไม่สลักลวดลายใดและที่สลักเป็นลวดลายต่างๆ ด้านเดียวบ้าง ทั้ง 2 ด้านบ้าง ลายที่พบ เช่น ลายกลีบบัว บัวคว่ำบัวหงาย ลายสถูป และลายลูกประคำ ชาวบ้านในพื้นที่กล่าวว่ารวมแล้วมีใบเสมานับร้อยใบ
กลุ่มใบเสมาที่มีการสลักเป็นลวดลายต่างๆ
แหล่งโบราณคดีเมืองงิ้วจึงเป็นแหล่งโบราณสำคัญอีกแห่งหนึ่งในลุ่มน้ำเซบก โดยได้พบร่องรอยการอยู่อาศัยและการใช้พื้นที่ของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายจนเข้าสู่สมัยสมัยทวารวดีก่อนจะถูกทิ้งร้างไปในสมัยหลัง ปัจจุบันแหล่งโบราณคดีเมืองงิ้วเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ให้ผู้สนใจเข้าชมได้ทุกวัน โดยแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 17ง ลงวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2542 โดยมีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 99 ไร่ 77.06 ตารางวา
คูน้ำและสภาพทั่วไปภายในแหล่งโบราณคดีเมืองงิ้ว
แหล่งอ้างอิง
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. เมืองงิ้ว (วัดโนนบึงศิลาราม). สืบค้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2562. จาก https://www.naewna.com/likesara/329155
ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย. เมืองงิ้ว. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2562. จาก https://www.sac.or.th/databases%20/archaeology/archaeology/เมืองงิ้ว
______. เปิดตำนานเมืองงิ้วโบราณ พร้อมสัมผัสเสมาหินอายุพันปีที่ จ.อำนาจเจริญ. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2562. จาก https://www.naewna.com/likesara/329155