บ้ายี่หนู่ผู้ภักดี

บ้ายี่หนู่ผู้ภักดี

 

มีพวกเด็กเรียกว่าบ้ายี่นู่                      เปนหมู่ๆ แต่งเต็มดูเข้มแขง

ผูกลูกพรวนครวญดังกริ่งกร่างแรง                   ล้วนทาแป้งตลอดหัวทั่วถึงตีน”        

 

ก.ศ.ร. กุหลาบ นักคิดนักเขียนนอกกรอบในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งถูกระบุว่าเป็นนัก “กุ” เรื่องโกหก หรือบ้างก็ประนามว่าเป็นคนบ้า ได้เขียนวรรณกรรมเรื่อง นิราศยี่สาร เมื่อครั้งสัญจรเข้าคลองบางหลวงผ่านกุฎีแขกเจ้าเซ็น ซึ่งตัวท่านคงได้เคยเห็นพิธีกรรมของคนกลุ่มนี้มาก่อน จึงกล่าวถึง บ้ายี่นู่ ซึ่งเป็นกลุ่มคนในชุดขาวที่แต่งตัวผิดแผกแตกต่างจากผู้เข้าร่วมพิธีในอาภรณ์สีดำ

 

บ้ายี่หนู่ผู้แสดงบทบาทของมัจนูญในวรรณกรรมเปอร์เซียโบราณที่กลับมาโลดแล่นในโศกนาฏกรรมของพิธีเจ้าเซ็น

(ภาพ : นเรนทร์ อหะหมัดจุฬา)

 

บ้ายี่หนู่ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า หนู่ กร่อนเสียงมาจากคำว่า มัจนูญ ที่แปลว่า คนเสียสติ วิกลจริต ในภาษาอาหรับ อันมีที่มาจากวรรณกรรมเปอร์เซียเรื่อง ไลลากับมัจนูญ (Layla and Majnun) ที่เป็นวรรณกรรมรักของหนุ่มสาวผู้ไม่สมหวังในความรัก และต้องพรากจากกันจนตาย เพราะบิดาของไลลาไม่ชอบในตัว “เกซ” หนุ่มผู้หลงรักไลลาอย่างลึกซึ้ง เขียนบทกวีพรรณนาถึงความรักของตนตามสถานที่ต่างๆ จนถูกเรียกว่าเป็น “มัจนูญ” บิดาของไลลาจึงขัดขวางความรักของหนุ่มสาวด้วยการพรากลูกของตนให้ไปแต่งงานกับชายอื่น จนทำให้เกซเตลิดหลบหนีไปยังท้องทะเลทราย กระทั่งหลายปีต่อมาเมื่อรู้ข่าวว่าหญิงคนรักตรอมใจตาย เขาได้กลับมายังหลุมฝังศพของเธอ ร้องไห้คร่ำครวญจนสิ้นลม ณ หลุมศพของผู้เป็นที่รัก

 

บ้ายี่หนู่ในพิธีกรรมของแขกเจ้าเซ็น คลุมศรีษะด้วยผ้าขาว 

 

หนู่ในพิธีกรรมของแขกเจ้าเซ็น จึงถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ของความรักที่มีต่ออิหม่ามฮูเซ็น หลานของท่านนบีมุฮัมหมัดซึ่งถูกล้อมฆ่าทั้งครอบครัว ณ ทุ่งกัรบะลาอ์ ในพิธีกรรมผู้ที่สวมบทบาทเป็นหนู่ จะอยู่ในเครื่องแต่งกายกางเกงขายาวสีขาวประดับลูกกระพรวนทองเหลืองจำนวนมากที่ขอบขา ไม่สวมเสื้อ แต่ใช้ริ้วผ้าขาวประดับคล้ายสังวาลย์สวมไขว้จากไหล่ซ้ายและขวา คลุมศีรษะด้วยผ้าขาวพร้อมประดับข้างหูด้วยเส้นผมที่ทำจากปอยผมของเด็กผู้หญิงบริเวณจอนผมให้ดูประหนึ่งคนเสียจริตที่ปล่อยผมรกรุงรัง และตามเนื้อตัวก็ประแป้งจนขาวพร้อยทั้งตัว

 

ตลอด 10 วัน บ้ายี่หนู่จะออกมาเต้นรอบอ่างแก้วหน้ากุฎีหรือสุเหร่า

คลุมศีรษะด้วยผ้าขาวและย่างก้าวอย่างมีจังหวะ ขณะที่มีการบรรเลงดนตรีและขับลำนำ

 

ในเวลาเย็นตลอดพิธีทั้งสิบวัน คณะบ้ายี่หนู่จะออกมาเต้นเป็นวงกลมรอบบริเวณลานหน้ากุฎีหรือสุเหร่า ที่มีการประดับเสาธงบนฐานที่เรียกว่า “อ่างแก้ว” ครบ 7 รอบก็จะเดินกลับเข้าไปในกุฎี ขณะที่เดินรอบอ่างแก้ว ซึ่งคนในกุฎีจะเรียกว่า “เต้นหนู่” นั้น มีการบรรเลงเครื่องดนตรีและขับเพลงประกอบ ซึ่งเนื้อหาเปรียบเปรยถึงความรักของมัจนูญที่มีต่อไลลาจนเสียสติ แต่กระนั้นความรักดังกล่าวก็ยังไม่อาจเปรียบได้กับความรักที่หนู่มีต่ออิหม่ามฮูเซ็น ซึ่งถึงที่สุดแล้วคือความรัก ความภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า อันเป็นการตีความเปรียบเทียบกับความรักของไลลากับมัจนูญตามรหัสยะแห่งลัทธิซูฟีในศาสนาอิสลาม

 

 

วันสุดท้ายของพิธีเจ้าเซ็น บ้ายี่หนู่จะแสดงบทบาทเพื่อขัดขวางมิให้อิหม่ามฮูเซ็นเดินทางออกไปเจอเหตุการณ์ล้อมสังหาร ณ ทุ่งกัรบะลาอ์

บรรดาหนู่จะล้มตัวลงกับพื้นซีเมนต์ร้อนๆ ในยามบ่าย พร้อมกลิ้งเกลือกร้องไห้คร่ำครวญประหนึ่งผู้เสียจริต

แต่นั่นคือความภักดีที่ต่อฮูเซ็นและครอบครัวของท่าน (ภาพ : นเรนทร์ อหะหมัดจุฬา)

 

แหล่งอ้างอิง

ธีรนันท์ ช่วงพิชิต. พิธีเจ้าเซ็น (อาชูรอ) : อัตลักษณ์แห่งการธำรงชาติพันธุ์ของมุสลิมนิกายชีอะห์ในสังคมไทย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2551. 

กองบรรณาธิการ, “ไลลากับมัจนูน” วรรณกรรมรักคลาสสิกตะวันออกและรหัสยะแห่ง “ซูฟีย์”. ที่มา : www.publicpostonline.net

 


สุดารา สุจฉายา

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ