“เปตรา” นคร (ที่เคย) ร้างกลางทะเลทรายอาหรับ (4)
เที่ยวแบบวารสาร

“เปตรา” นคร (ที่เคย) ร้างกลางทะเลทรายอาหรับ (4)

 

[Chapter 5]

ดั่งต้องมนต์… อีกหนึ่งวันในเปตรา

 

สำหรับหมุดหมายการเดินเที่ยวของเราในวันที่สองอยู่ที่ The Monastery ซึ่งเป็นจุดที่มีความสำคัญมากบนเส้นทางเดินชมในอุทยานโบราณคดีเปตรา นักท่องเที่ยวเริ่มทยอยเดินเข้าไปภายในอุทยานกันตั้งแต่เช้าตรู่ คงด้วยเพราะบรรยากาศยามเช้าที่อากาศยังไม่ร้อนมากเหมาะต่อการเยี่ยมชมโบราณสถานต่างๆ

 

การเข้าสู่เปตราครั้งนี้ เราใช้การนั่งรถม้าเข้าไปข้างใน เพราะต้องเก็บแรงไว้เดินชมสถานที่ต่างๆ ภายในเมืองอีกหลายแห่ง รถม้าหนึ่งคันนั่งได้ 2 คน คิดค่าบริการไป-กลับ 25 ดีนาร์จอร์แดน (JD) หลังจากผู้โดยสารขึ้นนั่งบนรถม้าเรียบร้อยแล้ว พลขับก็กระโดดขึ้นรถ ม้าก็ออกเดินนำพาพวกเราเข้าสู่เมืองเปตรา ตลอดเส้นทางถนนหินระยะทางราว 2 กิโลเมตร นับตั้งแต่ทางเข้าจนถึง The Treasury คนขับและผู้โดยสารต่างพยายามสื่อสารกันจนสุดความสามารถ

 

รถม้าที่ใช้เดินทางเข้าเมืองเปตรา

 

รถม้าวิ่งอย่างเชื่องช้าด้วยความเร็วประมาณ 5 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเพื่อความปลอดภัยเพราะหากแล่นเร็วกว่านี้อาจจะเกิดอุบัติเหตุกับคนเดินถนนได้ แล้วที่ใครว่านั่งรถม้าสบายนั้น มันไม่จริงเลยสักนิด! เพราะรถม้าจะโขยกเขยกตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะช่วงที่วิ่งบนถนนหินซึ่งขรุขระ ทั้งกระแทกและกระเด้งกระดอนจนเราต้องนั่งตัวเกร็งจิกเบาะไปตลอดเส้นทาง แต่ก็ถึงจุดหมายเร็วกว่าเดินเข้ามาเองเกือบครึ่งชั่วโมง

 

แผนที่แสดงตำแหน่งโบราณสถานต่างๆ ในเปตรา

 

เราลงรถม้าที่บริเวณลานกว้างด้านหน้า The Treasury จากนั้นจึงเดินเข้าสู่ช่องเขาที่มีความยาวประมาณ 100 เมตร ก็จะพบกับอนุสรณ์สถานหรือสุสาน (Tomb) ที่ชาวนาบาเทียนสร้างขึ้นโดยการเจาะลึกเข้าไปในหน้าผาเรียงต่อกันไปจำนวนมาก สันนิษฐานว่าเป็นสุสานของกษัตริย์ที่เคยปกครองเปตรา สร้างขึ้นเมื่อราว 400 ปีก่อนคริสตกาล ในอาณาบริเวณนี้มีอยู่ราว 67 แห่ง รวมถึงที่เก็บเครื่องไม้เครื่องมือของแรงงานที่ใช้ในการขุดเจาะถ้ำเหล่านี้ด้วย สุสานเหล่านี้มีลวดลายสลักผสมผสานระหว่างศิลปะแบบชาวนาบาเทียนกับอียิปต์ โดยสังเกตจากลวดลายที่ถูกสลักไว้บนเพิงผาที่มีเส้นสายคล้ายรูปร่างพีระมิดขั้นบันได (Step Pyramid) ซึ่งเป็นรูปแบบพีระมิดในยุคแรกของอียิปต์ และต่อมาเมื่ออาณาจักรโรมันเข้าครอบครองเมืองเปตราเมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 2 ศิลปะแบบโรมันจึงเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในการก่อสร้างอาคารสถาปัตยกรรมต่างๆ

 

ถนนจาก The Treasury เข้าสู่หุบเขา ซึ่งจะนำเราไปพบกับโบราณสถานแห่งถัดไปของเปตรา

 

สุสานของชาวนาบาเทียนที่มีมากกว่า 67 แห่ง

 

ถัดจากหมู่สุสานของกษัตริย์ชาวนาบาเทียนจะพบกับโบราณสถานอีกแห่งหนึ่ง เรียกว่า The Theatre เป็นโรงละครที่สร้างขึ้นโดยวิธีการสกัดหินผาเข้าไปเป็นลานเวทีและอัฒจันทร์สำหรับเป็นที่นั่งของผู้เข้าชม บริเวณโดยรอบประดับด้วยเสากลมแบบโรมัน ภายหลังจากที่อาณาจักรโรมันเข้ามาครอบครองได้ทำการขยายโรงละครแห่งนี้ จนสามารถจุผู้ชมได้มากถึง 4,000 คน นอกจากนี้ด้านหลังของลานเวทียังมีห้องที่เจาะลึกเข้าไปอีก สันนิษฐานว่าเป็นห้องแต่งตัวของนักแสดง

 

โรงละครที่ได้รับการปรับปรุงในสมัยที่ชาวโรมันเข้าปกครอง

 

ด้านหน้าของโรงละครมีถนนดินตัดผ่านและมีคลองส่งน้ำที่ขุดลึกลงไปในดินทราย มีความลึกประมาณ 1 เมตรกว่า และมีความกว้างประมาณ 10 เมตร ใช้สำหรับระบายน้ำเมื่อเกิดฝนตก ด้วยว่าภูเขาที่อยู่โดยรอบเป็นภูเขาหินและดิน ไม่ค่อยมีต้นไม้ที่จะช่วยชะลอน้ำซึ่งไหลจากบนภูเขาลงมาสู่ที่ราบระหว่างหุบเขา ซึ่งปริมาณน้ำที่มากอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ คลองสายเล็กๆ นี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการระบายน้ำลงสู่ที่ราบได้อย่างรวดเร็ว คลองสายนี้มีความยาวไปตามถนนสายหลักภายในเมืองเปตราที่เรียกว่า Colonnade Street ไปจนถึงบริเวณ Temple of Dushares จากนั้นพื้นที่ราบจะค่อยๆ สูงขึ้นกลายเป็นกลุ่มภูเขาที่อยู่ด้านบน ซึ่งเป็นเส้นทางเดินไปยัง The Monastery สถานที่สำคัญที่สุดของเมืองโบราณแห่งนี้ เมื่อยามไม่มีฝนตก คลองระบายน้ำสายนี้จะเป็นเพียงร่องน้ำแห่งผาก ปัจจุบันเมื่อเราเดินข้ามลำคลองจากทางด้านหน้าโรงละคร เราจะพบกับร้านขายสินค้าที่ระลึก 3-4 ร้าน ซึ่งจะมีมุมให้นักท่องเที่ยวได้แวะนั่งพักดื่มชาเพื่อผ่อนคลายจากความเมื่อยล้าเป็นระยะๆ ไป

 

The Dam หรือคลองระบายน้ำภายในเมืองเปตรา

 

จุดหมายถัดไปของเราคือ สุสานกษัตริย์ (The Royal Tombs) ซึ่งจะต้องเดินขึ้นบันไดราว 300 ขั้นเพื่อไปยังอาคารทั้ง 4 แห่งที่ตั้งเรียงรายกันอยู่ข้างบน ถือว่าเป็นอาคารที่มีความงดงามทางศิลปสถาปัตยกรรมและมีความโดดเด่นกว่าหมู่อาคารอื่นๆ ด้วยตั้งอยู่ในจุดที่เรียกได้ว่าเป็นใจกลางของนครเปตรา  กลุ่มอาคารทั้ง 4 แห่งประกอบด้วย   

 

บริเวณสุสานกษัตริย์  

 

Urn Tomb  ตั้งชื่อตามรูปเหยือกน้ำที่อยู่บนยอดจั่ว สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อราวคริสต์ศักราชที่ 70

 

 

Urn Tomb

 

Silk Tomb ได้ชื่อมาจากสีสันของผนังหินทรายที่เห็นเป็นริ้วของชั้นหินสลับสี ดูเป็นลวดลายคล้ายกับผ้าไหมที่กำลังต้องลม

 

ทางเดินขึ้นสู่ Silk Tomb 

 

Silk Tomb 

 

ลักษณะชั้นหินของ Silk Tomb เป็นริ้วสลับสีคล้ายผ้าไหมยามต้องลม   

 

ถัดมาคือ Corinthian Tomb ที่บริเวณส่วนบนของด้านหน้าอาคารมีเสาแบบคอรินเทียนประดับอยู่ สุดท้ายคือ Palace Tomb เป็นอาคารที่มีความหรูหราและสง่างามดั่งพระราชวัง ตัวอาคารมีหน้ากว้าง 49 เมตร สูง 46 เมตร ชั้นล่างแบ่งออกเป็น 12 ช่อง และเป็นประตูทางเข้าออก 4 ช่อง ซึ่งแต่ละช่องจะนำไปสู่ห้องฝังศพที่มีอยู่ 4 ห้องเช่นเดียวกัน ส่วนบริเวณด้านหน้าอาคารชั้นบนสลักเป็นเสาติดผนังจำนวน 18 ต้น บริเวณหน้าผาอันเป็นที่ตั้งของ Palace Tomb แห่งนี้ เมื่อมองมาจากอีกฟากหนึ่งของภูเขาจะเห็นว่าให้ความรู้สึกน่าเกรงขามและสง่างาม ถือเป็นทิวทัศน์ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะนิยมบันทึกภาพไว้เป็นที่ระลึก 

 

บริเวณ Corinthian Tomb และ Palace Tomb 

 

ส่วนด้านหน้าของ Corinthian Tomb 

 

เมื่อเราเดินออกจากสุสานกษัตริย์หลังที่ 4 แล้ว จะมีทางเดินเล็กๆ พาขึ้นไปบนเนินเขาที่โอบล้อมหุบเขาบริเวณนี้เอาไว้ ซึ่งอยู่สูงขึ้นไปเหนือถนนสายหลักของเมืองประมาณ 50 เมตร ทางเดินนี้จะนำไปสู่โบราณสถานอีกแห่งหนึ่งที่เรียกว่า โบสถ์แห่งเมืองเปตรา (The Petra Church) ตั้งอยู่ห่างจาก The Royal Tomb ประมาณ 200 เมตร ปัจจุบันทางรัฐบาลจอร์แดนทำหลังคาผ้าใบคลุมไว้เพื่อรักษาสภาพของกระเบื้องโมเสก (Mosaic) ที่ประดับอยู่ภายในตัวอาคารและทางเดินของโบสถ์ โบสถ์แห่งนี้มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ โถงกลางของโบสถ์ (The Nave) ระเบียงทางทิศเหนือ (The North Aisle) และระเบียงทางทิศใต้ (The South Aisle)

 

 

ระหว่างทางจาก The Royal Tomb สู่ The Petra Church

 

โถงกลางของโบสถ์ บริเวณทางเดินภายในและพลับพลานั้นสร้างด้วยหินอ่อน ถึงแม้ว่าจะมีการขโมยอิฐและส่วนประกอบต่างๆ ออกไปบ้าง แต่ส่วนที่เหลืออยู่ยังคงเป็นรูปแบบเดิมที่มิได้ถูกทำลายไปด้วย ภายในมีแท่นพิธีตั้งอยู่ทางด้านหน้า นอกจากนี้ยังพบจารึกปรากฏอยู่ด้วย

 

แท่นพิธีตั้งอยู่ในส่วนด้านหน้าของโบสถ์

 

ภายใน The Petra Church

 

ระเบียงด้านทิศเหนือพื้นประดับด้วยภาพโมเสกเป็นช่องๆ โดยทำเป็นรูปวงกลมแบบเหรียญกษาปณ์จำนวน 84 รูป เรียงเป็น 3 แถว ภายในทำเป็นรูปต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปบุคคลจำนวน 6 รูป ซึ่งน่าจะเป็นผู้อุปถัมภ์ในการสร้าง รูปต้นไม้และสัตว์ชนิดต่างๆ ได้แก่ ต้นอินทผาลัม อูฐ นกยูง หมูป่า ม้า ช้าง ยีราฟ สัตว์บางชนิดไม่ใช่สัตว์พื้นถิ่น สะท้อนให้เห็นถึงการเดินทางไปติดต่อค้าขายยังดินแดนอื่นๆ ที่อยู่ห่างไกลออกไป

 

พื้นระเบียงภายในโบสถ์ประดับภาพโมเสก 

 

ระเบียงทางทิศใต้พื้นประดับด้วยภาพโมเสกเป็นรูปฤดูกาลต่างๆ โดยมีจารึกภาษากรีกบอกกำกับไว้ กระเบื้องแผ่นเล็กๆ ที่นำมาประกอบเป็นรูปนั้น เรียกว่า Tesserae ทำมาจากวัสดุหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแก้ว เซรามิค ก้อนหินสี ทำเป็นรูปวงกลมและสี่เหลี่ยมแล้วทำมาเรียงต่อกันเป็นรูปร่างต่างๆ  ภาพที่อยู่ใกล้กับประตูทางเข้าเป็นภาพฤดูหนาว ทำเป็นรูปคนหาปลา ลูกโลกที่โอบอุ้มเด็กเอาไว้ และคนพายเรือในมหาสมุทร ถัดไปเป็นฤดูไบไม้ผลิ ปรากฏเป็นภาพดอกไม้ ส่วนภาพฤดูร้อนทำเป็นรูปทุ่งข้าวสาลีและนกอินทรีย์ และฤดูใบไม้ร่วงทำเป็นรูปนกกำลังกินน้ำจากจอกน้ำ นอกจากนี้ยังมีภาพสัตว์ทำเป็นคู่ๆ ได้แก่ กวาง นกกระจอกเทศ แกะ เป็นต้น แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าภาพโมเสกบางส่วนที่ประดับอยู่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติและถูกพวกลักลอบขุดขโมยกระเบื้องเก่าทำลายไปเสียก็มาก

 

พื้นระเบียงทางทิศใต้ประดับด้วยภาพโมเสกเล่าถึงฤดูกาลต่างๆ 

 

นอกจากนี้ภายในโถงกลางของโบสถ์ ยังมีการจัดแสดงโบราณวัตถุที่เป็นส่วนประกอบของอาคารที่แตกหักร่วงหล่นอยู่ในบริเวณนี้ มีทั้งหัวเสา อ่างน้ำ โดยนักโบราณคดีได้นำชิ้นส่วนเหล่านี้มาจัดวางในตำแหน่งที่ใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด พร้อมทั้งมีการอธิบายผ่านป้ายนิทรรศการและผังจำลองของตัวอาคาร เพื่อให้นักท่องเที่ยวศึกษาข้อมูลเบื้องต้นและจินตนาการถึงสภาพเดิมของอาคาร และบริเวณลานด้านนอกอาคารยังมีชิ้นส่วนของเสาลักษณะกลมและฐานหินของอาคารจัดวางไว้ให้เราได้ชมด้วย

หัวเสาภายในโบสถ์ทำเป็นลวดลายพรรณพฤกษา 

 

 

ส่วนประกอบของโบสถ์ที่พังลงมาถูกนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งทางด้านนอกอาคาร

 

งานแกะสลักนูนต่ำที่ตกแต่งตัวอาคารทั้งภายในและภายนอกเป็นศิลปะสมัยไบแซนไทน์ (Byzantine)  ซึ่งภายในโถงกลางของโบสถ์ได้มีการขุดค้นทางโบราณคดีและทำการบูรณะแล้ว จากการขุดค้นพบร่องรอยเหตุการณ์ไฟไหม้และความเสียหายจากแผ่นดินไหว ทั้งยังพบฐานอาคารอีกชั้นที่อยู่ใต้พื้นของอาคารหลังล่าสุด ทำให้สันนิษฐานได้ว่าอาคารที่เห็นอยู่ในปัจจุบันสร้างทับลงไปบนสิ่งก่อสร้างเดิม นอกจากนี้ยังค้นพบจารึกที่จารลงในกระดาษปาปิรุสราว 140 แผ่นที่ห้องทางทิศเหนือของโบสถ์

 

เมื่อออกจาก The Petra Church แล้ว เราจะเดินตามทางเดินเล็กๆ บนเนินเขาเพื่อลงไปยังถนนเส้นหลักของเมือง บริเวณใกล้ๆ มีซากโบราณสถานอีก 2 แห่งให้ได้แวะชม ส่วนใหญ่เป็นฐานของอาคารที่ได้รับการบูรณะแล้ว จากป้ายคำบรรยายทำให้ทราบว่าอาคารทั้ง 2 แห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยจักรวรรดิไบแซนไทน์ ราวคริสต์ศตวรรษที่ 5  ในสมัยพระเจ้าจัสติเนียนที่ 1 (Justinian I) ซึ่งจักรวรรดิไบแซนไทน์รุ่งเรืองมากที่สุด โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople)

 

เส้นทางเดินจาก The Facades Street ถึง Colonnade Street

 

เด็กน้อยนั่งขายหินสวยงามที่กระเทาะเป็นก้อนเล็กๆ

 

  โต๊ะวางขายก้อนหินและของที่ระลึกโดยคนท้องถิ่น

 

แดดช่วงเวลาราว 11 โมงของเปตราร้อนแรงพอสมควร แต่ยังดีอยู่บ้างที่มีสายลมโชยผ่านมาเป็นระยะๆ ทำให้อุณหภูมิขณะนั้นอยู่ที่ราว 32 องศาเซลเซียสเท่านั้น ใกล้เวลามื้อเที่ยงแล้ว จึงจำเป็นต้องนั่งพักเอาแรงและรับประทานอาหารกันที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่บนเนินสูงเหนือถนนสายหลัก ร้านนี้มีบริการที่นั่งทั้งในตัวอาคารและภายใต้ร่มต้นมะกอก บริการอาหารจานด่วนง่ายๆ พร้อมกับเครื่องดื่ม ถือเป็นทำเลที่ดีที่จะนั่งชมวิวสักพัก

 

อูฐเมืองเปตรา

 

ทิวทัศน์งดงามดั่งต้องมนต์สะกด

 

ณ ร้านอาหารบนเนินเขา มองเห็นทิวทัศน์ของเมืองเปตรา ทั้งสุสานกษัตริย์และโบราณสถานอื่นๆ  

 

ทริปเดินเที่ยวในเมืองเปตราของวันนี้ยังไม่จบ โปรดติดตามตอนสุดท้ายของ “ 'เปตรา' นคร (ที่เคย) ร้างกลางทะเลทรายอาหรับ” ในคอลัมน์ “เที่ยวแบบวารสาร” 

 


เมธินีย์ ชอุ่มผล

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ