“ผู้ที่พบภาพเขียนสีนี้เป็นคนแรก และเป็นผู้นำทางขึ้นไปคือ นายพรานชื่อ ทำ อินทประเทศ อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 28 หมู่ 12 ตำบลทุ่งโพ อำเภอหนองฉาง มีภูมิลำเนาอยู่ในบริเวณนั้น ปกตินายทำมีอาชีพทำไร่และล่าสัตว์บ้างเป็นครั้งคราว สาเหตุที่พบเนื่องจากไปล่าสัตว์บนเขา เพราะภูเขาปลาร้านี้ยังอุดมไปด้วยสัตว์ป่า ชาวบ้านยังคงขึ้นไปล่าสัตว์อยู่เนืองๆ เผอิญฝนตกจึงหนีเข้าไปหลบฝนในเพิงผา เมื่อแหงนหน้าขึ้นไปก็พบกับภาพเขียนสี”
กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณสำรวจเขาปลาร้า จังหวัดอุทัยธานี
(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
เขาปลาร้าหรือภูปลาร้า เป็นเทือกเขาที่ตั้งอยู่ริมถนนสายหนองฉาง-อุ้มผาง มีเนื้อที่อยู่ในเขตอำเภอหนองฉาง บ้านไร่ และลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ภูเขาแห่งนี้มีความลาดชันมาก เมื่อไต่สันเขาขึ้นไปจนพ้นจากความลาดชันแล้วจะพบกับที่ราบ มีป่าโปร่ง จากนั้นต้องเดินข้ามสันเขาไปอีกฟากหนึ่งจึงจะพบกับแหล่งภาพเขียนสีที่อยู่ในเพิงผาหินธรรมชาติ ขนาดกว้างประมาณ 30 เมตร สูงประมาณ 20 เมตร ผนังเพิงผาหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ด้วยเป็นเขาหินปูน ประกอบกับลักษณะเพิงผา จึงสันนิษฐานว่าไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยถาวร แต่พอจะอาศัยเป็นที่พำนักชั่วคราวได้
ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบที่ภูเขาปลาร้า จังหวัดอุทัยธานี บนปกวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 5 ฉบับที่ 5
กลุ่มภาพเขียนสีดังกล่าวนี้มีทั้งที่ใช้สีแดง สีแดงปนดำ และสีดำ ส่วนใหญ่เป็นภาพลายเส้นที่ค่อนข้างลบเลือน มีทั้งภาพคนและสัตว์ ที่น่าสนใจคือภาพคนสวมเครื่องประดับ แสดงท่าทางต่างๆ สันนิษฐานว่ากำลังประกอบพิธีกรรม
“ภาพคล้ายคนสวมเครื่องประดับ มีทั้งเครื่องประดับหัวและเอว… บางตัวทำท่าทางคล้ายกำลังเต้นรำ สันนิษฐานจากลักษณะท่าทางการยกมือ บางตัวคล้ายกับกำลังบงการหรือออกคำสั่ง ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเป็นการเล่นสนุกในการประกอบพิธีกรรมบางอย่าง”
ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบที่ภูเขาปลาร้า จังหวัดอุทัยธานี
(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
นอกจากนี้ยังมีภาพวาดสัตว์ประกอบอยู่ด้วย เช่น สัตว์สี่เท้า มีหาง สันนิษฐานว่าคือสุนัข แล้วยังมีรูปเต่า นก กบ รวมถึงภาพคนกำลังจูงวัว (?) ที่ตัวคนมีเครื่องประดับตกแต่ง มือข้างหนึ่งคล้ายกับกำลังถือสายจูงที่คล้องอยู่ที่คอวัว
ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบที่ภูเขาปลาร้า จังหวัดอุทัยธานี
(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
การสำรวจในครั้งนี้ เป็นเพียงการสำรวจเบื้องต้น เพื่อบันทึกสภาพของแหล่งและลักษณะของภาพเขียนสีที่พบ ซึ่งถือเป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของอุทัยธานี
ติดตามอ่านบทความเรื่อง “ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ภูปลาร้า” โดยวิยะดา ทองมิตร และบังอร กรโกวิท ตีพิมพ์ลงในวารสารเมืองโบราณปีที่ 5 ฉบับที่ 5 (มิถุนายน-กรกฎาคม 2522) ฉบับเต็มได้ใน “10 ปีแรกวารสารเมืองโบราณ” คลิก https://www.yumpu.com/xx/document/view/67682802/-5-5