"เมืองพระเวียง"และ"จันดีนคร" บนเส้นทางข้ามคาบสมุทร
แวดวงเสวนา

"เมืองพระเวียง"และ"จันดีนคร" บนเส้นทางข้ามคาบสมุทร

 

 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2562 วารสารเมืองโบราณ มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ร่วมกับหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จัดเสวนา "เมืองพระเวียง" และ "จันดีนคร" หลักฐานใหม่บนเส้นทางข้ามคาบสมุทร ภายใต้โครงการคืนความรู้สู่ท้องถิ่นกับวารสารเมืองโบราณ โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ศาสตราจารย์ (เกียรติคุณ) ศรีศักร วัลลิโภดม บรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ และที่ปรึกษามูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ นักค้นคว้าและสืบค้นประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิผ่านรอยลูกปัด คุณสุรเชษฐ์ แก้วสกุล นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และท้องถิ่นภาคใต้  และคุณไพโรจน์ สิงบัน จากหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

บรรยากาศภายในงานเสวนา จัดขึ้น ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

 

คุณไพโรจน์ สิงบัน ผู้ดำเนินรายการ 

 

ตำนานท้องถิ่นกับการศึกษาประวัติศาสตร์ "เมืองพระเวียง”

 

อาจารย์ศรีศักร เปิดประเด็นสำคัญว่าด้วยการใช้ตำนานท้องถิ่นร่วมกับการสำรวจภาคสนามศึกษาทางภูมิวัฒนธรรม (Cultural Landscape) เพื่อทำความเข้าใจถิ่นฐานบ้านเมือง ความเป็นมาของท้องถิ่น ดังที่นักโบราณคดีรุ่นครูอย่างเช่นท่านพุทธทาสและอาจารย์มานิต วัลลิโภดมได้ริเริ่มไว้ 

 

"ตำนานเป็นประวัติศาสตร์สังคมที่คนท้องถิ่นสร้างขึ้นในระยะเวลาหนึ่ง เพื่อเท้าความถึงอดีตของตนเอง หัวใจของการสร้างประวัติศาสตร์เช่นนี้คือตำนานบ้านเมือง ซึ่งผูกโยงเรื่องราวของกษัตริย์และพระบรมธาตุ ต้องเข้าใจระบบสัญลักษณ์และรหัสที่ซ่อนอยู่  แต่นักวิชาการประวัติศาสตร์ปัจจุบันมองหาเพียงหลักฐานข้อเท็จจริง โดยไม่เข้าใจบริบทของตำนาน จึงไม่สนใจและมักมองตำนานเป็นเรื่องไร้สาระ"

 

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม 

 

กรณีการแบ่งเขตแดนระหว่างพระเจ้าอู่ทอง กษัตริย์เมืองเพชรบุรีกับพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชแห่งเมืองนครศรีธรรมราช คือตัวอย่างหนึ่งของการศึกษาเรื่องราวท้องถิ่นผ่านตำนานเมือง โดยอาจารย์ให้ข้อสังเกตว่าพื้นที่แห่งใดซึ่งมีลักษณะผิดธรรมชาติ เช่น มีหินตั้ง เป็นพื้นที่ต้นน้ำ คนท้องถิ่นจะกำหนดให้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ต้องกราบไหว้แสดงความเคารพร่วมกัน  ความสำคัญของการศึกษาเรื่องราวของท้องถิ่นผ่านตำนานเช่นนี้ จึงเป็นที่มาของการศึกษาเมืองพระเวียง ซึ่งเป็นเมืองโบราณสมัยตามพรลิงค์ที่ตั้งอยู่บนหาดทรายแก้ว ว่าด้วยเรื่องราวของนครศรีธรรมราชในยุคที่มีการสถาปนาพุทธเถรวาทแบบลังกาวงศ์ ซึ่งมีการสร้างพระบรมธาตุ ขณะที่ยุคก่อนหน้านั้นนครศรีธรรมราชเป็นเขตที่นับถือศาสนาฮินดูเป็นสำคัญ

 

จันดีนครกับเส้นทางข้ามคาบสมุทร

 

ต่อมาเป็นประเด็นพูดคุยถึงจันดีนครกับเส้นทางข้ามคาบสมุทร โดยเริ่มจากการตั้งคำถามถึงการเข้ามาของศาสนาฮินดูและพุทธศาสนาจากอินเดียสู่ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์  ซึ่งอาจารย์ศรีศักรเห็นแย้งกับแนวคิดที่ว่าอารยธรรมอินเดียทั้งหมดในสยามประเทศส่งผ่านมาจากทางกัมพูชา อาจารย์เล่าย้อนถึงความเป็นมาในการศึกษาเส้นทางข้ามคาบสมุทรว่า "มีประเด็นการอภิปรายกันมาตั้งแต่สมัยที่อาจารย์มานิตศึกษาด้วยการตามรอยหลักฐานทางโบราณคดีสมัยฟูนัน คือเทวรูปพระนารายณ์สวมหมวกแขก ซึ่งอาจารย์เห็นว่าจันดีนครหรือเวียงจันดีน่าจะเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทร โดยอาจเป็นเส้นทางจากจันดีเข้าสู่เขาหลวงมายังชายฝั่งทะเล โดยมีลุ่มน้ำตาปีอยู่ระหว่างกลาง"

 

คุณหมอบัญชา หนึ่งในนักวิชาการท้องถิ่นคนสำคัญของเมืองนคร เสริมด้วยตำนานสองพี่น้องคือพระนางจันฑีกับพระนางเลือดขาวที่เชื่อมโยงไปถึงการศึกษา "จันดีนคร" ซึ่งเกิดจากความสนใจเรียนรู้เรื่องราวโบราณวัตถุที่ค้นพบภายในสวนยางหลังบ้านของคุณศราวุธ ศรีทิพย์ และครอบครัว ซึ่งเป็นชาวบ้านจันดี พบแนวอิฐ กระเบื้อง หม้อกระดูก เหรียญเงิน ลูกปัด และเทวรูปสำริดในพื้นที่ จึงให้ความสนใจและพยายามศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง รวมทั้งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันนำมาสู่การวิเคราะห์ตีความหลักฐานดังกล่าวเชื่อมโยงกับเวียงจันดีหรือจันดีนคร

 

นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช

 

"เทวรูปสำริดองค์หนึ่งที่ชาวบ้านพบและนำกลับมาบูชา เมื่อนำไปวิเคราะห์แล้วพบว่าคือ “พระโพธิสัตว์ไตรโลกยวิชัย” ซึ่งอาจจะเชื่อมโยงกับชวาหรืออินเดีย นอกจากนี้หลักฐานพวกเศษกระเบื้องเครื่องถ้วยที่พบตีความว่าเป็นของสมัยราชวงศ์ถังในจีน ยังพบเหรียญเงินตราดอกจัน ลูกปัด มีความคล้ายคลึงและน่าจะร่วมสมัยกับโบราณวัตถุพบที่ไชยา พุมเรียง และเกาะคอเขา เวียงจันดีจึงน่าจะเป็นสถานีสำคัญก่อนข้ามเขาหลวงไปออกนครศรีธรรมราช  ส่วนยอดเขาเหมนที่สูงเหมือนเขาพระสุเมรุอาจจะเป็นหมุดหมาย (Landmark) สำคัญ” 

 

อาจารย์ศรีศักรให้ข้อมูลเสริมว่าบริเวณที่เข้าไปศึกษานี้คือตำแหน่งของเวียง หรือ Citadel พบหลายแห่งในภาคใต้ โดยเฉพาะที่เขาสามแก้ว บ้านกล้วย สทิงพระ พื้นที่เวียงที่กล่าวถึงนี้เป็นพื้นที่สำคัญของเมือง เป็นที่อยู่ของเจ้านายผู้ปกครอง อาจมีขนาดไม่ใหญ่ แต่ถ้าเป็นนครขนาดใหญ่จะมีคูน้ำล้อมรอบ ตำแหน่งที่เข้าใจว่าเป็นเวียง น่าจะเป็นเมืองที่ร่วมสมัยกับกลุ่มเมืองทางลุ่มแม่น้ำตาปี เวียงสระ ศรีวิชัย

 

ร่องรอยสุวรรณภูมิ

 

การปฏิเสธหลักฐานซึ่งเป็นวัตถุเคลื่อนย้ายได้ เช่น ลูกปัด เทวรูปสำริดพระโพธิสัตว์ไตรโลกยวิชัย ของนักโบราณคดีไทยเป็นการสร้างข้อจำกัดแก่การศึกษาและกำหนดยุคสมัยทางโบราณคดีของประเทศไทย ไม่เก่าไปกว่าสมัยทวารวดีในพุทธศตวรรษที่ 12 ในทัศนะของอาจารย์ศรีศักรเห็นว่า ควรนำหลักฐานทางโบราณคดีที่พบมาศึกษาค้นหาบริบทของเวลาและพื้นที่ที่พบหลักฐาน

 

 

ในทำนองเดียวกับการศึกษาด้วยการตามรอยลูกปัดของคุณหมอบัญชา ซึ่งทำให้สามารถเชื่อมโยงวิเคราะห์หลักฐานที่อาจย้อนความเก่าแก่ของบ้านเมืองในไทยไปได้ถึงพุทธศตวรรษที่ 1-2 ร่วมสมัยกับการเผยแผ่พุทธศาสนาโดยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งบ้านเมืองเริ่มมีการนับถือพุทธศาสนา มีระบบราชามหากษัตริย์ในยุคแรกเริ่ม ซึ่งเชื่อมโยงไปกับคำอธิบายเกี่ยวกับสุวรรณภูมิ 

 

คนรุ่นใหม่กับเทคโนโลยีและเครือข่าย เพื่อการรื้อฟื้นความทรงจำของท้องถิ่น

 

คุณสุรเชษฐ์ แก้วสกุล นักวิชาการคนรุ่นใหม่เมืองนคร ได้ใช้องค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมร่วมกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น โดรนหรือเครื่องบันทึกภาพมุมสูง  รวมทั้งอาศัยเครือข่ายสังคมออนไลน์ในการแสวงหาความรู้และสร้างความร่วมมือในการรื้อฟื้นเรื่องราวความทรงจำให้กลับมามีความหมายต่อท้องถิ่น

 

คุณสุรเชษฐ์ แก้วสกุล

 

คุณสุรเชษฐ์เล่าถึงการทำงานกับพระครูเหมเจติยาภิบาล (โสพิทร์ อินทโสภิโต) และสิ่งที่พบในการศึกษาเอกสารโบราณเมืองนครศรีธรรมราชจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เช่น ตำนานจากทั้งฝ่ายวัดและฝ่ายเมือง เอกสารว่าด้วยการกัลปนาซึ่งมีการแสดงถึงผังเมืองนครศรีธรรมราชสมัยอยุธยาตอนปลายที่ยังไม่เคยได้รับการเผยแพร่ที่ใดมาก่อน ข้อมูลการอภิบาลพระบรมธาตุซึ่งพบข้อแตกต่างกันระหว่างเอกสารในสมัยอยุธยากับสมัยรัตนโกสินทร์ ข้อมูลแผนที่กายภาพเมืองนคร  แผนที่จากปากพนังถึงทะเลน้อย แสดงเส้นทางการเดินทางผ่านเส้นทางน้ำภายใน คือคลองต่างๆ จากปากพนัง สทิงพระ มายังเมืองนครศรีธรรมราช อธิบายลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญ  ซึ่งชื่อต่างๆ ในเอกสารยังคงปรากฏพบเมื่อทำการสำรวจภาคสนาม

 

บรรดาชุดเอกสารที่กล่าวมามีชิ้นหนึ่งคือ ขบวนพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นคำพรรณนาลักษณะและองค์ประกอบของพระบรมธาตุสมัยอยุธยาตอนปลาย จึงได้ทำการสรุปเนื้อหาจากเอกสารมาแสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบส่วนต่างๆ ของพระบรมธาตุ ด้วยการจัดทำ Photogrammetry คือ การประมวลผล 3 มิติ จากรูปถ่ายและนำไปจัดทำเป็นโมเดล 3 มิติ เพื่อสร้างภาพและสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลจดหมายเหตุทางศิลปกรรมสำหรับการอนุรักษ์พระบรมธาตุเมืองนครต่อไป นอกจากนี้ในส่วนท้ายของเอกสารยังได้พรรณนาถึงอมนุษย์รูปต่างๆ ที่อยู่ในวิหารพระทรงม้า เช่น ท้าวขัตตุคามกับท้าวรามเทพ อันเป็นที่มาของจตุคามรามเทพที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ

 

บรรยากาศภายในงานเสวนา เปิดให้ผู้สนใจร่วมอภิปรายและซักถาม 

 

ก่อนปิดการเสวนาวิทยากรทุกท่านได้เน้นย้ำประเด็นบทบาทของนักวิชาการท้องถิ่นในการสืบค้นเรื่องราวเกี่ยวกับตนเอง   นอกจากนี้ผู้เข้าฟังการเสวนายังร่วมอภิปราย ซักถาม และแสดงความคิดเห็นในประเด็นความร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนองค์ความรู้ของท้องถิ่น และประเด็นสุวรรณภูมิบนเส้นทางข้ามคาบสมุทร ในอนาคตอาจมีการสร้างเครือข่ายและเกิดกิจกรรมที่จะช่วยกันขยายพรมแดนความรู้กันต่อไป

 

บรรยากาศภายในงานเสวนา

   


จิราพร แซ่เตียว

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ