ศาล "ปู่ด้วง-แม่ย่าดี" แห่งวัดผาเกิ้ง

ศาล "ปู่ด้วง-แม่ย่าดี" แห่งวัดผาเกิ้ง

 

ภายในวัดชัยภูมิพิทักษ์ หรือวัดผาเกิ้ง บ้านนาคานหัก ตำบลกุดชุมแสง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ วัดสำคัญเหนือยอดผาเกิ้ง ผาสูงคล้ายพระจันทร์เสี้ยวแห่งเขาภูแลนคา มี “ศาลปู่ด้วง-แม่ย่าดี” ตั้งอยู่ โดยมีป้ายติดอยู่ด้านหน้าศาลว่า “บ้านปู่ด้วง : ย่าดี” ศาลหลังนี้สร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อราวปี พ.ศ. 2532 มีหลวงพ่อบุญมาเป็นแกนนำในการจัดสร้าง โดยได้ทำการย้ายศาลมาจากบ้านท่ามะไฟหวาน อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนลำปะทาว 

 

ศาลปู่ด้วง-แม่ย่าดี ภายในวัดผาเกิ้งหรือวัดชัยภูมิพิทักษ์

 

ศาลหลังนี้มีลักษณะเป็นอาคารปูนชั้นเดียว ยกพื้นเตี้ยๆ มีรั้วและกำแพงก่ออิฐล้อมรอบ ด้านในแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน หากมองเข้าไป ทางด้านซ้ายจะพบรูปปั้น ปู่ด้วง อยู่ในท่านั่ง สวมชุดสีขาว คาดผ้าขาวม้า ส่วนทางด้านขวา เป็นรูปปั้น แม่ย่าดี อยู่ในท่าคุกเข่าราบ มือวางคว่ำบนหน้าขา รอบๆ รูปปั้นปู่ด้วง-แม่ย่าดี เต็มไปด้วยพวงมาลัย ดอกไม้ธูปเทียน ตุ๊กตา และของเซ่นไหว้จำนวนมาก

 

รูปปั้น ‘ปู่ด้วง’ อยู่ในท่านั่ง สวมชุดสีขาว คาดผ้าขาวม้า

 

ปู่ด้วง แม่ย่าดี เป็นเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับความเคารพนับถือมากในพื้นที่แถบจังหวัดชัยภูมิ โดยเฉพาะในเขตอำเภอ หนองบัวแดง อำเภอแก้งคร้อ และอำเภอเมือง นอกจากบริเวณผาเกิ้งแล้ว ความเชื่อในเรื่องปู่ด้วง-ย่าดี ยังปรากฏให้เห็นในอีกหลายพื้นที่ของจังหวัดชัยภูมิ พบว่ามีศาลปู่ด้วง-แม่ย่าดีอยู่อีกหลายแห่งในจังหวัดชัยภูมิ  เช่น ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ (ภูสระหงส์ อำเภอเมือง) ภายในวัดพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี บ้านหนองแวง ตำบลซับสีทอง อำเภอเมือง ที่บ้านผักคำแพรว ตำบลซับสีทอง อำเภอเมือง และที่ตำบลช่องสามหมอ อำเภอแก้งคร้อ เป็นต้น ในหลายท้องถิ่น ยังมีการจัดงานประจำปีไหว้ปู่ด้วงแม่ย่าดีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันด้วย เช่น ชาวบ้านที่บ้านผักคำแพรวจะจัดงานบูชาปู่ด้วงแม่ย่าดีเป็นประจำทุกปีในช่วงวันขึ้น 1-3 ค่ำ เดือน 3 โดยชาวบ้านจะนำเครื่องสักการะ เช่น หัวหมู เป็ด ไก่ ดอกไม้ ธูปเทียน พานบายศรี ไปกราบไหว้ปู่ด้วงแม่ย่าดี ในงานมีรำแคน และมีแม่หมอกล่าวนำคำไหว้บูชา ทำหน้าที่เป็นตัวแทนขอพรให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุข ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย

 

รูปปั้น ‘แม่ย่าดี’

 

ตำนานเกี่ยวกับปู่ด้วง ย่าดีที่เล่าสืบต่อกันมานาน เล่าว่า ปู่ด้วงเป็นชาวขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ท่านเป็นนายพราน อาศัยอยู่ตามป่าบนเทือกเขาภูแลนคา ปู่ด้วงเป็นผู้มีศีล บำเพ็ญตบะบารมี ไม่ทานเนื้อสัตว์ ปู่ด้วงมีหมาคู่ใจ ชื่อ ทอก เจ้าทอกมีความยาว 8 ศอก วันหนึ่งปู่ด้วงกับเจ้าทอกเข้าไปในป่า แต่ไม่พบสัตว์ป่าเลย ตกเย็นพบแลนฝูงหนึ่ง มีจ่าฝูงตัวใหญ่ เจ้าทอกวิ่งไล่แลนจ่าฝูงเข้าไปในป่าลึก ปู่ด้วงตามหาอยู่นาน 3 วัน จึงพบเจ้าทอกนอนหายใจรวยรินเฝ้าศพแลนตัวนั้น แลนอยู่ในสภาพจนมุม หัวและลำตัวติดคาโพรงไม้ พอเจ้าทอกเห็นปู่ด้วงก็ขาดใจตายตามแลนจ่าฝูงไป ชาวบ้านทั่วไปจึงขนานนามเทือกเขาที่ตัวแลนติดอยู่นั้นว่า ภูแลนคา และยกย่องให้ปู่ด้วงเป็นเทพเจ้าแห่งภูแลนคามาตั้งแต่นั้น

 

นอกจากนั้น ยังมีตำนานที่เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “ปู่ด้วงกับเจ้าพ่อพญาแล” ซึ่งเป็นวีรบุรุษท้องถิ่นคนสำคัญของเมืองชัยภูมิ ตำนานดังกล่าวเล่าว่า ปู่ด้วงเป็นคนมีฐานะดี และมีคาถาอาคมแก่กล้า จึงได้เป็นอาจารย์สอนวิชาคงกระพันให้เจ้าพ่อพญาแล เจ้าเมืองคนแรกของชัยภูมิ แต่ต่อมาเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ขึ้น แม้จะร่ำเรียนวิชาคงกระพัน แต่เจ้าพ่อพญาแลก็ได้รับภัยจากสงครามครั้งนั้นจนถึงแก่ความตาย ฝ่ายปู่ด้วง ในฐานะที่เป็นอาจารย์ก็เกรงจะมีภัยมาถึงตนและครอบครัว จึงอพยพจากบ้านตาดโตนไปอาศัยอยู่กลางดงป่าหินโงม (ตำบลเก่ายาดี อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ)”  ปัจจุบันมีวัดปู่ด้วงย่าดีอยู่ในบริเวณนั้นด้วย ปู่ด้วงใช้ชีวิตอยู่ในป่าอย่างเรียบง่าย ถือศีล ไม่ทานเนื้อสัตว์ ปฏิบัติธรรม เป็นปูชนียบุคคลที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมาก

 

ส่วนประวัติของย่าดีนั้น เริ่มปรากฏขึ้นหลังจากที่ปู่ด้วงเสียชีวิตไปแล้วราว 20 ปี ตำนานเล่าว่า ย่าดี เป็นชาวเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ หลังจากแต่งงานได้อพยพตามสามีและลูกมาอยู่ที่บ้านตาดโตน แต่ไม่นานก็ป่วยหนัก ล้มหมอนนอนเสื่อ นอนรอวันตาย คืนหนึ่งปู่ด้วงมาเข้าฝันบอกว่า ถ้าอยากหาย ให้ไปถือศีลที่บ้านหินโงม ซึ่งเป็นสถานที่ที่ปู่ด้วงเคยหนีภัยไปอยู่ ย่าดีทำตาม ไม่นานก็หายป่วยอย่างน่าอัศจรรย์ แม้จะเป็นปกติแล้ว แต่ย่าดียังคงถือศีลปฏิบัติธรรมต่อเนื่องมาจนสิ้นอายุขัย” ท่านเป็นปูชนียบุคคลที่ชาวบ้านให้ความเคารพ ศรัทธาในวัตรปฏิบัติเช่นเดียวกับปู่ด้วง

 

ตุ๊กตารูปตายาย ช้าง ม้า ที่ชาวบ้านนำมาถวาย ตั้งเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมากภายในศาล

 


เกสรบัว อุบลสรรค์

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ