ชีวิตคนพัทลุงในลุ่มน้ำทะเลน้อย ทั้งคนจากคลองลำปำ และคลองปากประ ต่างเติบโตและหาอยู่หากินกับทรัพยากรในทะเลสาบเกือบทุกบ้าน “ยอ” เครื่องมือจับปลาที่มีวิวัฒนาการจากยอขนาดเล็กจนปัจจุบันมีขนาดกว้างถึง 20 เมตร กลายเป็น “ยอยักษ์” ยอยักษ์ในลำคลองต่างๆ และที่อยู่ริมทะเลน้อยกลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของของเมืองพัทลุงไปอย่างมิได้ตั้งใจ แต่ก็แสดงถึงชีวิตของคนกับทะเลได้อย่างลงตัว
"ยอยักษ์" ที่คลองปากประ
คลองลำปำ และคลองปากประ สองเส้นทางน้ำสำคัญของเมืองพัทลุง เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำที่ชาวพัทลุงใช้มาแต่รุ่นปู่ รุ่นย่า หรือจะเรียกว่า ตั้งแต่เริ่มสร้างเมืองพัทลุงในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ว่าได้ เพราะเป็นลำคลองที่มีขนาดใหญ่และมีคลองแขนงที่สามารถนำพาเข้าสู่พื้นที่ตอนในของเมืองพัทลุงได้ไกลพอสมควร
วิถีประมงพื้นบ้านในทะเลน้อย ชาวบ้านจะใช้เส้นทางคลองปากประและคลองลำปำเชื่อมออกไปสู่ทะเลน้อยได้
ในอดีต สมัยที่ยังไม่มีถนนผ่านเมืองพัทลุง หากต้องการเดินทางไปยังพื้นที่ที่ทางรถไฟไม่ผ่าน ชาวพัทลุงส่วนใหญ่ก็จะพายเรือจากพื้นที่ตอนในลัดเลาะมาตามลำคลองเพื่อออกสู่ทะเลน้อย และพายลัดข้ามไปยังฝั่งระโนดหรือสทิงพระได้ เช่นเดียวกันหากคนฝั่งระโนด หรือฝั่งสทิงพระ ต้องการเดินทางไปพระนครก็จะต้องนั่งเรือข้ามมาขึ้นรถไฟที่ตัวเมืองพัทลุง โดยผ่านลำคลองทั้งสองสายนี้ หากจะมาขึ้นรถไฟที่ตัวจังหวัดพัทลุง (สถานีพัทลุง) นั้น ก็จะต้องพายเรือเข้ามาตามคลองลำปำ จึงจะตรงเข้าสู่เมืองได้ หรือหากสะดวกจะไปขึ้นรถไฟที่สถานีปากคลอง ในอำเภอควนขนุน ก็ให้ใช้เส้นทางคลองปากประ ซึ่งจะมาเชื่อมกับคลองแขนงที่สามารถเข้ามายังบ้านปากคลองได้
ต่อมาช่วงหลัง พ.ศ. 2470 เป็นต้นมา เริ่มมีเรือเมล์วิ่ง รับ-ส่งระหว่างคลองลำปำ – ระโนด และ คลองลำปำ-สงขลา ทำให้การเดินทางออกไปยังพื้นที่ในคาบสมุทรสทิงพระสะดวกขึ้น ยิ่งในสมัยต่อเมื่อมีถนนเพชรเกษมและถนนเส้นอื่น ตัดผ่านเมืองพัทลุง และอำเภอต่างๆ จนถึงพื้นที่ในคาบสมุทรสทิงพระแล้วนั่นแหละ เส้นทางเดินเรือในคลองลำปำ คลองปากประ และลำคลองอื่นๆ จึงได้ซบเซาลงไป...
ความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์ปลาท้องถิ่นในทะเลน้อยมีอยู่มากมายหลายชนิด "ปลาแขยง" ถือได้ว่าเป็นปลาอันดับหนึ่งของทะเลน้อย ด้วยเป็นปลาตัวไม่ใหญ่มากนัก เนื้อหวาน แม้จะมีก้างพอสมควร แต่ความอร่อยก็ทำให้ข้อเสียตรงนี้หายไปได้ ในอดีต เมื่อถึงเดือน 11 ปลามากมายจากทะเลหลวงจะว่ายวนเข้าไปตามลำคลองต่างๆ เพื่อวางไข่ ผู้คนรอบๆ ทะเลน้อยทั้งไกลและใกล้ต่างรู้เวลา มาพบกันราวกับนัดหมาย ทั้งตกปลา วางลอบ กู้ไซ ดักซั้ง (เวลานี้ผิดกฎหมายเสียแล้ว) จับปลาอ้วนพีที่มีไข่เต็มท้อง บ้างก็ทำอาหารกันสดๆ ณ ริมฝั่งน้ำ บ้างก็เอามาแปรรูปเป็นปลาเค็ม ปลาแห้งต่อที่บ้าน มีคำพูดติดมากกันว่า “มาทะเลน้อยถ้ายังไม่ได้กินปลาแขยงถือได้ว่ายังไม่ถึง”
ชาวบ้านกำลังตากปลาแขยง
นอกเหนือจากปลาแขยงแล้ว ในทะเลน้อยก็ยังมีปลาตุ่ม ปลาแมว ปลากระทิง ปลาฉลาก ปลาหมอ ปลาโสด ปลาหุด ปลาแป้น ปลาโอน ปลากดและอีกหลายชนิดๆ มีคนสำรวจพบว่ามีปลาในทะเลน้อยเกือบ 100 ชนิด แต่ในปัจจุบันเมื่อมีชาวประมงมากขึ้น จำนวนปลาและชนิดของปลาที่จับได้จึงค่อยๆ ลดน้อยลง เหลืออยู่เพียง 30-40 ชนิดเท่านั้น
ปลาลูกเบร่
ส่วน “ปลาลูกเบร่” คือลูกปลาตัวน้อยๆ ที่ว่ายน้ำไปมาเป็นฝูงใหญ่ เข้า-ออก ตามบริเวณปากคลองทั้งหลายในพัทลุง ทั้งคลองปากประ คลองลำปำ หรือในคลองอื่นๆ ก็ยังพอจับได้ การจับปลาลูกเบร่นั้น ส่วนใหญ่จะใช้การยกยอ เครื่องมือจับปลาที่เราเห็นได้ทั่วไปในคลองที่พัทลุง ดังนั้น ปลาลูกเบร่จึงเปรียบได้กับ “เด็กน้อยในยอ” ว่ากันว่า “มาถึงทะเลน้อยต้องได้กินปลาลูกเบร่” คำพูดของนักท่องเที่ยวที่เคยมาเที่ยวทะเลน้อย มาชิมอาหารของคนที่นี่ บางคนอาจเคยซื้อปลาลูกเบร่ตากแห้ง กลับไปฝากคนที่บ้านด้วย
เรียนรู้วิถีชีวิตของผู้คนที่ผูกพันกับทะเลน้อยให้มากขึ้นได้ในบทความ “เรื่องไม่เล็กแห่งทะเลน้อย” โดย เมธินีย์ ชอุ่มผล ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ 44.3 (กรกฎาคม-กันยายน 2561) "ไชยบุรี : ปราการที่แข็งแกร่งของพัทลุง"
ดูสารบัญ คลิก http://www.muangboranjournal.com/bookpost/41
รายละเอียดการสั่งซื้อ / สมัครสมาชิก คลิก http://www.muangboranjournal.com/สมัครสมาชิก