เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2560 ภายในงานรฦกธนบุรีครั้งที่ 1 “เปิดบ้านหลังคาแดง” ที่จัดขึ้น ณ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน ในภาคเช้ามีการเสวนาเรื่อง “พระเสด็จยังแดนธนฯ” กล่าวถึงพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่สัมพันธ์กับฝั่งธนบุรี อันเป็นพื้นที่ของราชธานีเก่า วิทยากรที่ร่วมพูดคุยในครั้งนี้ ได้แก่ นายแพทย์สินเงิน สุขสมปอง ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา และ คุณธีรนันท์ ช่วงพิชิต ศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนธนบุรี
คุณธีรนันท์ เริ่มต้นกล่าวถึงความสำคัญของธนบุรีว่า ถึงแม้ศูนย์กลางของราชธานีจะย้ายมาอยู่ที่ฝั่งพระนครแล้ว แต่ความสำคัญของฝั่งธนบุรีก็มิได้ลดลง ด้วยเป็นบ้านเมืองเก่าที่มีผู้คนอยู่สืบเนื่องกันมายาวนาน ทั้งยังเป็นนิวาสสถานเดิมของเจ้านายในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์อีกด้วย รัชกาลที่ 1 มีนิวาสสถานเดิมอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติและย้ายมาประทับที่พระราชวังหลวง จึงยกเรือนเดิมให้สร้างเป็นหอไตรที่วัดบางหว้าใหญ่ ซึ่งระหว่างการเตรียมพื้นที่สร้างหอไตรนั้น ได้พบระฆังเสียงก้องกังวานมาก จึงให้นำไปไว้ที่วังหลวง และให้สร้างระฆังขึ้นใหม่ 5 ใบเพื่อถวายวัด จึงเป็นที่มาของชื่อวัดระฆังโฆษิตาราม ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5) ได้พระราชทานพื้นที่บริเวณนิวาสสถานเดิมให้เป็นที่ทำการทหารเรือ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ “กองเรือลำน้ำ” ซึ่งยังปรากฏแนวกำแพงมีใบเสมาที่แสดงว่าเป็นเขตพระราชฐานเดิมอยู่ นอกจากนี้ สมเด็จพระสังฆราชในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์หลายพระองค์ก็เคยประทับอยู่ที่ฝั่งธนบุรี เช่น สมเด็จพระสังฆราชศรีแห่งวัดระฆังโฆษิตาราม สมเด็จพระสังฆราชสุกที่รัชกาลที่ 1 ทรงนิมนต์เชิญจากอยุธยาให้มาประทับที่วัดพลับหรือวัดราชสิทธาราม สมเด็จพระสังฆราชด่อนแห่งวัดหงส์รัตนาราม เป็นต้น
ส่วนที่ “พระราชวังเดิม” ซึ่งเป็นพระราชวังกรุงธนบุรีนั้น ภายหลังจากที่รัชกาลที่ 1 เสด็จขึ้นครองราชย์แล้วได้ให้เจ้านายไปประทับอยู่ ซึ่งรวมถึงพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีหลายพระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ประทับอยู่เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประทับอยู่เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี พระบรมวงศานุวงศ์องค์สุดท้ายที่ประทับอยู่ ณ พระราชวังเดิมคือ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ซึ่งทรงประทับอยู่จนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2443 ต่อมารัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระราชวังเดิมเป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพเรือ
นับตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้น ส่วนมาเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ทำนุบำรุงศาสนา และการขยายความเจริญมายังฝั่งธนบุรีด้วย เช่น รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพยาบาลขึ้นหลายแห่งที่ฝั่งธนบุรี ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลโรคติดต่อ ปัจจุบันคือโรงพยาบาลตากสิน และโรงพยาบาลคนเสียจริต ปัจจุบันคือสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เมื่อครั้งที่ยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินมาทำพิธีเปิดทางรถไฟสายท่าจีนที่สถานีคลองสาน เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2447 และในปี พ.ศ. 2456 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดสะพานเจริญพาศน์ ซึ่งเป็นสะพานข้ามคลองบางกอกใหญ่ ที่สร้างขึ้นในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 33 พรรษา ซึ่งถือเป็นสะพานคอนกรีตขนาดใหญ่แห่งแรกของฝั่งธนบุรี
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 7) เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้าที่สร้างขึ้นเป็นปฐมบรมราชานุสรณ์ในโอกาสเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ครบรอบ 150 ปี เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 เป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่เชื่อมระหว่างฝั่งธนบุรี-ฝั่งพระนคร ที่ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสภาพบ้านเมืองฝั่งธนบุรีเป็นอย่างมาก
พระบาทสมเด็จปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ (รัชกาลที่ 8) เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระอนุชา ซึ่งก็คือพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) มาทรงเยี่ยมราษฎรที่มัสยิดต้นสน เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2489 ในครั้งนั้นทางมัสยิดได้ทำการปรับปรุงอาคารไม้สองชั้น ทรงปั้นหยา เพื่อใช้เป็น “อาคารรับเสด็จ” ปัจจุบันยังคงถูกรักษาไว้อยู่ และต่อมาในรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรพิธีเจ้าเซ็นที่กุฎีเจริญพาศน์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2496 นอกจากนี้ยังได้เสด็จพระราชดำเนินมาถวายผ้าพระกฐินหลวงและยกช่อฟ้าใบระกาที่วัดต่างๆ ในฝั่งธนบุรีเป็นอันมากอีกด้วย และจากการสืบค้นข้อมูลพบว่าเมื่อ พ.ศ. 2497 รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดสวนสัตว์ธนบุรีวนารมย์ ซึ่งเป็นสวนสัตว์เอกชนของนายทองหล่อ บุณยนิตย์
ทางด้านคุณหมอสินเงิน ได้กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาว่า โรงพยาบาลแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2432 อันเนื่องมาจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 เดิมเรียกว่า โรงพยาบาลคนเสียจริต ตั้งอยู่ที่บริเวณปากคลองสาน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยสร้างขึ้นบนที่ดินของพระยาภักดีภัทรากรหรือเจ้าสัวเกงซัว ซึ่งเป็นที่ดินที่นำมาชดใช้หนี้หลวงหลังจากก่อตั้งโรงพยาบาลได้ราว 20 ปี เริ่มประสบปัญหาสถานที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย จึงย้ายมายังบริเวณที่ตั้งปัจจุบัน โดยซื้อที่ดินและเรือนของเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)
นับตั้งแต่เปิดทำการจนถึงปัจจุบัน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ที่ทรงเห็นถึงความทุกข์ยากของผู้ป่วยจิตเวช เช่น สมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่ 6 พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อบำรุงโรงพยาบาลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้เสด็จมาเยี่ยมผู้ป่วยเป็นการส่วนพระองค์ ซึ่งขณะนั้นโรงพยาบาลยังใช้ชื่อว่า โรงพยาบาลโรคจิตต์ธนบุรี และในสมัยรัชกาลที่ 8 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์สร้าง“เรือนพยับหมอก” ซึ่งเป็นเรือนพักผู้ป่วยชาย เมื่อปี พ.ศ. 2488 ต่อมารัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์สร้าง“อาคารราชสาทิส”เมื่อปี พ.ศ. 2502 ซึ่งเดิมเป็นอาคาร 2 ชั้น ก่อนที่จะปรับปรุงภายหลังเป็นอาคาร 9 ชั้น นอกจากนี้ยังได้พระราชทานอุปกรณ์การแพทย์และเครื่องมือผ่าตัดสมองด้วยความเย็นเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยจิตเวชอีกด้วย และหลังจากนั้นรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินอีก 2 ครั้ง คือในพิธีเปิดตึกจุลินทร์-สงวน ล่ำซำและตึกประสาทวิทยา เมื่อปี พ.ศ. 2511 และพิธีวางศิลาฤกษ์อาคาร 84 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2516
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (รัชกาลที่ 10) ได้เสด็จพระราชดำเนินมา 2 ครั้ง ขณะที่ยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ คือ เมื่อปี พ.ศ. 2520 ในพิธีเปิดตึกผู้ป่วยหญิง อนุสรณ์ครบ 84 ปี และเมื่อปี พ.ศ. 2521 เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเป็นการส่วนพระองค์ ส่วนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งสำคัญที่เสด็จพระราชดำเนินมาคือพิธีเปิดอาคารพิพิธภัณฑ์เรือนเจ้าคุณทหารหลังจากที่บูรณะแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2532 และเมื่อปี พ.ศ. 2543 ทรงนำนักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ รวมทั้งสถานที่สำคัญอื่นๆ ในย่านคลองสาน และครั้งหนึ่งพระองค์ท่านทรงเอ่ยถึงสถาบันจิตเวชฯ ไว้ในบทพระราชนิพนธ์ในนิตยสาร “เสนาศึกษา” ของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าว่าการจัดสวนที่นี่มีความร่มรื่นสวยงาม ซึ่งนำความปลื้มใจมาสู่บุคลากรของสถาบันจิตเวชฯ เป็นอันมาก และเมื่อปี พ.ศ. 2555 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิด “อาคารสมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9” ซึ่งเป็นอาคารผู้ป่วยหลังใหม่ และยังมอบพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาเพื่อสนับสนุนกิจการต่างๆ ภายในโรงพยาบาลอีกด้วย