“โจ” เครื่องรางพิทักษ์ทรัพย์ของคนถิ่นใต้
ข้างหลังภาพ

“โจ” เครื่องรางพิทักษ์ทรัพย์ของคนถิ่นใต้

 

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้กล่าวไว้ว่า “ สิ่งเหนือธรรมชาติ คือ อำนาจที่ทรงพลังเหนือจิตใจและยิ่งใหญ่กว่าอำนาจในกฎหมาย... อำนาจเหนือธรรมชาติของท้องถิ่นที่ผู้คนอ้างอิงเพื่อเป็นที่พึ่งในการขจัดความขัดแย้งในสังคมนั้นมีหลายระดับ นับแต่ผีบ้านผีเรือนถึงผีเมืองและเทพเจ้าบนท้องฟ้า เป็นสิ่งที่ผู้คนในท้องถิ่นรับรู้และเชื่อมั่นจากตำนาน คำสอนทางศาสนา และการประกอบประเพณีพิธีกรรมร่วมกันของคนตั้งแต่รุ่นเด็ก รุ่นพ่อรุ่นแม่ถึงปู่ย่าตายาย”

 

ในสังคมถิ่นใต้มีความเชื่อหลายอย่างที่อ้างถึงอำนาจเหนือธรรมชาติ ดังเช่น ความเชื่อเกี่ยวกับ “โจ” เครื่องรางที่เกิดขึ้นจากการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเหนือธรรมชาติกับการปกป้องรักษาทรัพย์สิน ซึ่งเป็นความเชื่อที่พบเห็นโดยทั่วไปในท้องถิ่นภาคใต้ในอดีต  ผู้ศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ได้อธิบายความหมายและจัดประเภทของ "โจ" ว่าเป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อการปกป้องรักษา ป้องกันการลักขโมย

 

โจมีหลายแบบ เช่น โจบอก(กระบอก) โจพรก(กะลา) โจหนัง โจตอกเป็นต้น เมื่อทำขึ้นมาแล้ว ก็จะทำการเสกคาถาอาคมต่างๆ ลงไป แต่ก็มีชนิดที่ทำขึ้นเพื่อขู่ให้กลัวเท่านั้น โดยมิได้ลงคาถาอาคมอย่างจริงจังนักจึงเรียกว่า โจหลอก

 

โจแขวนอยู่บนต้นไม้ ถ่ายที่จังหวัดสงขลา เมื่อราว พ.ศ. 2520 (ที่มา : ศรีศักร วัลลิโภดม) 

 

การใช้โจส่วนใหญ่ที่เห็นกันคือ นำไปแขวนไว้ตามต้นไม้ที่กำลังออกผล มีทั้งแบบโจบอกและโจหลอก เพื่อป้องกันและเป็นการเตือนไม่ให้ผู้ใดมาขโมยเก็บผลไม้ เชื่อกันว่าหากผู้ใดขโมยเก็บผลไม้จากต้นที่มีโจแขวนอยู่นั้นก็จะมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งวิธีการแก้ไขมีความเชื่ออยู่หลายรูปแบบ บ้างว่าต้องไปหาเจ้าของโจเพื่อทำพิธีแก้คำแช่งและถอนคาถาอาคม โสมชยา ธนังกูล เขียนเอาไว้ว่าคาถาแก้โจนั้นเป็นคาถาเดียวกับที่พระสงฆ์ใช้ถอนลูกนิมิต แต่ทั้งนี้วิธีการแก้โจไม่มีรูปแบบที่ตายตัวเพราะขึ้นอยู่กับเจ้าของโจที่เป็นผู้กำหนด บ้างก็ว่าให้แก้โดยนำมาลอดหว่างขา หรือนำโจวางกองลงกับพื้นแล้วพูดว่า “โจเจ้ามึงเข้ากูออก โจบอกมึงออกกูเข้า” ก็จะทำให้คำสาปแช่งหมดฤทธิ์ไปได้ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่า ขอสับช้าง นำมาใช้ล้างอาถรรพ์ของโจได้ด้วย 

 

“โจ” ถือเป็นเครื่องมือที่นำอำนาจเหนือธรรมชาติมาปกป้องรักษาสิ่งของต่างๆ ให้รอดพ้นจากการลักขโมย ซึ่งมิใช่เพียงแต่ส้มสูกลูกไม้ต่างๆ เท่านั้น ยังรวมถึงวัวควายและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ปัจจุบันแทบไม่เห็นการใช้โจในท้องถิ่นใต้อีกแล้ว แต่หากสอบถามคนเก่าแก่รุ่นอายุ 50 ปีขึ้นไป ก็น่าจะรู้จักเครื่องรางชนิดนี้กันเป็นอย่างดี  

 

แหล่งอ้างอิง

ปาจรีย์ เรืองคล้าย. ความเชื่อที่สำคัญของผู้คนในภาคใต้. วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ,ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์.

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. ผู้นำทางวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์, 2556.

ความเชื่อเรื่องโจ (ภูมิปัญญาชาวบ้าน) จากเว็บไซต์ http://prapirod.blogspot.com/2013/08/blog-post.html

ความเชื่อภาคใต้ โจ/กะโจ/กาโจ จากเว็บไซต์: http://www.openbase.in.th/node/8782


เมธินีย์ ชอุ่มผล

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ