ปราสาทพนมรุ้งเป็นเทวสถานที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของภูเขา อย่างที่เรียกว่า “เทวบรรพต” ตรงกับคติความเชื่อในศาสนาฮินดูที่เปรียบปราสาทหินดั่งเทวาลัยของเทพเจ้าบนยอดเขาพระสุเมรุความงดงามอลังการของปราสาทและความมหัศจรรย์ของปรากฏการณ์แสงอาทิตย์ลอดผ่านบานประตูทั้ง 15 บานของปราสาทแสดงถึงอัจฉริยภาพในการก่อสร้างสถาปัตยกรรมแห่งนี้ แต่กว่าที่ปราสาทพนมรุ้งจะโดดเด่นแก่สายตาเช่นทุกวันนี้ ได้ผ่านการบูรณปฏิสังขรณ์ที่ใช้เวลายาวนานหลายสิบปี นับแต่ปี พ.ศ. 2514 ที่กรมศิลปากรเริ่มต้นการบูรณะ จนแล้วเสร็จและเปิดเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ในปี พ.ศ. 2531
การบูรณะซ่อมแซมปราสาทพนมรุ้งหรือโบราณสถานขนาดใหญ่ทางกรมศิลปากรใช้วิธีที่เรียกว่า อนัสติโลซิส(ANASTYLOSIS) คือรื้อตัวปราสาทของเดิมลงมาทั้งหมด โดยที่ทำรหัสไว้ที่หินแต่ละก้อนและองค์ประกอบทุกชิ้นพร้อมเขียนกำกับหมายเลขรหัสทั้งหมดลงในผังให้ตรงกันอย่างละเอียด จากนั้นทำฐานใหม่ให้แข็งแรง แล้วนำชิ้นส่วนแต่ละชิ้นทั้งที่พังลงมานั้นไปประกอบใหม่อีกครั้งตามหมายเลขรหัสที่ให้ไว้ในที่เดิมของแต่ละชิ้นส่วน
ภาพปราสาทพนมรุ้งในระหว่างการบูรณะของศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณชุดนี้ บันทึกไว้เมื่อปี พ.ศ. 2517 ขณะที่อยู่ระหว่างการซ่อมแซม หินทุกก้อนที่ถูกรื้อลงมามีการลงรหัสกำกับและจัดวางหินเป็นกลุ่มๆ ตามผังอาคารเพื่อสะดวกต่อการนำขึ้นไปประกอบใหม่อีกครั้ง การบันทึกภาพเวลานั้นไม่ปรากฏทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์แล้วเพราะถูกโจรกรรมไปในช่วงระหว่างสงครามเวียดนาม สันนิษฐานว่าในปี พ.ศ. 2505-2508 ซึ่งการทวงคืนทับหลังของประชาชนคนไทยครั้งนั้นได้อาศัยหลักฐานจากภาพถ่ายของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ทรงบันทึกไว้เมื่อคราวเสด็จประพาสเมื่อปี พ.ศ. 2472 ก่อนการขึ้นทะเบียนปราสาทพนมรุ้งเป็นโบราณสถานของชาติในปี พ.ศ. 2475 และภาพถ่ายของอาจารย์มานิต วัลลิโภดม ในรายงานการสำรวจขุดแต่งโบราณสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. 2503 อันเป็นหลักฐานยืนยันที่ชัดเจนว่าทับหลังชิ้นนี้เคยตกหล่นอยู่ในบริเวณปราสาทแห่งนี้
ในที่สุดหลังจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งเพียงไม่นาน ประเทศไทยก็ได้รับการส่งคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จากสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ทางกรมศิลปากรจึงนำทับหลังดังกล่าวไปติดตั้งยังที่เดิมในเดือนธันวาคมปีเดียวกันนั้นเอง
ที่มาภาพ : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์