เพชรบุรี ถือว่าเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทในด้านการควบคุมเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรมาแต่โบราณ พบว่ามีหลักฐานการตั้งชุมชนที่บริเวณเมืองเพชรบุรีมาตั้งแต่ยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ก่อนจะพัฒนามาเป็นเมืองท่าการค้าในสมัยทวารวดี และมีความเจริญรุ่งเรืองสืบเนื่องมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังจะเห็นได้จากวัดวาอารามและงานศิลปกรรมต่างๆ ที่สะท้อนความเป็นท้องถิ่น จนกระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์ เมืองเพชรบุรีมีบทบาทเพิ่มเติมในการเป็นเมืองท่องเที่ยวตากอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังพระนครคีรีขึ้น และมีเส้นทางรถไฟสายเพชรบุรีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5
หนังสือ ตามรอยฝรั่ง เล่าความหลัง เมืองพริบพรี(เพชรบุรี) จัดพิมพ์โดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร พ.ศ. 2557 เป็นหนังสือรวบรวมบันทึกชาวต่างชาติที่คัดมาเฉพาะส่วนที่กล่าวถึงเมืองเพชรบุรี ที่เคยนำมาแปลและจัดพิมพ์เผยแพร่ภายใต้ลิขสิทธิ์ของกรมศิลปากร ความสำคัญประการหนึ่งของบันทึกเหล่านี้คือภาพวิถีชีวิตของชาวบ้านในยุคสมัยนั้นๆ ตลอดจนสภาพภูมิประเทศที่ไม่ค่อยถูกบันทึกไว้อย่างละเอียดลออมากนักในเอกสารราชการของสยาม ถึงแม้ว่าจะถูกบันทึกโดยชาวตะวันตกที่อาจมีอคติหรือไม่เข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรมอยู่บ้างก็ตาม
เมืองเพชรบุรีที่ปรากฏอยู่ในเอกสารของชาวต่างชาติในสมัยอยุธยามีอยู่ไม่มากนัก ได้แก่ บันทึกของ ฟาน ฟลีต (Jeremias Van Vliet) พ่อค้าชาวฮอลันดาที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ พ.ศ. 2176-2185 และ บาทหลวงฌาร์ค เดอ บรูซ์ Jacques de Bourges) บาทหลวงชาวฝรั่งเศส และจดหมายเหตุของ มองซิเออร์เซเบเรต์ ราชทูตฝรั่งเศส สมัยสมเด็จพระนารายณ์ เป็นต้น โดยเนื้อหาส่วนใหญ่กล่าวถึงเส้นทางเดินทางตามลำน้ำเพชรบุรี สภาพภูมิประเทศ ผู้คน และสินค้าสำคัญของเพชรบุรีในเวลานั้น
“แม่กลอง(Meclongh) พริบพรี(Prpry) ราพพรี(Rappry) ราชบุรี(Ratsjebeury) และกุย(Cuy) ล้วนเป็นเมืองเปิดทั้งสิ้น ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ ไม่ห่างจากทะเล นอกจากข้าวแล้ว ที่เหล่านี้ยังผลิตไม้ฝางได้เป็นจำนวนมาก ไม้ฝางเหล่านี้ขนส่งโดยทางเรือเดินทะเลและเรือสำเภาจีนไปจากที่นี่ได้อย่างง่ายดาย ... ดีบุก และ ตะกั่ว ก็พบที่นั่นด้วยเช่นกัน” จาก พรรณนาเรื่องอาณาจักรสยาม โดย ฟาน ฟลีต (หน้า 17)
เรื่องเล่าขานของเมืองเพชรฯ ปรากฏหลากหลายมากขึ้นในเอกสารสมัยรัตนโกสินทร์ ความน่าสนใจอยู่ที่สมัยรัชกาลที่ 4-5 ที่มีชาวต่างชาติเดินทางไปสำรวจและท่องเที่ยวเมืองเพชรบุรีกันมากขึ้น ซึ่งหลายคนได้เขียนบันทึกการเดินทางและพิมพ์เผยแพร่ออกไปจำนวนมาก บันทึกของชาวต่างชาติที่นำเสนอในเล่มนี้ มีทั้งของราชทูต นักสำรวจ และมิชชันนารี เช่น อองรี มูโอต์ (Henri Mouhot) นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาสำรวจสยาม กัมพูชา และลาว ระหว่างปี พ.ศ. 2401-2403 แฟรงค์วินเซนต์ จูเนียร์ (Frank Vincent Junior) นักสำรวจชาวอเมริกัน เจ.ทอมสัน (J. Thomson) ช่างภาพชาวอังกฤษ ซาร่า คอฟแมน (Sara Coffman)และ แมรี่ โลวิน่า คอร์ท (Mary LovinaCort) มิชชันนารีชาวอเมริกัน และเฮอร์เบิร์ต วาริงตัน สมิธ (Herbert Warrington Smyth) นักธรณีวิทยาชาวอังกฤษที่เข้ามารับราชการในกรมเหมืองแร่ สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้น แต่ละคนต่างมีมุมมอง ความสนใจ และทัศนคติที่แตกต่างกันไป จากบันทึกเหล่านี้ จะเห็นว่าในช่วงดังกล่าวเมืองเพชรบุรีเป็นเมืองท่องเที่ยวตากอากาศที่เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังพระนครคีรีขึ้น
“ก่อนที่คุณจะเดินทางกลับออกไปจากประเทศสยามคุณควรจะได้ไปเที่ยวชมเมืองๆ หนึ่ง เป็นเมืองใหญ่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ราว 11 ไมล์ มีชื่อว่าเมืองเพชรบุรี เมืองนี้นับว่าเป็นสถานที่พักผ่อนทั้งของชาวยุโรปและชาวพื้นเมือง นอกจากนี้ พระเจ้าอยู่หัวสยามยังทรงสร้างพระราชวังที่ประทับ รวมทั้งวัด ตลอดจนถนนหนทางอย่างดี และสะพานไว้ที่นั่นด้วย”
จาก การเดินทางสู่เพชรบุรี (The Excursion to Petchburi) โดย แฟรงค์วินเซนต์ จูเนียร์ (หน้า 54)
สถานที่สำคัญในเพชรบุรีที่นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวในเวลานั้น นอกจากพระราชวังพระนครคีรี ยังมีถ้ำแห่งต่างๆ ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ภายใน ทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวชมธรรมชาติของหินงอก หินย้อยที่งดงาม เช่น ถ้ำเขาหลวง
“ชาวพื้นเมืองที่นี่ได้ใช้เงินมากมายในการเปลี่ยนแปลงถ้ำเหล่านี้ให้เป็นสถานที่เคารพบูชาของชาวพุทธ เส้นทางที่นำไปสู่ถ้ำหลักนั้น ร่มรื่นไปด้วยต้นลั่นทมซึ่งดอกของมันร่วงหล่นส่งกลิ่นหอมสดชื่นและผู้มีจิตศรัทธาได้นำมาถวายเป็นเครื่องสักการบูชาโดยพวกเขาจะนำมาวางไว้บนฝ่ามือของพระพุทธรูป ... ที่บริเวณพื้นถ้ำมีการปูพื้น และการตกแต่งภายในทั้งหมดสอดรับกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้เป็นวัดที่สวยงามแห่งหนึ่ง มีแสงสว่างส่องลอดลงมาจากปล่องภูเขาไฟเก่าบริเวณด้านบนสุดของถ้ำที่อยู่เหนือขึ้นไป”
จาก เพชรบุรี (Visit to Petchiburee) โดย เจ.ทอมสัน (หน้า 71-72)
นอกจากบันทึกของชาวต่างชาติแล้ว ยังมีบทความเรื่อง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวินิจฉัยชื่อเมืองเพชรบุรี ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน The Bangkok Calendar กล่าวถึงที่มาของชื่อ “พริบพรี” หรือ “เพชรพรี” อันเป็นชื่อบ้านนามเมืองที่มีแต่โบราณ
ท่านที่สนใจหนังสือเล่มนี้ นอกจากจะหาซื้อได้ที่ร้านขายหนังสือของสำนักวรรณกรรมฯ ที่อาคารหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี และตามร้านหนังสือแห่งอื่นๆ ในราคาเล่มละ 120 บาทแล้ว ทางสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ได้ทำการเผยแพร่เป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) ผ่านทางเว็บไซต์ http://www.finearts.go.th/literatureandhistory โดยคลิกเลือกเมนู “คลังวิชาการ” จากนั้นคลิกที่ “e-book” และ “หนังสืออิเล็กทรอนิกส์”