‘งานแห่ดาว’ เทศกาลคริสต์มาส ความทรงจำที่ท่าแร่

‘งานแห่ดาว’ เทศกาลคริสต์มาส ความทรงจำที่ท่าแร่

 

จังหวัดสกลนคร ประชาสัมพันธ์เชิญเที่ยวงานเทศกาลคริสต์มาส แห่ดาวประจำปี 2564 “ดินแดนแห่งดวงดาว สีสันแห่งหนองหาร” โดยปีนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 21-24 ธันวาคม ณ ชุมชนบ้านท่าแร่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร และวันที่ 25 ธันวาคม ณ ลาน ร.5 ศูนย์ราชการจังหวัด - โรงเรียนเซนต์ยอแซฟสกลนคร อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร โดยมีกิจกรรมพิเศษซึ่งจัดขึ้นเป็นปีแรก คือ การแห่ดาวทางน้ำ จากสวนสาธารณะดอนเกินไปยังท่าเรือริมหนองหาร ณ บ้านท่าแร่ ขบวนเรือจะประกอบด้วยการแห่ดาวด้วยขบวนเรือหางยาว และเรือไฟหรือเรือแพขนาดใหญ่ ซึ่งอวดสีสันแห่งหนองหาร รวมถึงการบรรจุสัญลักษณ์ต่างๆ ที่บอกเล่าตัวตนบ้านท่าแร่ อาทิ อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล  บ้านโบราณ

 

กว่าที่งานเทศกาลคริสต์มาส แห่ดาว จะกลายมาเป็นงานเทศกาลประจำจังหวัดสกลนคร และเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศเช่นทุกวันนี้  ต้องย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นซึ่งอาจนับตั้งแต่เมื่อครั้งคริสตศาสนาเข้ามายังภาคอีสานในปี ค.ศ. 1881 (พ.ศ. 2424) โดยการนำของธรรมทูตรุ่นบุกเบิกคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (Missions Étrangères de Paris; M.E.P) บาทหลวงกองสตังต์ ยอห์น บัปติสต์ โปรดม (Constant Jean Baptiste Prodhomme) และบาทหลวงฟรังซัวส์ มารีย์ ซาเวียร์ เกโก (François Marie Xavier Guégo) หรืออาจจะตั้งแต่การตั้งชุมชนท่าแร่ ในปี ค.ศ. 1884 (พ.ศ. 2427) โดยการนำของคุณพ่อเกโก กับครูทัน ครูคำสอนชาวเวียดนาม ที่ได้นำครอบครัวคริสตชนชาวเวียดนาม และกลุ่มชาวลาวท้องถิ่น เช่น ญ้อ ล่องแพข้ามหนองหารมาตั้งชุมชนในพื้นที่ซึ่งเป็นบ้านท่าแร่ในปัจจุบัน  โดยริเริ่มนำการทำดาวประดับวัดในเทศกาลคริสต์มาสมาผสมผสานกับประเพณีนิยมในการจัดงานบุญประเพณีของคนอีสานพื้นถิ่น กระทั่งมีประเพณีแห่ดาวรอบวัดและชุมชน และกลายมาเป็นประเพณีนิยมของทุกวัดในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร และกาฬสินธุ์ ในเขตปกครองของอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง

 

บาทหลวงกองสตังต์ ยอห์น บัปติสต์ โปรดม (Constant Jean Baptiste Prodhomme)

(ที่มา :  คุณพ่อดาเนียล ขวัญ ถิ่นวัลย์)

 

บาทหลวงฟรังซัวส์ มารีย์ ซาเวียร์ เกโก (François Marie Xavier Guégo)

(ที่มา : คุณพ่อดาเนียล ขวัญ ถิ่นวัลย์)

 

วิวัฒนาการของงานประเพณีแห่ดาวบ้านท่าแร่ ได้ถูกสรุปไว้ในงานศึกษาเรื่อง บทบาทผู้นำชุมชนกับการธำรงอัตลักษณ์ประเพณีแห่ดาวบ้านท่าแร่ โดย วิชิต สุขศิริ และชาญชัย จิวจินดา โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้

1. ยุคดั้งเดิม ค.ศ. 1884 – 1980 (พ.ศ. 2427 – 2523) การแห่ดาวใช้เทียนจุดส่องสว่างเพื่อใช้แห่รอบชุมชนและโบสถ์ ซึ่งเป็นการแสดงออกแทนความเชื่อโดยมีแสงเทียนเป็นสัญลักษณ์แทนดาว ต่อมามีการประดิษฐ์ดาวขนาดเล็กที่เรียกว่า ดาวมือถือ ทำจากไม้ไผ่ 5 แฉกและนำเทียนมาใส่ไว้ตรงกลาง แห่รอบหมู่บ้าน พร้อมกับการร้องเพลงคริสต์มาสสลับกับสวดภาวนาเข้ามาบริเวณโบสถ์ และเข้าไปประกอบพิธีมิสซา

 

2. ยุคการเปลี่ยนแปลง ค.ศ. 1981 -2002 (พ.ศ. 2524 – 2545) พระคุณเจ้าคายน์ แสนพลอ่อน (พระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน อดีตประมุขอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง องค์ที่ 4) ได้ทำการปรับเปลี่ยนแนวคิดให้เปิดกว้างเพื่อการเผยแพร่ สร้างความสามัคคี การรับนโยบายจากกรุงโรมนำมาปรับปรุงรูปแบบประเพณี ให้มีการทำดาวขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อนำมาแห่ใส่รถ จัดทำเป็นขบวน มีการแห่ 2 ครั้ง คือ วันที่ 24 ธันวาคมแห่ที่ชุมชนท่าแร่ และวันที่ 25 ธันวาคม แห่ที่ตัวเมืองสกลนคร

 

อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ศาสสถานประจำชุมชนท่าแร่ 

 

อาคารโบราณที่ชุมชนท่าแร่ 

 

3. ยุคการท่องเที่ยว ค.ศ. 2003 – 2017 (พ.ศ. 2546 – 2560) โดย นายปรานชัย บวรรัตนปราณ ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้บรรจุประเพณีแห่ดาวให้เป็นประเพณีประจำจังหวัด เป็นการต่อยอดจากยุคที่ 2 มีการนำระบบเทคโนโลยี การบริหารจัดการ และการประกวดเข้ามาใช้ การแห่ดาวจึงมีรูปลักษณ์แตกต่างจากเดิมด้านแนวคิด มีการเพิ่มแนวคิดการจัดการให้มากขึ้น สนองตอบคนหลายกลุ่ม เช่น เพื่ออนุรักษ์สืบสานประเพณี เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เพื่อสานสัมพันธ์คริสตชนในเขตปกครอง เพื่อสร้างความสามัคคีในชุมชน เพื่อสนับสนุนงานการเผยแพร่ และเพื่อเชื่อมสัมพันธภาพในครัวเรือนให้แน่นแฟ้น ด้านรูปแบบ มีการเพิ่มจำนวนวันมาเป็นวันที่ 21 – 25 ธันวาคมของทุกปี กิจกรรมมีความหลากหลาย เช่น การแห่มี 2 แบบ คือแห่แบบดั้งเดิม เป็นการแห่แบบเดินเท้า มือถือดาวขนาดเล็กแห่รอบชุมชนและโบสถ์ และแห่แบบรถขบวน จะเป็นการแห่โดยใช้รถ ดาวจะมีขนาดใหญ่และมีการตกแต่งอย่างสวยงาม นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเสริมเพื่อการท่องเที่ยวอีกมากมาย

 

 

 

อาคารบ้านเรือนในชุมชนท่าแร่แขวนดวงดาวประดับไว้ที่หน้าบ้าน

 

จากความเปลี่ยนแปลงแนวคิดและรูปแบบการจัดงานซึ่งตอบสนองต่อคนหลายกลุ่มมากขึ้น จึงขอนำเสนอบันทึกจากงานภาคสนามบ้านท่าแร่เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว (พ.ศ. 2563) เพื่อกลับไปสู่เรื่องราวความทรงจำของคนในคือ ชาวชุมชนท่าแร่ที่มีต่องานเทศกาลคริสต์มาส แห่ดาว ที่สะท้อนวิถีชีวิตชุมชน “ท่าแร่เมืองศาสนา พลังศรัทธาในพระเจ้า”  ซึ่งศรัทธาที่ว่านี้ยังรวมไปถึงชุมชนคริสต์อื่นในเขตปกครองของอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงด้วย

 

"ท่าแร่เมืองศาสนา พลังศรัทธาในพระเจ้า" คติประจำชุมชน ณ อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล 

 

สัญลักษณ์ที่ขาดไม่ได้ในเทศกาลนี้คือ “ดวงดาว” คุณพ่อสุรศักดิ์ พงษ์พิศ เจ้าอาวาสอาสนวิหารอัครเทวดามิคาแอล ท่าแร่ อธิบายว่า “ในเทศกาลคริสต์มาส เราจะนึกถึงดาวบนท้องฟ้า เป็นดาวประจักษ์ที่ทำให้คนเห็นว่ามีพระเยซูบังเกิด นี่คือความเป็นมาในการรำลึกถึงดาวดวงนั้น เพราะถ้าคุณไม่เห็นดาวดวงนั้น คุณก็จะไม่รู้ว่าพระเยซูบังเกิดมา” ขบวนแห่จึงเป็นการจำลองภาพเหตุการณ์กำเนิดพระเยซู โดยมี “ดวงดาว” เป็นสัญลักษณ์แห่งการประสูติของพระเยซู และเป็นสื่อนำทางโหราจารย์ให้ได้พบกับพระกุมารเยซูในถ้ำเลี้ยงสัตว์ ชาวบ้านจึงร่วมกันประดับประดาวัดและชุมชนเพื่อเฉลิมฉลองวาระโอกาสสำคัญนี้ทุกปีจากอดีตถึงปัจจุบัน

 

  

 

ดวงดาวคริสต์มาสหลากสีสันมีประดับอยู่ทุกครัวเรือนเป็นประเพณี

 

คุณบำเพ็ญ ไชยรักษ์ ชาวชุมชนบ้านโคกสะอาด อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร หนึ่งในชุมชนคริสต์ในเขตปกครองของอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง เล่าถึงชีวิตวัยเด็กของตนเองว่า “ชีวิตเด็กในชุมชนคาทอลิก ตีห้าครึ่งต้องไปโบสถ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันอาทิตย์ เพื่อไปฟังคำสอนเหมือนฟังนิทานจากครูคำสอน ซึ่งส่วนมากเป็นคนเฒ่าในหมู่บ้าน เพราะว่าบาทหลวงไม่ได้มีครบทุกวัด เป็นกิจวัตรประจำวันก่อนไปโรงเรียน ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสทุกค่ำเราต้องไปที่วัดเพื่อหัดร้องเพลง เพลงเฉลิมฉลองวันคริสต์มาส แล้วก็ทำดาวด้วยไม้ไผ่ ทุกบ้านต้องมีดาว เป็นดาวซึ่งในพระคัมภีร์บอกว่าเป็นสัญลักษณ์ที่พญา 3 องค์ (สามโหราจารย์ในตำนานประสูติพระเยซู) เห็นดวงดาวแล้วก็ตามกันไปเจอกุมารอยู่ในถ้ำ เป็นสัญลักษณ์ของการพบ การชื่นชมยินดี เด็กๆ นี่เทศกาลคริสต์มาสสนุกมาก ต้องเตรียมการแสดง ได้เป็นนั่นเป็นนี่ การแห่ดาวก็สนุก ช่วงนี้ต้องเหลาไม้ไผ่ต้องได้ไม้ไผ่ที่งามๆ จะทำดาวกี่แฉกเอามาแข่งกัน ดาวต้องทำจากกระดาษ แล้วก็ติดแป้งเปียก แค่หุงแป้งเปียกก็สนุกแล้ว ถ้าจะทำดาวใหญ่ๆ ก็ต้องทำช่วยกัน ไม่ต่างกับที่ชาวพุทธต้องช่วยกันทำตุงงานกฐินเลย มีการประกวดดาวคุ้มเล็กๆ ในหมู่บ้านเพื่อให้มีสีสันในช่วงคริสต์มาส

 

โครงดวงดาวแบบต่อด้ามไม้สำหรับถือในขบวนแห่ดาว 

 

โครงดวงดาวทำด้วยไม้ไผ่ ก่อนนำไปแปะกระดาษหลากสีสัน 

 

ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนท่าแร่ต่างทำดวงดาวได้เพราะฝึกทำมาตั้งแต่เด็กๆ  

 

คุณสมฤทธิ์ กายราช คริสตชนชาวท่าแร่ กล่าวถึงเทศกาลคริสต์มาส แห่ดาว นี้ว่า “เป็นประเพณีของชาวท่าแร่แต่ดั้งเดิมซึ่งไม่มีดาวใหญ่ๆ ที่แห่กันเหมือนทุกวันนี้ สมัยเมื่อยี่สิบปีก่อนมีแต่ดาวเล็กๆ จัดกันในกลุ่มของเรา พอถึงสมัยพระอัครสังฆราชคายน์ แสนพลอ่อน ท่านเป็นคนแรกที่ริเริ่มให้มีการประกวดแห่ดาว มีการให้รางวัล ผมก็ยังทัน แล้วสมัยก่อนไม่มีไฟกระพริบที่ดาว ผมเป็นคนแรกนะที่คิดทำ ได้วิชามาจากการเรียนที่บ้านเณรฟาติมา ท่าแร่ เราเอาหัวเทียนไฟฉายมามัดไว้ แล้วเวลาแห่ไปไฟฉายมันก็กระพริบๆ หลังจากนั้นแห่ดาวก็มีไฟกระพริบเพราะคนเริ่มทำตาม แล้วผมประกวดได้ที่หนึ่งตลอดนะ หลังจากนั้นท่านคายน์ ท่านบอกว่าเราจะทำยังไง อยากให้ชาวพุทธรู้จักเรา เป็นการเผยแพร่ศาสนาในทางอ้อม ประกาศความศรัทธาของชาวท่าแร่ เป็นการเอาของดีไปอวดคนนอก ฉะนั้นตอนแรกเราก็แห่ดาวเฉพาะในท่าแร่ แล้วก็พัฒนาไปเรื่อยๆ กระทั่งมีคนจากที่อื่นมาดูงานที่นี่ เราก็ดีใจและภูมิใจว่า original (จุดกำเนิดของประเพณี) อยู่ที่นี่ จนเทศกาลคริสต์มาส แห่ดาวเป็น signature (เป็นลายเซ็น เป็นสัญลักษณ์) ของการท่องเที่ยวสกลนคร

 

ดวงดาว 5 แฉก ขนาดย่อมประดับด้วยกระดาษสีและสายรุ้งอย่างสวยงาม

ผลงานของคุณยายร้อยและบุตรสาวที่บ้านบนถนนทำดาว ในชุมชนท่าแร่ 

 

ดวงดาวจะทำกี่แฉกก็ได้ ความสลับซับซ้อนขึ้นอยู่กับการออกแบบสร้างสรรค์ของผู้ทำ 

 

คุณวีรภัทร ผิวผ่อง ชาวเมืองสกลนคร นิสิตระดับปริญญาโทของภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้กำลังทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ จากผู้พลัดถิ่น สู่ “ญวนอพยพ”: ชีวิตของชาวเวียดนามในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ค.ศ. 1945-1976” ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมจากการศึกษาเอกสาร และการลงพื้นที่ในประเทศเวียดนามว่าการใช้ดาวเป็นสัญลักษณ์ในประเพณีแห่ดาวนั้นอาจจะเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวเวียดนาม ซึ่งอาจสัมพันธ์กับที่คนเชื้อสายเวียดนามเป็นกลุ่มชาติพันธุ์สำคัญของบ้านท่าแร่ ที่เวียดนามมีประเพณีที่ใช้ดาวเป็นสัญลักษณ์ เช่น งานเฉลิมฉลองวันเยาวชน มีการแขวนดาวที่หน้าบ้านทุกบ้าน เหมือนเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเด็กความรุ่งโรจน์ บนธงชาติเวียดนามก็ใช้ดาว 5 แฉก เป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นต่างๆ ในสังคมเวียดนาม การปักดาวอยู่หน้าบ้านที่ไหนในเวียดนามก็ปัก เช่น เมืองฮานอย เมืองไฮฟอง หรือการแห่ดาวในวันไหว้พระจันทร์ของที่เมืองเว้

 

โปสเตอร์งานประเพณีแห่ดาว เทศกาลคริสต์มาส 2021 ชุมชนท่าแร่ จังหวัดสกลนคร จัดขึ้นระหว่างวันที่  21-25 ธันวาคม 2564 

 

เอกสารอ้างอิง

วิชิต สุขศิริ และชาญชัย จิวจินดา. “บทบาทผู้นำชุมชนกับการธำรงอัตลักษณ์ประเพณีแห่ดาวบ้านท่าแร่ ตำบลท่าแร่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร” ใน วารสาร มมร วิชาการล้านนา ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน) 2562, หน้า 17-31.

 


จิราพร แซ่เตียว

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ