พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังเมืองโบราณ 2 ครั้งด้วยกันคือ ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2514 ทั้งสองพระองค์เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ และในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมายังเมืองโบราณ พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งประเทศอังกฤษ และพระราชสวามี มีกรรมการของเมืองโบราณนำโดยคุณประไพ วิริยะพันธุ์เฝ้าฯ รับเสด็จ จากนั้นทั้ง 4 พระองค์ได้ประทับรถยนต์พระที่นั่ง ทอดพระเนตรโบราณวัตถุสถานสำคัญต่างๆ ภายในเมืองโบราณจนทั่ว
รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์มายังเมืองโบราณ เมื่อปี พ.ศ. 2514
(ที่มาภาพ : นิตยสารสารคดี ปีที่ 17 ฉบับที่ 193)
รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมายังเมืองโบราณ
พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ และพระราชสวามี เมื่อปี 2515
(ที่มาภาพ : นิตยสารสารคดี ปีที่ 17 ฉบับที่ 193)
คุณพิชัย วาศนาส่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในนักเขียนยุคเริ่มแรกของวารสารเมืองโบราณ และอยู่ในเหตุการณ์วันนั้น ได้ถ่ายทอดไว้ในนิตยสารสารคดี ปีที่ 17 ฉบับที่ 193 ว่า “พอคุณเล็ก (เล็ก วิริยะพันธุ์– ผู้เขียน) รู้ว่าในหลวงจะเสด็จมาดู ก็ระดมทำทั้งวันทั้งคืน คุณเล็กว่าโชคชะตาฟ้าบันดาลจริงๆ เพราะเมืองโบราณนี้ก็ตั้งใจจะทำให้เป็นศิลปะในรัชกาลที่ 9 ที่ทำสำเร็จก็ด้วยเพราะบารมีจริงๆ... เนื่องในมหามงคลสมัยที่พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งจากซีกโลกตะวันตกและซีกโลกตะวันออกได้เสด็จพระราชดำเนินมายังเมืองโบราณพร้อมๆ กัน ทางเมืองโบราณจึงถือเอาวันนั้นเป็นเสมือนวันเปิดตัวแก่สาธารณชนอย่างเป็นทางการ...”
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่ทรงเล็งเห็นคุณค่าของเมืองโบราณที่คุณเล็กและคุณประไพ วิริยะพันธุ์ ได้จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นการรวบรวมและรักษาศิลปวัฒนธรรมของไทยมิให้สูญหาย เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสเยี่ยมชม และหลังจากนั้นไม่นานนัก ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2517 วารสารเมืองโบราณจึงได้ถือกำเนิดขึ้นในบรรณพิภพ ด้วยความตั้งใจเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับศิลปกรรม ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วัฒนธรรมท้องถิ่น นิทานพื้นบ้าน ตลอดจนชีวประวัติบุคคลที่น่าสนใจ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์แขนงต่างๆ ได้พัฒนาและก้าวหน้าต่อไป