แอ่ว สตรีทอาร์ต ‘ลำปาง ปลายทางฝัน’
เที่ยวแบบวารสาร

แอ่ว สตรีทอาร์ต ‘ลำปาง ปลายทางฝัน’

 

สตรีทอาร์ต (Street Art) คืองานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นในพื้นที่สาธารณะเพื่อสะท้อนถึงแนวคิดบางอย่างที่ศิลปินต้องการสื่อสารสู่สังคม ที่ผ่านมามีการนำสตรีทอาร์ตมาใช้ในการปรับภูมิทัศน์ของเมืองให้สวยงามมีชีวิตชีวาและดึงดูดนักท่องเที่ยว ย่านเมืองเก่าหลายแห่งในประเทศไทยก็ใช้งานสตรีทอาร์ตมาแต่งแต้มเป็นสีสันของเมืองด้วยเช่นกัน ทั้งยังสื่อถึงประวัติศาสตร์และวิถีท้องถิ่นที่ต้องการบอกเล่าสู่ผู้มาเยี่ยมเยือน…

 

ลำปาง ปลายทางฝัน

ลำปางเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและยังคงมีมรดกวัฒนธรรมที่น่าสนใจอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม อาคารบ้านเรือนในย่านการค้าเก่าที่งดงามหรูหรา ตลอดจนวิถีชีวิตและประเพณีความเชื่อของผู้คน รวมไปถึงเอกลักษณ์ของเมืองที่ใครๆ ต่างนึกถึงอย่างรถม้าและชามตราไก่ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาลำปางถูกมองในฐานะเมืองผ่าน เมื่อปลายทางของความเจริญต่างๆ มุ่งสู่เชียงใหม่ รวมไปถึงในแง่มุมของการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้การขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวในลำปางจึงเป็นวาระหนึ่งที่มีการดำเนินงานมาโดยตลอด มรดกวัฒนธรรมต่างๆ ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเสน่ห์ของเมืองที่รอคอยให้ผู้มาเยือนได้ค้นหา…

 

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ หากใครไปเที่ยวที่ลำปางคงได้เห็นภาพวาดสีสันสดใสบนกำแพงอาคารบ้านเรือนในย่านต่างๆ เชื่อว่าหลายคนคงอดไม่ได้ที่จะยกกล้องถ่ายรูปขึ้นมาบันทึกภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก งานสตรีทอาร์ตที่แพร่หลายอยู่ในย่านเมืองเก่าของลำปางนั้น เกิดขึ้นภายใต้โครงการ ลำปาง ปลายทางฝัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในปฏิบัติการ เดินหน้าลำปาง สร้างสรรค์ ปันสุข 2561 สมัยที่นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมอบหมายให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดลำปาง ดำเนินการตามแผนงานปรับปรุงภูมิทัศน์เมือง ส่วนศิลปินผู้รังสรรค์ผลงานมีทั้งศิลปินท้องถิ่นและจากสถาบันการศึกษาต่างๆ

 

ปัจจุบันจุดชมงานสตรีทอาร์ตในลำปางมีกระจายอยู่หลายแห่งในบริเวณย่านเมืองเก่า แต่ละแห่งนำเสนอเรื่องราวและรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป นอกจากได้ชมงานศิลป์สวยๆ แล้ว ยังน่าสนใจว่าคนลำปาง อยากบอกเล่าอะไรให้นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ได้ทำความรู้จักเมืองแห่งนี้มากยิ่งขึ้น…

 

วารสารเมืองโบราณขอแนะนำเส้นทางเที่ยวชมสตรีทอาร์ตในลำปางที่น่าสนใจทั้งหมด 3 จุดด้วยกัน ทั้งหมดอยู่ในบริเวณตัวเมือง สามารถเดินทางไปถึงได้โดยสะดวก ซึ่งในแต่ละจุดนั้นเราแนะนำว่าให้ใช้การเดินเท้าหรือปั่นจักรยานเพื่อเที่ยวชม เพราะบางแห่งต้องลัดเลาะเข้าไปตามตรอกซอกซอย ทั้งยังได้ดื่มด่ำชื่นชมงานศิลปะอย่างเต็มที่  

 

[1]

River Street Art ที่ถนนริมแม่น้ำวัง

 

งานสตรีทอาร์ตที่ถนนริมแม่น้ำวัง ตั้งแต่สะพานช้างเผือก เรื่อยมาถึงสะพานรัษฎาภิเษก จนถึงสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี และบริเวณกาดกองต้าที่อยู่ใกล้ๆ กัน นับเป็นจุดแรกเริ่มที่เหล่าศิลปินได้สะบัดฝีแปรงสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานให้ได้ยลโฉมกันตั้งแต่ปี 2561 ในจุดนี้เราแนะนำให้เริ่มต้นที่สะพานรัษฎาภิเษกหรือที่คนท้องถิ่นเรียกกันว่า ขัวรัษฎา ซึ่งคำว่า “ขัว” หมายถึงสะพานในภาษาถิ่นเหนือ

 

สะพานรัษฎาภิเษกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2436 เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ครองราชสมบัติครบ 25 ปี สมัยเริ่มแรกมีโครงสร้างเป็นสะพานไม้ ต่อมาเมื่อมีการสร้างทางรถไฟสายเหนือมาถึงนครลำปางเมื่อปี พ.ศ. 2459 ทำให้สามารถขนส่งปูนซีเมนต์และอุปกรณ์ก่อสร้างมาทางรถไฟได้โดยสะดวก จึงมีการสร้างสะพานรัษฎาภิเษกขึ้นใหม่โดยเปลี่ยนโครงสร้างเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยมีพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน) เจ้ากรมรถไฟหลวงในขณะนั้น เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2460 สะพานใหม่ทาสีขาว ที่หัวสะพานมีเสาฝั่งละ 2 ต้น ตรงกลางเสาประดับรูปไก่สีขาว ชาวบ้านจึงมักเรียกกันว่า ขัวขาว หรือ ขัวไก่ขาว

 

สะพานรัษฎาภิเษก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ขัวขาว  

 

รูปไก่ขาวประดับอยู่ที่เสาสะพาน  

 

ไก่ขาวถือเป็นสัญลักษณ์ของลำปาง อันมีที่มาจากตำนานกุกกุฏนครหรือเมืองไก่ขาว ซึ่งเป็นหนึ่งในตำนานเมืองลำปาง ตามตำนานเล่าว่าพระอินทร์แปลงกายเป็นไก่ขาวมาขันปลุกชาวเมืองให้ตื่นขึ้นมาใส่บาตรทำบุญกับพระพุทธเจ้า ในตราประจำจังหวัดลำปางก็มีรูปไก่สีขาวยืนอยู่ในซุ้มมณฑปพระธาตุลำปางหลวง นอกจากนี้ที่ลำปางยังเป็นแหล่งผลิตชามตราไก่ที่เริ่มต้นโดยกลุ่มชาวจีนที่ชำนาญการทำเครื่องปั้นดินเผา ถึงแม้ว่าชามตราไก่ไม่ได้มีความหมายที่เกี่ยวข้องกับตำนานกุกกุฏนคร แต่ก็กลายเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของลำปาง

 

สตรีทอาร์ตในโครงการ 'ลำปาง ปลายทางฝัน' 

 

ภาพวาดรวมสถานที่สำคัญในตัวเมืองลำปาง อยู่ตรงทางเดินข้างสะพานรัษฎาภิเษก 

 

จากสะพานรัษฎาภิเษก หากเลี้ยวขวาแล้วเดินตามถนนเลียบตามแม่น้ำไปเรื่อยๆ ก็จะถึงสะพานช้างเผือก ใกล้กับจวนผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ถ้าเลี้ยวซ้ายจะไปถึงสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำวังที่เชื่อมระหว่างกาดกองต้ากับบ้านปงสนุก ตลอดแนวถนนริมแม่น้ำวังมีงานสตรีทอาร์ตอยู่โดยตลอด ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ในบริเวณใจกลางเมืองในปัจจุบัน งานสตรีทอาร์ตบริเวณนี้จึงให้ความสำคัญกับ “ไก่” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมือง รวมถึงเอกลักษณ์และของดีจังหวัดลำปาง เช่น รถม้า ชามตราไก่ ส้ม สับปะรด กลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ถือเป็นการแนะนำให้รู้จักกับลำปางในเบื้องต้น นอกจากนี้ยังสอดแทรกภาพวิถีชีวิตประจำวัน เช่น รถสองแถวสีเขียวเหลืองที่วิ่งให้บริการอยู่โดยรอบเมือง รวมไปถึงภาพวาดเด็กๆ และสัตว์เลี้ยงที่ชวนให้อมยิ้ม

 

รูปที่โดดเด่นที่สุดคือ 'ไก่ขาว' สัญลักษณ์เมืองลำปาง 

 

ก. ไก่ ในชามตราไก่ 

 

ภาพเด็กๆ กำลังเล่นกับสัตว์เลี้ยงดูร่าเริงสดใส  

 

ส่วนบริเวณกาดกองต้าที่เดิมเป็นย่านการค้าอันรุ่งเรืองของชาวจีน ดังปรากฏผ่านกลุ่มอาคารบ้านเรือนเก่าแก่สวยงามที่ตั้งเรียงรายอยู่ตลอดแนวถนนตลาดเก่า บริเวณนี้ก็มีงานสตรีทอาร์ตสอดแทรกอยู่ตามผนังตึกเก่าและซอกซอยต่างๆ ในช่วงวันจันทร์-ศุกร์เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินละเลียดเที่ยวชมบ้านหลังเก่าๆ ในย่านนี้ แต่หากต้องการบรรยากาศที่คึกคัก แนะนำให้มาเที่ยวชมถนนคนเดินกาดกองต้าในช่วงเย็นวันเสาร์และอาทิตย์ สองฟากถนนตลาดเก่าจะเต็มไปด้วยแผงขายสินค้านานาชนิด มีตั้งแต่ของกินพื้นเมืองไปจนถึงงานคราฟท์เก๋ไก๋ 

 

ภาพไก่ตัวใหญ่อยู่ในตรอกเล็กๆ ที่กาดกองต้า  

 

"ระวังชนหลังคา!" ป้ายคำเตือนที่มีอารมณ์ขัน

 

ภาพวาดหน้าต่างแบบโบราณสอดคล้องกับตัวอาคารเก่าแก่ ที่สำคัญต้องมีไก่ขาว สัญลักษณ์ของลำปาง 

 

[2]

เรื่องเล่าที่ ‘เก๊าจาว’ กาดเช้าใกล้สถานีรถไฟ

กาดเก๊าจาวเป็นตลาดเช้าตั้งอยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟนครลำปาง เปิดทุกวันตั้งแต่ราวตี 4 จนถึงราว 11 โมง ชื่อเรียก ‘เก๊าจาว’ มีที่มาจากต้นขะจาว เล่ากันว่าสมัยก่อนบริเวณที่ตั้งตลาดเป็นป่าต้นขะจาว เมื่อมีการสร้างทางรถไฟ ชาวบ้านจากที่ต่างๆ เริ่มนำข้าวของมาตั้งวางขายจนกลายเป็นตลาดเช้าที่มีของสารพัดอย่างจำหน่าย ต่อมาเมื่อราวปี 2492 มีคหบดีชาวลำปางมาสร้างอาคารตลาดขึ้นใหม่โดยทำเป็นอาคารหลังคาคลุมมุงสังกะสีอย่างดี รวมถึงเรือนแถวไม้สองชั้นที่อยู่โดยรอบ ปัจจุบันกาดเก๊าจาวยังเป็นตลาดเช้าที่คึกคัก คนในท้องถิ่นต่างมาจับจ่ายอาหารการกินต่างๆ ในราคาย่อมเยา ไม่ว่าจะเป็นพืชผักตามฤดูกาล อาหารปรุงสำเร็จทั้งคาวหวาน ตลอดจนเสื้อผ้าและของใช้ต่างๆ ก็มีให้เลือกสรร

 

 

ภาพวาดสำรับอาหารคาวหวานและผักผลไม้ที่หาซื้อได้ในกาดเช้าแห่งนี้ 

 

สมัยก่อนเมื่อชาวบ้านจับจ่ายข้าวของในตลาดเรียบร้อยแล้วก็จะโดยสารรถม้ากลับไป 

 

สถานีรถไฟนครลำปาง จุดสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในย่านสบตุ๋ย 

 

ผลงานสตรีทอาร์ตที่กาดเก๊าจาวเลือกสะท้อนภาพความคึกคักของตลาดเก่าแก่ในวันวานผ่านภาพพ่อค้าแม่ค้าที่หาบข้าวของมาวางขายในโทนสีที่นุ่มละมุน นอกจากนี้ยังมีภาพที่เกี่ยวข้องกับรถไฟ ซึ่งมีความสำคัญต่อพัฒนาการของชุมชนในย่านนี้ เช่น สะพานดำ ซึ่งเป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำวัง ตั้งอยู่ใกล้กับกาดเก๊าจาว เดิมเป็นทางสัญจรของผู้คนที่อยู่อีกฟากฝั่งหนึ่งของแม่น้ำได้อาศัยเดินข้ามมายังตลาด อุโมงค์ขุนตาน อุโมงค์ทางรถไฟที่เจาะผ่านดอยขุนตาน ถือเป็นอุโมงค์ทางรถไฟลอดที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย

 

ยานพาหนะที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย 

 

ภาพแม่ค้าหาบสินค้ามาวางขายที่ตลาด เป็นภาพอดีตที่คนเก่าแก่ในย่านนี้คุ้นชิน

 

กาดเก๊าจาว เดิมมีทั้งคนท้องถิ่นในลำปางและกลุ่มชาวจีนที่เข้ามาปักหลักค้าขาย

 

รับปิ่นโตหน่อย... 

 

เรื่องราวที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของกาดเก๊าจาวที่ศิลปินหยิบยกมาเล่าคือ ค่ายมวยลูกเก๊าจาวที่นำโดยนายสัมฤทธิ์ สุขสวัสดิ์ เจ้าของฉายาบนสังเวียนมวยว่า ฤทธิชัย ลูกเก๊าจาว ผู้เคยคว้าชัยบนเวทีมวยราชดำเนินเมื่อราวปี 2510-2511 จนเป็นที่กล่าวขาน 

 

ฤทธิชัย ลูกเก๊าจาว ผู้เคยคว้าชัยบนเวทีมวยราชดำเนิน

 

แมวใส่นวม! ที่เหล่าทาสแมวเห็นแล้วต้องอมยิ้ม 

 

[3]

ถนนจักรยานเก่า

ตรอกโรงไฟฟ้าเป็นตรอกเล็กๆ เชื่อมต่อกับถนนสุเรนทร์ ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมืองลำปาง เดิมเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าเก่า บริเวณนี้อยู่ในย่านสบตุ๋ย ซึ่งเป็นย่านการค้าที่อยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟนครลำปาง หากเดินมาตามถนนสุเรนทร์โดยเริ่มต้นที่วงเวียนน้ำพุหน้าสถานีรถไฟ เดินมาตามถนนไม่ไกลก็จะพบกับตรอกแห่งนี้อยู่ทางฝั่งซ้ายมือ ปากตรอกฝั่งซ้ายมือเป็นร้านสะดวกซื้อแบบ Modern Trade ส่วนฝั่งขวามือเป็นร้านขายของชำที่ผนังอาคารมีภาพวาดและข้อความว่า “ถนนจักรยานเก่า” ในหลายภาษา เสมือนคำเชื้อเชิญให้บรรดานักท่องเที่ยวเดินเลี้ยวเข้าไป

 

'ถนนจักรยานเก่า' เขียนไว้หลายภาษาเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว

 

 

สตรีทอาร์ตที่นี่ส่วนใหญ่วาดเป็นรูปจักรยาน

 

เมื่อปี 2562 เทศบาลนครลำปางร่วมกับชาวชุมชนและห้างร้านเอกชนในย่านนี้ สร้างสรรค์งานศิลปะโดยใช้ชิ้นส่วนจักรยานเก่ามาจัดวางเป็นงานศิลปะ ประกอบกับการวาดภาพลงบนกำแพงและการประดับตกแต่งด้วยวัสดุธรรมชาติ เช่น หิน ไม้ รวมถึงผลิตภัณฑ์เซรามิก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดลำปาง ด้วยเทคนิคการนำเสนอทำให้งานสตรีทอาร์ตในจุดนี้มีความโดดเด่นและแปลกใหม่มากกว่าจุดอื่นๆ

 

 

 

 

ชิ้นส่วนจักรยานเก่าถูกนำมาจัดวางเป็นงานศิลปะ 

 

ถนนสายศิลปะแห่งนี้เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2562 โดยมีนายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางในขณะนั้นเป็นประธาน ตรอกแห่งนี้จึงเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘ถนนจักรยานเก่า’ นักท่องเที่ยวสามารถเดินเยี่ยมชมได้ตลอดทั้งวัน ภายในตรอกนี้ส่วนใหญ่เป็นบ้านเรือนอยู่อาศัย มีสนามแบดมินตันและโรงยิมของเอกชน และด้วยเป็นเส้นทางลัดมาสู่ถนนประสานไมตรีจึงมีรถยนต์และรถจักรยานยนต์วิ่งผ่านไปมาอยู่ตลอด

 

 

 

 

วัสดุธรรมชาติและงานเซรามิกถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของสตรีทอาร์ตที่นี่  

 

นอกจากที่กล่าวมานี้ ยังพบว่ามีงานสตรีทอาร์ตอื่นๆ ที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยเจ้าของบ้านหรือห้างร้านเอกชน เพื่อปรับภูมิทัศน์ให้หน้าบ้านน่ามอง หากเป็นร้านค้าก็เพื่อดึงดูดให้ผู้คนที่ผ่านไปมาแวะเข้าไปอุดหนุน 

 

นกดินเผาดูเข้ากันได้ดีกับรั้วสีขาวและพุ่มดอกไม้หน้าบ้าน 

 

สตรีทอาร์ตที่กำแพงบ้านบนถนนป่าไม้ ตำบลเวียงเหนือ 

 

รู้อย่างนี้แล้วใครที่มีโอกาสแวะไปยังจังหวัดลำปาง อย่าลืมมองหาสตรีทอาร์ตที่ซ่อนอยู่ในมุมต่างๆ ของเมือง รับรองว่าได้มุมถ่ายรูปสวยๆ แถมเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับลำปางกลับไปด้วยอย่างแน่นอน… 

 


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ