พลิกหน้าสารบัญ 47.1 เมืองหนองหารหลวง

พลิกหน้าสารบัญ 47.1 เมืองหนองหารหลวง

 

“...ทางตะวันตกค่อนไปทางเหนือภายในตัวเมืองหนองหารหลวง เป็นที่ตั้งของพระราชวังหรือที่ประทับของผู้ครองเมือง เกือบใจกลางเมืองเป็นที่ตั้งของศาสนสถานสำคัญ คือพระธาตุเชิงชุม ในตำนานอุรังคธาตุเรียกว่าภูน้ำลอดเชิงชุม จากลักษณะทางศิลปกรรมพบว่า องค์พระธาตุสร้างซ้อนทับกัน 2 สมัย คือ องค์ด้านในเป็นศิลปะขอม ด้านนอกเป็นศิลปะล้านช้าง...”

 

 

 

[1]
สุวรรณภูมิถึงสยามประเทศ : ลำดับสมัยเวลาของรัฐในยุคประวัติศาสตร์

/ ศรีศักร วัลลิโภดม
 

แม้ว่าสุวรรณภูมิ จะถูกพูดถึงมาแต่สมัยพุทธกาล และปรากฏในคัมภีร์มหาวงศ์ กล่าวถึงช่วงที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งพระสมณทูตมาเผยแผ่ศาสนายังบ้านเมืองแถบนี้ แต่ก็ยังมีผู้เชื่อว่า “สุวรรณภูมิอาจไม่มีอยู่จริง” ซึ่งจากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า แนวคิดนั้นอาจขัดกับหลักฐานสมัยรัฐแรกเริ่มที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ชุมชนโบราณก่อนพัฒนาสู่สหพันธรัฐหรือ “มัณฑละ” อันมีศูนย์กลางในเชิงรัฐผู้นำที่มีบ้านเมืองอื่นเป็นเครือข่าย นี่อาจถึงเวลาต้องจัดแบ่งลำดับสมัยต้นประวัติศาสตร์ให้ชัดเจนมากกว่าเรียกรวมเป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์ดังที่เป็นอยู่

 

[2]
เมืองหนองหารหลวง ณ ริมห้วงน้ำใหญ่

/ วิยะดา ทองมิตร
สกลนคร ตั้งอยู่ริมหนองหารซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน คนเก่าคนแก่เชื่อว่าหนองหารเป็นสถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องทางตำนานกับพญานาค คือ พญานาคมาช่วยสร้างบ้านแปงเมือง ต่อมาในสมัยขอมได้เรียกที่นี่ว่า “เมืองหนองหารหลวง” และเมื่อเข้าสู่สมัยวัฒนธรรมล้านช้างซึ่งมีผู้คนริมฝั่งโขงเคลื่อนย้ายเข้ามาเป็นประชากรส่วนใหญ่ได้เรียกชื่อเรียกเมืองแห่งนี้ว่าเมืองเชียงใหม่หนองหาน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองสกลทวาปี และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นเมืองสกลนคร ในสมัยรัชกาลที่ 3 มาจนถึงทุกวันนี้

 


 

[3]
หนองหารหลวง : นครรัฐแห่งศรีโคตรบูร

/ ศรีศักร วัลลิโภดม

เมืองหนองหารหลวง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหนองหารหลวงซึ่งพื้นที่โดยรอบปรากฏร่องรอยชุมชนโบราณมาแต่สมัยสุวรรณภูมิสืบเนื่องมาถึงสมัยทวารวดีและลพบุรี ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหนองหารหลวงมีลำน้ำก่ำ ไหลไปสบแม่น้ำโขงที่วัดพระธาตุพนม ศาสนสถานเก่าแก่สมัย พศต. ที่ 13 สืบเนื่องมาถึงสมัยหลังเช่นที่กล่าวถึงในตำนานอุรังคธาตุ (ราว พศต.ที่ 23) ว่าด้วยการอัญเชิญพระอุรังคธาตุผ่านบ้านเมืองต่างๆ มายังแคว้นศรีโคตรบูร ในแอ่งสกลนคร เมืองหนองหารหลวงจึงน่าจะเป็นเมืองสำคัญของแคว้นศรีโคตรบูรในสมัยนั้นด้วย

 

[4]
หนองหารหลวง ความทรงจำและวิถีบนความเปลี่ยนแปลง

/ อภิญญา นนท์นาท และณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

หนองหารสกลนคร เป็นแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงชาวสกลนครมาช้านาน จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า พื้นที่รอบหนองหารมีศาสนสถานในวัฒนธรรมทวารวดีสืบเนื่องมาถึงวัฒนธรรมเขรมและล้านช้างตามลำดับ ปัจจุบัน รอบๆ หนองหารมีชุมชนใหญ่น้อยอยู่ราว 45 หมู่บ้าน ซึ่งต่างก็มีชีวิตวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับหนองหาร ทั้งในด้านการหาอยู่หากิน และประเพณีความเชื่อ อย่างไรก็ดี ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อมีการสร้างประตูระบายน้ำ กั้นลำน้ำก่ำ ซึ่งไหลจากหนองหารไปสู่แม่น้ำโขง ส่งผลให้ระบบนิเวศของหนองหารเปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์ปลานานาชนิดก็ลดลง ประกอบกับการขยายตัวของชุมชนที่หนาแน่นขึ้นได้ส่งผลต่อความเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำด้วย ถือเป็นโจทย์สำคัญของการพัฒนาหนองหารมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

[5]
บ้านน้ำพุ บ้านท่าวัด : วิถีบนเส้นทางท่องเที่ยวหนองหาร

/ อภิญญา นนท์นาท

การท่องเที่ยว เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้พัฒนาสภาพแวดล้อมและชุมชนรอบหนองหาร โดยในการพัฒนานั้น มักมีการหยิบยกตำนาน โบราณศิลปวัตถุสถาน วิถีชีวิต ตลอดจนนิเวศธรรมชาติมาผนวกรวมให้เกิดจุดเด่นเพื่อบอกเล่าแก่ผู้มาเยี่ยมเยือนผ่านรูปแบบกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวหลากหลายโปรแกรม ดังเช่นที่บ้านน้ำพุ ตำบลบ้านแป้น อำเภอโพนนาแก้ว และบ้านท่าวัด ตำบลเหล่าปอแดง อำเภอเมืองสกลนคร ทั้ง 2 แห่งเป็นหมู่บ้านริมหนองหารที่สร้างเส้นทางท่องเที่ยวโดยอาศัยทุนทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่มีในชุมชน นับเป็นตัวอย่างที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของหนองหารและการปรับตัวของผู้คนรอบหนองหารได้ดี

 

 

[6]
เสียงสะท้อนของพรานป่าและชาวนาจากริมหนองหารฝั่งตะวันตก

/ ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อความอุดมสมบูรณ์ในหนองหาร แหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดสกลนครรวมถึงในภาคอีสาน เกิดขึ้นหลังการสร้างประตูกั้นน้ำถาวรขนาดใหญ่ขวางลำน้ำก่ำ เมื่อปี พ.ศ. 2536 ซึ่งส่งผลให้น้ำในหนองหารหยุดนิ่ง ไม่มีการถ่ายเท นอกจากส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพน้ำในหนองหารแล้ว ยังทำให้ปริมาณปลาที่เคยมีอย่างหลากหลายต้องลดน้อยลง บ้างสูญพันธุ์ไปเพราะปลาไม่สามารถขึ้นมาวางไข่ในฤดูน้ำหลากได้ตามปกติ วิถีชีวิตของชาวบ้านริมหนองหารฝั่งตะวันตกซึ่งผูกพันและหากินอยู่กับผืนน้ำจึงต้องผันแปรตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

 

[7]
เหยา : พิธีกรรมการรักษาและการสร้างเครือข่ายผ่านผี

/ เมธินีย์ ชอุ่มผล

“เหยา” คือ การรักษาโรค-ภัย-ไข้-เจ็บ ที่หาสาเหตุไม่ได้ รักษาไม่หาย เป็นการรักษาที่ว่าด้วยหลักความเชื่อเกี่ยวกับการถูกกระทำจากสิ่งเหนือธรรมชาติที่เรียกว่า “ผี” ผู้ทำการรักษาเรียกว่าหมอเหยา มีหน้าที่ติดต่อสื่อสาร สอบถามถึงสาเหตุ และหาแนวทางการรักษาผู้ป่วยจากผีที่สื่อสารด้วย เมื่อหายจากความเจ็บป่วยที่เป็นก็จะกลายเป็นเครือข่ายทางจิตวิญญาณและเครือข่ายทางสุขภาพที่เกิดจากความเชื่อเดียวกัน แม้ปัจจุบันระบบสาธารณสุขจะพัฒนาให้เข้าถึงและครอบคลุมมากขึ้น แต่ความเชื่อและวิธีการรักษาในรูปแบบนี้ ยังคงตอบโจทย์และพบเห็นได้เสมอ

 

 

[8]
จันทร์เพ็ญ : ชุมชนเชิงภูพานบนเส้นทางนายฮ้อย

/ เกสรบัว อุบลสรรค์

พื้นที่เชิงเขาภูพานฟากเมืองสกลนครในเขตตำบลจันทร์เพ็ญ นับเป็นพื้นที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่งดังปรากฏร่องรอยการหาอยู่หากินและตั้งถิ่นฐานของมนุษย์แต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมา สาเหตุสำคัญอาจเพราะตำบลจันทร์เพ็ญตั้งอยู่บนเส้นทางสายกวนบุ่น และสายโคกกลาง ซึ่งชาวบ้าน พ่อค้า นักเดินทาง รวมถึงกลุ่มนายฮ้อยวัวควายใช้สัญจรข้ามเขตเขาสูงภูพานจากฝั่งเมืองสกลนครและบ้านเมืองตอนบนขึ้นไปสู่ที่ราบในเขตมุกดาหาร กาฬสินธุ์ และบ้านเมืองตอนล่าง หรือไปไกลถึงเมืองมะละแหม่งในพม่าก็มี

 

 

[9]
เรื่องเล่าและการธำรงอัตลักษณ์ของชุมชนคาทอลิกบ้านท่าแร่

/ จิราพร แซ่เตียว

กว่าจะเป็นชุมชนคริสต์ บ้านท่าแร่ เช่นในปัจจุบัน คนท่าแร่ต้องผ่านหน้าประวัติศาสตร์การต่อสู้มาอย่างยาวนาน ทั้งในช่วงเวลาแห่งการอพยพโยกย้ายข้ามหนองหารจากฝั่งตัวเมืองสกลนครสู่การตั้งถิ่นฐานถาวร ณ บ้านท่าแร่ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของหนองหารตั้งแต่เมื่อ 100 กว่าปีก่อน อีกทั้งความทรงจำจากรุ่นสู่รุ่นถึงช่วงแห่งความทุกข์จากการถูกเบียดเบียนศาสนา และอคติเชิงชาติพันธุ์ที่ถูกปฏิบัติจากคนภายนอก ล้วนเป็นบาดแผลที่สร้างความบอบช้ำ แต่ด้วยพลังตั้งมั่นศรัทธาในพระคริสต์ศาสนา ชาวบ้านท่าแร่ก็สามารถผ่านพ้นวิกฤติทั้งหมดนั้นมาได้จนกลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็งและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวดังที่เห็นในปัจจุบัน

 

 

[10]
ชองอะรวาย พิธีกรรมหลังความตายของชาวบรู

 / ผศ. ปกกสิณ ชาทิพฮด
บรู หมายถึง “ภูเขา” ชาวบรู จึงหมายถึง “คนภูเขา” กลุ่มชาวบรูมีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่บริเวณแขวงสะหวันนะเขต สาละวัน และอัตตะปือในประเทศลาว ต่อมาเมื่อกว่า 100 ปีก่อน ได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงมาฝั่งไทย ปัจจุบันพบชาวบรูกลุ่มใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร
แม้จะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิต ความเชื่อและพิธีกรรมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ด้วยกระแสสังคมสมัยใหม่ทำให้ความเป็นตัวตนของชาวบรูค่อยๆ ถูกกลืนหายไป ความเชื่อและพิธีกรรมแบบดั้งเดิมกลายเป็นสิ่งหาชมได้ยาก เช่นเดียวกับพิธี “ชองอะรวาย” พิธีกรรมเกี่ยวกับความตายชองชาวบรูก็ถูกแทนที่ด้วยการจัดงานศพสมัยใหม่ เรียบง่ายไม่ยุ่งยาก

 

[11]
ตลาดน้ำ - ตลาดบก ในทุ่งบางเขน (2)

/ พรรณี บัวเล็ก และคณะ

ตลาดบางบัวและตลาดยิ่งเจริญ หรือ “ตลาดขี้เถ้า” เป็นตลาดบกเก่าแก่แห่งทุ่งบางเขน ตลาดทั้ง 2 แห่ง ตั้งอยู่บนชุมทางสัญจรสำคัญ ทั้งเส้นทางน้ำและเส้นทางบก โดยมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยที่พื้นที่รอบๆ ยังเป็นทุ่งนาและชาวบ้านทั่วไปยังใช้แม่น้ำลำคลองเป็นทางสัญจรหลัก คนเก่าคนแก่ในพื้นที่เล่าภาพจากความทรงจำว่า ที่ตลาดบางบัวเคยมีเรือของพ่อค้าแม่ขายจากนนทบุรี และอยุธยาพายมาจอดขายริมสองฝั่งคลองด้วย

 

[12]
หนองหารหลวง สำนึกและความผูกพันของคนสกล

/ ศรีศักร วัลลิโภดม

ในภาคอีสานมีหนองน้ำสำคัญซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณ ได้แก่ เมืองดอนแก้ว ริม หนองหานกุมภวาปี และเมืองหนองหารหลวง ริมหนองหารหลวง โดยมีตำนานเรื่องผาแดงนางไอ่ อธิบายถึงยุคสมัยช่วงการสร้างบ้านแปงเมือง เพื่อควบคุมมิให้ผู้ใดละเมิดหรือทำลายทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของทุกคนในชุมชน แม้ในปัจจุบันยังปรากฏการใช้ตำนานเรื่องผาแดง-นางไอ่เป็นเครื่องมือสร้างสำนึกร่วมภายในท้องถิ่นเพื่อยับยั้งโครงการต่างๆ ที่จะส่งผลต่อสภาพแวดล้อมของหนองน้ำทั้ง 2 แห่งนี้

 

[13]
พญาสุวรรณภิงคาร แห่งหนองหารหลวง

/ ศาสตราจารย์กิตติคุณสุกัญญา สุจฉายา

เรื่องราวของหนองหารหลวง ปรากฏในตำนานและเรื่องเล่าว่าด้วยการวิวาทระหว่างพญานาคธนะมูลนาคผู้เป็นใหญ่แห่งลำน้ำมูล และเจ้าสุรอุทกกุมารผู้ครองเมืองหนองหารหลวง นำมาสู่การล่มสลายของเมืองหนองหารหลวงเดิม ต่อมาเจ้าภิงคาระได้มาสร้างเมืองใหม่ที่ริมฝั่งหนองหาร กลายเป็นเมืองหนองหารหลวง พญาสุวรรณภิงคารผู้ครองเมืองได้เฝ้ารับเสด็จพระพุทธเจ้าคราวเสด็จเลียบโลกมายังดินแดนแถบนี้ ด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา พญาสุวรรณภิงคารจึงสร้างพระธาตุเชิงชุม ขึ้น กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวสกลนครและพื้นที่ใกล้เคียงมาจนปัจจุบัน

 

 

[14]
ปรากฎการณ์พระตากแดด บูชาคติที่เปลี่ยนแปลง

/ อาภาภิรัตน์ วัลลิโภดม

จากคติการสร้าง “พระตากแดด” หรือพระพุทธรูปขนาดใหญ่ในอิริยาบถต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมายทั่วทุกมุมเมืองเพื่อเป็นจุดหมายตาทางความเชื่อแห่งใหม่ สู่ “เทรนด์” การสร้าง “พระเกจิ” ชื่อดังให้เป็นมเหสักข์ตากแดด ที่มีขนาดใหญ่โตไม่แพ้กัน เป็นสิ่งที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน โดยคติการสร้างพระตากแดดและมเหสักข์ตากแดดที่ปรากฏนี้ มีพื้นฐานมาจากคติการสร้างพระสถูปเจดีย์สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเพื่อเป็นศูนย์กลางของชุมชนหรือเมืองดังได้พบในเมืองโบราณหลายแห่งมาแต่สมัยทวารวดีแล้ว

 

[15]
ท่าแร่ : ชุมชนยุโรปบนแผ่นดินอีสาน

/ กัณฐิกา กล่อมสุวรรณ

เบื้องหลังภาพถ่ายของบ้านท่าแร่ หนึ่งในชุมชนเก่าแก่ของจังหวัดสกลนครซึ่งเป็นพื้นที่แห่งการหยั่งรากศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก สะท้อนให้เห็นภาพชีวิตวัฒนธรรมแบบยุโรปบนผืนแผ่นดินอีสาน ผ่านการบ่มเพาะโดยมิชชันนารีชาวฝรั่งเศส คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส สืบสานส่งต่อแนวคิดโดยพระสงฆ์คณะพื้นเมืองตามเจตนารมณ์ของพระศาสนจักรคาทอลิก ทำให้กลิ่นอายความเป็นชุมชนคาทอลิกอย่างตะวันตกยังคงหลงเหลือและอบอวลอยู่ในรูปแบบสถาปัตยกรรม พิธีกรรม และเทศกาลเฉลิมฉลองต่างๆ มาจนปัจจุบัน

 

 

[16]
เงื่อนงำภายใต้เอกลักษณ์ของลูกปัดบ้านเชียง

/ นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช

จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ลูกปัดที่พบจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งประกอบด้วยลูกปัดที่ทำจากหินและแก้วหลากสี ล้วนเป็นลูกปัดที่มีรูปแบบเฉพาะ ทั้งที่เป็นทรงกระบอกขนาดสั้นและยาว ด้วยจำนวนที่พบมากและหนาแน่นกว่าที่อื่น นักวิชาการจึงเชื่อว่า ลูกปัดเหล่านี้อาจเป็นสินค้าที่คนพื้นถิ่นผลิตขึ้นเองที่นี่ ไม่ได้รับมาจากถิ่นอื่น

 

 

[17]
ตำราดาววัดขนอน

/ นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว

“ตำราดาววัดขนอน” เป็นสมุดข่อยโบราณ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี ภายในเล่มจารอักษรไทยและอักษรขอมด้วยหมึกดำพร้อมภาพประกอบ เนื้อหาทำนายเหตุดีร้ายในสังคมผ่านปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น รุ้งกินน้ำ พระอาทิตย์ พระจันทร์ ดวงดาว ดาวหาง ทางช้างเผือก หมอก เมฆ และเสียงฟ้าร้อง ซึ่งจากอักขรวิธี ชื่อบ้านนามเมือง ตลอดจนสถานการณ์ทางสังคมที่ถูกกล่าวถึงในเล่ม นำมาสู่ข้อสันนิษฐานว่า ตำราดาวฉบับนี้น่าจะเขียนขึ้นตั้งแต่ในสมัยอยุธยาและมีการคัดลอกสืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

 

 

[18]

บ้านนาเก็น : แหล่งผลิตเหล็กสมัยอาณาจักรล้านช้าง

/ ว่าที่พันตรีฉัตรวัชระ เสนะบุตร์

ชิ้นส่วนเครื่องเคลือบ ภาชนะดินเผา ร่องรอยตะกรันเหล็ก และชิ้นส่วนผนังเตาจำนวนมากที่พบในพื้นที่บ้านนาเก็น อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี บ่งบอกได้ถึงความสำคัญในอดีต หลักฐานต่างๆ ที่พบนั้นช่วยฉายสะท้อนถึงความเป็นชุมชนโบราณซึ่งสามารถเชื่อมโยงได้ถึงช่วงเวลาในประวัติศาตร์สมัยล้านช้าง โดยชุมชนบ้านนาเก็น ในสมัยนั้น น่าจะเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่และเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือเหล็กเพื่อส่งออกไปยังพื้นที่ใกล้เคียงด้วย

 

สนใจสั่งซื้อ

 

สมัครสมาชิก

วารสารเมืองโบราณ 1 ปี 4 ฉบับ ราคา 600 บาท (รวมค่าจัดส่ง) คลิก https://shop.line.me/@sarakadeemag/product/318753714

 

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น