“เมืองเงิน” และ “เมืองหงสา” ในกระแสความเปลี่ยนแปลง

“เมืองเงิน” และ “เมืองหงสา” ในกระแสความเปลี่ยนแปลง

 

เมืองเงินและเมืองหงสา ตั้งอยู่ในแขวงไชยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมืองหงสากลายเป็นพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 3 เตา เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในประเทศและส่งขายให้กับประเทศจีนและไทย เมื่อมีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นที่เมืองนี้ ผู้ลงทุนได้ทำการอพยพชาวเมืองหงสาออกจากบริเวณที่จะสร้างโรงไฟฟ้า โดยได้จัดสรรพื้นที่สร้างหมู่บ้านขึ้นใหม่ ห่างจากพื้นที่เดิมออกไปประมาณ 5-6 กิโลเมตร และมีการจัดระบบสาธารณูปโภคต่างๆ อย่างสมบูรณ์เพียบพร้อมเพื่อให้ชาวบ้านที่ต้องย้ายออกจากพื้นที่เดิมพอใจ

 

เมืองหงสาในปัจจุบันที่ยังคงมีพื้นที่ทำนาข้าว

 

 โรงไฟฟ้าหงสาเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 3 เตา ในปี 2558 เปิดใช้ 1 เตา เพื่อสร้างไฟฟ้าหล่อเลี้ยงภายในโรงงาน 

 

นักวิจัยท้องถิ่นที่ติดตามเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น แสดงความเห็นว่าหากโรงไฟฟ้าเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าครบทั้ง 3 เตาอย่างเต็มกำลัง อาจจะเกิดผลกระทบเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ คือปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่แถบนี้ทั้งหมด เนื่องมาจากสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ตกค้างจากกระบวนการผลิตไฟฟ้า และที่ร้ายแรงกว่านั้นคืออาจจะเกิดผลกระทบต่อประเทศไทยด้วย เพราะในช่วงฤดูหนาวสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เหล่านั้นอาจถูกพัดพามาตามทิศทางลมเข้าสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่เขตห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และอำเภออื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงในจังหวัดน่าน มีความเสี่ยงอย่างมากที่จะได้รับผลกระทบจากมลพิษดังกล่าว  

 

 

 หมู่บ้านที่โรงไฟฟ้าจัดสรรให้ชาวบ้านที่ต้องอพยพมาจากพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้า

 

 สภาพบ้านเมืองของเมืองหงสาในปัจจุบัน

 

ส่วนทางด้านเมืองเงินที่มีชายแดนติดกับประเทศไทยและถือเป็นเมืองหน้าด่านแรกที่จะต้องผ่านเพื่อเข้าไปสู่แขวงไชยะบุรี เดิมเป็นถิ่นฐานของชาวไทลื้อมาแต่โบราณ เมื่อราวสิบกว่าปีก่อนยังเล่ากันว่า เมืองเงินยังคงสภาพเป็นชุมชนไทลื้อที่รักษารูปแบบวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ได้อย่างดี จนกระทั่งเมื่อมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเพื่อพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อไปยังประเทศจีน อำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า ส่งผลให้ทุนจีนไหลบ่าเข้ามายังเมืองเงินอย่างเต็มที่ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมบ้านเมืองอย่างรวดเร็วมากขึ้นไปด้วย     

 

 ตลาดที่เมืองเงิน ชาวบ้านนำพืชผักที่ตนเองปลูกไว้ออกมาวางขายกัน

 

ร้านเสื้อผ้าและกระเป๋ามีอยู่หลายร้านในตลาดขายสินค้าที่เมืองเงิน


วัดสีบุนยืน วัดเก่าแก่ในเมืองเงิน

 

อย่างไรก็ตาม เมืองเงินยังคงมีสภาพบ้านเมืองแบบดั้งเดิมหลงเหลืออยู่บ้าง ในขณะที่เมืองหงสากลายเป็น “เมืองใหม่” ซึ่งได้รับการจัดการเกือบทั้งหมดแล้ว ยกเว้นพื้นที่ที่อยู่ห่างออกไปจากโรงไฟฟ้า บริเวณที่เป็นชุมชนดั้งเดิมของเมืองหงสายังคงมีอยู่ทั้งบ้านเรือนและวัดวาอาราม ส่วนชาวบ้านยังคงมีวิถีชีวิตเรียบง่ายเช่นเดิม กระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าและกลุ่มนายทุนจากประเทศจีนที่หลั่งไหลเข้ามาช่วงชิงทรัพยากรอย่างไม่ขาดสายนั้น ถือว่าเป็นประเด็นน่าสนใจที่ต้องสังเกตการณ์กันต่อไปว่า ในอนาคตเมืองหงสาและเมืองเงินนั้นจะพัฒนาไปในทิศทางใดและจะยังคงรักษาอัตลักษณ์ของท้องถิ่นไว้ได้หรือไม่ ?


เมธินีย์ ชอุ่มผล

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ