‘บ้านต้นเปา’ แหล่งผลิตกระดาษสาทำมือ ณ สันกำแพง

‘บ้านต้นเปา’ แหล่งผลิตกระดาษสาทำมือ ณ สันกำแพง

 

ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ตลาดการค้าในล้านนาทั้งเมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยเป็นแหล่งรวบรวมและกระจายสินค้า ส่วนหนึ่งเป็นสินค้าที่รวบรวมมาจากบ้านเมืองตอนใน ทั้งในล้านนา ล้านช้าง เรื่อยไปถึงทางตอนใต้ของจีนที่ยูนนาน ผ่านขบวนคาราวานสินค้าของพ่อค้าวัวต่าง อีกส่วนหนึ่งเป็นสินค้าจากทางกรุงเทพฯ และจากเมืองมะละแหม่ง เมืองท่าสำคัญของพม่า กระดาษสาเป็นหนึ่งในสินค้าจากเมืองเชียงตุง เชียงรุ่ง ซึ่งมากับพ่อค้าจีนยูนนานที่ได้รวบรวมสินค้าท้องถิ่นจากเมืองต่างๆ ที่อยู่บนเส้นทางยูนนาน-พม่า-ล้านนา และยูนนาน-ล้านช้าง-ล้านนา สินค้าส่วนใหญ่เป็นผลิตผลทางการเกษตร งานหัตถกรรม และของป่า เช่น พริกแห้ง หอม กระเทียม ชา ยาสูบ เมี่ยง ขี้ผึ้ง การบูร เขาสัตว์ ฝิ่น ไหม ฝ้าย มีด กระดาษสา เป็นต้น [1]

 

บ้านเมืองต่างๆ ในล้านนามีแหล่งผลิตกระดาษสาด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าไม่ใช่สินค้าที่โดดเด่นเท่ากับฝ้ายและปศุสัตว์ แต่ก็เป็นสินค้าสำคัญ ดังปรากฏหลักฐานในใบบอกเรื่องการเกณฑ์กระดาษจากมณฑลพายัพเพื่อใช้ในการทำพระเมรุในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีแหล่งผลิตใหญ่อยู่ที่เชียงใหม่ ซึ่งนอกจากผลิตเพื่อส่งตามจำนวนเกณฑ์ที่มากถึง 20,000 เพลาแล้ว ยังสามารถผลิตเพื่อขายให้กับเมืองอื่นๆ ที่ไม่สามารถผลิตได้ตามจำนวนที่ต้องการ [2]  ภูมิปัญญาการทำกระดาษสาเป็นไปได้ว่าได้รับมาจากจีน ผ่านทางเส้นทางการค้าจากสิบสองพันนาลงมาทางเชียงตุง เชียงรุ้ง เข้ามายังดินแดนล้านนา จากข้อมูลสำรวจของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเหนือเมื่อปี พ.ศ.2530 พบว่าแหล่งผลิตกระดาษสาในท้องถิ่นภาคเหนือกระจายอยู่ในหลายจังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา เชียงราย โดยมีแหล่งผลิตใหญ่อยู่ 3 แห่ง ได้แก่ บ้านท่าล้อ ตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง บ้านต้นเปา ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และบ้านศาลาเหมืองหิน ตำบลป่าหุ่ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย [3]

 

บ้านต้นเปาหรือบ้านสันต้นเปาเป็นแหล่งผลิตกระดาษสาที่มีประวัติบอกเล่าว่าสืบทอดมายาวนานนับ 100 ปี โดยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับงานหัตถกรรมทำร่มที่บ้านบ่อสร้างที่มีอาณาเขตติดต่อกัน ปัจจุบันการผลิตกระดาษสายังคงเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านต้นเปาหลายครอบครัว และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกระดาษสาหลากหลายรูปแบบ การเดินทางเข้าสู่หมู่บ้านต้นเปามีถนนแยกจากทางหลวงสาย 1006 เชียงใหม่-สันกำแพง เยื้องกับโรงเรียนบ้านหนองโค้งที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้าม ห่างจากสี่แยกบ่อสร้างราว 800 เมตร ตลอดสองฝั่งถนนบ้านต้นเปามีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระดาษสา รวมถึงศูนย์หัตถกรรมหลายแห่งที่เปิดรับนักท่องเที่ยวมาทำกิจกรรม Workshop ผลิตกระดาษสาตั้งอยู่เป็นระยะๆ นอกจากนี้หากเข้ามาในช่วงสายๆ ของวัน จะเห็นว่าบริเวณพื้นที่ว่างและในตรอกซอกซอยต่างๆ มีตะแกรงช้อนเยื่อสาที่ชาวบ้านนำออกมาตากแดดตั้งอยู่เรียงรายเต็มไปหมด เป็นเครื่องยืนยันว่าที่แห่งนี้คือหมู่บ้านผลิตกระดาษสา

 

ตะแกรงช้อนเยื่อสาที่ชาวบ้านนำออกมาตากแดดพบโดยทั่วไปในบริเวณบ้านต้นเปา

 

การผลิตกระดาษสาที่บ้านต้นเปาเริ่มมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด สันนิษฐานว่าคงมีขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการทำร่มที่หมู่บ้านบ่อสร้างซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกัน แต่เดิมในหมู่บ้านบ่อสร้างก็มีการผลิตกระดาษสาเพื่อนำไปใช้หุ้มร่ม ส่วนหมู่บ้านต้นเปานั้นเป็นแหล่งผลิตกระดาษสาอย่างเดียว ผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่จะถูกส่งไปยังบ้านบ่อสร้างเพื่อใช้ในการหุ้มร่ม วิจิตร ญี่นาง หรือพ่อหลวงแก้ว อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านต้นเปา และเจ้าของร้าน ‘ฟาร์มกระดาษสา’ อายุ 60 ปี สันนิษฐานว่าบรรพบุรุษของชาวบ้านต้นเปาน่าจะเป็นกลุ่มที่อพยพมาจากสิบสองปันนา เชียงตุง เชียงรุ่ง โดยเฉพาะในยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง สมัยพระเจ้ากาวิละฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2339 ภูมิปัญญาการทำกระดาษสาเป็นวัฒนธรรมร่วมของผู้คนในดินแดนแถบนี้

 

กลุ่มคนที่บ้านต้นเปาเป็นใครมาจากไหน เราก็สงสัยตัวเราว่าเป็นใคร เลยสืบเสาะตามประวัติศาสตร์ล้านนาที่กล่าวถึงยุคสมัยการสร้างเมืองที่กวาดต้อนคนมาจากสิบสองปันนา เชียงตุง มาอยู่เชียงใหม่ ไม่ใช่คนเชียงใหม่ดั้งเดิม…จากข้อมูลชุดนี้เป็นไปได้ว่าบรรพบุรุษของเราเป็นคนกลุ่มนี้ หลักฐานที่เหลือคือภาษาพูดซึ่งมีสำเนียงต่างกัน กลุ่มคนต้นเปามีสำเนียงไทเขิน [4]  และกลุ่มดอยสะเก็ดเป็นไทลื้อ พูดไม่เหมือนกัน สันกำแพงลงไปเป็นไทลื้อ ไทเขินบ้าง หลักฐานเหลือแค่ภาษาพูด ตัวหนังสือหรือตัวเมืองเหมือนกัน การแต่งกายคล้ายกัน ขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายกัน… แสดงว่าภูมิปัญญาการทำกระดาษสาไม่ได้ค้นคว้าหรือมาทำขึ้นที่นี่ แต่ปู่ย่าตายายของเรารู้วิธีทำมาจากที่โน่น จากข้อมูลที่สิบสองพันนาก็มีหมู่บ้านทำกระดาษสาเช่นเดียวกัน

 

อีกด้านหนึ่งก็มีตำนานเรื่องเล่าถึงการถ่ายทอดการทำร่มที่บ้านบ่อสร้างโดยพระอินถา ซึ่งไปเรียนรู้การทำร่มมาจากชายแดนพม่า รวมถึงการทำกระดาษสาด้วย ดังนั้นการทำกระดาษสาในหมู่บ้านบ่อสร้างและบ้านต้นเปาจึงน่าจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการทำร่มกระดาษสาเมื่อราว 200 ปีก่อน

 

การใช้ค้อนไม้ทุบเยื่อสาซึ่งเป็นกรรมวิธีแบบดั้งเดิม

(ที่มา : วิทยานิพนธ์เรื่องการทำร่มกับชาวบ่อสร้างโดย สุนันทา คำนันตา ปี 2515)

 

การผลิตกระดาษสาที่บ้านต้นเปาในสมัยแรกๆ เป็นการผลิตเพื่อใช้และแลกเปลี่ยนกันภายในท้องถิ่น ในความทรงจำของชาวบ้านต้นเปาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ต่างเล่าว่าทำกระดาษสามาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่แล้ว ย้อนไปในอดีตบริเวณบ้านต้นเปายังเป็นป่าและทุ่งนา ชาวบ้านทำนาข้าวและเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพหลัก ส่วนการทำกระดาษสาเป็นเพียงอาชีพเสริมในช่วงที่ว่างเว้นจากการทำไร่ทำนา โดยเฉพาะในฤดูแล้ง กระดาษสาที่ผลิตขึ้นเป็นแบบธรรมชาติ ไม่มีการแต่งเติมสีหรือลวดลายใดๆ สำหรับไว้ใช้ในวิถีชีวิตและซื้อขายแลกเปลี่ยนในท้องถิ่น

 

ราว 40-50 ปีที่แล้วสมัยที่บ้านเมืองยังไม่เจริญ ชาวบ้านทำกระดาษสาเป็นอาชีพรอง อาชีพหลักทำเกษตรกรรม ทำนา เลี้ยงสัตว์ งานรับจ้างยังมีไม่มากนัก บ้านเรือนยังมีไม่มาก เมื่อว่างจากงานหลักก็มาทำกระดาษ สมัยนั้นกระดาษสาทำใช้กันแค่ในท้องถิ่น กระดาษ A4 หรือกระดาษอื่นๆ ยังไม่มี… กระดาษสาสมัยก่อนมีแค่สีเดียวคือสีธรรมชาติ ทำแบบบาง สำหรับใช้ในวิถีชีวิตภายในท้องถิ่นเชียงใหม่ เช่น เอามาห่อของ โดยเฉพาะพวกของมีค่า เพราะกระดาษสานิ่ม และกระดาษหนังสือพิมพ์ยังไม่ค่อยมี แล้วก็ทำร่ม ซึ่งร่มกับกระดาษสาถือเป็นของคู่กัน อีกอย่างหนึ่งคือนำไปทำโคม ตุง ในพิธีกรรมทางศาสนา” พ่อหลวงแก้วเล่าให้ฟัง 

 

กล่าวได้ว่าการสืบทอดภูมิปัญญาการผลิตกระดาษสาในล้านนา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความสัมพันธ์กับประเพณีและพิธีกรรมทางศาสนา สมุดที่ใช้จดจารคัมภีร์ บทสวด หรือวรรณกรรมทางพุทธศาสนา ตลอดจนตำรายาและศาสตร์วิชาต่างๆ ทำด้วยกระดาษสา เรียกว่า “พับสา” หรือปั๊บสา ในสำเนียงท้องถิ่น โดยนำกระดาษสามาต่อกันเป็นแผ่นยาว พับทบไปทบมาจนเป็นเล่ม ปกสมุดลงรักเพื่อความแข็งแรงคงทน นอกจากนี้กระดาษสายังใช้ทำโคมและตุง (ธง) เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กระดาษสายังถูกใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไป กระดาษสาแผ่นบางนิยมใช้ห่อสิ่งของต่างๆ โดยเฉพาะของมีค่าที่ต้องทะนุถนอม ไม่ว่าจะเป็นผ้าไหม เครื่องเงิน เครื่องเขิน ด้วยมีคุณสมบัติที่นุ่ม เหนียว และมีราคาถูก และยังใช้เป็นกระดาษลอกลายและทำแบบเสื้อผ้าสำหรับตัดเย็บ นอกจากนี้ยังใช้ทำไส้เทียน สายชนวนพลุ ตะไล บั้งไฟ

 

กาดหลวงในตัวเมืองเชียงใหม่ แม่ค้าใช้ร่มกระดาษสากันทั่วไป ภาพถ่ายราว พ.ศ. 2477

 

ที่บ้านต้นเปากระดาษสาส่วนใหญ่ถูกผลิตขึ้นเพื่อใช้ในการทำร่มที่บ้านบ่อสร้าง โดยต้องเป็นกระดาษสาชนิดเนื้อหนา การหุ้มร่มต้องใช้กระดาษสาซ้อนกัน 2 ชั้น เคลือบด้วยกาวแป้งเปียกผสมยางตะโกและทาน้ำมันตังอิ้ว (น้ำมันมะมื่อ/มะพอก) เคลือบทับอีกชั้นเพื่อให้กันน้ำ ทนแดดทนฝน ซึ่งการผลิตกระดาษสาด้วยวิธีดั้งเดิมที่ใช้ค้อนทุบเยื่อต้นสาให้แหลกละเอียดนั้น ทำให้เยื่อกระดาษเชื่อมประสานกันดี ไม่ถูกตัดจนฉีกขาดเป็นชิ้นเล็กๆ อย่างการใช้เครื่องโม่หรือเครื่องปั่นแบบสมัยนี้ จึงได้กระดาษที่เหนียวและทนทาน ไม่ฉีกขาดง่าย 

 

กระบวนการผลิตกระดาษสาแบบดั้งเดิม เน้นใช้วัสดุธรรมชาติและแรงงานคน ยังไม่มีการใช้เครื่องจักรทุ่นแรงและสารเคมี ขั้นตอนแรกต้องเตรียมเปลือกต้นสาหรือปอสา (ปอกะสา) ภาษาอังกฤษเรียกว่า Paper Mulberry สะท้อนถึงคุณสมบัติที่สามารถนำเปลือกลำต้นมาทำกระดาษได้ ไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดทางประเทศจีนและญี่ปุ่น ทั้งพบได้ทางตอนเหนือของพม่า ไทย และลาว เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ชอบขึ้นในพื้นที่ชุ่มชื้น เช่น ริมน้ำ แหล่งน้ำต่างๆ ด้วยเป็นต้นไม้ที่แพร่ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว หากขึ้นตามเรือกสวนมักถูกขุดรากถอนโคนทิ้งไป เพราะหากทิ้งไว้จะขึ้นรกเรื้อและแย่งอาหารพืชสวน เปลือกต้นสาเป็นผิวเรียบสีน้ำตาลเป็นเส้นใย ซึ่งนำมาทำกระดาษได้ จากคำบอกเล่าที่บ้านต้นเปาไม่มีต้นปอสามากนัก ต้องซื้อปอสาจากที่อื่น เช่นทางเชียงดาวมีมาก โดยมีพ่อค้าที่หาของป่านำมาขายเมื่อรู้ว่าที่หมู่บ้านนี้เป็นแหล่งผลิตกระดาษสา

 

ต้นสาหรือปอสา(ที่มา : https://medthai.com/ปอกระสา/)

 

ต้นสาที่มีอายุประมาณ 1 ปีขึ้นไป สามารถนำส่วนลำต้นและกิ่งก้านไปทำกระดาษสาได้ โดยตัดต้นสาเป็นท่อนๆ นำไปลนไฟให้ยางแห้งเพื่อให้ลอกเปลือกออกง่าย จากขั้นตอนนี้จะได้เปลือกสาสีขาว ส่วนผิวเปลือกที่ไหม้ไฟจนเป็นสีดำ ต้องขูดออกให้หมด จากนั้นนำเปลือกต้นสาแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้นนำเปลือกสาที่เตรียมไว้ไปต้มโดยผสมกับขี้เถ้าเพื่อเร่งให้เปลือกสาเปื่อยยุ่ยเร็วขึ้น สมัยก่อนถ้าฟืนหายาก ชาวบ้านจะใช้ขี้วัวขี้ควายมาผสมเป็นเชื้อเพลิง เพราะพื้นที่แถบบ้านบ่อสร้างและบ้านต้นเปาส่วนใหญ่เป็นท้องทุ่งนา มีที่เลี้ยงวัวควายเต็มไปหมด ต่อมาเมื่อมีการผลิตมากขึ้นจึงเปลี่ยนมาใช้โซดาไฟแทนขี้เถ้าเพื่อความรวดเร็ว 

 

จากนั้นนำเปลือกสาที่ต้มจนเปื่อยยุ่ยมาทุบด้วยค้อนไม้ ให้เปลือกสาแหลกละเอียดมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เยื่อสาประสานกัน ต่อมากรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านเปลี่ยนมาใช้เครื่องโม่หรือเครื่องปั่นเยื่อสาเพื่อความรวดเร็ว ทุ่นแรงคน และได้กระดาษสาที่เนียนเรียบเสมอกันทั้งแผ่น ทว่าทำให้ความเหนียวของกระดาษสาลดลง เนื่องจากเครื่องปั่นตัดเยื่อสาจนละเอียดเกินไปทำให้ไม่มีเยื่อยาวที่เป็นตัวประสานกัน ซึ่งหากเป็นกระดาษสาที่นำไปทำร่มบ่อสร้างที่นำไปใช้งานในชีวิตประจำวันต้องทำมาจากเยื่อสาที่ใช้ค้อนไม้ทุบเท่านั้น เพราะจะได้กระดาษสาที่หนาและทนทาน ไม่ฉีกขาดง่าย

 

การทำกระดาษสาแบบช้อนที่ศูนย์อุตสาหกรรมทำร่ม บ้านบ่อสร้าง ซึ่งมีการผสมสีลงไปในเยื่อสาด้วย

 

การทำกระดาษสาแบบช้อนที่โรงงานบ้านอนุรักษ์กระดาษสา บ้านต้นเปา 

 

ส่วนขั้นตอนการทำแผ่นกระดาษสามีทั้งแบบช้อนและแบบแตะ ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งกรรมวิธีและผลผลิตที่ได้ การทำกระดาษาสาแบบช้อนจะนำเยื่อสาที่ทุบจนละเอียดแล้วมาละลายลงในบ่อน้ำ ซึ่งเป็นบ่อที่ก่อด้วยปูนซีเมนต์ ขนาดประมาณ 1 เมตร x 1 เมตร ใช้ไม้กวนให้เยื่อสากระจายตัวสม่ำเสมอ แล้วใช้ตะแกรงที่ทำด้วยไม้แข็ง เช่น ไม้สัก เป็นกรอบสี่เหลี่ยม แล้วขึงด้วยผ้ามุ้งหรือผ้าขาวบาง ต่อมาเปลี่ยนเป็นไนลอนหรือมุ้งลวดที่ทนทานกว่า ความหนาบางของกระดาษสาที่ทำด้วยวิธีการช้อนเยื่อสาขึ้นอยู่กับปริมาณเยื่อสาที่ละลายอยู่ในน้ำ อีกทั้งการตักช้อนต้องใช้ความชำนาญมาก ช่างต้องทำอย่างรวดเร็วและควบคุมให้เยื่อสาสม่ำเสมอทั่วกันทั้งแผ่น

 

การทำกระดาษสาแบบช้อนที่โรงงานบ้านอนุรักษ์กระดาษสา บ้านต้นเปา 

 

ตะแกรงช้อนเยื่อสาที่ชาวบ้านนำมาตากไว้ในบริเวณที่ว่างของชุมชน

โดยตั้งตะแกรงพิงกันไว้ หันด้านที่มีกระดาษสาเข้าด้านในเพื่อไม่ให้กระดาษสาสกปรก 

 

การทำกระดาษสาแบบแตะ จะนำเยื่อสาที่ทุบจนละเอียดแล้วมาชั่งน้ำหนักตามต้องการ ซึ่งความหนาบางของกระดาษสาขึ้นอยู่กับปริมาณเยื่อสา จากนั้นนำตะแกรงหรือพิมพ์วางในกระบะน้ำตื้นๆ นำก้อนเยื่อสาในปริมาณที่ต้องการมาวาง แล้วใช้มือเกลี่ยหรือแตะเยื่อสาให้กระจายสม่ำเสมอทั่วกันทั้งแผ่น การทำกระดาษสาแบบแตะเสียเวลามากกว่าแบบช้อน บางครั้งต้องใช้คนช่วยกันถึง 2 คนเพื่อให้รวดเร็วขึ้น วิธีนี้มีข้อดีตรงที่สามารถควบคุมความหนาของกระดาษสาได้ดีกว่า แต่มักได้กระดาษที่มีพื้นไม่ค่อยผิวเรียบเนียนนักและต้องใช้เยื่อสาปริมาณมากกว่าแบบช้อนทำให้ราคาต่อแผ่นสูงกว่า เมื่อได้เยื่อสาบนตะแกรงเรียบร้อยแล้วก็ยกไปตากแดด โดยตั้งตะแกรงให้พิงกันไว้ หันด้านที่มีกระดาษสาเข้าด้านใน เพื่อป้องกันไม่ให้กระดาษสาสกปรกหรือเสียหาย หากเป็นช่วงเวลาที่แดดจัดๆ ประมาณ1-2 ชั่วโมง ก็สามารถเก็บตะแกรงมาลอกกระดาษสาออกเป็นแผ่นได้แล้ว

 

คุณแม่ฟองคำ หล้าปินตา ผู้ก่อตั้งบ้านอนุรักษ์กระดาษสา กำลังอธิบายถึงขั้นตอนการทำกระดาษ

 

เมื่อตากแดดจนแห้งสนิทดีแล้วก็นำมาลอกออกเป็นแผ่น 

 

สมัยก่อนผลผลิตกระดาษสาจากบ้านต้นเปา ส่วนใหญ่จะถูกส่งไปยังบ้านบ่อสร้างเพื่อทำร่มกระดาษสา ทว่าต่อมาเมื่อการทำร่มที่บ่อสร้างเริ่มเปลี่ยนไปใช้วัสดุอื่นๆ ในการหุ้มร่มมากขึ้น เช่น ผ้า กระดาษพิมพ์ลายแบบจีนที่มีราคาถูกกว่ากระดาษสา ขณะเดียวกันในช่วงก่อน พ.ศ. 2520 เล็กน้อย ชาวบ้านบ่อสร้างที่เคยทำร่มหันไปประกอบอาชีพงานหัตถกรรมอื่นๆ ที่ได้เงินมากกว่า เช่น งานแกะสลักไม้ บ้างผันตัวไปเป็นแม่ค้าพ่อค้าเปิดร้านขายเสื้อผ้าพื้นเมืองริมถนนสายบ่อสร้าง-ดอยสะเก็ดเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามามากขึ้น ชาวบ้านบ่อสร้างที่เคยรับซื้อกระดาษสาจากบ้านต้นเปาจึงลดลง เหตุนี้ผู้ผลิตกระดาษสาเป็นอาชีพเสริมในเวลานั้นก็ลดจำนวนลงตามไปด้วย จนเหลือที่ทำอยู่เพียงไม่กี่เจ้า

 

อย่างไรก็ตาม พัฒนาการสำคัญของการผลิตกระดาษสาที่บ้านต้นเปาเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 2520 เมื่อเริ่มมีการผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้าจากภายนอกทั้งในไทยและต่างประเทศ ภายใต้การส่งเสริมจากภาครัฐ ส่งผลต่อวิธีการผลิตและรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงการเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีทิศทางเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 

 

เชิงอรรถ 

[1] วราภรณ์ เรืองศรี, คาราวานและพ่อค้าทางไกล : การก่อเกิดรัฐสมัยใหม่ในภาคเหนือของไทยและดินแดนตอนในของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, (เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2557), หน้า 146-147. 

[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า 169-170.

[3] สมศักดิ์ วชิรพันธุ์, การถ่ายทอดความรู้หัตถกรรมท้องถิ่น : กรณีการทำกระดาษสา บ้านท่าล้อ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง, (เชียงใหม่ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2537), หน้า5-6.

[4] “ไทขึน” คนเชียงใหม่ออกเสียงเป็น “ไทเขิน” 

 

แหล่งอ้างอิง

หนังสือ,งานวิจัย,วิทยานิพนธ์,บทความ

กองบรรณาธิการ. “เสน่ห์กระดาษสายังไม่สิ้น,” ใน สารคดี. ปีที่ 4 ฉบับที่ 38 เมษายน 2531. 

วชิราภรณ์ ใจเที่ยง. การจัดการการผลิตและการตลาดในธุรกิจกระดาษสา บ้านต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2555.

วราภรณ์ เรืองศรี. คาราวานและพ่อค้าทางไกล : การก่อเกิดรัฐสมัยใหม่ในภาคเหนือของไทยและดินแดนตอนในของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2557.  

วิภาต. นามปากกา. “ช่างทำกระดาษสาที่บ่อสร้าง,” ใน สตรีสาร. ปีที่ 34 ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2526.  

สมศักดิ์ วชิรพันธุ์. การถ่ายทอดความรู้หัตถกรรมท้องถิ่น : กรณีการทำกระดาษสา บ้านท่าล้อ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง. เชียงใหม่ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2537.

สุดารา สุจฉายา. บรรณาธิการ. เชียงใหม่. กรุงเทพฯ : สารคดี,2543.

สุนันทา คำนันตา. การทำร่มกับชาวบ่อสร้าง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร,2515.

 

เว็บไซต์ 

นัยนา นิยมวัน, โยชินาริ โกบายาชิ “สองทศวรรษของการพัฒนากระดาษสาไทย”. แหล่งที่มา : http://posaa.kapi.ku.ac.th/Document/PDF /saniyana.pdf

“ฟาร์มกระดาษสา”. แหล่งที่มา : https://sapaperfarm.com/th

“หมู่บ้านต้นเปา-OTOP Village”. แหล่งที่มา https://www.otop-village.com/th/places_detail/11966

 

ข้อมูลสัมภาษณ์

คุณวิจิตร ญี่นาง (พ่อหลวงแก้ว), คุณฟองคำ หล้าปินตา, คุณอิ่นแก้ว อุ่นแก้ว และคุณกนกวรรณ บัวเรือง

 


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ