แม้จะเป็นเพียงอำเภอเล็กๆ ทางฟากตะวันออกของเมืองเชียงใหม่ แต่ “สันกำแพง” เมืองเล็กๆ บนดินแดนล้านนาแห่งนี้กลับร่ำรวยไปด้วยแง่งามทางประวัติศาสตร์ที่สั่งสมผ่านการเข้ามาของผู้คนหลากหลายกลุ่มต่อเนื่องมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ผ่านการเคี่ยวกรำของกาลเวลา ส่งต่อ สืบทอด และหล่อหลอมก่อเกิดผู้รู้ ปราชญ์ สล่าช่างฝีมือผู้สร้างสรรค์ ต่อยอด ธำรงรักษาและถ่ายทอดงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านหลายแขนงสาขามาจวบจนถึงปัจจุบัน เป็นภูมิปัญญาอันรุ่มรวยเสมือนมรดกประดับแผ่นดินที่สร้างชื่อให้ “สันกำแพง” เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
สันกำแพง เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยในสมัยแรกพื้นที่บริเวณนี้อยู่ในเขตปกครองของแขวงแม่ออน นครเชียงใหม่ จนกระทั่งหลังเหตุการณ์คราวกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ จึงมีคำสั่งให้ย้ายที่ทำการมาตั้ง ณ บ้านสันกำแพง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2446 ก่อนยกฐานะเป็น อำเภอสันกำแพง ดังมีประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2460 เรื่อง ประกาศเปลี่ยนชื่ออำเภอ มีความว่า “เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศทราบทั่วกันว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศลงวันที่ 19 เดือนพฤษภาคม พระพุทธศักราช 2459 ให้เปลี่ยนคำว่า ‘เมือง’ เรียกว่า ‘จังหวัด’ ผู้ว่าราชการเมืองเรียกว่า ‘ผู้ว่าราชการจังหวัด’ อำเภอเรียกตามชื่อตำบลที่ตั้งที่ว่าการอำเภอนั้น... ”
ในท้ายประกาศฉบับนี้ได้แสดงบัญชีรายชื่ออำเภอในสังกัดมณฑลต่างๆ ต่อท้ายด้วยชื่ออำเภอซึ่งมีทั้งชื่อที่กำหนดขึ้นใหม่และชื่อที่ยังให้คงเดิมไว้ โดยในหน้าที่ 65 ท้ายประกาศระบุให้เรียกอำเภอแม่ออน มณฑลพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ ในชื่อใหม่ว่าอำเภอสันกำแพง ก่อนที่ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2537 กระทรวงมหาดไทยจะยกพื้นที่ทางทิศตะวันออกของอำเภอสันกำแพงขึ้นเป็นกิ่งอำเภอแม่ออน และมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็นอำเภอแม่ออน เมื่อเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2550 ปัจจุบันอำเภอสันกำแพงแบ่งการปกครองออกเป็น 10 ตำบล คือ ตำบลสันกำแพง ตำบลทรายมูล ตำบลร้องวัวแดง ตำบลบวกค้าง ตำบลแช่ช้าง ตำบลออนใต้ ตำบลแม่ปูคา ตำบลห้วยทราย ตำบลต้นเปา และตำบลสันกลาง โดยทางทิศเหนือของอำเภอสันกำแพงติดกับอำเภอดอยสะเก็ดและอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ทิศตะวันออกติดอำเภอแม่ออน ทิศใต้ติดอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน ส่วนทางทิศตะวันตกติดอำเภอสารภีและอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ขวานหินขัด พบในเขตตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วยสันกำแพง วัดป่าตึง จังหวัดเชียงใหม่
สำหรับสภาพภูมิประเทศของอำเภอสันกำแพงนั้น ทางทิศตะวันออก ได้แก่ เขตตำบลห้วยทราย ตำบลออนใต้ และตำบลร้องวัวแดง มีพื้นที่ต่อเขตทิวเขาขุนตาล หรือเทือกเขาผีปันน้ำตะวันตก โดยทิวเขาขุนตาลเป็นทิวเขาที่มีระบบภูเขาเชื่อมต่อกับทิวเขาแดนลาวและเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาชาน วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ ผ่านอุโมงค์ขุนตาลไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดลำปาง ขนานกับทิวเขาถนนธงชัยและทิวเขาอินทนนท์ ทิวเขาขุนตาลมีความกว้างโดยเฉลี่ยประมาณ 30-60 กิโลเมตร ยาวประมาณ 200 กิโลเมตร ตอนแคบที่สุดของทิวเขาคือบริเวณอุโมงค์ขุนตาล และบริเวณรอยต่อระหว่างดอยขุนตาลกับดอยพับผ้า ทิวเขาขุนตาลแยกไปทางทิศตะวันตกเหนือเขตอำเภอพร้าวและขนานลงมาทางทิศใต้จนถึงทางทิศเหนือของอำเภอดอยสะเก็ด
ยอดเขาในทิวเขาขุนตาลที่สูงและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ได้แก่ ดอยผีปันน้ำ หรือดอยนางแก้ว มีความสูง 1,843 เมตร อยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ดอยนี้เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำแม่กวง แควของลำน้ำแม่งัดซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของลำน้ำแม่ปิง ดอยผาจ้อ สูง 2,012 เมตร อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอดอยสะเก็ดเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำแม่สรวยซึ่งเป็นสาขาของลำน้ำวัง ดอยสะเก็ดหรือดอยขุนออน สูง 1,816 เมตร อยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอดอยสะเก็ด เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำแม่ออนซึ่งเป็นสาขาของลำน้ำปิง และดอยขุนตาล สูง 1,348 เมตร อยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอแม่ทา เป็นต้น
ข้อความในศิลาจารึกหมื่นดาบเรือน พบในวัดเชียงแสน ปัจจุบันเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วยสันกำแพง วัดป่าตึง จังหวัดเชียงใหม่
ส่วนทางฟากตะวันตกของอำเภอสันกำแพงตั้งแต่ลำน้ำแม่กวงมาทางทิศตะวันออกมีสภาพเป็นพื้นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ มีลำน้ำสายเล็กสายรองไหลผ่านพื้นที่หลายสาย โดยลำน้ำสำคัญ ได้แก่ ลำน้ำแม่กวงไหลผ่านทางทิศตะวันตกกั้นแบ่งเขตพื้นที่ระหว่างอำเภอสันกำแพงกับอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ลำน้ำแม่ปูคาซึ่งไหลต่อจากทางน้ำสายรองทางทิศเหนือของอำเภอสันกำแพง ลงมาหล่อเลี้ยงพื้นที่ตอนกลาง และลำน้ำแม่ลานกับลำน้ำแม่ผาแหนทางฟากตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำห้วยลานและอ่างเก็บน้ำแม่ผาแหนเป็นแหล่งน้ำสำคัญ เป็นต้น
ข้อความในศิลาจารึกหมื่นดาบเรือน พบในวัดเชียงแสน ปัจจุบันเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วยสันกำแพง วัดป่าตึง จังหวัดเชียงใหม่
ลำน้ำแม่กวงนับเป็น 1 ใน 11 ลำน้ำสาขาหลักของแม่น้ำปิง โดยมีลำน้ำสาขาย่อยที่ไหลลงสู่ลำน้ำแม่กวงทั้งสิ้น 36 สาย ลำน้ำแม่กวงมีต้นกำเนิดจากดอยผีปันน้ำหรือดอยนางแก้ว ในอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ แล้วไหลจากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ลงสู่แอ่งที่ราบเชียงใหม่-ลำพูน โดยผ่านเขตอำเภอดอยสะเก็ด และทางฟากตะวันตกของอำเภอสันกำแพงเข้าสู่เขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ลงสู่อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ก่อนไหลมาสบแม่น้ำปิงที่บ้านสบกวง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน รวมความยาวทั้งสิ้น 105 กิโลเมตร โดยมีพื้นที่ในอาณาบริเวณของลุ่มแม่น้ำกวงทั้งสิ้นประมาณ 1,893 ตารางกิโลเมตร
ข้อความในศิลาจารึกหมื่นดาบเรือน พบในวัดเชียงแสน ปัจจุบันเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วยสันกำแพง วัดป่าตึง จังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำกวงยังมีแหล่งน้ำผิวดินที่สำคัญอีกกว่า 20 แหล่ง เช่น ห้วยเตาไหในเขตอำเภอสันทราย ความยาว 11 กิโลเมตร ห้วยคังมีต้นน้ำจากที่ราบสูงบริเวณบ้านป่าสักงาม อำเภอดอยสะเก็ด ระยะทาง 8 กิโลเมตร น้ำแม่คาวเกิดจากการรวมกันของน้ำเหมืองหนองหานและน้ำแม่ดู ใช้เป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่และอำเภอสันทราย มีระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ห้วยฮ่องไคร้มีต้นน้ำจากหุบเขาในเขตอำเภอดอยสะเก็ด ความยาวประมาณ 12 กิโลเมตร น้ำแม่ปูคามีต้นกำเนิดจากห้วยน้ำงาม อำเภอสันกำแพง ห้วยทราย อำเภอห้วยทราย ความยาวประมาณ 13 กิโลเมตร และน้ำแม่ออนมีต้นน้ำจากห้วยลาน ทางตะวันออกของอำเภอสันกำแพง ก่อนไหลลงน้ำแม่ปูคา รวมระยะทาง 14 กิโลเมตร เป็นต้น
ศิลาจารึกหมื่นดาบเรือน พบในวัดเชียงแสน ปัจจุบันเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วยสันกำแพง วัดป่าตึง จังหวัดเชียงใหม่
จากการศึกษาทางโบราณคดีที่ผ่านมาพบแหล่งโบราณคดีที่มีร่องรอยการใช้พื้นที่ของมนุษย์มาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำกวงจำนวน 3 แหล่ง คือ แหล่งโบราณบ้านยางทองใต้ ตำบลสันปูเลย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ แหล่งโบราณคดีบ้านสันป่าค่า ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และแหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮ ตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน โดยแหล่งโบราณคดีทั้ง 3 แห่งที่กล่าวมานี้ เป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายในช่วงสมัยเหล็ก กำหนดค่าอายุจากตัวอย่างถ่านที่พบได้ประมาณ 1,500 ปีมาแล้ว ไม่เพียงร่องรอยหลักฐานของกลุ่มคนก่อนประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่หลายพื้นที่ในเขตอำเภอสันกำแพงยังพบร่องรอยการอยู่อาศัยของผู้คนสมัยต่อมาสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันด้วย
เจดีย์วัดเชียงแสน จังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้ หลักฐานที่แสดงถึงการเคลื่อนย้ายเข้าออกของกลุ่มช่างฝีมือแขนงสาขาต่างๆ ในพื้นที่เมืองสันกำแพง มีอยู่หลายคราว เช่น ในกลุ่มงานฝีมือประเภทเครื่องถ้วยสันกำแพงนั้น น่าจะรุ่งเรืองถึงขีดสุดในช่วงยุคทองของล้านนา คือ สมัยพระเจ้าติโลกราชและสมัยพระยอดเชียงราย ดังความบางช่วงในจารึกหมื่นดาบเรือนที่กล่าวถึงพระเจ้าเชียงใหม่หรือพระเจ้าศรีสัทธัมมังกูรมหาจักรวรรดิราชาธิราชซึ่งก็คือพระยอดเชียงรายว่า โปรดให้แต่งตั้งอติชวญาณบวรสิทธิเป็นหมื่นดาบเรือน แล้วส่งมาควบคุมการสร้างวัดเชียงแสนซึ่งอาจหมายรวมถึงการมอบหมายให้หมื่นดาบเรือนเป็นตัวแทนดูแลชุมชนช่างปั้น ตลอดจนกิจกรรมการผลิตเครื่องถ้วยสันกำแพงซึ่งได้รับความนิยมมากในขณะนั้นและน่าจะมีมาก่อนหน้าแล้ว
สภาพปัจจุบันในวัดเชียงแสน จังหวัดเชียงใหม่ พบร่องรอยโบราณสถานอยู่ทั่วไป
กิจกรรมการผลิตเครื่องถ้วยสันกำแพงนี้อาจผลิตต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงสมัยพระเมืองแก้ว (พ.ศ. 2038-2068) หรือหลังจากนั้นเล็กน้อย ก่อนจะถูกทิ้งร้างไปเมื่อคราวทัพพระเจ้าบุเรงนองเข้าโจมตีและกวาดต้อนช่างฝีมือพื้นเมืองเชียงใหม่จำนวนมากกลับไปยังพม่าเมื่อปี พ.ศ. 2101 ซึ่งจากเหตุการณ์การกวาดต้อนในครั้งนั้น มีการระบุถึงช่างฝีมือหลายสาขา สะท้อนให้เห็นว่า เมืองเชียงใหม่เมื่อช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ต่อต้นพุทธศตวรรษที่ 22 นั้น รุ่งเรืองไปด้วยเหล่าสล่าช่างฝีมือ ทั้งช่างเขียน ช่างปั้น ช่างรัก ช่างทอง ช่างเหล็ก ช่างหล่อ ช่างปูน ช่างจักสาน ช่างย้อม ช่างปัก หมอช้าง และหมอม้า เป็นต้น
แท่งหินพบภายในในวัดเชียงแสน จังหวัดเชียงใหม่
หลังเหตุการณ์คราวทัพพระเจ้าบุเรงนองกวาดต้อนไพร่พลและช่างฝีมือไปจากเชียงใหม่ ส่งผลให้ชุมชนช่างปั้นเครื่องถ้วยสันกำแพงและกลุ่มผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ในงานช่างฝีมือดั้งเดิมของเมืองเชียงใหม่น่าจะขาดช่วงลง ก่อนจะถูกพลิกฟื้นร่วมกับการกวาดต้อนเกณฑ์ไพร่พลและช่างฝีมือกลุ่มใหม่เข้ามาเมื่อคราว “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” สมัยเจ้ากาวิละ ราวพุทธศตวรรษที่ 24 นั่นเอง
ร่องรอยโบราณสถานภายในวัดเชียงแสน จังหวัดเชียงใหม่
(ส่วนหนึ่งในโครงการเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์สังคมเมืองสันกำแพงโบราณและแหล่งหัตถกรรมสันกำแพง ร่วมกับ Spark U Lanna)