ป.สุวรรณสิงห์ ครูช่างเมืองลำปาง

ป.สุวรรณสิงห์ ครูช่างเมืองลำปาง

 

แดดร่มลมพัดโชย ฉันเดินทอดน่องท่องทั่วตัวเมืองลำปาง อาคารร้านรวงรุ่นเก่ายังหลงเหลือแทรกซ่อนตัว บ้างสลับขนาบประชิดด้วยกลุ่มตึกรุ่นหลัง มีให้เห็นอยู่เป็นระยะ หลายเรือน หลายห้องยังใช้งานอยู่จริง แต่ไม่น้อยที่ถูกลงดานขันกลอนไว้แน่นหนา เพียงพบผ่านและแวะพักชื่นชมได้จากระยะไกล  ร้านรวงรุ่นเก่าหลายหลัง ดูเข้มขลังยิ่งขึ้นเมื่อมีป้ายชื่อร้านสวยสะดุดตาติดประดับอยู่ บ้างติดอวดเด่นอยู่หน้าร้าน บ้างหลบลึกอยู่ข้างใน ที่ดูจะพิเศษกว่าปกติ เห็นจะด้วยหลายป้ายปรากฏนามศิลปินผู้รังสรรค์ว่า ป.สุวรรณสิงห์ ที่มุมขวาล่าง

 

 

 

 

เขาเป็นช่างทำป้ายที่มีชื่อเสียงมาก ป้ายชื่อร้านนี้ก็จ้างเขาทำ เขาไม่มีหน้าร้านต้องให้คนไปที่บ้านเขา บอกชื่อร้านแล้วเขาจะออกแบบให้ ทำเสร็จก็มาส่ง งานประณีตมาก แข็งแรงทนทาน ดูแผ่นทองคำเปลวที่ติดสิอยู่อย่างนั้นมา 60 กว่าปีตั้งแต่เปิดร้าน ยังไม่ลอกร่อน ป้ายนี้เป็นป้ายเดิม ไม่ได้ซ่อมแซมแก้ไขอะไรเพิ่ม ทำเพียงปัดฝุ่นเล็กๆ น้อยๆ เดี๋ยวนี้ป้ายชื่อร้านฝีมือช่างคนนี้ กลายเป็นของมีราคา หลายร้านถูกขโมยไป ตามกลับมาได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ผมเลยย้ายป้ายร้านเข้าไปติดในร้านแทน  คุณลุงนิเทศ เจ้าของร้านเอี้ยงง้วนเล่าด้วยสีหน้าแจ่มใส

 

 

 

 

กลับมาค้นข้อมูลเพิ่มเติมจึงได้ทราบว่า ป.สุวรรณสิงห์ หรือปวน สุวรรณสิงห์ (2440-2508) เป็นหนึ่งในลูกศิษย์ของพระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ช่างหลวงในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ช่างปวนเป็นศิลปินชาวลำปางเชื้อสายพม่าที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์มากมายทั้งภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถและพระวิหารของวัดหลายแห่ง เช่น วัดบุญวาทย์วิหาร วัดเกาะวาลุการาม วัดสุชาดาราม วัดน้ำล้อม วัดช้างเผือก หอพิพิธภัณฑ์ (หอจำศีล) วัดอุมลอง อำเภอเถิน และวัดท่าแหน อำเภอแม่ทะ นอกจากนั้นยังปรากฏว่าในช่วงตั้งแต่ราวปี 2470 ลงมา ช่างปวนอาศัยห้องเช่าในตรอกตลาดบริบูรณ์ปราการ ไม่ไกลจากวัดบุญวาทย์เป็นทั้งที่พักอาศัยและเป็นสถานที่รับทำป้ายชื่อให้ห้างร้านและหน่วยงานราชการต่างๆ ในลำปางและจังหวัดใกล้เคียง

 

 

 

 

 

แผ่นไม้สักที่มีตัวอักษรซึ่งถูกแกะฉลุขึ้นจากไม้สักก่อนลบเหลี่ยมลับตะไบจนโค้งมนได้รูปถูกจัดวางเรียงต่อกันอย่างลงตัว ได้จังหวะ บ้างเป็นภาษาจีน บ้างเป็นภาษาไทยตามแต่จะมีผู้ว่าจ้าง สีและการตกแต่งก็ต่างกัน บางแผ่นทาสีทับลงบนตัวอักษรนั้น บางแผ่นใช้เทคนิคแปะทองคำเปลวทับลงไป ขับเน้นชื่อสถานที่ห้างร้านบนป้ายให้โดดเด่นสะดุดตา นับเป็นชิ้นงานที่ต้องอาศัยทักษะและความประณีตในทุกขั้นตอน

 

แม้ป้ายชื่อแต่ละอันจะมีรูปแบบตัวอักษร (Font) และความโค้งเหลี่ยมฉากมนต่างกันไปตามแต่แรงบันดาลใจของช่างในขณะนั้น แต่เพียงแวบเห็น หลายท่านก็บอกได้ว่าป้ายนั่นคือหนึ่งในผลงานของช่างปวน แม้บางป้ายจะไม่ลงชื่อกำกับก็ตาม จึงไม่น่าแปลกใจเพราะไม่ว่าจะเดินเตร่เที่ยวชมตัวเมืองลำปางไปทางไหน มักพบเห็นป้ายชื่อร้านค้าและป้ายสถานที่ผลงานของครูช่างท่านนี้เสมอ...

 

 

 

 

 

แหล่งอ้างอิง

ชาญคณิต อาวรณ์. “ช่างเขียนภาพพุทธศิลป์กลุ่มลำปาง พ.ศ. 2475-2504” ใน ดำรงวิชาการ. ปีที่ 18 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2562, หน้า 33-60.

ศรีชนา เจริญเนตร,ผศ. “ป้ายเก่าเล่าเรื่องเมืองลำปาง” ใน หนังสือฅนเมืองเหนือ. ปีที่ 23 ฉบับที่ 1182 วันที่ 20-26 กุมภาพันธ์ 2560, หน้า 17.

จักรพันธุ์ กังวาฬ. ป.สุวรรณสิงห์ ครูช่างผู้สร้างสรรค์ป้ายสวยเมืองลำปาง. เข้าถึงจาก www.museumthailand.com/th/209/webboard/topic/ป.สุวรรณสิงห์-ครูช่างผู้สร้างสรรป้ายสวยเมืองลำปาง/ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563.

 


เกสรบัว อุบลสรรค์

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ