เด็กก้าวร้าว : สัญญาณปฏิวัติวัฒนธรรม?
ศรีศักรทัศน์

เด็กก้าวร้าว : สัญญาณปฏิวัติวัฒนธรรม?

 

“...าจารย์ศรีศักรตั้งคำถามถึงพฤติกรรมของเยาวชนในปัจจุบันซึ่งมีการจัดชุมนุมเพื่อเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ โดยอาจารย์มองว่าสังคมไทยแต่อดีตที่ผ่านมานั้น ขับเคลื่อนได้ด้วยระบบการปกครองที่มีสถาบันกษัตริย์เป็นองค์ประกอบหลัก ขณะที่ปัจจุบันกลับมีกระแสเรียกร้องให้ลดบทบาทของสถาบันกษัตริย์ลง กระแสเหล่านี้จะขับเคลื่อนสังคมไทยให้ดำเนินไปในทิศทางใด มั่นคง เข้มแข็ง หรือเป็นเพียงแสงไฟแฟลชฉาบฉวยวูบวาบเท่านั้น?...”

 

เด็กก้าวร้าว : สัญญาณปฏิวัติวัฒนธรรม?

โดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม

บทความตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 46 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2563) “เขลางค์-นครลำปาง แห่งลุ่มน้ำวัง”

 

การเคลื่อนไหวเพื่อล้มล้างรัฐบาลในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของพรรคการเมืองบางพรรค โดยปลุกระดมให้เยาวชนออกมาเคลื่อนไหวในลักษณะการปฏิวัติวัฒนธรรมที่มีมาแต่ยุคสงครามเย็น สมัยก่อน พ.ศ. 2500 เมื่อครั้งข้าพเจ้ายังเป็นเด็กนักเรียนชั้นมัธยม โลกแบ่งสังคมออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายทุนนิยมที่มีการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย กับฝ่ายสังคมนิยมประชาธิปไตยที่คนไทยเรียกว่า “คอมมิวนิสต์” ซึ่งรัฐบาลและคนส่วนใหญ่ในประเทศมองว่าเป็นฝ่ายอธรรมที่กำลังขยายตัวแผ่อำนาจเข้ามายึดครองบ้านเมือง เปลี่ยนแปลงการปกครอง ศาสนา ประเพณี และชีวิตวัฒนธรรมที่มีมาแต่เดิมให้หมดไป

 

เวลานั้นข้าพเจ้าได้รับการอบรมบอกเล่าจากพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ และผู้รู้ในสังคมว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์นั้นสอนให้ผู้คนในสังคมโดยเฉพาะบรรดาเด็กนักเรียนที่เป็นเยาวชนให้เลิกเคารพพ่อแม่ โดยกล่าวหาว่าไม่ได้เป็นผู้มีพระคุณแต่อย่างใด เพราะการให้กำเนิดลูกเต้าเป็นผลมาจากความสุขทางเพศ ส่วนผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ก็เป็นเพียงแต่ผู้รับจ้างสอนหนังสือเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังและนบนอบ เด็กและผู้ใหญ่ต่างทัดเทียมเท่ากันหมด ส่วนเรื่องศาสนาเป็นเรื่องงมงาย ไม่จำเป็นต้องมีวัดและนักบวชเผยแผ่คำสั่งสอนและประกอบพิธีกรรมต่างๆ

 

ปีศาจคอมมิวนิสต์ มายาคติของสังคมไทย

การบอกเล่าและอบรมเยาวชน รวมถึงคนตามท้องถิ่นต่างๆ ในชนบทให้หวาดกลัวคอมมิวนิสต์ดูได้ผลดี เพราะชาวบ้านพากันมองคอมมิวนิสต์เหมือนภูตผีปีศาจและกลายเป็นความเชื่อที่ดำรงสืบมาจนกระทั่งราว พ.ศ. 2509-2510 สมัยเมื่อข้าพเจ้าไปเก็บข้อมูลทางชาติวงศ์วรรณนาในชุมชนหมู่บ้านที่จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อนำไปเขียนเป็นวิทยานิพนธ์ทางมานุษยวิทยาสังคมเสนอต่อมหาวิทยาลัยที่ออสเตรเลีย พบว่าตามบ้านเรือนของชาวบ้านมักมีรูปภาพหัวกะโหลกและภูตผีปีศาจที่มีเขาแบบผีฝรั่ง เป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้ายแบบคอมมิวนิสต์

 

ความเชื่อดังกล่าวได้ส่งผลถึงข้าพเจ้าที่เข้าไปศึกษาพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชน เพราะระยะแรกที่เข้าไปในหมู่บ้าน ข้าพเจ้ามีฐานะเป็นคนแปลกหน้า ไม่ใช่คนในชุมชน จึงมักถูกมองและสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ หรือไม่ก็เป็นสายลับของทางราชการ เพราะชาวบ้านนอกจากไม่ชอบคอมมิวนิสต์แล้ว ยังไม่ชอบคนที่เป็นข้าราชการอีกด้วย ข้าพเจ้าจึงตกอยู่ในสภาพเป็นบุคคลไม่น่าไว้วางใจร่วม 4-5 เดือน แต่เมื่อสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมจนสนิทสนมเป็นที่ไว้วางใจแล้ว ราว 6 เดือนต่อมา ชาวบ้านจึงยอมรับและมักเรียกข้าพเจ้าเป็นญาติพี่น้องเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ในชุมชน ต่างจากช่วงเวลาที่ข้าพเจ้าศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษานานาชาติ เช่น มาเลเซีย ญี่ปุ่น และเวียดนามรวมอยู่ด้วย ข้าพเจ้าและนักศึกษาที่เป็นคนไทยมักถูกบรรดานักศึกษาจากประเทศอื่นมองด้วยสายตาเย้ยหยันว่ามาจากประเทศที่เป็นขี้ข้ารับใช้อเมริกันในการทำสงครามกับเวียดนาม จึงพยายามหาคำตอบว่าเพราะเหตุใดนักศึกษาต่างชาติเหล่านั้นไม่ชอบคนไทย และก็ได้รับบทเรียนจนหายโง่เมื่อพบปะสนิทสนมกับนักศึกษาเวียดนามใต้คนหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าได้ถามเขาว่าทำไมมีใจให้กับเวียดนามเหนือซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ เขาตอบกลับมาว่าเขาเป็นคนชาติเวียดนามเช่นเดียวกันทั้งเหนือและใต้ แต่อเมริกันคือผู้รุกรานและใช้เมืองไทยเป็นฐานทัพ ส่งเครื่องบินและกำลังรบไปทำลายบ้านเมืองของเขา จนพี่น้องร่วมชาติภูมิต้องล้มตายนับล้านคน บ้านเมืองพินาศวอดวายอย่างที่เห็นประจักษ์อยู่ ไม่น่าจะต้องมาวุ่นวายอยู่กับการเป็นคอมมิวนิสต์และประชาธิปไตยที่ทั้งคนไทยและอเมริกันถือว่าสำคัญ ข้าพเจ้าเห็นใจและเข้าใจในความรู้สึกของนักศึกษาผู้นั้น และกลับสังเวชในความเป็นคนไทยที่ติดอยู่ในวังวนของความเป็นคอมมิวนิสต์และประชาธิปไตย

 

เมื่อได้เรียนรู้วิชามานุษยวิทยาสังคมและมีโอกาสออกไปศึกษาความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนตามท้องถิ่นต่างๆ ข้าพเจ้าสามารถทำความเข้าใจได้ว่า ระบอบการเมืองที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” เป็นอุดมคติของทั้ง 2 ฝ่าย แต่ต่างกันทางรูปแบบ ฝ่ายคอมมิวนิสต์คือสังคมนิยมประชาธิปไตย ขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยคือทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย ที่เน้นเสรีภาพของปัจเจกบุคคลในการลงทุนทางเศรษฐกิจ ส่วนด้านคอมมิวนิสต์เน้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องของส่วนรวมหรือกลุ่มทางสังคมเป็นสำคัญ โดยใช้ฐานทางสังคมที่เรียกว่า “คอมมูน” เป็นเป้าหมายของการอยู่ร่วมกัน

 

คอมมูนเป็นโครงสร้างและองค์กรที่มีรากเหง้ามาจากชุมชน (Community) อันเป็นองค์กรสังคมแบบธรรมชาติ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่มอย่างมีโครงสร้างและระเบียบแบบแผน จึงจะมีชีวิตรอดร่วมกันได้ การเกิดของชุมชนตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมารวมกันของครอบครัว (Family) และเครือญาติ (Kinship) ซึ่งนับเป็นสถาบันสากลของความเป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์ไม่ใช่สัตว์โลกที่เป็นเดรัจฉานซึ่งช่วยตัวเองได้ และสามารถแยกตัวออกไปอยู่ตามลำพัง หลายครอบครัวและเครือญาติแตกต่างกันในทางสายเลือดและชาติพันธุ์ ทว่ามารวมกันเป็นชุมชนในพื้นที่ซึ่งเป็นแผ่นดินเกิดเดียวกัน และมีการเติบโตพัฒนาตั้งขึ้นเป็นชุมชนหมู่บ้าน (Village) เป็นเมือง นคร และรัฐที่ต้องมีผู้นำ ผู้ปกครอง และองค์กรทางรัฐศาสตร์ทำหน้าที่บริหารการปกครอง อันมีวิวัฒนาการมาจากกษัตริย์จนถึงประธานาธิบดี หรือผู้นำของรัฐในรูปแบบต่างๆ ทั้งหมดนี้นับเนื่องเป็นมิติทางสังคมที่ควบคู่ไปกับการสร้างวัฒนธรรม (Culture) เพื่อมีชีวิตรอดร่วมกัน โดยมีศาสนาเป็นสถาบันสากล (Universal institution) ที่ขาดไม่ได้ในความเป็นมนุษย์ควบคู่ไปกับสถาบันทางสังคม อันได้แก่ครอบครัวและชุมชน

 

เยาวชน...หัวใจของการปฏิวัติวัฒนธรรม

ในยุคสงครามเย็น ทั้งทุนนิยมเสรีและสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ต่างมีการพัฒนาสังคม บ้านเมืองเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี โดยสร้างแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจเป็นฐานในการพัฒนาซึ่งแตกต่างกัน  ทางฝ่ายทุนนิยมเสรีเน้นการพัฒนา หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะปฏิรูปที่มีการวางแผนแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่หักโหม เพราะเกรงว่าคนในสังคมที่มีหลากหลายระดับจะปรับตัวได้ไม่เท่ากัน เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้ง ขณะที่ทางค่ายคอมมิวนิสต์สร้างแผนพัฒนาแบบบังคับให้มีการเปลี่ยนแปลง โดยอาศัยอำนาจของรัฐในลักษณะที่เป็นการปฏิวัติ (Revolution) เพื่อให้ประสบผลสำเร็จอย่างรวดเร็ว ทำให้ลักษณะการปกครองเป็นแบบเผด็จการ เกิดการฆ่าฟันบรรดาเศรษฐี นายทุน ขุนนาง ข้าราชการ และกษัตริย์ที่เคยมีมาแต่อดีต

 

การปฏิวัติดังกล่าวมีลักษณะองค์รวมที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งสถาบันทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ที่เรียกรวมๆ ว่า การปฏิวัติวัฒนธรรม หัวใจของการปฏิวัติดังกล่าวอยู่ที่คนรุ่นใหม่ (Young generation) ลึกลงไปถึงสาเหตุของการปฏิวัติวัฒนธรรมดังกล่าวก็เนื่องมาจากความยากจน (Poverty) และความอดอยาก (Hunger) ผู้คนในระดับต่างๆ ทางสังคมได้รับการเอารัดเอาเปรียบจากบรรดาผู้มีอำนาจและนายทุนของบ้านเมืองในระบบการปกครองที่มีมาแต่เดิม จึงสรรหาวิธีการใหม่ที่เป็นการปฏิวัติล้มล้างลัทธินายทุนและระบบการปกครองเดิม ซึ่งไม่สามารถทำให้คนระดับล่างอยู่ดีกินดีได้  พราะฉะนั้นเพื่อสร้างสังคมใหม่ให้ได้ผลที่ต้องการ จึงต้องสร้างพลังอำนาจใหม่ให้เกิดขึ้น คือจากคนรุ่นใหม่ โดยทำลายสิ่งที่เป็นสถาบันความเป็นมนุษย์ เช่น ครอบครัว ชุมชน และการแต่งงานซึ่งนับเนื่องเป็นสถาบันทางสังคม-วัฒนธรรม ที่สำคัญยิ่งคือสถาบันศาสนา รวมทั้งความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมที่สร้างขึ้นจากความมั่งคั่งทางอารยธรรมที่มีมาแต่อดีต

 

สังคมมนุษย์ที่มีการปฏิวัติวัฒนธรรมเกิดขึ้นแล้วในอดีต ซึ่งจะกล่าวถึงในบทความนี้ก็คืออิสราเอลและจีนคอมมิวนิสต์ อิสราเอลสร้างโรงเลี้ยงเด็กเป็นคอมมูนในนามของ “คิบบุทซ์” (Kibbutz) เด็กถูกแยกจากครอบครัวเพื่อนำมาอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษา เป็นเด็กและคนของรัฐที่ไม่ต้องมีพ่อแม่ เช่นเดียวกันกับจีนคอมมิวนิสต์สมัยเหมา เจ๋อตง เป็นผู้นำ จีนสร้างโรงเลี้ยงเด็กเพื่อเป็นกำลังของรัฐและภักดีต่อประธานเหมา ใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคมและวัฒนธรรมของบ้านเมืองในนามของกองกำลังพิทักษ์แดงหรือ “เรดการ์ด” (Red Guards) ซึ่งทำให้เยาวชนเติบโตและมีองค์กรเยาวชนที่มีอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของบ้านเมือง รวมทั้งก่อความรุนแรงอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ขนบประเพณีของบ้านเมือง จนเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล ต้องจัดระเบียบบ้านเมืองใหม่ และสมัยต่อมาเมื่อเติ้ง เสี่ยวผิง เป็นผู้นำก็ได้ปราบปรามลดอำนาจของยุวชนเรดการ์ดลง แต่การปลุกปั่นเยาวชนให้เป็นเครื่องมือทางการเมืองตามที่กล่าวมาหาได้หมดไปไม่ ดูเหมือนจะย้ายไปผุดขึ้นที่กัมพูชาในยุคเขมรแดงสมัยพอล พต เป็นผู้นำ การดำเนินงานของเด็กและเยาวชนที่มีอำนาจ ทำให้เกิดการฆ่าฟันกันอย่างมโหฬาร (Killing field) ในสังคมกัมพูชาก่อนที่พอล พต จะสิ้นอำนาจ ถึงแม้ในทุกวันนี้ การใช้เยาวชนเป็นเครื่องมือเพื่อการปฏิวัติและกระทำการรุนแรงก็ยังหาได้หมดสิ้นไป เพราะได้ยินมาว่าความไม่สงบที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดทางภาคใต้ของไทย มีการใช้เด็กและผู้หญิงเป็นกำลังในการทำลายฝ่ายตรงข้ามเช่นกัน

 

กระทั่งทุกวันนี้ การปลุกปั่นเด็กและเยาวชนเพื่อการปฏิวัติปรากฏขึ้นในสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง เริ่มด้วยการแสดงออกของเยาวชน โดยเฉพาะเด็กนักเรียนหญิงในชั้นมัธยมออกมาด่าว่าพ่อแม่ ครูบาอาจารย์และผู้ใหญ่ ในทำนองที่พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีพระคุณ เพราะเด็กเกิดมาจากความสุขทางเพศ ส่วนครูบาอาจารย์เป็นเพียงคนรับจ้างสอนหนังสือเพื่อเลี้ยงชีพ ผู้ใหญ่เหล่านี้ไม่ทันโลกและเป็นพวกไดโนเสาร์เต่าล้านปี แต่สิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าแปลกใจก็คือวิธีการใช้เยาวชนเป็นเครื่องมือในการปฏิวัติหนนี้ หาได้เป็นความคิดมาจากสังคมที่เป็นคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยม เช่น จีน รัสเซีย และอิสราเอลซึ่งยุติไปนานแล้ว ด้วยตระหนักดีว่าการใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการปฏิวัตินั้นใช้ในยุคที่สังคมวิกฤตที่ต้องต่อสู้เท่านั้น เมื่อเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ทุกอย่างของความเป็นมนุษย์ต้องหวนกลับมา ดังเช่นที่อิสราเอลและจีนไม่มีใครปล่อยให้ลูกอยู่ในคิบบุทซ์และโรงเลี้ยงเด็กแบบคอมมูนอีกต่อไป สถาบันครอบครัวต้องกลับคืนมา และเมื่อความคิดที่สอนให้เด็กอกตัญญูต่อพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ หาได้มาจากสังคมฝ่ายสังคมนิยมแล้ว คงหนีไม่พ้นว่ามีที่มาจากสังคมเสรีประชาธิปไตยที่เป็นทุนนิยมสามานย์เช่นอเมริกาอย่างแน่นอน เพราะมหาวิทยาลัยสำคัญๆ ในอเมริกามักสอนให้บรรดานักศึกษาไทยที่ไปร่ำเรียนและจบการศึกษาออกมารับราชการหรือเป็นครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยว่า ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ที่สุด หากมีการปกครองแบบประธานาธิบดี ซึ่งไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เพราะมีสถาบันกษัตริย์เป็นอุปสรรคต่อขั้นตอนวิวัฒนาการของประชาธิปไตยแบบอเมริกัน

 

สถาบันที่จรรโลงความเป็นมนุษย์

ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นนักวิชาการทางสังคมที่ไม่ได้เรียนจบจากอเมริกา ไม่เชื่อว่าสถาบันกษัตริย์จะเป็นอุปสรรคต่อความเป็นประชาธิปไตยตามแนวคิดวิวัฒนาการทางสังคม หากมองในทางตรงกันข้ามว่า สถาบันกษัตริย์ยังมีหน้าที่ (Function) ในการสร้างคุณูปการให้แก่สังคมตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 ลงมา เพราะเป็นสถาบันที่จรรโลงทั้งศาสนา ชุมชน และครอบครัว อันเป็นสถาบันสากลในความเป็นมนุษย์ โดยหน้าที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกผู้ทรงทำนุบำรุงศาสนา ดังเห็นได้แต่อดีตมาจนปัจจุบัน วัดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชุมชน การสร้างวัดคือการสร้างชุมชน เช่นในยามที่มีผู้คนโยกย้ายเข้ามาจากภายนอกเพื่อเป็นคนในแผ่นดิน หรือเมื่อมีการทำศึกสงครามกับบ้านเมืองอื่น การกวาดต้อนผู้คนเข้ามาเป็นพลเมืองไม่ได้ทำร้ายหรือเอามารับใช้เป็นทาสอย่างในยุโรปหรืออเมริกา แต่ให้เข้ามาอยู่รวมกันในท้องถิ่นเป็นชุมชน พระมหากษัตริย์จะทรงกัลปนาที่ดินสร้างวัด พร้อมกัลปนาผู้คนที่มาจากภายนอกให้เป็นข้าวัด ตั้งบ้านเรือนและทำกินในที่ดินของวัด และมีหน้าที่ดูแลรักษาวัดให้เป็นศูนย์กลางของชุมชนและครอบครัว เพื่อจะได้อยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนทางสังคม ซึ่งกลายมาเป็นคนไทยตามท้องถิ่นต่างๆ เมื่อเวลาผ่านไป

 

สังคมไทยอยู่กันเป็นบ้าน เป็นเมือง เป็นรัฐ มาแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ในดินแดนที่เรียกว่า สยามประเทศ โดยมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลัก พระมหากษัตริย์ทรงมีบทบาทเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูเช่นเดียวกับชุมชนในศาสนาอื่นๆ โดยไม่มีความเดียดฉันท์ แม้ในปัจจุบันสังคมบ้านเมืองก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทุกภูมิภาคของประเทศยังคงเป็นสังคมที่มีบ้านและวัดอยู่ร่วมกัน มีการดำเนินชีวิตวัฒนธรรมที่ไม่ผิดแผกไปจากเดิม มิได้รู้ร้อนรู้หนาวกับความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยแบบที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของสาธารณรัฐเช่นอเมริกาแต่อย่างใด

 

ทุกวันนี้...ทุกภูมิภาคของประเทศไทยผู้คนยังอยู่กันเป็นชุมชน มีวัดเป็นศูนย์กลางเฉกเช่นในอดีต อีกทั้งไม่ขาดแคลนในเรื่องอาหารการกิน เพราะเป็นชุมชนเกษตรกรรมแบบพอเพียงตามโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9  ข้าพเจ้าผ่านไปมาแทบทุกภูมิภาค ไม่ได้แลเห็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองเพื่อล้มล้างความเป็นมนุษย์ ที่ต้องมีความกตัญญูต่อแผ่นดินเกิด ต่อพ่อแม่ครูบาอาจารย์ และผู้มีบุญคุณต่อแผ่นดิน อย่างที่มีอยู่ในภาพข่าวทางโทรทัศน์หรือจากสื่อต่างๆ ซึ่งทำให้ดูเหมือนเมืองไทยกำลังเดือดร้อนภายใต้การปกครองของทรราชผู้กดขี่อะไรทำนองนั้น

 

แต่ขณะเดียวกัน ข้าพเจ้ากลับแลเห็นความร่วมมือ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนในชุมชนเมื่อเกิดสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVIC-19) เมืองไทยนับแต่อดีตจนปัจจุบันไม่เคยประสบภาวะอดอยาก ขาดแคลนอาหารการกิน จึงไม่มีทางที่จะเกิดความวุ่นวายฆ่าฟันกันอย่างประเทศอื่นๆ ในโลก ที่มีการปฏิวัติทางสังคมเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ดังเช่นในสังคมคอมมิวนิสต์หรือสังคมกัมพูชาสมัยพอล พต เป็นผู้นำเขมรแดง ทั้งๆ ที่บ้านเมืองเป็นดินแดนอุดมสมบูรณ์เช่นเดียวกับเมืองไทย ข้าพเจ้าอดคิดไม่ได้ว่า สมัยพอล พต การปฏิวัติฆ่าฟันกันอย่างเป็นสงครามภายในของกัมพูชานั้น หาใช่มาจากความหิวโหยในเรื่องอาหารการกิน จนนำไปสู่ความโกรธ ความเกลียดที่ต้องการล้มล้างเผ่าพันธุ์  แต่มาจากลัทธิการเมืองการปกครองที่ต้องการแสวงหาอำนาจ ความละโมบโลภมากในทางวัตถุ จนเกิดความโกรธ เกลียด และสุดท้ายก็ฆ่าฟันกันอย่างสิ้นความเป็นมนุษย์

 

ข้าพเจ้ายังมองโลกในทางที่ดีว่า การเคลื่อนไหวเรียกร้องของเด็กและเยาวชนก้าวร้าวด้วยความคิดที่ผิดแผกไปนั้น เป็นเพียงแค่แฟลชไลท์วูบวาบอยู่พักหนึ่ง ที่เกิดมาจากการยุยงจากมหาอำนาจตะวันตกเสรีประชาธิปไตยซึ่งใกล้จะสูญสิ้นอำนาจและถูกทำลายด้วยไวรัสร้ายที่เป็นสัตว์ตัวเล็กที่สุดในจักรวาล