ตราสัญลักษณ์บนหัวรถจักรดีเซลไทย

ตราสัญลักษณ์บนหัวรถจักรดีเซลไทย

 

ใครที่เคยใช้บริการรถไฟไทย แบบที่เป็นหัวรถจักรดีเซล พ่วงด้วยตู้โดยสารสีน้ำเงินบ้าง สีแดงบ้าง เป็นขบวนยาวเหยียด คงสังเกตเห็นที่หัวรถจักรว่ามีตราสัญลักษณ์กลมๆ ติดอยู่ ซึ่งตราสัญลักษณ์นี้เพิ่งเกิดขึ้นมาได้ราว 70 ปีมานี่เอง

 

 

กิจการรถไฟไทยเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีการก่อตั้งกรมรถไฟขึ้นในปี พ.ศ. 2433 และมีเส้นทางรถไฟสายแรกจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เริ่มเปิดเดินรถได้บางช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2439 หลังจากนั้นได้มีการสร้างทางรถไฟเพิ่มเติมอีกหลายสาย รวมทั้งมีการพัฒนากิจการรถไฟเพิ่มเติมขึ้นหลายอย่าง สิ่งหนึ่งคือการจัดหาหัวรถจักรดีเซลมาใช้แทนหัวรถจักรไอน้ำ ในยุคที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง โดยได้จัดซื้อหัวรถจักรจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาใช้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2471 จำนวน 2 คัน คือ หัวรถจักรหมายเลข 21 และหมายเลข 22 

 

 

ต่อมางานฉลองกรมรถไฟหลวงครบ 50 ปี ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2490 ข้าราชการกรมรถไฟหลวง หรือการรถไฟแห่งประเทศไทยปัจจุบัน ได้มีการจัดสร้างตราวงกลมจารึกพระนาม "บุรฉัตร" ทำด้วยบรอนซ์ลงสีน้ำหมาก ติดไว้ด้านข้างรถจักรดีเซลทุกคัน เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากรที่นำหัวรถจักรดีเซลมาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

 

 


ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ