ตะแล็ปแก็ป... ตะแล็ปแก็ป!

ตะแล็ปแก็ป... ตะแล็ปแก็ป!

 

“ตะแล็ปแก็ป” เป็นคำเรียกติดปากของชาวบ้าน ที่ใช้เรียกอุปกรณ์ชนิดหนึ่งทำด้วยโลหะ ใช้สำหรับตัดตั๋วรถไฟ คุณกุศล รัตนาพูนเพิ่ม พนักงานประจำขบวนรถไฟ หมายเลข 135 กรุงเทพ-อุบลราชธานี ไขข้อข้องใจเรื่องนี้ว่า ที่จริงแล้วอุปกรณ์ตัดตั๋วรถไฟผู้โดยสารนั้นมีชื่อเรียกอย่างสามัญว่า “คีมตัดตั๋ว” ซึ่งทำจากโลหะอลูมิเนียม ที่ด้ามจับมีรหัสหมายเลขของพนักงานอยู่ส่วนปากคีมจะเป็นรูปตัว U หรือไม่ก็ตัว M เมื่อพนักงานฯ เดินตรวจตั๋วของผู้โดยสารแล้วจะใช้คีมนี้หนีบตัดตั๋วให้เป็นรอยขาด เป็นสัญลักษณ์ว่าได้ตรวจสอบแล้ว

 

ชาวบ้านเรียกคีมตัดตั๋วรถไฟแบบนี้ว่า “ตะแล็ปแก็ป”

สำหรับชื่อเรียก “ตะแล็ปแก็ป” นั้น คุณกุศลให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเป็นการเรียกกันโดยทั่วไป ตามเสียงของคีมที่กระทบกัน เพราะเมื่อพนักงานประจำขบวนรถไฟเดินมายังผู้โดยสารที่นั่งอยู่ประจำที่ จะบีบคีมไปมาให้เกิดเสียงคล้าย “ตะแล็ปแก็ป” เป็นสัญญาณว่าจะมีการตรวจตั๋วรถไฟ จึงได้เรียกตามกันมาเช่นนั้น อย่างไรก็ดี “ตะแล็ปแก็ป” ยังอาจแผลงมาจากชื่อเรียกโทรเลขหรือ Telegraph อีกด้วย เพราะขั้นตอนของการส่งโทรเลขนั้นเกิดจากการกดคันเคาะให้กระทบกับเครื่องส่ง ทำให้กระแสไฟฟ้าที่ถูกส่งขาดเป็นช่วง เกิดเป็นสัญญาณสั้น-ยาว เสียงที่เคาะนั้นคล้ายกับเสียงที่เกิดจากการบีบคีมตัดตั๋วรถไฟเช่นกันการเรียก “ตะแล็ปแก็ป” ของวัตถุทั้งสองสิ่งนี้ยังอาจสะท้อนว่าเป็นสิ่งของที่อยู่ร่วมสมัยเดียวกันอีกด้วย  

 

คุณกุศล รัตนาพูนเพิ่ม พนักงานประจำรถไฟผู้เล่าถึงที่มาชื่อเรียก “ตะแล็ปแก็ป”


ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ