โรงหมอฝรั่งที่ฝั่งธนฯ
แวดวงเสวนา

โรงหมอฝรั่งที่ฝั่งธนฯ

 

การรักษาพยาบาลตามระบบแบบแผนเดิมในสยามนั้น คือการรักษาโดยแพทย์แผนไทย ใช้ยาสมุนไพรไทย หรือวิธีการรักษาแบบอื่นๆ ที่มีเรื่องของเวทย์มนตร์คาถาเข้ามาเกี่ยวข้อง ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้นมีกลุ่มมิชชันนารี-หมอสอนศาสนาจากตะวันตกเข้ามาตั้งบ้านเรือนเพื่อเผยแผ่คริสต์ศาสนา พร้อมไปกับการรักษาพยาบาลแบบตะวันตก พร้อมกับการก่อนที่จะมีก่อตั้งโรงพยาบาลของหลวงขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2560 ในงาน “รฦกธนบุรี 250+” ครั้งที่ 1 “เปิดบ้านหลังคาแดง” ที่จัดขึ้น ณ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่ก่อตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้จัดการเสวนาเรื่อง “โรงหมอฝรั่งที่ฝั่งธนฯ” โดยมีวิทยากรคือ นายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร โรงพยาบาลศิริราช และนายแพทย์วีรพล อุณหรัศมี สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

 

นายแพทย์วีรพล อุณหรัศมี (ซ้าย) และนายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร(ขวา) วิทยากร

 

คุณหมอสรรใจ แสงวิเชียร กล่าวว่า การรักษาและการสาธารณสุขของไทยในระยะแรกเริ่มขึ้นเมื่อมีหมอฝรั่งที่เป็นมิชชันนารีเข้ามาเผยแผ่ศาสนาโดยใช้การรักษาและการให้การศึกษาแก่ผู้คนในสยามตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ 3 หมอฝรั่งคนสำคัญคือ หมอบรัดเลย์(Dan Beach Bradley) ที่เริ่มจากการตั้งสถานพยาบาลเปิดทำการรักษา พร้อมกับแจกพระคัมภีร์อยู่ที่วัดเกาะ (วัดสัมพันธวงศ์) จากนั้นได้ย้ายมาอยู่ที่เรือนแพบริเวณกุฎีจีน ดังปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารของวัดกัลยาณมิตรมีภาพฝรั่งที่เดินข้ามแพที่เป็นร้านขายยา สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นภาพเรือนแพของหมอบรัดเลย์ ต่อมาหมอบรัดเลย์ได้รับพระราชทานที่ดินที่ปากคลองบางกอกใหญ่ ติดกับวัดท้ายตลาด(วัดโมลีโลกยาราม) จึงได้ปลูกบ้านพักขึ้น ซึ่งบ้านแห่งนี้ได้เป็นสถานที่เกิดของพระอาจวิทยาคม หรือนายแพทย์ยอร์ชบรัดเลย์ แมคฟาร์แลนด์ ที่ต่อมาจะเป็นนายแพทย์ใหญ่คนแรกของโรงพยาบาลศิริราช

 

ภายหลังจากที่หมอบรัดเลย์เริ่มทำการรักษาในไทยก็เริ่มมีหมอฝรั่งคนอื่นๆ เข้ามาทำการรักษาเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีคนไทยที่ไปเรียนจบแพทย์จากต่างประเทศ 2 คนคือ พระยาสารสินสวามิภักดิ์ (เทียนฮี้ สารสิน) ซึ่งจบการศึกษาแพทยศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา และหม่อมราชวงศ์สุวพันธุ์ สนิทวงศ์ที่จบการศึกษาแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเอดินเบิร์กประเทศสก็อตแลนด์ เมื่อกลับมาแล้วก็เข้ารับราชการเป็นแพทย์ทหาร ก่อนเปิดโรงพยาบาลทหารชั่วคราวแถวพาหุรัดหรือบริเวณดิโอลด์สยามในปัจจุบัน ชื่อว่า “โรงพยาบาลมหานาค” แต่เมื่อเกิดสงครามโลก โรงพยาบาลแห่งนี้ก็ต้องปิดตัวลง เนื่องจากท่านเจ้าของโรงพยาบาลต้องไปสงครามด้วย

 

ราวปี พ.ศ. 2424 เกิดอหิวาตกโรคระบาดครั้งใหญ่ รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงพยาบาลชั่วคราวขึ้นตามวังบางแห่ง โดยนำผู้ป่วยรวมกันไว้และพยายามรักษาเท่าที่ทำได้ ตอนนั้นต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อทำลายอุจจาระที่ปนเปื้อนเชื้อโรค จนเมื่อโรคระบาดบรรเทาลงและหายไป จึงเลิกโรงพยาบาลชั่วคราวแต่จากเหตุการณ์นี้ทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริว่าโรงพยาบาลเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อประชาชน ประกอบกับเคยเสด็จไปทอดพระเนตรกิจการโรงพยาบาลในต่างประเทศ เมื่อครั้งเสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพยาบาลขึ้นเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งใหม่ เพราะแต่เดิมการรักษาของคนไทยโดยทั่วไปจะเชิญแพทย์แผนไทยให้ไปรักษาที่บ้าน เพื่อดูอาการว่าจะสามารถรักษาได้หรือไม่ หากหมอพิจารณาว่าไม่สามารถรักษาได้แล้ว ก็สามารถปฏิเสธไม่รับรักษาได้

รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดำเนินการสร้างโรงพยาบาล ประกอบด้วย

  • พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศิริธัชสังกาศ
  • พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ
  • พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์
  • พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์
  • พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์
  • พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์
  • พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เถียน โชติกเสถียร)
  • เจ้าหมื่นสรรเพชญ์ภักดี (บุศ เพ็ญกุล)
  • นายแพทย์ปีเตอร์ เกาแวน (ชาวสก็อต) 

คณะกรรมการฯ มีดำริร่วมกันว่าจะสร้างโรงพยาบาลบนพื้นที่วังของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) ซึ่งเป็นที่หลวงที่ถูกปล่อยร้างไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์  เมื่อเริ่มสร้างโรงพยาบาล สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพทรงเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง และให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์เป็นผู้จัดหาหมอาประจำ ระหว่างที่กำลังก่อสร้างนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ทรงประชวรด้วยโรคบิดและสิ้นพระชนม์ลงในปีพ.ศ. 2430 ในปีเดียวกันสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ที่ประสูติแต่สมเด็จพระพันปีหลวงก็สิ้นพระชนม์อีก 2 พระองค์ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่ที่ท้องสนามหลวงและเมื่อพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเสร็จสิ้นแล้ว โปรดให้รื้อไม้มาสร้างโรงพยาบาล

 

เมื่อสร้างโรงพยาบาลแล้วเสร็จ ได้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2431 และพระราชทานนามว่า “โรงศิริราชพยาบาล” ถือเป็นโรงพยาบาลหลวงแห่งแรก นายแพทย์ใหญ่ที่เข้ามาประจำการในระยะแรกคือ พระยาประเสริฐศาสตร์ธำรง (หนู วรกิจพิศาล) แพทย์แผนไทย ผู้เป็นเจ้ากรมแพทย์ของฝ่ายวังหน้า ต่อจากนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมพยาบาลขึ้นเพื่อสร้างโรงพยาบาลอื่นๆ เพิ่มเติม ได้แก่โรงพยาบาลบูรพาพยาบาล (ตั้งอยู่ที่หน้าวังบูรพา)  โรงพยาบาลข้างวัดเทพศิรินทร์และโรงพยาบาลคนเสียจริตที่ปากคลองสานนอกจากนี้หน้าที่ของกรมพยาบาลในอดีตคือ การจัดการโรงเรียนสอนการแพทย์และการจัดการปลูกฝี

 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เลือกฝั่งธนบุรีเป็นที่ตั้งโรงพยาบาลในระยะแรก เพราะเป็นชุมชนเก่าที่มีการอยู่อาศัยมายาวนาน อีกทั้งสมัยก่อนใช้การสัญจรทางเรือ จึงต้องตั้งโรงพยาบาลอยู่ริมแม่น้ำเพื่อให้คนไข้เดินทางไปมาสะดวก อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกยังไม่เป็นที่นิยม ดังปรากฏในหนังสือบันทึกความทรงจำของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า ช่วงที่เปิดโรงพยาบาลใหม่ๆประชาชนส่วนใหญ่ยังคุ้นเคยกับระบบการรักษาที่เชิญแพทย์ไปที่บ้าน และก่อนที่รับการรักษาจะต้องมีการผูกดวงชะตากันก่อนว่า ดวงของผู้ป่วยสามารถรักษาได้หรือไม่ หากดวงถึงฆาตแล้วจะไม่ทำการรักษาให้ หรือแม้แต่ดวงชะตาของหมอก็ต้องเอามาผูกร่วมกันด้วย เมื่อสร้างโรงพยาบาลใหม่ๆ คนไทยเชื่อว่าหมอฝรั่งเก่งในด้านวิชาศัลยกรรม ส่วนหมอคนไทยเก่งในด้านโอสถกรรมคือทางยา ส่วนการผดุงครรภ์และคลอดบุตรแบบการแพทย์สมัยใหม่ยังไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่ เห็นได้จากการที่มาทำคลอดแล้วจะขอให้ทางโรงพยาบาลจัดการอยู่ไฟให้ด้วย

 

ภายหลังที่เปิดโรงพยาบาลแล้ว มีผู้บริจาคเงินให้สร้างตึกผู้ป่วยขึ้นเพิ่มเติม เช่นพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์(หม่อมเจ้าปิ๋ว ลดาวัลย์) พระมเหสีในรัชกาลที่ 5 และมีตึกอีกหลังหนึ่งที่สร้างด้วยเงินของประเทศอังกฤษคือ “ตึกวิคตอเรีย” เพื่อเป็นอนุสรณ์วันฉลองครองราชย์ครบ 50 ปี ของสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียเป็นตึกที่มีห้องชั้นบน 1 ห้อง ชั้นล่าง 1 ห้อง ชั้นบนเป็นที่อยู่ของคนไข้ ส่วนชั้นล่างเป็นที่อยู่ของผู้ที่ติดตามมาด้วย ส่วนตึกเสาวภาคย์มีขนาดใหญ่กว่าชั้นบนมี 2 ห้อง ชั้นล่างมี 2 ห้อง

 

เมื่อพระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์เสด็จมารักษาพระอาการประชวรด้วยวัณโรคทำให้ประชาชนเห็นว่าเป็นโรงพยาบาลที่มีคุณภาพ แม้แต่เจ้านายยังเสด็จมารับการรักษาพยาบาล ทำให้ภาพลักษณ์และความนิยมในการใช้โรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น ก่อนจะสิ้นพระชนม์พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ได้วางแผนสร้างโรงเรียนแพทย์ด้วยเพราะเห็นว่ามีจำนวนแพทย์ไม่เพียงพอ ต่อมาสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ดำเนินการก่อตั้งโรงเรียนแพทย์ต่อและเปิดทำการสอนเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2433 โดยมีนายแพทย์ที เฮวาด์เฮส์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางรักในสมัยนั้น มาเป็นอาจารย์สอนคนแรก และได้นายแพทย์ ยอร์ชบรัดเลย์ แมคฟาร์แลนด์ซึ่งสามารถพูดไทยได้มาเป็นอาจารย์สอนตั้งแต่ปี พ.ศ.2435-2469 หมอแมคฟาร์แลนด์เมื่อจบการศึกษาจากเมืองไทยแล้ว ได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นแพนซิลวาเนีย ได้ทั้งปริญญาแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ ท่านเข้ามาเป็นอาจารย์สอนทุกวิชาตั้งแต่วิชาเบื้องต้นของการแพทย์ ทั้งยังทำการรักษาผู้ป่วยไปด้วยในทุกสาขา นอกจากนี้สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงมีบทบาทสำคัญในด้านการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาแพทย์ ด้วยการปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยและส่งนักเรียนโรงเรียนเตรียมแพทย์ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาด้วย

 

ด้านนายแพทย์วีรพลได้บอกเล่าถึงประวัติของสถาบันจิตเวชฯ ว่าก่อตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2432 เดิมชื่อ “โรงพยาบาลคนเสียจริต” สถานที่ตั้งแห่งแรกอยู่ที่บริเวณปากคลองสาน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยสร้างขึ้นบนที่ดินของพระยาภักดีภัทรากรหรือเจ้าสัวเกงซัว ซึ่งเป็นที่ดินที่นำมาชดใช้หนี้หลวง จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “โรงพยาบาลปากคลองสาน” ต่อมาเมื่อมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ทำให้ประสบปัญหาสถานที่ไม่เพียงพอ จึงย้ายมายังบริเวณที่ตั้งปัจจุบัน โดยซื้อที่ดินของตระกูลบุนนาค รวมถึงเรือนของเจ้าคุณทหารหรือเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)เดิมในพื้นที่มีบ้านขุนนางด้วยกัน 3 หลัง แต่เมื่อจะสร้างโรงพยาบาลได้ทำการรื้อออกไป 2 หลังเพื่อใช้พื้นที่สร้างเรือนผู้ป่วย เหลือไว้เพียงเรือนของเจ้าคุณทหาร ซึ่งเป็นอาคารตึกหลังใหญ่ที่มีสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกโดยใช้เป็นบ้านพักของผู้อำนวยการโรงพยาบาลมาหลายรุ่น สมัยก่อนอาคารโรงพยาบาลมุงหลังคาด้วยสังกะสีทาสีแดง ซึ่งหลวงวิเชียรแพทยาคม(นายแพทย์เถียร ตูวิเชียร)  ให้ใช้สีโป๊วรถยนต์มาทาเพื่อป้องกันสนิมจึงเป็นที่มาของชื่อที่คนทั่วไปเรียกขานว่า “หลังคาแดง”

 

การรักษาพยาบาลสมัยก่อนนั้นมีทั้งรักษาด้วยสมุนไพรและการเฆี่ยนตีต่อมาสมัยที่พระยาอายุรเวชวิจักษ์หรือนายแพทย์โมเดิร์นคาธิวส์ (Modern Cathews) เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ได้ส่งแพทย์ไปร่วมประชุมที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย พร้อมทั้งจัดซื้อเครื่องมือในการรักษาผู้ป่วยที่ทันสมัยในยุคนั้นกลับมาด้วยการแพทย์สมัยก่อนนั้นเชื่อว่าผู้ป่วยทางจิตที่มีอาการคุ้มคลั่ง พอชักแล้วจะอาการดีขึ้น จึงมีวิธีการทำให้คนไข้ชักด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การฉีดเชื้อมาลาเรียพออุณหภูมิในร่างกายสูงถึง 42 ก็จะชักแล้วจึงฉีดยาควินินเข้าไปเพื่อดับพิษ แต่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากเชื้อมาลาเรียขึ้นสมอง การฉีดสารอินซูลินเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด การใช้ยาหรือสารเคมีเพื่อรบกวนสมองทำให้เกิดอาการชักและการรักษาด้วยเครื่องช็อตไฟฟ้าโดยใช้วิธีการผ่านไฟฟ้าเข้าไปยังสมอง ซึ่งเครื่องรักษาด้วยไฟฟ้าเครื่องแรกของโรงพยาบาลสั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศในสมัยที่ศาสตราจารย์ นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ปัจจุบันเครื่องมือแพทย์ชนิดนี้มีการพัฒนาขึ้นมาก โดยรุ่นใหม่จะใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้ามากำกับ ต่อมาสมัยที่หลวงวิเชียรแพทยาคมเป็นผู้อำนวยการ ได้มีกิจกรรมบำบัดโดยให้คนไข้ได้ทำงานต่างๆ เช่น รับงานทำชุดร่วมยาตำราหลวงมาจากองค์การเภสัชกรรม ทำเสื่อ ไม้กวาด และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อนำไปจำหน่ายในงานต่างๆซึ่งสร้างรายได้ให้กับโรงพยาบาลจนสามารถซื้อที่ดินแปลงหนึ่งที่ตำบลตลาดขวัญ เพื่อสร้างโรงพยาบาลและที่ฟื้นฟูผู้ป่วยโดยผ่านกระบวนการทำการเกษตรกรรม

 

นอกจากนี้ใกล้ๆ กันยังเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลโรคติดต่อ ปัจจุบันคือโรงพยาบาลตากสิน ในแผนที่เก่าเรียกว่า โรงพยาบาลกาฬโรค เพราะบริเวณปากคลองสานและแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณนี้เป็นที่จอดเรือขนส่งสินค้าจำนวนมากพวกหนูซึ่งติดมากับเรือก่อให้เกิดกาฬโรคระบาดเล่ากันว่ามีคนตายจำนวนมากโดยศพจะถูกนำไปไว้ที่วัดทองธรรมชาติ ภายหลังในสมัยจอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ ได้ย้ายโรงพยาบาลโรคติดต่อไปอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลศรีธัญญาซึ่งปัจจุบันคือโรงพยาบาลบำราษฏร์นราดูร

 

คุณหมอสรรใจ เป็นวิทยากรนำชมนิทรรศการภาพถ่าย “ฝั่งธนฯ เมื่อวันวาน” ที่จัดแสดงภายในอาคารพิพิธภัณฑ์

 

คุณหมอวีรพลนำชมต้นไม้หลากหลายพันธุ์ที่ปลูกไว้ภายในสวนของสถาบันจิตเวชฯ

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น