บ้านสำโรง ตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มใกล้กับลำห้วยสำโรง อันเป็นลำน้ำธรรมชาติที่ไหลจากด้านตะวันตกสู่ตะวันออก ลำน้ำสายนี้ได้ไหลไปสบกับห้วยลึก ก่อนจะไหลไปสบกับลำปลายมาศอีกต่อหนึ่ง แล้วจึงไหลไปทางทิศเหนือสบกับแม่น้ำมูลในเขตอำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา
บ้านสำโรง เป็นชุมชนโบราณที่อยู่ใกล้กับลำน้ำขนาดเล็ก บนที่ราบซึ่งลาดเทไปยังฝั่งตะวันออก
ชุมชนส่วนใหญ่ของบ้านสำโรงตั้งอยู่ในบริเวณซึ่งเป็นเมืองโบราณผังรูปวงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 400 เมตร มีคูน้ำล้อมรอบ 3 ชั้น นอกจากนี้ยังมีสระน้ำผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าความยาวราว 400 เมตร กว้าง 150 เมตร อยู่ทางด้านตะวันออก ร่องรอยความเก่าแก่ของบ้านสำโรง พบหลักฐานที่เนินดินบริเวณใจกลางเมืองในเขตบ้านสำโรงเก่า หมู่ที่ 10 ในตำแหน่งใกล้กับศาลเจ้าใต้ต้นมะขามใหญ่ พบเศษอิฐขนาดใหญ่ที่มีแกลบข้าวเป็นส่วนผสมอยู่มากคล้ายอิฐสมัยทวารวดี รวมไปถึงพบก้อนหินทรายทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ เป็นไปได้ว่าในอดีตบริเวณนี้อาจเคยมีโบราณสถานตั้งอยู่ ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวถูกใช้เป็นลานอเนกประสงค์ของหมู่บ้าน
เนินดินขนาดใหญ่ใจกลางบ้านสำโรงเก่า
บริเวณใกล้กับศาลใต้ต้นมะขามพบอิฐโบราณแบบมีแกลบข้าวผสมอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงก้อนหินทรายสี่เหลี่ยม
ถัดจากบ้านสำโรงเก่าไปทางทิศใต้ราว 500 เมตร เป็นที่ตั้งของปราสาทบ้านสำโรง โบราณสถานยุคขอม สภาพปัจจุบันเหลือเพียงกองศิลาแลงและหินทราย โดยยังไม่ได้รับการบูรณะ จากการสังเกตพบว่าผังมีลักษณะสี่เหลียมผืนผ้าและมีชิ้นส่วนซึ่งเป็นกรอบประตูหรือกรอบหน้าต่างกระจายอยู่บ้าง จากข้อมูลของกรมศิลปากรระบุว่า ปราสาทบ้านสำโรงเป็นโบราณสถานในความเชื่อพุทธศาสนาแบบมหายาน มีลักษณะเป็นอาคารในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยมีหน้าต่างเฉพาะด้านทิศใต้หรือด้านใกล้กับลำห้วยสำโรงสายหลัก เชื่อกันว่าเป็นศาสนสถานขนาดเล็กที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1723-1761 ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักคนเดินทางเอาไว้ทั่วอาณาจักรของพระองค์ และปราสาทบ้านสำโรงนับเป็น 1 ใน 121 แห่งที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ตามที่ปรากฏในจารึกปราสาทพระขรรค์
ปราสาทบ้านสำโรงในปัจจุบันยังไม่ได้รับการบูระ สามารถสังเกตเห็นแนวหินที่เรียงกันได้เฉพาะฝั่งตะวันตก
กรอบประตูหรือหน้าต่างที่พบในบริเวณปราสาทบ้านสำโรง
จากที่กล่าวมาข้างต้น เห็นได้ว่าบ้านสำโรงเป็นชุมชนโบราณที่มีการตั้งรกรากอย่างน้อยตั้งแต่สมัยทวารวดี โดยผังเมืองรูปวงกลมเช่นนี้พบได้ทั่วไปใกล้ลำน้ำน้อยใหญ่ในพื้นที่แถบนี้ ทั้งยังเป็นชุมชนที่มีการอยู่อาศัยสืบเนื่องต่อมาจนถึงสมัยลพบุรี นอกจากนี้มีการค้นคว้าเพิ่มเติมต่อมาว่าปราสาทบ้านสำโรงแห่งนี้อาจเป็น “ธรรมศาลา” 1 ใน 17 แห่ง ที่อยู่ระหว่างเมืองพิมายกับเมืองพระนครในประเทศกัมพูชาก็เป็นได้
บริเวณปราสาทบ้านสำโรงซึ่งอยู่ห่างจากตัวชุมชนประมาณ 500 เมตร
ภาพถ่ายดาวเทียมผังเมืองโบราณบ้านสำโรงในผังรูปวงกลม มีคูน้ำล้อมรอบ 3 ชั้น (ที่มา : Google Earth)
เอกสารอ้างอิง
“ธรรมศาลา บ้านมีไฟ แห่งราชมรรคา?”. เมืองโบราณ. ฉบับที่ 2 ปีที่ 34 (เมษายน-มิถุนายน 2551).