ไม่ไกลจากปราสาทธาตุนางพญา โบราณสถานที่หนองสะโน อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ไปทางทิศเหนือราว 2.5 กิโลเมตร มีศาลศักดิ์สิทธิ์อีกหนึ่งแห่งของบ้านหนองสะโนตั้งอยู่ ศาลดังกล่าวตั้งอยู่ริมถนนลูกรัง ซึ่งเป็นเส้นทางไปสู่ปราสาทธาตุนางพญา ป้ายไม้เล็กๆ ด้านหน้าศาล ระบุชื่อ “ดอนปู่ตา (ปู่ยม) : เขตอภัยทาน”
ศาลปู่ยมตั้งอยู่บนลานกว้าง ด้านข้างมีเนินดินขนาดย่อมที่ถูกปกคลุมไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่น้อย ศาลสร้างเป็นศาลาโถง ก่ออิฐถือปูน ไม่ยกพื้น หลังคาทรงจั่ว มุงด้วยสังกะสี หันหน้าไปทางทิศเหนือ มีบันไดปูนปูกระเบื้อง 3 ขั้น เป็นทางให้ขึ้นลงศาลได้ที่ด้านทิศเหนือเพียงด้านเดียว ภายในศาล แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ชานด้านหน้าเป็นพื้นที่โล่งสำหรับตั้งวางเครื่องเซ่นต่างๆ ที่สังเกตเห็น ได้แก่ น้ำเปล่า น้ำอัดลม หมากพลู ถัดเข้าไปด้านใน ก่ออิฐเป็นแท่นยกสูง 2 ระดับ แท่นชั้นล่างไว้สำหรับตั้งวางเชิงเทียน กระถางธูป และรูปปั้นช้าง ม้าลาย ไก่ ที่คนนำมาถวาย ส่วนแท่นชั้นบนเป็นที่วางรูปเคารพแทนองค์ปู่ยม โดยปั้นเป็นรูปชายร่างสูงใหญ่ ไว้ผมทรงมหาดไทย ไม่สวมเสื้อ มีผ้าขาวม้าพาดบ่า นั่งในท่าชันเข่าขึ้นข้างหนึ่ง มือขวาวางพาดบนหัวเข่า มือซ้ายถือมวนยาสูบ
ความเชื่อเรื่องผีปู่ตา พบอยู่ทั่วไปในหมู่บ้านของชาวอีสาน โดยเชื่อว่าเป็นผีบรรพบุรุษซึ่งเป็น “ผีดี” ที่คุ้มครองดูแลให้ลูกหลานอยู่ดีมีสุข แต่ละหมู่บ้านจะสร้างศาลปู่ตาขึ้นในบริเวณที่เชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน หรือเป็นใจบ้านที่บรรพบุรุษรุ่นบุกเบิกของตนเข้ามาปักหลักอยู่อาศัย ส่วนมากมีลักษณะเป็น “ที่ดอน” ซึ่งแวดล้อมไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่น้อย เป็นเนินดินที่สูงกว่าพื้นที่สำหรับทำการเกษตรและพื้นที่ตั้งบ้านเรือนโดยรอบ จึงเรียกว่า “ดอนปู่ตา” และจะมีพิธีเซ่นไหว้ที่กำหนดร่วมกันเป็นประจำทุกปี
กุศโลบายที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการกันพื้นที่ให้เป็นดอนปู่ตา คือ เป็นการรักษาผืนป่าและสภาพแวดล้อมในบริเวณนั้นให้คงอยู่สืบไป ด้วยเชื่อต่อกันมาว่า ดอนปู่ตาเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ห้ามมิให้ผู้ใดบุกรุกทำลาย บริเวณดอนปู่ตาจึงเป็นพื้นที่ลึกลับ เข้มขลัง และมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติมากกว่าพื้นที่บริเวณอื่นของหมู่บ้านเสมอ