ซากกรุงศรีฯ
ข้างหลังภาพ

ซากกรุงศรีฯ

ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2500 กรมศิลปากรเริ่มบูรณะโบราณสถานหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยดำเนินการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งส่วนใหญ่พบร่องรอยการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุตามพระปรางค์และเจดีย์ต่างๆ แทบทั้งสิ้น 

 

วันนี้... วัดวาอารามและโบราณสถานต่างๆ ที่ถูกบูรณะซ่อมแซมอย่างยาวนานมาร่วม 40 ปี ได้พลิกฟื้นสภาพให้ดูงดงาม บางแห่งกลับมามีชีวิตหลังจากถูกปล่อยทิ้งร้างมานาน กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่บรรดานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมุ่งมาเยือน และยิ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้น เมื่อองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเมืองประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาไว้ในบัญชีมรดกโลก เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534

 

จนปีนี้ (พ.ศ. 2561) เมื่อสื่อบันเทิงอย่างละครโทรทัศน์ ได้สร้างละครอิงประวัติศาสตร์หลายเรื่อง โดยใช้ฉากโบราณสถานในการถ่ายทำ จนเกิดกระแสตื่นตัวด้านการท่องเที่ยว ผู้คนทั่วไปหันมาสนใจประวัติศาสตร์และโบราณสถานมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดปรากฏการณ์โหยหาอดีตหรือ Nostalgia กระพือไปทั่วสังคมไทย แต่จะมีใครสักกี่คน ที่จะจินตนาการหรือเคยเห็นโบราณสถานในกรุงเก่าก่อนการบูรณะว่ามีสภาพเช่นใด? ภาพที่นำเสนอ ณ ที่นี้ เป็นส่วนหนึ่งจากแฟ้มภาพของศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ที่บันทึกไว้แต่ครั้งเริ่มจัดทำวารสารเมืองโบราณราวปี พ.ศ. 2517 ซึ่งเวลานั้น พระนครศรีอยุธยาล้วนเต็มไปด้วยเศษซากปรักหักพัง... ซากอดีตแห่งกรุงศรีอยุธยา 

 

 

เจดีย์ประธาน วัดใหญ่ชัยมงคล

 

 

พระอุโบสถและกำแพงแก้ว วัดกุฎีดาว

 

 

เจดีย์ก่ออิฐที่ปกคลุมด้วยรากไม้ วัดวรโพธิ์

 

ปรางค์ประธานและเมรุทิศ วัดไชยวัฒนาราม

 

 

สิงโตรอบฐานเจดีย์ในป่าหญ้า วัดธรรมมิกราช

 

 

เจดีย์ประธานทรงลังกา สัญลักษณ์สำคัญของวัดพระศรีสรรเพชญ์


เมธินีย์ ชอุ่มผล

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ