พริกไทยเมืองจันท์ในคลังภาพ Robert L. Pendleton
ข้างหลังภาพ

พริกไทยเมืองจันท์ในคลังภาพ Robert L. Pendleton

 

จันทบุรีเป็นแหล่งปลูกพริกไทยที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่มากแห่งหนึ่งในประเทศไทย แหล่งปลูกพริกไทยดั้งเดิมของจันทบุรีจะอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขา เช่นที่เขาพลอยแหวน ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางเหมาะสำหรับทำการเกษตร ทั้งยังมีแหล่งต้นน้ำอยู่บนภูเขาไหลลงมาหล่อเลี้ยงแผ่นดินเบื้องล่างตลอดทั้งปี

 

พระราชนิพนธ์ เสด็จประพาสจันทบุรี  ในรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2419 มีความตอนหนึ่งกล่าวถึงเส้นทางไปเขาพลอยแหวนว่า สภาพบ้านเมืองในพื้นที่แถบนี้เป็นชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่ มีห้างร้านเปิดทำการค้าขายอยู่หลายสิบโรง มีศาลเจ้า มีโรงงิ้ว และฮวงซุ้ยที่ฝังศพอยู่ตามเนินเขา ส่วนพื้นที่โดยรอบเขาพลอยแหวนมีชาวจีนเข้ามาจับจองที่ดินเพื่อทำนาข้าว ไร่อ้อย ยาสูบ ถั่ว และที่เป็นค้างพริกไทยก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อมาเมื่อมีการแบ่งเขตการปกครองพื้นที่บริเวณนี้อยู่ในเขตอำเภอท่าใหม่ ถือเป็นแหล่งปลูกพริกไทยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยสืบมาถึงปัจจุบัน

 

วิกฤตครั้งสำคัญของชาวสวนพริกไทยเมืองจันทบุรีเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 2470 อันเนื่องมาจากโรคเชื้อราระบาดในสวนพริกไทย เมื่อ พ.ศ. 2472 ได้เกิดโรคระบาดในสวนพริกไทยครั้งใหญ่ มีเชื้อเห็ดราขึ้นตามรากและโคนต้นพริกไทย โดยเริ่มที่ในอำเภอขลุงก่อนจะแพร่ขยายไปทั่วจันทบุรี ส่งผลให้พริกไทยสายพันธุ์พื้นเมืองถูกทำลายเสียหายไปเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร อธิบดีกรมกสิกรรมในสมัยนั้น จึงได้จัดตั้งแผนกโรควิทยาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2478 โดยตั้งเป็น “สถานีทดลองพริกไทย” ที่ตำบลเขาวัว อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี

 

“สถานีทดลองพริกไทย” ที่ตำบลเขาวัว อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี

 

การศึกษาต้นพริกไทยที่ยืนต้นตายในสถานีทดลองพริกไทย ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937)

 

จากการค้นคว้าข้อมูลพบว่ามีภาพถ่ายสถานีทดลองพริกไทยและสวนพริกไทยในจันทบุรีอยู่ในชุดภาพของ Robert Larimore Pendleton เก็บรักษาโดยหอสมุดสมาคมภูมิศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (The American Geographical Society Library) ปัจจุบันผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลได้จาก AGSL Digital Photo Archive - Asia and Middle East  ซึ่งเป็นฐานข้อมูลออนไลน์ที่จัดทำขึ้นโดยมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-มิลวอกี (The University of Wisconsin–Milwaukee) สหรัฐอเมริกา

 

Robert Larimore Pendleton ถ่ายที่สถานีทดลองพริกไทยจันทบุรีเมื่อ พ.ศ. 2479 (ค.ศ. 1936)

 

Robert Larimore Pendleton ( พ.ศ. 2433 - พ.ศ. 2500) เป็นนักวิทยาศาสตร์ทางดินและเป็นศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ (John Hopkins University) สหรัฐอเมริกา ชุดภาพถ่ายสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทยของ Pendleton นั้น ถูกถ่ายขึ้นระหว่างการลงพื้นที่สำรวจในช่วงตั้งแต่ราว พ.ศ. 2470 กว่าๆ จนถึงก่อน พ.ศ. 2500  โดยในช่วงปี พ.ศ. 2490 - พ.ศ. 2491 เขารับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางด้านเกษตรกรรมให้กับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations) และในช่วงปี พ.ศ. 2495-2496 ได้ทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางดินให้กับองค์การส่งเสริมความมั่นคงร่วมกันของสหรัฐอเมริกา (The US Mutual Security Agency) ประจำประเทศไทย

 

ในชุดภาพถ่ายของ Pendleton นอกจากภาพเกี่ยวกับการเกษตรกรรมและงานระหว่างการเก็บตัวอย่างดินในจังหวัดต่างๆ แล้ว ยังมีภาพถ่ายชีวิตวัฒนธรรม ประเพณี ตลอดจนอาคารบ้านเรือนต่างๆ นับว่ามีคุณค่าต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วง 100 ปีมานี้  ชุดภาพ "สถานีทดลองพริกไทย" ที่ตำบลเขาวัว อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เป็นภาพถ่ายในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2478-2480

 

สวนพริกไทยที่สถานีทดลองพริกไทย ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937)

 

ชาวสวนพริกไทยที่จันทบุรีโดยมากเป็นชาวจีน ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2479 (ค.ศ. 1936)

 

พริกไทยเป็นพืชเถายืนต้นจึงต้องใช้ไม้ค้างให้ลำต้นได้ยึดเกาะเหมือนอย่างการทำสวนพลู ซึ่งเป็นพืชในสกุลเดียวกัน ลำต้นของพริกไทยจะมีกิ่งข้าง หรือที่ชาวสวนเรียกว่า “ปราง” งอกออกมาตั้งแต่โคนต้นจนถึงส่วนยอด ทำให้ต้นพริกไทยกลายเป็นทรงพุ่ม ก่อนที่จะปลูกพริกไทยพันธุ์ซาราวักและพันธุ์ซีลอนอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เดิมจันทบุรีมีพริกไทยพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกกันโดยทั่วไป เรียกว่า พันธุ์จันทบุรี หรือ พันธุ์ปรางถี่ ด้วยมีกิ่งข้างเป็นจำนวนมาก บ้างเรียก พันธุ์เม็ดใหญ่ ซึ่งเป็นลักษณะโดดเด่นของพริกไทยพันธุ์นี้

 

หญิงสาวบนเก้าอี้เก็บพริกไทยในสถานีทดลองพริกไทย ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2478 (ค.ศ. 1935)

 

ภาพชาวบ้านในอำเภอท่าใหม่กำลังหาบพริกไทยและแผ่นยางพาราไปส่งขายที่ตลาด ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2478 (ค.ศ. 1935)

 

ผลผลิตของพริกไทยที่ทำการซื้อขายกันเป็นหลักมาแต่อดีตมี 2 ประเภท คือ พริกไทยดำ และพริกไทยล่อนหรือพริกไทยขาว ข้อแตกต่างของทั้ง 2 ชนิด คือ พริกไทยดำจะเลือกเก็บเฉพาะผลที่เริ่มแก่แต่ยังไม่สุกดี นำมาตีให้เม็ดหลุดออกจากรวง เอาตะแกรงร่อนจนเหลือแต่เม็ด แล้วนำไปตากแดดจนแห้งสนิท ส่วนพริกไทยล่อนจะเลือกเก็บเฉพาะผลที่แก่จัดเท่านั้น จากนั้นนำเม็ดที่แยกจากรวงแล้วมาแช่น้ำทิ้งไว้จนเปลือกนอกหลุดล่อนออก เหลือแต่เนื้อในที่เป็นสีขาว แล้วนำไปตากแดดให้แห้งสนิท

 

พริกไทยดำตากอยู่ที่ลานบ้านของชาวสวน ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2479 (ค.ศ. 1936)

 

พริกไทยที่ตลาดจะถูกนำออกมาตากแดดอยู่เสมอเพื่อรักษาคุณภาพ ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2479 (ค.ศ. 1936)

 

จากภาพพริกไทยที่ถูกนำออกมาตากแดดที่ตลาด  Pendleton ได้อธิบายภาพไว้ว่า “พริกไทยดำที่แห้งแล้วจะถูกนำมาตากแดดบนเสื่อที่สานไม้ไผ้อีกครั้ง เพื่อเป็นการรักษาคุณภาพที่ดี การดูแลรักษาเช่นนี้ทำให้สามารถเก็บรักษาพริกไทยไว้ได้หลายปี หรือรอจนกว่าราคาในท้องตลาดจะเป็นที่น่าพอใจ”    


 

แหล่งอ้างอิง

กรมศิลปากร. เสด็จประพาสจันทบุรี พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และอักขรานุกรมภูมิศาสตร์จังหวัดจันทบุรี. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายขนบ บุปผเวส วันที่ 13 ธันวาคม 2546.

หลวงสาครคชเขตต์ (ป. สาคริกานนท์). จดหมายเหตุความทรงจำสมัยฝรั่งเศสยึดจันทบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. 2436 ถึง พ.ศ. 2447. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2552.

อภิญญา นนท์นาท. “พริกไทยงอกงามบนแผ่นดินจันทบูร” ใน วารสารเมืองโบราณปีที่ 44 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2561)  หน้า 80-91.

“ประวัติและชุดภาพของ Robert Larimore Pendleton” จาก https://uwm.edu/lib-collections/asia-middle-east/

“ประวัติสถานีทดลองพริกไทย” จาก http://www.thaikasetsart.com/ประวัติโรคพืชวิทยา/


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ