“เปตรา” นคร (ที่เคย) ร้าง กลางทะเลทรายอาหรับ” (5)
เที่ยวแบบวารสาร

“เปตรา” นคร (ที่เคย) ร้าง กลางทะเลทรายอาหรับ” (5)

 

[Chapter 6]

วันสุดท้าย... ในนครเปตรา

 

โบราณสถานแห่งถัดไปที่เยี่ยมชมคือ The Lion Triclinium และ The Monastery หรือ Ad Deir ซึ่งจะเป็นหมุดหมายสุดท้ายของการเดินทางเที่ยวชมภายในอุทยานโบราณคดีเปตรา เส้นทางไปสู่โบราณสถานทั้งสองแห่งนั้น จะต้องเดินลัดเลาะไต่ขึ้นไปตามเขาลาดชัน ช่องทางเดินมีขนาดไม่กว้างนัก พอให้คน 2-3 คนเดินสวนกันได้ สำหรับคนที่กลัวความสูงอาจต้องใจสั่นเล็กน้อย เพราะเส้นทางนี้ฝั่งหนึ่งคือหน้าผาสูงชัน ระหว่างทางมีลมพัดผ่านมาตามช่องเขาระลอก ทำให้อากาศไม่ร้อนมากนัก แม้อยู่ท่ามกลางแสงแดดร้อนจัด เส้นทางเดินตามไหล่เขานี้นำไปสู่เส้นทางเดินในหุบที่จะพาเราไปยังโบราณสถานดังกล่าว

 

แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งของ The Lion Triclinium และ The Monastery หรือ Ad Deir 

 

จุดหมายแรกคือ Lion Triclinium หรือ Lion Tomb ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ด้วยการเดินไต่บันไดหินขึ้นไปตามไหล่เขา โบราณสถานแห่งนี้เป็นโพรงถ้ำที่ถูกขุดเจาะเข้าไป บริเวณทางเข้าแกะสลักเป็นกรอบประตูและมีรูปสิงโตขนาบอยู่ทั้งสองข้าง อันเป็นที่มาของชื่อเรียกสถานที่นี้ อย่างไรก็ตาม เหตุที่เรียกว่า Triclinium นั้นหมายถึงห้องอาหารในอาคารสถาปัตยกรรมยุคโรมัน ซึ่งเกิดจากการตีความคลาดเคลื่อนของนักโบราณคดีกลุ่มแรกๆ ที่ค้นพบสถานที่แห่งนี้ ภายหลังสันนิษฐานว่าเป็นสุสานอีกแห่งหนึ่งภายในเมืองเปตรา

 

เส้นทางไปสู่ The Lion Triclinium จะต้องเดินลัดเลาะไต่ขึ้นไปตามเขาลาดชัน

 

จาก Lion Triclinium เราเดินต่อไปตามเส้นทางเขาลาดชันเพื่อไปยังจุดหมายที่อยู่สูงสุด คือ The Monastery ซึ่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมคล้ายกับ The Treasury หรือ Al Khazna ที่เคยพาไปเยี่ยมชมกันมาแล้ว คือ แกะสลักด้านหน้าอาคาร (Facade) แบบสถาปัตยกรรมโรมัน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวคริสต์ศตวรรษที่ 3 เพื่อใช้เป็นโบสถ์ในสมัยไบแซนไทน์

 

จากนั้นเราเดินกลับลงมาตามเส้นทางเดิมสู่ The Colonnade Street ถนนสายหลักของเปตราที่เชื่อมต่อกับ The Street of Facades ซึ่งเป็นถนนสายที่เราเดินเข้ามาจากทางเข้าอุทยานโบราณคดีเปตรา เพื่อจะย้อนกลับออกไปจากเมืองโบราณแห่งนี้ ปลายสุดของ The Colonnade Street มีประตูทางออก 3 ช่องทาง บนถนนสายนี้ยังมีโบราณสถานสำคัญอีก 2-3 แห่งที่รอให้นักท่องเที่ยวหยุดแวะสำรวจ ได้แก่ The Temple of Qasr, Al-Bint The Black Winged Temple และ The great Temple แต่น่าเสียดายที่การเดินทางครั้งนี้ไม่สามารถเยี่ยมชมได้ครบทุกจุดเพราะความเหนื่อยล้าและเวลาที่มีจำกัด หากมีโอกาสได้เดินทางมายังที่แห่งนี้อีกครั้ง คงจะได้เก็บตกสถานที่ต่างๆ ให้ครบถ้วน

 

โบราณสถานที่ชื่อว่า The Monastery

 

ก่อนจะลาจากเมืองเปตรา เราได้แวะเข้าไปสำรวจภายในพิพิธภัณฑ์ของเมืองเปตรา ซึ่งจัดแสดงได้อย่างน่าสนใจ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ปรับปรุงโดยความร่วมมือขององค์การการท่องเที่ยวแห่งเปตรา และมูลนิธิ JICA ประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2019 เนื้อหานิทรรศการที่จัดแสดงหลายประเด็น ทั้งด้านภูมิประเทศ ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชและสัตว์ที่พบในบริเวณเมืองเปตรา นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุที่นำมาจัดแสดงจำนวน 280 ชิ้น ทั้งหมดได้จากการขุดค้นภายในเมืองเปตราและพื้นที่โดยรอบ

 

 

 

ภายในพิพิธภัณฑ์นำเสนอข้อมูลหลากหลายประเด็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีเมืองเปตรา

 

ภาพแบบจำลองที่อยู่อาศัยในยุคหินใหม่ ก่อด้วยหินเป็นรูปวงกลม  

 

 

 

โบราณวัตถุยุคสมัยต่างๆ ที่พบในบริเวณแหล่งโบราณคดีเมืองเปตรา

 

 โบราณวัตถุที่นำมาจัดแสดงแบ่งออกเป็น 5 ห้อง บอกเล่าเรื่องราวของชาวนาบาเทียนผู้ก่อตั้งเมืองเปตราและได้ทิ้งร่องรอยอารยธรรมไว้มากมาย ทั้งวิถีการดำรงชีวิต ความเชื่อทางศาสนา ตลอดจนความเจริญทางศิลปะและวิทยาการ โดยแต่ละห้องจัดแสดงได้บอกเล่าประวัติศาสตร์ของเมืองเปตราในช่วงเวลาต่างๆ เริ่มตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในยุคเหล็ก สืบเนื่องต่อมาในยุคอาณาจักรไบแซนไทน์ของชาวโรมันเข้ามาครอบครองพื้นที่บริเวณนี้ อันเป็นช่วงเวลาที่อารยธรรมโรมันเข้ามามีอิทธพล ดังเห็นได้จากรูปแบบงานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมต่างๆ ต่อจากสมัยไบแซนไทน์จะเป็นช่วงที่ศาสนาอิสลามแผ่เข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่แห่งนี้

 

ส่วนจัดแสดงเกี่ยวกับเส้นทางการค้าของชาวนาบาเทียน 

 

 

ส่วนจัดแสดงเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาของชาวนาบาเทียน 

 

 

อัญมณี เครื่องแต่งกาย และน้ำหอม ในวิถีชีวิตของชาวนาบาเทียน 

 

 

 

งานประติมากรรมที่พบส่วนใหญ่สะท้อนถึงอิทธิพลงานศิลปกรรมโรมัน

 

เมืองเปตราในยุคสมัยที่ชาวนาบาเทียนยังอาศัยอยู่นั้น พบว่ามีอารยธรรมเป็นของตนเอง ทั้งยังอยู่ในเส้นทางการค้าที่มีขบวนสินค้าของพ่อค้าจากดินแดนต่างๆ การรับอิทธิพลวัฒนธรรมที่หลากหลายสะท้อนผ่านรูปแบบศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากหลายยุคหลายสมัย เช่น รูปช้างแกะสลักที่อาจแสดงถึงเทพเจ้าในศาสนาฮินดู รูปสิงโตและนกไฟที่อาจเกี่ยวข้องกับเทพเจ้ากรีก-โรมัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีห้องจัดแสดงที่บอกเล่าถึงวิทยาการด้านการทำเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องประดับที่ปรากฏหลักฐานที่เมืองเปตราอีกด้วย

 

 

 

 

ส่วนจัดแสดงเกี่ยวกับเหล่าทวยเทพและศาสนสถานในคติความเชื่อของชาวนาบาเทียน 

 

 

บทความชุด “เปตรา” นคร (ที่เคย) ร้าง กลางทะเลทรายอาหรับ” เดินทางมาถึงตอนสุดท้ายแล้ว เราขอปิดท้ายความประทับใจในการท่องเที่ยวเมืองโบราณแห่งนี้ด้วยอาหารท้องถิ่นของจอร์แดนที่น่าสนใจหลากหลายชนิด จะเห็นว่าเมนูต่างๆ มีส่วนประกอบสำคัญ ได้แก่ แป้ง เนื้อไก่ เนื้อแพะ ถั่ว ธัญพืช และชีสประเภทต่างๆ

 

อาหารจอร์แดนส่วนใหญ่ ประกอบด้วยแป้งและเนื้อสัตว์ 

 

ไม่ว่าจะเป็น "Mansaf" หรือข้าวหมกแบบจอร์แดน มีทั้งเนื้อไก่หรือเนื้อแพะ "Tabbouleh" สลัดมะเขือเทศ โรยหน้าด้วยผักชีฝรั่ง ธัญพืช และเครื่องเทศ  "Kunafa" หรือ "Kanafeh" ในภาษาตุรกี เป็นขนมหวานทำจากแป้ง น้ำตาล ชีส และถั่วแมคคาเดเมีย "Hummus" ทำมาจากถั่วลูกไก่ (chick pea) นำมาบด ผสมกับทาฮีนี (tahini) หรืองาบด น้ำมันมะกอก น้ำมะนาว เกลือ และกระเทียม โรยหน้าด้วยพาร์สลีย์สับละเอียด นิยมรับประทานคู่กับแผ่นแป้งพิต้า (Pita Bread)

 

Mansaf ข้าวหมกแบบจอร์แดน

 

Tabbouleh สลัดมะเขือเทศ โรยหน้าด้วยผักชีฝรั่ง ธัญพืช และเครื่องเทศ

 

 

Hummus นิยมรับประทานคู่กับแผ่นแป้งพิต้า (Pita Bread)

 

Kunafa เป็นขนมหวานทำจากแป้ง น้ำตาล ชีส และถั่วแมคคาเดเมีย

 

การเดินทางในครั้งนี้ อิ่มเอมทั้งกายใจ และชวนให้หวนคิดถึง “เปตรา” นครร้างท่ามกลางทะเลทรายแห่งประเทศจอร์แดนไปอีกแสนนานเลยทีเดียว 

 


เมธินีย์ ชอุ่มผล

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ