ห้างไทยนิยมผ่านฟ้า
ข้างหลังภาพ

ห้างไทยนิยมผ่านฟ้า

 

การเปลี่ยนแปลงของถนนราชดำเนินครั้งสำคัญเกิดขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อมีโครงการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและสร้างอาคารตึกรูปแบบทันสมัยขึ้นสองฝั่งถนนราชดำเนินกลาง โดยมีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างอาคารดำเนินการตามแผนผังเมือง ณ บริเวณถนนราชดำเนิน พ.ศ. 2482 ซึ่งได้ทำการเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามแนวถนน ได้แก่ ตอนสะพานผ่านพิภพลีลาถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศและตอนสะพานผ่านฟ้าลีลาศถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์

 

กลุ่มอาคารริมถนนราชดำเนินกลางที่สร้างขึ้นใหม่ประกอบไปด้วยอาคารพาณิชย์ โรงแรม โรงภาพยนตร์ และห้างสรรพสินค้า ทั้งหมดก่อสร้างในรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่คือเป็นตึกคอนกรีต ไม่มีลวดลายประดับ เผยให้เห็นพื้นผิวของวัสดุ สถาปัตยกรรมเช่นนี้ถูกนิยามว่าเป็น “แบบทันสมัย” สะท้อนถึงความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ในบรรดาอาคารริมถนนราชดำเนินกลาง นอกจากโรงแรมรัตนโกสินทร์ที่ใหญ่โตโอ่อ่ามากที่สุดแล้ว ยังมีอีกอาคารหนึ่งที่เด่นสะดุดตาและมีประวัติการใช้งานอาคารที่มีสีสันในความทรงจำของคนรุ่นเก่านั่นคือ “ตึกไทยนิยม” ปัจจุบันเป็นที่ทำการของบริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน)

 

ตึกห้างไทยนิยมผ่านฟ้า ตั้งอยู่หัวมุมถนนพระสุเมรุตัดกับถนนราชดำเนินกลาง ภาพถ่ายโดย Harrison Forman เมื่อราว ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503)

จากภาพยังเห็นป้ายชื่อ “ห้างไทยนิยมผ่านฟ้า” ติดตั้งอยู่ที่ประตูทางเข้า (ที่มา : https://uwm.edu/lib-collections/asia-middle-east/)

 

ตึกไทยนิยมตั้งอยู่ที่หัวมุมถนนพระสุเมรุตัดกับถนนราชดำเนินกลางก่อนขึ้นสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เป็นอาคารสูง 5 ชั้นที่โดดเด่นด้วยหอสูงโปร่งทรงกลมที่อยู่ด้านบน สำหรับเป็นที่ระบายอากาศและเป็นส่วนประดับอาคาร บทความเรื่อง “อาคารประวัติศาสตร์ถนนราชดำเนิน” ตีพิมพ์ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 13 ฉบับที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2535 มีคำสัมภาษณ์คุณเฉลิมชัย เชี่ยวสกุล ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานธนาคารนครหลวงไทย และเป็นอดีตหัวหน้าแผนกบัญชี สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้บอกเล่าถึงจุดประสงค์ของการสร้างอาคารหลังนี้ว่าเพื่อใช้เป็นที่ทำการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นเสียก่อนและอาคารยังสร้างไม่แล้วเสร็จจึงไม่ได้ย้ายที่ทำการเข้าไป ต่อมาได้ปรับเป็นอะพาร์ตเมนต์ให้เช่าและเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าของบริษัทไทยนิยมชื่อว่า “ห้างไทยนิยมผ่านฟ้า”

 

ด้านหลังตึกไทยนิยมผ่านฟ้า มุมมองจากถนนพระสุเมรุ ซึ่งมองเห็นเจดีย์ภูเขาทอง

ภาพถ่ายโดย Robert Larimore Pendleton ไม่ทราบช่วงเวลาแน่ชัด น่าจะก่อน พ.ศ. 2500

(ที่มา : https://uwm.edu/lib-collections/asia-middle-east)

 

อาจารย์ใหญ่ นภายน เล่าถึงความคึกคักของห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ไว้ในบทความเรื่อง “ถนนราชดำเนินที่ข้าพเจ้ารู้จัก” ตีพิมพ์ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 31 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม พ.ศ. 2548 ความว่า “ตรงหัวมุมตึกแถวล็อกแรกขวามือด้านสะพานผ่านฟ้าเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทยสมัยนั้น มีชื่อว่าห้างไทยนิยม แต่ละวันมีผู้มาอุดหนุนกันอย่างเนืองแน่น ห้างนี้ตั้งอยู่นานแล้วก็เลิกกิจการไป ดูเหมือนสมัยหนึ่งที่ชั้นล่างสุดเคยเป็นโรฟิโนไนท์คลับ ซึ่งมีครูสมาน กาญจนะผลินเป็นหัวหน้าวงดนตรี

 

ในงานฉลองรัฐธรรมนูญประจำปี พ.ศ. 2483 ห้างไทยนิยมก็จัดให้มีลีลาศและมีนางสาวไทยที่ได้รับตำแหน่งในปีนั้นมาพบปะผู้ร่วมงานในยามค่ำคืน ในราวปี พ.ศ. 2483 ทางราชการสั่งปิดถนนราชดำเนินทั้งสาย ตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าไปจนถึงสะพานผ่านพิภพ เพื่อจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ ที่จำได้แม่นก็เพราะว่าในตอนกลางคืนห้างไทยนิยมผ่านฟ้าจัดให้มีลีลาศ มีดนตรีสองวงร่วมบรรเลงคือ วงดนตรีดุริยะโยธิน ควบคุมวงโดยครูจำปา เล้มสำราญ ส่วนอีกวงหนึ่งนั้นคือวงดนตรีกรมโฆษณาการ วงที่สอง… พอตอนดึกนางสาวไทยก็มาปรากฏตัว คือคุณสว่างจิตต์ คฤหานนท์ ส่วนรองนางสาวไทยมีสี่คนคือคุณสมจิตต์ ลิ้มไพบูลย์ คุณอารี ปิ่นแสง คุณสอาด ลิ่มสวัสดิ์ คุณประชัญ ศิวเสน

 

ตึกไทยนิยม ถ่ายจากเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศในฝั่งตรงข้าม ภาพถ่ายเมื่อราว พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา

จากภาพเห็นว่าตัวอาคารไม่ได้เป็นที่ตั้งห้างสรรพสินค้าแล้ว แต่เป็นที่ตั้งของโรงพิมพ์และสำนักงานหนังสือพิมพ์รายวันไทยเสรี

ส่วนหอคอยด้านบนติดตั้งป้ายโฆษณาสายการบิน Pan Am (Pan American World Airways) และรถยนต์ยี่ห้อ FIAT

(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)

 

เช่นเดียวกับบทความเรื่อง “ถนนราชดำเนินกลาง” โดย อาจารย์วราห์ โรจนวิภาต ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 44 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม พ.ศ. 2561 ได้เล่าถึงห้างไทยนิยมผ่านฟ้าในความทรงจำของผู้เขียนซึ่งเป็นคนฝั่งธนบุรีไว้ว่า “ตึกไทยนิยมผ่านฟ้า เป็นบริษัทไทยนิยม จำกัด เท่าที่จำได้เป็นผู้สั่งผ้าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่าย สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมืองไทยไม่สามารถสั่งผ้าเข้ามาขายได้ ถึงกับต้องมีการปันส่วน บริษัทแห่งนี้ได้นำเอาผ้าที่ค้างสต็อกออกมาปันส่วนขายให้ประชาชนเป็นครั้งคราวในจำนวนที่จำกัดของแต่ละคน คนที่มีโอกาสซื้อคือคนทางฝั่งพระนคร ส่วนคนฝั่งธนบุรีแทบจะหมดสิทธิ์ เพราะสมัยนั้นการคมนาคมไม่สะดวก กว่าจะไปกว่าจะมาและต้องเข้าคิวซื้อ จำนวนผ้าที่นำออกมาจำหน่ายก็หมดไปก่อนแล้ว”

 

ชั้นล่างสุดของตึกเคยเป็นที่ตั้งของโรฟิโนไนท์คลับ ในภาพเห็นป้ายชื่อร้าน “ROFENO” ติดตั้งอยู่

ภาพถ่ายเมื่อราว พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)

 

ภายหลังจากที่ห้างไทยนิยมเลิกกิจการไปแล้ว ตัวอาคารได้เปิดเป็นสำนักงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงพิมพ์ สำนักงานหนังสือพิมพ์ และห้างร้านต่างๆ กระทั่งบริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด ได้ย้ายที่ทำการจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อาคารเลขที่ 173 วังลดาวัลย์ ถนนนครราชสีมา แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต มายังที่ทำการแห่งใหม่ที่ตึกริมถนนราชดำเนินกลางแห่งนี้ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 จวบจนปัจจุบัน

 

ปัจจุบันเป็นที่ทำการบริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน)  


 

แหล่งอ้างอิง

กองบรรณาธิการ. “ราชดำเนิน ถนนประวัติศาสตร์การเมืองสายประชาธิปไตย”. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 13 ฉบับที่ 12 (ตุลาคม พ.ศ. 2535), หน้า 112-154.

ชาตรี ประกิตนนทการ. ศิลปะ สถาปัตยกรรม คณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552.

ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างอาคารดำเนินการตามแผนผังเมือง ณ บริเวณถนนราชดำเนิน จังหวัดพระนคร พุทธศักราช 2482. เล่ม 56 หน้า 1367 วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2482.

วราห์ โรจนวิภาต. “ถนนราชดำเนินกลาง”. เมืองโบราณ ปีที่ 44 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม พ.ศ. 2561), หน้า 108-118.

ใหญ่ นภายน. “ถนนราชดำเนินที่ข้าพเจ้ารู้จัก” เมืองโบราณ ปีที่ 31 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม พ.ศ. 2548), หน้า 116-121.

 


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ