คนจีนครั้งสร้างกรุง
คลังบทความ

คนจีนครั้งสร้างกรุง

 

“คนจีนรุ่นเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นคนจีนที่มีส่วนในการสร้างกรุงธนบุรีและกรุงเทพฯ อยู่มาก คนจีนที่มีหลักฐานก็เริ่มการค้าขายทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น เพราะการค้าขายกับต่างประเทศในสมัยนั้นคนจีนทำทั้งนั้น คนจีนครั้งสร้างกรุงดูจะรักเมืองไทยมากและนับถือพระพุทธศาสนา ที่เป็นเจ้าสัวมีกำลังมากก็สร้างวัดบ้าง สร้างตลาดบ้าง ซึ่งทำให้เกิดชุมชนเป็นกลุ่มแน่นหนามากขึ้น เพราะวัดก็ดี ตลาดก็ดี เป็นที่รวมคนทั้งนั้น”

 

เป็นความจริงที่ว่า ผู้มีส่วนร่วมก่อร่างสร้างราชธานีแห่งใหม่ที่บริเวณเมืองบางกอกในสมัยกรุงธนบุรี ส่วนหนึ่งเป็นผู้คนที่โยกย้ายมาจากกรุงศรีอยุธยา อันเป็นราชธานีเก่าที่เสื่อมสลายลงเพราะศึกสงคราม โดยคนกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญอย่างมาก ทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจการค้าก็คือ กลุ่มคนจีน

 

บ้านแบบจีนที่ตลาดน้อย กรุงเทพฯ เป็นที่อยู่ของคหบดีจีนรุ่นเก่าแก่ สืบเชื้อสายกันมาตั้งแต่เมื่อครั้งสร้างกรุง 

 

เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาถูกพม่ารุกราน เมื่อ พ.ศ. 2310 นั้น คนจีนมีอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก ตั้งบ้านเรือนกระจัดกระจายกันอยู่ทั้งนอกกำแพงพระนครและในกำแพงพระนครหลายแห่ง บ้างประกอบอาชีพค้าขาย บ้างรับราชการ ครั้นเมื่อเกิดศึกสงคราม คนจีนเหล่านี้ก็เข้าช่วยป้องกันประเทศด้วย ครั้นเมื่อพระยากำแพงเพชร (สิน) ได้ปราบพม่าแตกพ่ายไปหมดแล้ว และได้เสวยราชสมบัติขึ้นเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรี บรรดาทหารจีนและครอบครัวคนจีนก็คงจะอพยพตามมาอยู่ด้วย ในสมัยธนบุรีมีตำแหน่งขุนนางเชื้อสายจีนที่สำคัญอยู่หลายตำแหน่ง เช่น พระยาโกษาธิบดี พระยาราชาเศรษฐี พระยาโชฎึกราชเศรษฐี ซึ่งล้วนแต่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจการค้า ตลอดจนเป็นผู้ควบคุมดูแลคนจีนทั่วๆ ไป สืบเนื่องมาถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

 

ภาพเรือสำเภาจีนในภาพจิตรกรรมฝาผนังหอไตร คณะเหนือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ 

 

ส่วนถิ่นฐานที่อยู่ของคนจีนเมื่อครั้งสร้างกรุงนั้น เข้าใจว่าจะตั้งบ้านเรือนอยู่ตามริมแม่น้ำเจ้าพระยากันเป็นส่วนมาก ทั้งในฝั่งธนบุรี และพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกที่บริเวณเขตพระบรมมหาราชวังปัจจุบัน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตั้งบ้านของพระยาราชาเศรษฐีและมีชุมชนจีนอยู่อย่างหนาแน่น  ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นในบริเวณนี้ จึงให้พระยาราชาเศรษฐียกพวกจีนลงไปตั้งชุมชนใหม่ ตั้งแต่คลองใต้วัดสามปลื้มลงไปจนถึงคลองเหนือวัดสำเพ็ง ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นย่านที่อยู่อาศัยและกิจการค้าของคนจีนสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

 

ชาวจีนที่หน้าวัดเล่งเน่ยยี่ อันเป็นศูนย์กลางของย่านสำเพ็งเก่า (ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2522)  

 

ทำความเข้าใจบทบาทสำคัญของคนจีนเมื่อครั้งสร้างกรุงธนบุรีและกรุงเทพฯ ได้ในบทความเรื่อง “คนจีนครั้งสร้างกรุง” โดย ส. พลายน้อย ตีพิมพ์ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 5 ฉบับที่ 6 (สิงหาคม-กันยายน 2522) หน้า 99-104 อ่านบทความฉบับเต็ม ใน “10 ปีแรก วารสารเมืองโบราณ” คลิก https://www.yumpu.com/en/document/view/67682806/-5-6


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น