เวียงแพร่ เวียงน่าน

เวียงแพร่ เวียงน่าน

 

 

วารสารเมืองโบราณ 49.1

ปีที่ 49 ฉบับที่ 1 มกราคม – มีนาคม 2566

 

[1]

แพร่-น่าน หัวเมืองตะวันออกของล้านนา / วิยะดา ทองมิตร

ทั้งเมืองแพร่และเมืองน่านต่างเป็นบ้านเมืองที่มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อมาเมื่อเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์โดยเฉพาะในช่วงล้านนา เมืองแพร่ซึ่งเคยเป็นรัฐอิสระและมีความสัมพันธ์อันดีกับเมืองสุโขทัยได้ถูกพระเจ้าติโลกราชเข้ายึดครองไว้ได้ในปี พ.ศ. 1986 ขณะที่ทางเมืองน่านก็ถูกล้านนาเข้ายึดครองได้ในปี พ.ศ. 1911 แพร่และน่านจึงกลายเป็นหัวเมืองล้านนาด้านทิศตะวันออก ก่อนที่พม่าจะเข้ายึดครองล้านนาส่งผลให้ทั้งสองเมืองถูกผนวกรวมเข้ากับพม่าและสยามตามลำดับ

 

 

[2]

แพร่-น่านในประวัติศาสตร์สุโขทัย / ศรีศักร วัลลิโภดม

ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 ลงมา ทั้งเมืองแพร่และเมืองน่านต่างมีสถานะเป็นนครรัฐเสมอกัน ต่างกันตรงที่เมืองน่านมีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนย้ายของกลุ่มชนชาติไทจากฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของแม่น้ำโขง ขณะที่เมืองแพร่เป็นนครรัฐภายในของลุ่มน้ำยมที่ตั้งอยู่ระหว่างสุโขทัย ลำปาง และพะเยา ทั้งนี้แม้เมืองแพร่จะไม่มีตำนานเมืองที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมาของกษัตริย์แต่มีหลักฐานที่แสดงถึงความเกี่ยวข้องกับคนลัวะบนเขตเขาสูงและแหล่งแร่เหล็กที่มีมาแต่โบราณ

[3]

บ้านป่ากลาง ปัจจุบันในอดีตพื้นที่สีแดง / จิราพร แซ่เตียว 

จากพื้นที่รกร้างใน ต.ศิลาแลง อ.ปัว จ.น่าน ซึ่งเคยเป็นเพียง “ป่าแพะ” หลังจากภาครัฐนำพื้นที่ดังกล่าวมาจัดสรรและจัดตั้งเป็นศูนย์อพยพของชาวเมี่ยน ม้ง และลัวะซึ่งหนีภัยการสู้รบช่วงสงครามเย็นลงมาจากพื้นที่สูงในเขต อ.ปัว อ.ทุ่งช้าง และ อ.ท่าวังผา จ.น่าน ที่นี่ก็ได้รับการพัฒนาจนกลายเป็น “บ้านป่ากลาง” แม้ในหมู่บ้านจะมีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ทั้งหมดก็พยายามปรับตัวและเรียนรู้ที่จะแปลงต้นทุนทางวัฒนธรรมของตนให้เป็นทุนทางเศรษฐกิจ เปลี่ยนภาพลักษณ์จากที่เคยได้รับการดูถูกว่าเป็น “แมงดอย” ไร้ราคา จนกลายเป็นผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจในระดับดีของ อ.ปัว ได้ในปัจจุบัน

 

[4]

เมี่ยงดอยสกาด / อภิญญา นนท์นาท

“ดอยสกาด” ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.ปัว จ.น่าน จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านต่างกล่าวตรงกันว่าที่นี่ปลูกต้นเมี่ยงหรือชาอัสสัมสืบทอดมาหลายชั่วคนแล้ว โดยชาวบ้านจะนำใบเมี่ยงมาหมักเป็นของกิน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมอาหารที่แพร่หลายในภาคเหนือของไทยและใกล้เคียง นอกจากเก็บไว้บริโภคในครัวเรือนและใช้ในงานพิธีกรรมต่างๆ แล้ว ใบเมี่ยงที่หมักไว้ยังเป็นสินค้าสำคัญของชาวบ้านสกาดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันด้วย

 

 

[5]

พลวัต “ลัวะ” อำเภอปัว ระบบความเชื่อที่ลื่นไหล / ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

“ลัวะ” เป็นหนึ่งในคำเรียกผู้คนบนที่สูงกลุ่มหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในเขตอำเภอปัว ลัวะบ้านสกาด ถือเป็นกลุ่มคนที่มีความเชื่อเรื่องผีมาแต่บรรพบุรุษ แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปประกอบกับการอพยพเคลื่อนย้ายลงมาตั้งถิ่นฐานบริเวณที่ราบทำให้ใกล้ชิดเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของสังคมคนเมืองที่นับถือศาสนาพุทธ ในสมัยต่อมาจึงพบการผสมผสานความเชื่อเรื่องผีเข้ากับความเชื่อในพระพุทธศาสนาได้อย่างกลมกลืน

 

[6]

การค้าบนหลังวัวในท้องถิ่นปัว / เมธินีย์ ชอุ่มผล

ในอดีต “เมืองปัว” เป็นชุมทางการค้าสำคัญแห่งหนึ่งในเขตล้านนาตะวันออก โดยสินค้าสำคัญที่ส่งออกจากเมืองปัวลงไปที่เมืองน่าน คือ “เกลือสินเธาว์” ผลจากการค้าในช่วงนั้นทำให้เกิดกลุ่มพ่อค้าที่มีฐานะสามารถตั้งขบวนวัวนำสินค้าหลายชนิดไปค้าขายตามย่านชุมชนต่างๆ ได้ เราเรียกพ่อค้ากลุ่มนี้ว่า “พ่อค้าวัวต่าง” ซึ่งพ่อค้าวัวต่างนับเป็นผู้ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสำคัญภายในชุมชนแต่ละแห่ง[

 

[7]

พิธีกินดอกแดงของชาวปรัยบ้านป่ากำ / สัญชัย สุพิพัฒน์มงคล

พิธีกินดอกแดงของชาวลัวะ กลุ่มปรัย บ้านป่ากำ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน จัดขึ้นช่วงปลายเดือนธันวาคมของทุกปี เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวข้าวไร่ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ข้าวสุกและพร้อมให้เก็บเกี่ยว พิธีนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติและการให้ความเคารพเจ้าของพื้นที่ อย่างไรก็ดี พิธีกินดอกแดงอาจหมดความสำคัญหรือเปลี่ยนไปในอนาคต เพราะวิถีชีวิตและความเชื่อทางสังคมของชาวปรัยที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

 

[8]

เครื่องเงินน่าน : ด้วยจิตวิญญาณแห่งการเป็นผู้ประกอบการชาวเมี่ยน / ขนิษฐา คันธะวิชัย

ชาวเมี่ยนหรือเย้าเป็นกลุ่มคนที่เคยอาศัยอยู่ในจีนตอนใต้ ก่อนอพยพเคลื่อนย้ายลงมายังประเทศไทย คนกลุ่มนี้มีความสามารถในการทำเครื่องเงินซึ่งเป็นงานฝีมือที่มีความเกี่ยวข้องผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวเมี่ยนตั้งแต่เกิดจนตาย ปัจจุบันชาวเมี่ยนอาศัยใช้ความชำนาญเชิงช่างในการผลิตเครื่องเงินเพื่อเลี้ยงชีพ กระทั่งต่อมาหลังได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากหลายหน่วยงาน ชาวเมี่ยนหลายคนจึงสามารถพัฒนาตนขึ้นเป็นผู้ประกอบการได้สำเร็จ

 

 

[9]

นาหลวงเมืองสะเอียบ จากนาเจ้าสู่นาวัด / ภูเดช แสนสา

เมืองสะเอียบเป็นหัวเมืองโบราณของล้านนา และเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญ ในอดีตพื้นที่นาในเมืองสะเอียบทั้งหมดถือเป็นนาหลวง ต่อมาเมื่อล้านนาถูกผนวกเข้ากับสยาม จึงเปลี่ยนมาใช้ระบบการจัดเก็บภาษีที่นาแทนการส่งส่วยแบบโบราณ แต่ชาวบ้านยังคงจัดสรรพื้นที่นาส่วนหนึ่งให้เป็นที่นาหลวง โดยแบ่งผลผลิตที่ได้เป็น 3 ส่วน คือ ใช้เป็นเสบียงดูแลต้อนรับข้าราชการที่มาเยือน ถวายวัด และมอบให้แก่ผู้รับทำนา สมัยต่อมาเมื่อการคมนาคมสะดวกขึ้นข้าราชการไม่ต้องพักค้างคืนในหมู่บ้าน ผลผลิตจากนาหลวงจึงถูกแบ่งเพื่อถวายวัดดอนชัยและมอบให้แก่ผู้รับทำนาซึ่งถือเป็นแนวปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน

 

[10]

3 มุม 3 ฉาก เมืองน่าน / สุดารา สุจฉายา

3 ฉากเมืองน่านจาก 3 มุมมองคนน่านแต่ละช่วงเวลา จากอาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษมผู้ผลักดันให้เกิดการประกาศพื้นที่เมืองเก่าน่าน  คุณวิชัย กำเนิดมงคลเจ้าของแบรนด์กาแฟเดอม้งจากยอกดอยมณีพฤกษ์ คุณสุรชัย พุฒิกุลางกูรลูกหลานชาวจีนที่เมืองน่านที่มีมุมมองทันสมัยที่อยากพัฒนาให้พื้นที่เมืองเก่าเวียงสา ให้กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ของผู้คนในเมืองน่าน   แม้ไม่ใช่เสียงของคนน่านทั้งหมด แต่เป็นภาพแทนความคิดเห็นต่อบ้านเกิดเมืองนอนที่กำลังถึงแพร่งทางว่าจะก้าวย่างไปในทิศทางทางใด คนน่านทุกภาคส่วนตั้งแต่พื้นราบถึงภูดอยคงต้องขบคิด พินิจว่าการสร้างแบรนด์เมืองน่านที่ผ่านมา จะพาน่านสู่การเป็นแบรนด์ชั้นนำในตลาดดังที่ร่วมกัน “ปั้น” หรือไม่

 

[11]

เรือนชาวปรัยบ้านป่ากำ คติความเชื่อกับการจัดการพื้นที่ / สัญชัย สุพิพัฒน์มงคล

ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เป็นที่ตั้งของบ้านป่ากำ ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวลัวะกลุ่มปรัย เอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของชาวลัวะกลุ่มนี้ คือ การสร้างเรือนแถวยาวแบบดั้งเดิม ซึ่งนอกจากจะสะท้อนความเชื่อเรื่องการนับถือผียังแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาการสร้างบ้านเรือนที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศอีกด้วย อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันเรือนแถวยาวแบบดั้งเดิมนี้ กลับมีจำนวนลดน้อยลงเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมและข้อจำกัดต่างๆ

 

 

[12]

ตำนานผีบ่อเกลือ เมืองน่าน / ศาสตราจารย์กิตติคุณสุกัญญา สุจฉายา

ตำนานผีบ่อเกลือเมืองน่านสะท้อนถึงความเป็นเจ้าของบ่อเกลือแต่ดั้งเดิมของชาวลัวะ ขณะที่ตำนานเรื่องการค้นพบบ่อเกลือซึ่งเล่าขานในหมู่ชาวไทลาวเมืองน่านกลับแสดงถึงความเป็นผู้มีอำนาจสามารถครอบครองบ่อเกลือและเก็บส่วยเกลือจากชาวลัวะผู้ผลิตได้ ตำนานทั้ง 2 เรื่องข้างต้น แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของกลุ่มชนต่างชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งมีระดับความเจริญทางสังคมที่ต่างกัน กล่าวคือ กลุ่มชนดั้งเดิมที่ยังมีลักษณะสังคมแบบหมู่บ้านกับกลุ่มคนในสังคมระดับเมืองที่อพยพเข้ามาภายหลัง

 

[13]

ย้อนรอยมิชชันนารี 128 ปีที่เมืองน่าน / หิรัญ อุทธวงค์

“ข้าพเจ้ารู้สึกรักเมืองน่านตั้งแต่แรกพบ และหมายมั่นไว้ว่าจะต้องเป็นที่ตั้งสถานีมิชชันในวันข้างหน้า” ความตอนหนึ่งในบันทึกของ ศ.แดเนียล แมคกิลวารี มิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนที่เข้ามาตั้งศูนย์มิชชันที่เชียงใหม่ สะท้อนถึงมุมมองที่มีต่อเมืองน่านและศรัทธาอันแรงกล้าในการเผยแผ่คริสต์ศาสนา นำมาสู่การสถาปนาคริสตจักรน่านขึ้นเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2439 ซึ่งหยั่งรากลึกลงอย่างมั่นคง บรรดามิชชันนารียังมีบทบาทสำคัญในการนำวิทยาการและความทันสมัยต่างๆ เข้ามาสู่เมืองน่านด้วย โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาและการแพทย์

 

 

[14]

ประตูน้ำภาษีเจริญ ปากคลองด่าน ชุมทางโบราณที่ถูกลืม / ประภัสสร์ ชูวิเชียร

ฝั่งธนบุรีมีชุมชนหลายแห่งที่เติบโตขึ้นบนชุมทางน้ำ ดังเช่นบริเวณที่เป็นจุดเชื่อมต่อของคลองสำคัญ 3 สาย ได้แก่ คลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง) คลองด่าน และคลองภาษีเจริญ โดยร่องรอยความเป็นย่านเก่าแก่ยังสะท้อนให้เห็นผ่านอาคารบ้านเรือนและวัดวาอารามต่างๆ ได้แก่ วัดนวลนรดิศ วัดประดู่ฉิมพลี วัดปากน้ำภาษีเจริญ วัดวรามาตยภัณฑสาราราม (วัดขุนจันทร์) และวัดอัปสรสวรรค์ ทั้งนี้ ปัจจุบันย่านปากคลองภาษีเจริญ-คลองด่านกลับถูกล้อมรอบด้วยความเจริญที่มาพร้อมถนนและแนวรถไฟฟ้า ส่งผลให้พื้นที่รอบๆ ถูกละเลยจนเสื่อมโทรมลงอย่างน่าเสียดาย

 

 

[15]

ผ่อเหมี้ยงล้านนา อู้จาเรื่องเหมี้ยงน่าน / รศ.โอฬาร รัตนภักดี

“เหมี้ยง” เป็นของกินเก่าแก่ในวัฒนธรรมล้านนา ชาวล้านนานิยมเก็บใบเหมี้ยงมานึ่งและหมักเป็นของกินเล่นเพราะเชื่อว่าช่วยเพิ่มความกระปรี้กระเปร่าให้ร่างกาย เหมี้ยงไม่ได้มีความสำคัญแต่เฉพาะในวัฒนธรรมอาหารของคนล้านนาเท่านั้น แต่เหมี้ยงยังถูกใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญในประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ทั้งระดับครัวเรือนและชุมชน ไม่ว่าจะเป็นงานมงคลหรืองานอวมงคลด้วย

 

[16]

ศรีสุพรรณอาราม : รอยอดีตใต้ซากปรักหักพัง / เกสรบัว อุบลสรรค์

ภาพข่าวการพังถล่มของเจดีย์เก่าแก่หลังพระวิหารในวัดศรีสุพรรณ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก จารึกวัดศรีสุพรรณ (ชม. 25) ระบุว่า เจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นในสมัยพระเมืองแก้วแห่งล้านนา ตั้งแต่เมื่อราวปี พ.ศ. 2048 และมีชื่อเรียกในครั้งนั้นว่า “ศรีสุพรรณอาราม” ดังนั้นจึงสามารถนับรวมระยะเวลาจากปีที่สร้างจนถึงปีที่พังทลายได้ทั้งสิ้น 517 ปี

 

[17]

ลูกปัดสุริยเทพแห่งคลองท่อม เต็มไปด้วยปริศนาท้าทาย / นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช

ในปี พ.ศ. 2552 เกิดกรณีลูกปัดสุริยเทพซึ่งพบที่ อ.คลองท่อม จ.กระบี่ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 4-5 หายไปจากมิวเซียมสยาม! แม้จะได้รับกลับคืนมาในภายหลัง แต่ก็สร้างให้เกิดกระแสการศึกษาเพื่อค้นหาว่าลูกปัดโบราณเหล่านี้มีความเป็นมาอย่างไร? และผลิตขึ้นที่ใด? อย่างไรก็ดี จากข้อมูลเดิมที่ระบุว่าลูกปัดส่วนใหญ่จะพบบริเวณคลองท่อม นำไปสู่การตั้งข้อสังเกตว่า คลองท่อมอาจเป็นแหล่งผลิตลูกปัด! และด้วยลักษณะที่คล้ายคลึงกับลูกปัดซึ่งถูกค้นพบที่เติร์กเมนิสถาน อาจสะท้อนให้เห็นถึงการเป็นแหล่งผลิตและเส้นทางการค้าโบราณในอดีต

 

 

[18]

ศึกเชียงใหม่ ศึกกัมพูชาของสมเด็จพระราเมศวร กับปัญหาบางประการในพงศาวดาร / อชิรวิชญ์ อันธพันธ์

พงศาวดารฉบับความพิสดารที่ถูกชำระขึ้นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เล่าถึงเหตุการณ์ช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนต้น โดยเฉพาะในสมัยที่ราชวงศ์อู่ทองครองอำนาจไว้อย่างแจ่มชัดทั้งที่อยู่ห่างจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นเวลาเนิ่นนาน ความทรงจำเหล่านั้นน่าจะขาดวิ่น ไม่ปะติดปะต่อ โดยเฉพาะเรื่องคราวศึกเมืองเชียงใหม่และศึกกัมพูชา ผู้เขียนจึงขอเชิญทุกท่านมาร่วมอ่านข้อวินิฉัย-ข้อสงสัย และมองหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราชวงศ์อู่ทองซึ่งยังเต็มไปด้วยปริศนาดำมืดชวนให้ขบคิดและค้นหาหลักฐานเพิ่มเติมร่วมกัน 

 

วารสารเมืองโบราณ

ปีที่ 49 ฉบับที่ 1  เวียงแพร่ เวียงน่าน

ราคาเล่มละ 150 บาท

ค่าส่ง 30 บาท

คลิกเลย!

https://shop.line.me/@pii6708z/product/1004652409

 

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมหรือสั่งซื้อหนังสือเล่มอื่นๆ ได้ที่

Line : @sarakadeemag 

inbox : http://m.me/sarakadeeboranrobroo

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น