แต่เดิมบริเวณศูนย์การค้าดิโอลด์สยามพลาซ่า เขตพระนคร กรุงเทพฯ เป็นที่ตั้งของ ตลาดมิ่งเมือง แหล่งตัดเสื้อผ้าแบบด่วนทันใจ ซึ่งตั้งอยู่ในอาคารสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกที่สวยงามแปลกตา ก่อนถูกรื้อไปเมื่อราว พ.ศ. 2521
ด้านหน้าตลาดมิ่งเมือง ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2518 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
สมัยที่ยังไม่มีเสื้อผ้าสำเร็จรูปวางจำหน่ายแพร่หลาย หากต้องการเสื้อผ้าแบบสมัยนิยม ล้วนแต่ต้องอาศัยช่างตัดเสื้อ ที่ตลาดมิ่งเมืองเป็นแหล่งรับตัดเสื้อผ้าที่มีกิตติศัพท์ว่าสามารถสั่งตัดเสื้อผ้าได้รวดเร็วทันใจ ภายในตลาดมีแต่ร้านรับตัดเสื้อผ้าอยู่มากมายหลายร้าน ทว่าไม่ใช่ร้านถาวร เป็นเพียงแผงตัดเย็บเสื้อผ้าเท่านั้น แต่ช่างตัดเสื้อผ้าหลายคนก็มีชื่อเสียง ฝีมือตัดเย็บเรียบร้อย รวดเร็ว และสวยงาม ซึ่งช่างตัดเสื้อนั้นมีทั้งชาวไทยและชาวจีน นอกจากนี้ที่ตลาดแห่งนี้ยังเป็นแหล่งตัดเสื้อโหล หรือเสื้อผ้าแบบเดียวกันที่ผลิตคราวละมากๆ
วราห์ โรจนวิภาต บันทึกความทรงจำถึงตลาดมิ่งเมืองไว้ว่า “ตลาดมิ่งเมืองอยู่ด้านถนนพาหุรัด เป็นตลาดรับจ้างเย็บผ้าทั่วไปเพียงอย่างเดียว เป็นธุรกิจเปรียบเหมือนอาหารจานด่วน รับจ้างตัดเช้าได้เย็น ใครต้องการใช้ผ้าอย่างรีบด่วนต้องไปตัดที่ตลาดมิ่งเมือง เมื่อเลิกตลาดมิ่งเมือง ช่างเย็บผ้าบางส่วนต้องย้ายไปอยู่ที่ตลาดพาหุรัด… ตลาดมิ่งเมืองในอดีตที่จำได้ ตัวตลาดอยู่ลึกเข้าไปจากถนนพาหุรัดราว 50 เมตร ด้านหน้าตลาดเป็นที่ว่างสำหรับจอดรถ มีตึกแถว 2 ชั้นโอบรอบตลาดทั้งหมด ตัวตลาดมีทางเข้าออกเรียงกันไป ด้านบนธรณีประตูทางเข้าทำเป็นรูปโค้งเข้าหากันอย่างโบสถ์ฝรั่ง มองเห็นแต่ไกล ทำให้ตลาดแห่งนี้มีรูปแบบไม่เหมือนใคร”
ด้านหน้าตลาดมิ่งเมือง ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2518 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
กระทั่งราวปี 2502 สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีนโยบายให้รื้อตลาด อย่างไรก็ตาม การรื้อตลาดยืดเยื้อต่อมาอีกหลายปีเพราะมีผู้คัดค้าน ชาวตลาดบางส่วนที่ไม่ยอมย้ายออกไปได้รวมตัวกันต่อรองกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในขณะนั้น ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและอาคารตลาดมิ่งเมือง แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถทัดทานได้ การรื้อตลาดอย่างจริงจังเริ่มขึ้นเมื่อราวปี 2521 ผู้ค้าส่วนใหญ่ย้ายไปยังย่านการค้าอื่นที่อยู่โดยรอบ ส่วนมากไปยังตลาดพาหุรัดที่อยู่ใกล้เคียงกัน บ้างย้ายไปตลาดสำเพ็ง ตลาดสะพานหัน ตลาดสนามหลวง เป็นต้น
คอลัมน์ ปุจฉวิสัชน์ ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 ตุลาคม-พฤศจิกายน 2522 ได้นำเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีรื้อตลาดมิ่งเมืองไว้ว่า
“ตลาดมิ่งเมือง อันเป็นตลาดขายของทำนองสรรพสินค้าตั้งอยู่ที่พาหุรัด เดิมมีจุดประสงค์จะให้เป็นตลาดใหญ่ อันเป็นที่ผู้คนไปชุมนุมซื้อสินค้ากัน โดยเอาอย่างนิวมาร์เก็ต ที่กัลกัตตา แต่ภายหลังตลาดแห่งนี้เสื่อมความนิยมลง เลยกลายเป็นที่สำหรับร้านเย็บเสื้อผ้าทันใจไปตั้งกันและขายผ้า… อย่างไรก็ดี ตลาดแห่งนี้ควรนับเนื่องเป็นอาคารประวัติศาสตร์ของไทยในสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ทั้งการปกครองและทั้งความเจริญแผนใหม่ของตะวันตกอันแพร่หลายเข้ามาอย่างรุนแรงมาก มีความสำคัญเช่นเดียวกับศาลาเฉลิมกรุง ถ้ามีการปรับปรุงภายในให้ดีก็จะเป็นอาคารที่สำคัญแห่งหนึ่ง และเป็นการรักษาอดีตไว้ได้ด้วย แต่บัดนี้กำลังถูกทุบทิ้ง อีกไม่นานก็จะไม่มีตลาดมิ่งเมืองอีกต่อไป”
ภายในตลาดมิ่งเมือง ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2518 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
ต่อมาราวปี 2535 มีโครงการก่อสร้างศูนย์การค้าขึ้นใหม่ในตำแหน่งที่ตั้งตลาดมิ่งเมืองเดิม ชื่อว่า "ดิโอลด์สยามพลาซ่า" ซึ่งยังคงเปิดดำเนินกิจการมาจนถึงปัจจุบัน
แหล่งอ้างอิง
ปราณี กล่ำส้ม. ย่านเก่าในกรุงเทพฯ [เล่ม 2]. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2549.
วราห์ โรจนวิภาต. วัยเก๋าเล่าเรื่อง @ฝั่งธนฯ. กรุงเทพฯ : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, 2564.
กองบรรณาธิการ. “ปุจฉวิสัชน์ : ตลาดมิ่งเมือง” ใน เมืองโบราณ ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 ตุลาคม-พฤศจิกายน 2522 หน้า 118-119. อ่านฉบับเต็มคลิก https://issuu.com/muangboranjournal/docs/0601-2522/120