ชีวิตชาวน้ำถือเป็นรากฐานสำคัญของผู้คนในที่ราบลุ่มภาคกลางมาช้านาน ก่อเกิดเป็นวิถีอาชีพและประเพณีที่เชื่อมโยงระหว่างชีวิตมนุษย์เข้ากับธรรมชาติอย่างพึ่งพาอาศัย เช่นเดียวกับในย่านบางซื่อ-บางเขน อันเป็นเขตรอยต่อระหว่างกรุงเทพมหานครกับนนทบุรี ทุกวันนี้ยังคงหลงเหลือเรื่องราวที่มีความสัมพันธ์กับสายน้ำให้เห็น ดังเช่นประเพณีแห่หลวงพ่อสัมฤทธิ์วัดเซิงหวาย ที่จัดขึ้นเป็นประจำในวันแรม 4 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี
ประเพณีแห่พระทางน้ำเช่นนี้จัดขึ้นมาช้านานแล้ว นับแต่แม่น้ำลำคลองยังคงเป็นเส้นทางสัญจรหลัก ในเวลานั้นลำน้ำแต่ละสายสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างสะดวก หากแต่เมื่อเวลาผ่านไป เส้นทางน้ำหลายสายถูกปิดกั้นด้วยประตูระบายน้ำ แม้การสร้างประตูดังกล่าวจะมีประโยชน์ต่อการควบคุมระดับน้ำในแต่ละพื้นที่ แต่ก็แลกมาด้วยการเกิดปัญหาน้ำขัง เน่าเสีย รวมถึงการยุติบทบาทชีวิตผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการสัญจรและใช้ประโยชน์จากสายน้ำในด้านอื่นๆ ไปด้วย
ขบวนรถแห่หลวงพ่อสัมฤทธิ์เดินทางมาถึงวัดเทวสุนทร
เจ้าหน้าที่อัญเชิญหลวงพ่อสัมฤทธิ์ลงประดิษฐานในบุษบกบนเรือ ก่อนเคลื่อนขบวนไปตามคลองบางเขน
หนังสือ ย่านเก่าในกรุงเทพฯ เล่ม 2 ของปราณี กล่ำส้ม ได้กล่าวถึงภาพอดีตของประเพณีชักพระที่วัดเซิงหวายว่า เมื่อถึงเดือน 12 ได้มีการแห่พระไปตามแม่น้ำและลำคลองที่เชื่อมถึงกันโดยตลอด เสมือนว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จมาโปรดชาวบ้านที่อาศัยอยู่สองฝั่งลำน้ำ ตลอดเส้นทางจะแวะพักตามจุดต่างๆ รวมถึงการแข่งขันเรือยาวระหว่างบางกันอย่างสนุกสนาน แต่เมื่อเวลาผ่านไป เส้นทางน้ำบางช่วงบางตอนไม่สามารถใช้เดินเรือได้สะดวก จึงมีการปรับเปลี่ยนมาใช้รถเพื่ออัญเชิญหลวงพ่อสัมฤทธิ์ในบางเส้นทาง โดยมาตั้งขบวนกันใหม่อีกครั้ง เช่นบริเวณวัดเทวสุนทร ในตำแหน่งริมคลองบางเขนตัดกับคลองเปรมประชากร ณ จุดนี้จะมีขบวนเรือของสำนักการระบายน้ำจอดคอยท่ารอรถที่อัญเชิญหลวงพ่อสัมฤทธิ์เคลื่อนเข้ามา เมื่อถึงเวลานัดหมาย ขบวนรถจะมาจอดเทียบท่าและมีเจ้าหน้าที่แต่งชุดขาวอัญเชิญหลวงพ่อสัมฤทธิ์ลงมาประดิษฐานที่บุษบกภายในเรือ จากนั้นขบวนเรือจึงแล่นไปในคลองบางเขน โดยมุ่งหน้าทางทิศตะวันตก
ตลอดเส้นทางมีประชาชนหยิบยื่นน้ำและขนมมอบให้กับผู้ร่วมขบวนแห่
เรือพระภิกษุในขบวนแห่ แวะจอดตามท่าน้ำหน้าบ้าน เพื่อประพรมน้ำมนต์และชาวบ้านได้ร่วมทำบุญ
นอกจากเรือหลวงพ่อสัมฤทธิ์ที่นำหน้าแล้ว ในขบวนเรือยังมีเรือพระสงฆ์และตู้ใส่ปัจจัยที่จะแวะจอดเทียบท่าบ้านเรือนของชาวบ้าน เพื่อให้พระคุณเจ้าประพรมน้ำมนต์และชาวบ้านได้ร่วมทำบุญ นอกจากนี้ยังมีเรือของเจ้าหน้าที่และประชาชนที่ประสงค์ร่วมเดินทางไปด้วยเข้าร่วมขบวนหลายลำ ตลอดเส้นทางของลำคลองสายนี้ แม้ปัจจุบันจะเป็นสายน้ำที่ไหลผ่านหลังบ้านผู้คน รวมถึงสภาพน้ำที่มิได้ใสสะอาดดังแต่ก่อน แต่ยังคงมีประชาชนที่ให้ความสำคัญกับประเพณีแห่หลวงพ่อสัมฤทธิ์รอคอยการเคลื่อนขบวนผ่านในแต่ละจุดอย่างเนืองแน่น นอกจากผู้ที่ร่วมสักการะหลวงพ่อสัมฤทธิ์และร่วมทำบุญกับขบวนแห่แล้ว ยังมีผู้นำน้ำดื่มและของกินต่างๆ มาเผื่อแผ่ให้กับผู้ร่วมขบวนด้วยน้ำใจไมตรี บ่งบอกถึงความผูกพันของผู้คนริมฝั่งน้ำที่มีต่อประเพณีสำคัญของย่านตน เสมือนเป็นตัวเชื่อมโยงผู้คนที่อาศัยอยู่เรียงรายสองฝั่งน้ำเข้าด้วยกัน ถึงแม้สภาพแวดล้อมทางกายภาพได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้วก็ตาม
แม้ทุกวันนี้ลำคลองได้กลายเป็นหลังบ้านไปแล้ว แต่ยังพบเห็นผู้คนอาศัยพักผ่อนหย่อนใจที่บริเวณท่าน้ำ
เส้นทางคมนาคมทางบกถูกพัฒนาเป็นเส้นทางสัญจรหลัก แต่ได้ส่งผลกระทบต่อเส้นทางน้ำที่เคยมีมา
ขบวนเรือที่ล่องตามคลองบางเขนมีจุดแวะให้ประชาชนสักการะบูชาที่วัดโพธิ์ทองล่าง ในจุดนี้มีกองผ้าป่าของชาวบ้านเข้าร่วมทำบุญด้วย จากนั้นขบวนเรือได้แล่นผ่านวัดทางหลวง แล้วจึงตัดเข้าสู่คลองบางเขนใหม่ ไปจอดเทียบท่าที่วัดมัชฌัณติการาม (วัดน้อย) เพื่อขึ้นขบวนรถแห่มุ่งตรงไปสู่วัดเซิงหวาย อันเป็นจุดหมายปลายทางและเป็นการเสร็จสิ้นพิธีแห่พระทางน้ำในครั้งนี้
ขบวนเรือแวะที่วัดโพธิ์ทองล่าง เพื่อให้ประชาชนร่วมสักการบูชา
ชาวบ้านร่วมทำบุญเป็นกองผ้าป่าและจัดเลี้ยงอาหารให้กับผู้ร่วมขบวน
เมื่อขบวนเรือมาถึงวัดมัชฌัณติการาม ถือเป็นจุดสิ้นสุดขบวนแห่ทางน้ำ จากนั้นเปลี่ยนมาขึ้นขบวนรถไปสู่วัดเซิงหวายอันเป็นจุดหมายปลายทาง
หมายเหตุ
ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2559