เช้าวันหนึ่ง ณ หมู่บ้านหลักหินใหม่ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เห็นว่าในหมู่บ้านกำลังจัดพิธีกรรมบางอย่างขึ้น เข้าไปถามไถ่จึงได้ทราบว่ากำลังทำพิธี “รำมม็วต”
“รำมม็วต” คืออะไร? ทำเพื่ออะไร?
จากคำตอบของเจ้าบ้านที่จัดพิธีและชาวบ้านที่มาร่วมงานได้ความว่า รำมม็วต (มะม็วด) หรือ รำแม่มด ในครั้งนี้จัดขึ้นเพราะพี่ชายเจ้าของบ้านไม่สบาย ซึ่งรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบันแล้วก็ยังไม่หาย จึงต้องจัดพิธีกรรมรำแม่มดขึ้น
การรำมม็วต หรือปัญโจลมม็วต หรือโจลมม็วต เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่พบว่ามีการทำสืบต่อกันมาในชุมชนเขมรแถบสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ ถือเป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นเพื่อการรักษาอาการเจ็บป่วยหรือปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย โดยในพิธีกรรมจะประกอบด้วยผู้ประกอบพิธีกรรมเรียกว่า “แม่มม็วต” หรือ “ครูมม็วต” เป็นร่างทรง เชื่อกันว่าเป็นสื่อกลางของเทวดา มีหูทิพย์ตาทิพย์ มีหน้าที่ทำนายสาเหตุและรักษาอาการเจ็บป่วย โดยผู้เป็นร่างทรงจะต้องทำพิธีไหว้ครูมม็วตเป็นประจำทุกปี และอีกฝั่งหนึ่งคือผู้มีอาการเจ็บป่วยที่ต้องการหาสาเหตุของการเจ็บป่วยจากร่างทรง เพื่อหาหนทางบรรเทารักษา
พิธีรำมม็วตจะไม่ทำกันบนบ้าน พิธีจึงจัดขึ้นที่บริเวณด้านหน้าบ้านของผู้ป่วย โดยจะปลูกโรงปะรำขึ้นสำหรับเป็นสถานที่ทำพิธีกรรม โรงปะรำต้องมีเสา 9 ต้น โดยจะมีเสาตรงกลางโรงปะรำสำหรับผูก “ประต็วล” ซึ่งเป็นภาชนะทำด้วยไม้ไผ่สานเป็นรูปกรวย ใช้สำหรับใส่เครื่องเซ่นสรวงเทพยดา ภายในประต็วลมีเครื่องเซ่นไหว้ ได้แก่ ไก่ต้ม 1 ตัว ขนมข้าวต้ม กรวยที่ใส่ดอกไม้ 5 อัน เทียน 2 เล่ม ส่วนด้านล่างที่อยู่ติดกับพื้นดินจะวางกระเชอใส่ข้าวเปลือก บริเวณที่นั่งทรงปูด้วยฟูกแบบครึ่งท่อน มีผ้าขาวปูทับไว้อีกชั้นหนึ่ง ข้างบนผ้าขาวมีบายศรีปากชามวางอยู่ด้านซ้ายและขวา มี “จวม” หรือ “จวมกรู” 2 คู่ เป็นกระทงบูชาครูต้นกำเนิด
“จวม” หรือ “จวมกรู” เป็นกระทงบูชาครูต้นกำเนิด จวมมีหลายประเภท แต่ที่ใช้ในงานรำมม็วตจะเรียกว่า “จวมกรูมม็วต” (กระทงแม่มด) ทำจากลูกมะพร้าวสดปอกเปลือกทาสีเหลืองทำเป็นสถูป ใช้ในการตั้งบูชาในการปัญโจลมม็วต หรือการเข้าทรงแม่มดเพื่อรักษาโรค ซึ่งคนที่จะตั้งบูชาจวมกรูมม็วตได้นั้น จะต้องผ่านการเล่นรำมม็วตมาก่อน จึงจะตั้งไว้เป็นของบูชาประจำบ้านเรือนได้
เครื่องประกอบพิธีอื่นๆ มี “จวมเปรียย” หรือกระทงบูชาพระพุทธ 1 คู่ ข้าวสาร 1 จาน เทียน 1 เล่ม เงิน 1 บาท ตอก (พานขันโตก) เป็นขันใบใหญ่ ภายในใส่ข้าวสารประมาณครึ่งขัน ใบพลู 3 ใบ หมาก 1 ลูก กรวยขันชอมทำจากใบตอง 1 คู่ กรวยหูกระต่าย 1 คู่ และเทียน 1 คู่
นอกจากนี้ยังมี “เป” เป็นกระทงทำด้วยก้านกล้วย 3 ก้าน เอาไม้เสียบไว้ตรงกลาง แยกเชิงข้างล่างเป็นขายัน 3 มุม วางยอดมัดติดกัน เสียบดอกไม้สีแดงหรือช่อดอกมะละกอ ตรงกลางทำเป็นร้านวางของได้ โดยจะวางแป้งปั้นเป็นรูปคนและไข่ไก่ 3 ฟอง สำหรับนำมาเสกและคลึงลงบนตัวผู้ป่วย เพื่อขับไล่ผีร้ายหรือสิ่งไม่ดีออกจากตัวผู้ป่วย
เมื่อเตรียมอุปกรณ์เสร็จแล้ว พิธีก็เริ่มขึ้น ครูมม็วตจะเข้าที่นั่งทรง ใกล้กันจะมีหมวก ดาบ ปืน ใส่ถาดวางไว้รวมถึงพวกเครื่องรางของขลัง เช่น เขี้ยวหมูตัน งาช้าง นอแรด เป็นต้น ขณะเดียวกันวงดนตรีจะเริ่มบรรเลงเพลง ซึ่งเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบในพิธีกรรม ได้แก่ แคน ซอ ฆ้อง และกลอง
ครูมม็วตจะจุดเทียนที่ปักไว้ในขันใส่ข้าวสาร แล้วเพ่งที่แสงเทียน ขณะที่มือทั้งสองของครูมม็วตจับขันหมุนไปหมุนมา แล้วจะเริ่มประทับทรง ลุกขึ้นแต่งตัว แล้วร่ายรำดาบ ทำท่ารบพุ่งกับภูตผีปีศาจ อากัปกิริยาของร่างทรงจะต่างไปจากเดิม บางคนร้องไห้ บางคนแสดงท่าทางโกรธกริ้วหลังจากทำนายทายทักว่าผู้ป่วยไปกระทำความผิดมา ซึ่งเจ้าภาพหรือผู้ป่วยและญาติพี่น้องจะต้องถามว่าจะแก้ความผิดนั้นได้อย่างไร จากนั้นร่างทรงจะชี้แนะวิธีให้ทำตาม เป็นการจัดพิธีถวายเพื่อให้หายป่วย
หลังจากอาการผู้ป่วยเริ่มดีขึ้น ต้องทำพิธีผูกแขนผูกข้อมือเพื่อรับขวัญ และจะต้องนัดกันว่าจะรำมม็วตกันอีกครั้งเมื่อใด เพื่อเป็นการขอบคุณที่ช่วยให้หายจากอาการป่วยไข้
*** ข้อมูลที่นำเสนอเป็นเพียงข้อสังเกตและการค้นคว้าเพิ่มเติมถึงพิธีกรรมที่มีโอกาสได้พบ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการทำความเข้าใจพิธีกรรม แต่ยังมิได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนทั้งหมดของพิธีอย่างละเอียด รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การสืบทอดและข้อปฏิบัติของผู้เป็นร่างทรงหรือครูมม็วต ในเบื้องต้นผู้สนใจสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากแหล่งอ้างอิง
แหล่งอ้างอิง
บรรณาลัย (นามแฝง). “บายเซร็ย(บายศรี) เป(กระทง) จวมกรูกำเนิด(กระทงครูกำเนิด) และเครื่องบัตรพลีบูชาในพิธีกรรมเขมร” ใน http://oknation.nationtv.tv/blog/yongyoot/2007/12/21/entry-1
“รำแม่มด” ใน https://www.m-culture.go.th/young_th/article_view.php?nid=663
สารภี ขาวดี. “บทบาทหน้าที่ของพิธีกรรม “การโจลมะม็วด” ต่อชุมชนเขมร จ. สุรินทร์” ใน วารสารศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2555) อ่านออนไลน์ได้ที่ https://www.tci-thaijo.org/index.php/jla_ubu/issue/view/8485
เครือจิต ศรีบุญนาค. การฟ้อนรำของชาวไทยเขมรในเขตอำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์. มหาสารคาม : มหาวทิยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมหาสารคาม), 2534.
น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์. เรือมมม็วต. กรุงเทพฯ : เอ็น. จี. น้ำผึ้งกรุ๊ป. (มปป.)