แม่น้ำสีเขียวคราม
หนังสือหนังหา

แม่น้ำสีเขียวคราม

 

แม่น้ำสีเขียวคราม

ผู้เขียน : บำเพ็ญ  ไชยรักษ์

กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552

178 หน้า

 

“แม่น้ำสีเขียวคราม” เป็นงานเขียนเชิงสารคดี โดย บำเพ็ญ ไชยรักษ์ บอกเล่าเรื่องราววิถีชาวลุ่มน้ำสงคราม สายน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในเขตจังหวัดอุดรธานี สกลนคร บึงกาฬ และนครพนม เนื้อหาทั้งหมดเป็นประสบการณ์ตรงและผลผลิตจากการเก็บข้อมูลภาคสนามของผู้เขียนเอง โดยนำเสนอภาพรวมของวิถีชุมชนลุ่มน้ำสงครามอย่างรอบด้าน สำนวนภาษาสละสลวย เปี่ยมอารมณ์ความรู้สึก การันตีคุณภาพด้วยรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด ประเภทสารคดี ประจำปี พ.ศ. 2552

 

หนังสือ "แม่น้ำสีเขียวคราม" สารคดีรางวัลยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด ประจำปี พ.ศ. 2552

 

บทแรกเริ่มต้นด้วยการอธิบายสภาพพื้นที่ต้นน้ำในเขตเทือกเขาภูพาน ซึ่งสัมพันธ์กับตำนานและวรรณกรรมท้องถิ่นอีสานเรื่อง “สังข์สินชัย” เล่าถึงหญิงสาวงามนามว่าสุมนฑา ผู้เป็นน้องสาวของพระยาขอม นางถูกยักษ์กุมภัณฑ์ลักพาตัวไป ฝ่ายพระยาขอมจึงส่งพระราชบุตร ได้แก่ พระสังข์ พระศิลป์ชัย และพระสีโห ให้ไปนำตัวนางสุมนฑากลับคืนมา ผลจากการรบพุ่งกันระหว่างฝ่ายพระยาขอมกับยักษ์กุมภัณฑ์ก่อให้เกิดร่องน้ำเรียกว่ายอดห้วยสงคราม ที่กลายมาเป็นแม่น้ำสงคราม

 

 

วิถีชีวิตของคนเล็กคนน้อยที่อาศัยลำน้ำสายนี้ในการดำรงชีวิตถูกถ่ายทอดเป็นข้อเขียนผ่านผู้เขียนที่เข้าไปสัมผัส คลุกคลี และเรียนรู้จากหลากหลายผู้คนที่เป็นเจ้าของเรื่องเล่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับแม่น้ำสงครามสะท้อนผ่านวิถีชาวประมง ชีวิตวัยเยาว์ของลูกแม่น้ำ การทำปลาแดกที่สัมพันธ์กับวิถีการทำเกลือและแหล่งผลิตไหดินเผา ซึ่งนำไปสู่เส้นทางนายฮ้อยค้าเกลือและปลาแดก วิถีการทำนาแซงที่สัมพันธ์กับระบบนิเวศของสายน้ำที่ยังคงมีฤดูน้ำหลากและน้ำลดอันเป็นไปตามธรรมชาติ รวมทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำที่เกิดขึ้นในลักษณะของบุ่งและทาม เรื่องราวทั้งหมดได้ถูกขมวดไว้ด้วยปมปัญหาและการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ในพื้นที่ทำกินและยับยั้งการสร้างเขื่อนปิดกั้นสายน้ำที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตดั้งเดิมและทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์พืชและสัตว์น้ำนานาชนิด อันเป็นต้นทุนในการดำรงอยู่ของชาวบ้านที่อาศัยผืนน้ำและระบบนิเวศเหล่านี้เพื่อยังชีพ

 

 

 

 

หนังสือเชิงสารคดี “แม่น้ำสีเขียวคราม” เป็นภาพสะท้อนหนึ่งของวิถีชาวลุ่มน้ำสงคราม ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาสายหลักสายสุดท้ายของแม่น้ำโขงที่มีการต่อสู้และต่อรองเพื่อไม่ให้มีการสร้างเขื่อนปิดกั้นสายน้ำ นับเป็นประวัติศาสตร์ชุมชนและบทเรียนสำคัญที่ชวนให้เราคิดถึงคุณค่าและความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ

 

 

เนื่องด้วยหนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ท่านที่สนใจอยากจับจองเป็นเจ้าของอาจจะตามหาได้ไม่ง่ายแล้ว อย่างไรก็ตาม ท่านที่สนใจสามารถหาอ่านได้จากห้องสมุดของหน่วยงาน อาทิ ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และสถาบันการศึกษาต่างๆ

 


ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ