เพลิงผลาญตลาดบางโพ-วัดท่าถนน อุตรดิตถ์ พ.ศ. 2508
ข้างหลังภาพ

เพลิงผลาญตลาดบางโพ-วัดท่าถนน อุตรดิตถ์ พ.ศ. 2508

 

เหตุการณ์เพลิงไหม้ใจกลางเมืองอุตรดิตถ์เคยเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น ในปี พ.ศ. 2475 และ พ.ศ. 2508 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ตลาดบางโพและวัดท่าถนนซึ่งอยู่ติดกัน เป็นเหตุให้บ้านเรือนและอาคารพาณิชย์ทั้งที่ปลูกสร้างด้วยไม้และคอนกรีตต้องพินาศไปกับกองเพลิง และอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2526 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ตึกแถวรอบๆ วัดท่าถนน โดยเฉพาะบริเวณใกล้กับหอนาฬิกาหน้าสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ ส่งผลให้อาคารบ้านเรือนเสียหายไปเป็นจำนวนมาก

 

นอกจากความทรงจำและคำบอกเล่าของคนในพื้นที่แล้ว ยังมีหลักฐานภาพถ่ายที่บันทึกเหตุการณ์ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการบอกเล่าประวัติศาสตร์และความเปลี่ยนแปลงของย่านตลาดในเมืองอุตรดิตถ์ ดังเช่น ชุดภาพเหตุการณ์เพลิงไม้อาคารตึกแถว 2 ชั้นที่ย่านตลาดบางโพ ต่อเนื่องมาถึงบริเวณวัดท่าถนน เมื่อ พ.ศ. 2508 บันทึกไว้โดย คุณชวนศักดิ์  โตวนิชย์ เจ้าของร้านขายยาจี่อันจั่นโอสถในตลาดตัวเมืองอุตรดิตถ์ โดยอุปกรณ์ที่ใช้บันทึกภาพเป็นกล้องฟิล์มสัญชาติเยอรมัน ยี่ห้อ Rollei

 

คุณชวนศักดิ์ โตวนิชย์ เจ้าของภาพถ่าย

 

คุณชวนศักดิ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนั้นอายุได้ 22 ปี ร้านขายยาเดิมตั้งอยู่ใกล้กับวัดท่าถนน ไม่ไกลจากบริเวณที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว จึงย้ายร้านไปอยู่ที่อาคารตึกแถวใกล้กับหอนาฬิกา แต่ต่อมาเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2526 จึงย้ายมาตั้งอยู่ทางด้านเหนือของสถานีรถไฟอุตรดิตถ์สืบมาจนถึงปัจจุบัน

 

เหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นที่อาคารพาณิชย์ 2 ชั้น ซึ่งมีทั้งตึกแถวและเรือนแถวไม้ ชาวบ้านต่างรีบนำข้าวของออกจากตัวอาคารกันอลหม่าน

 

 

จุดที่เกิดเพลิงไหม้อยู่ใกล้กับที่ตั้งร้านขายยาเดิมของคุณชวนศักดิ์

จากภาพจะเห็นป้ายโฆษณายา “ไอโซ ไมซิน” และรถเจ้าหน้าที่กำลังช่วยขนของอยู่หน้าร้าน

 

 

รถดับเพลิงกำลังควบคุมสถานการณ์ จากภาพจะเห็นกลุ่มควันดำหนาทึบปกคลุมไปทั่วบริเวณตลาด

ด้านขวามือของภาพคือ “โรงแรมฟ้าอรุณ” เป็นอาคารเรือนไม้ 2 ชั้น  

 

 

อาคารเรือนแถวไม้ส่วนใหญ่ถูกเปลวเพลิงโหมใส่อย่างหนัก

 

 

ภายหลังจากเหตุเพลิงไหม้สงบลง คงเหลือแต่ซากปรักหักพัง

 

 

บริเวณวัดท่าถนนที่ถูกเพลิงไหม้จนราบเป็นหน้ากลอง

คงเหลือเพียงวิหารหลวงพ่อเพชรที่ไม่เสียหาย สร้างความอัศจรรย์ใจให้กับชาวอุตรดิตถ์เป็นอย่างมาก

 


ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ