ตานธัมม์/ทานธรรม  ให้ธรรมะเป็นทาน

ตานธัมม์/ทานธรรม ให้ธรรมะเป็นทาน

 

สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ

การให้ธรรมทาน ชนะการให้ทั้งปวง

 

พุทธพจน์นี้กล่าวถึงการให้ธรรมะเป็นทาน ซึ่งถือเป็นการให้ทานที่ได้บุญสูงสุด มีคุณค่ากว่าการให้ทานทั้งปวง เพราะทำให้ผู้รับมีปัญญารู้เท่าทันกิเลส สามารถนำไปใช้ได้ไม่รู้จักจบสิ้น ทั้งชาตินี้และชาติต่อๆ ไป ส่วนทานชนิดอื่นๆ ผู้รับได้รับแล้วไม่ช้าก็หมดสิ้นไป โดยพุทธพจน์นี้ถูกกล่าวเมื่อครั้งท้าวสักกะทรงพาเหล่าเทวดาไปเฝ้าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระเชตวันวิหาร และถามปัญหาเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับพระธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา

 

การทำทานด้วยธรรมะนี้พบแพร่หลายเกือบทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะในวัดทางภาคเหนือ เกือบทุกวันพระไม่ว่าจะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรม  หลังจากทำบุญตักบาตรในช่วงเช้าแล้ว ช่วงบ่ายจะเห็นอุบาสกอุบาสิกาที่บ้านอยู่ใกล้วัดกลับไปเปลี่ยนชุดขาวเพื่อร่วมกันสวดมนต์ถือศีลและทำทานที่เรียกว่า “ตานธัมม์” หรือทานธรรที่วัดอีกครั้ง คำว่า “ธัมม์” เป็นคำภาษาบาลี ส่วนคำว่า “ธรรม” เป็นคำเขียนแบบสันสกฤต ศาสนาพุทธในอาณาจักรล้านนาตั้งแต่เริ่มแรกใช้ภาษาบาลีเป็นหลัก ก่อนเปลี่ยนมาใช้ภาษาสันสกฤตในการสวดและการเรียนพุทธศาสนาในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา

 

ชาวบ้านจัดเตรียมถังสังฆทาน (ก๋วย) ที่จะใช้ในการอุทิศทาน

ชาวบ้านจัดเตรียมถังสังฆทาน (ก๋วย) ที่จะใช้ในการอุทิศทาน

 

พิธีตานธัมม์ในช่วงบ่ายของวัดพระที่วัดพระธาตุลำปางหลวงพิธีตานธัมม์ในช่วงบ่ายของวัดพระที่วัดพระธาตุลำปางหลวง

 

นอกเหนือจากการทำตานธัมม์แล้ว ยังมีการทำตานหรือทานรูปแบบอื่นๆ อีกมาก เช่น ทานขันข้าว เพื่ออุทิศให้ผีตายเก่าเน่าเมิน ซึ่งหมายถึงญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ ทานขัว เพื่อต่อชีวิตให้ผู้ป่วยหายจากโรคภัยไข้เจ็บ ทานข้าวหย่ากู้ เป็นการกวนข้าวใหม่ที่เพิ่งเก็บเกี่ยวได้ โดยนำข้าวเหนียวหรือข้าวเหนียวแดงใส่กระทะตั้งไฟกวนให้เข้ากันกับน้ำอ้อย ถั่ว งา แล้วนำไปทำบุญที่วัดและแจกจ่ายให้ชาวบ้าน ทานข้าวจี่-ข้าวหลาม ทำหลังจากเก็บเกี่ยวข้าว โดยนำข้าวที่ได้มาทำข้าวจี่และข้าวหลามถวายพระ เพื่ออุทิศผลบุญให้เทวดา พระแม่โพสพ และบรรพบุรุษ เป็นต้น

 

บรรยากาศการตานธัมม์ในช่วงบ่ายวันพระ ณ วัดพระธาตุลำปางหลวง ชาวบ้านจะเตรียมถังสังฆทาน (ก๋วย) ที่จะใช้ในการอุทิศทาน ถังหนึ่งสำหรับทำทานต่ออายุสืบชะตาให้แก่ตัวผู้ทำ สังเกตว่ามีต้นกล้วยและอ้อย อีกถังที่ไม่มีต้นกล้วยและอ้อยทำทานอุทิศให้แก่คนที่ตายไปแล้ว

 

ก๋วยสำหรับต่ออายุสืบชะตาต้องมีต้นกล้วยและอ้อยเป็นส่วนประกอบด้วย

 

ในพิธีพระสงฆ์จะนำธัมม์ที่จัดเตรียมไว้สำหรับสวดทานให้ตามแต่จุดประสงค์ของผู้ทำทาน หากเป็นธัมม์ที่ใช้สวดให้คนตายเรียกว่า “ธัมม์เปตพลี” ส่วนธัมม์ที่สวดทานให้กับผู้ที่ต้องการมาต่ออายุสืบชะตาจะใช้ธัมม์ตามปีเกิดของคนนั้นๆ ดังนี้

คนเกิดปีใจ้ (ปีหนู) สร้างธัมม์เตมิยะเป็นทาน

คนเกิดปีเป้า (ปีวัว) สร้างธัมม์เวสสันตระเป็นทาน

คนเกิดปียี (ปีเสือ) สร้างธัมม์สุทธนูเป็นทาน

คนเกิดปีเหม้า (ปีกระต่าย) สร้างธัมม์เนมิราชเป็นทาน

คนเกิดปีสี (ปีงูใหญ่) สร้างธัมม์สมภมิตรเป็นทาน

คนเกิดปีใส้ (ปีงูเล็ก) สร้างธัมม์ภูริทัตเป็นทาน

คนเกิดปีสะง้า (ปีม้า) สร้างธัมม์สุธนเป็นทาน

คนเกิดปีเม็ด (ปีแพะ) สร้างธัมม์ช้างฉัททันต์เป็นทาน

คนเกิดปีสัน (ปีวอก) สร้างธัมม์มโหสถเป็นทาน

คนเกิดปีเร้า (ปีไก่) สร้างธัมม์สิทธาตถ์เป็นทาน

คนเกิดปีเส็ด (ปีหมา) สร้างธัมม์กุสราชเป็นทาน

คนเกิดปีไค้ (ปีช้าง/ปีหมู) สร้างธัมม์สุตตโสมเป็นทาน

 

ธัมม์บทสวดต่างๆ ที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ให้

 

ในอดีตที่การพิมพ์หนังสือยังไม่แพร่หลาย ผู้ศรัทธาจะคัดธัมม์ด้วยลายมือแล้วนำไปถวายวัด

ปัจจุบันใช้การพิมพ์แล้ว ซึ่งมีผู้นำมาถวายอย่างสม่ำเสมอ

 

ธัมม์บทสวดต่างๆ ที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ให้

 

ในอดีตที่การพิมพ์หนังสือยังไม่แพร่หลาย ผู้ศรัทธาจะคัดธัมม์แล้วนำไปถวายวัด เรียกว่า “การสร้างธัมม์” เพื่อให้พระสงฆ์ได้ใช้สวด ซึ่งถือเป็นการทำทานที่ยิ่งใหญ่ ปัจจุบันยังมีผู้นำธัมม์ชุดใหม่ไปถวายวัด แต่ไม่ได้เป็นการคัดธัมม์ด้วยลายมืออย่างในอดีตแล้ว

 


เมธินีย์ ชอุ่มผล

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ