เมื่อวันอาทิตย์วันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ ร่วมกับร้านหนังสือริมขอบฟ้า บางพลัด จัดเสวนาเรื่อง “ฟื้นถิ่น ฟื้นย่าน ผ่านแผนที่” เนื่องในวันเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ประจำปี 2567 โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย ศิลปินผู้ก่อร่างสร้างแผนที่ชีวิตย่าน ทพ. กฤตพล พรพิบูลย์ นักธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวชาวอุทัยธานี ผศ. สาลินี มานะกิจ ชาวอุทัยธานี ผู้บรรยายในวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และอภิญญา นนท์นาท นักค้นคว้าผู้ปะติดปะต่อเรื่องราวชีวิตวัฒนธรรม กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ ร่วมพูดคุยและดำเนินรายการ
คุณสุดารา สุจฉายา หัวหน้ากองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ เกริ่นนำถึงความเป็นมาในการจัดเสวนาครั้งนี้ว่า
“ในวันที่ 17 พฤศจิกายน ของทุกๆ ปี เป็นวันที่เราจะร่วมกันจัดกิจกรรมรำลึกถึงคุณเล็กและคุณประไพ วิริยะพันธุ์ ผู้ก่อตั้งเมืองโบราณ สมุทรปราการ และให้กำเนิดวารสารเมืองโบราณ เพื่อเป็นการสืบต่อแนวคิด ปณิธานของท่านทั้งสองในการรวบรวมข้อมูล หลักฐานประวัติศาสตร์วัฒนธรรมสังคมไทยในอดีตเพื่อให้คนรู้จักรากเหง้าของตนเอง ดังนั้นการทำงานของวารสารเมืองโบราณ และมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์จึงให้ความสำคัญกับการได้ไปดูไปเห็นสิ่งต่างๆ ด้วยตาตนเอง จึงต้องทำการลงพื้นที่เพื่อสำรวจ รวบรวมหลักฐานข้อมูล และคำบอกเล่าจากผู้รู้นำมาประมวลวิเคราะห์เป็นบทความถ่ายทอดสู่ผู้อ่านทุกท่าน นอกจากนี้การทำงานของวารสารฯ ในระยะสิบกว่าปีมานี้ให้ความสำคัญกับการทำภาพวาดแผนที่ทั้งเมืองโบราณและเมืองประวัติศาสตร์เป็นภาพปกวารสารจากแนวคิดของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ดังจะเห็นได้จากภาพวาดแผนที่เมืองโบราณสุโขทัย ศรีสัชนาลัย อโยธยา ศรีเทพ หรือบางฉบับอาจนำเสนอเมืองที่คนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคย เช่น เมืองฝ้าย จ.บุรีรัมย์ เมืองแม่ต้าน จังหวัดตาก ซึ่งเมืองโบราณเหล่านี้คนส่วนใหญ่อาจเห็นว่าเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ไกลตัวไม่สัมพันธ์กับผู้คนในปัจจุบัน
ดังนั้น ในปี 2567 นี้ เป็นวาระครบรอบ 50 ปี วารสารเมืองโบราณ ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่เราได้เลือกทำแผนที่เมืองที่มีผู้คนใช้ชีวิตกันมาอย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องราวของเมืองประวัติศาสตร์ที่ใกล้ตัวเราเข้ามา โดยเล่มแรกของปีเริ่มต้นด้วยวารสารเมืองโบราณ 50.1 บ้านสะแกกรัง เมืองอุไทยใหม่ จากผลการดำเนินงานนำมาสู่การจัดเสวนา “ฟื้นถิ่น ฟื้นย่าน ผ่านแผนที่...” โดยเป็นการนำประสบการณ์การทำงานของทีมงานวารสารฯ มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เป็นเจ้าของพื้นที่เพื่อบอกเล่าว่าแผนที่จะเป็นเครื่องมือให้กับคนในพื้นที่สร้างการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างไร และการใช้แผนที่มีส่วนช่วยในการฟื้นฟูย่านเก่าเมืองเก่าต่างๆ อย่างไร”
คุณสุดารา สุจฉายา หัวหน้ากองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ
คุณอภิญญา นนท์นาท นักค้นคว้าผู้ปะติดปะต่อเรื่องราวชีวิตวัฒนธรรม กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ ฉายภาพให้เห็นกระบวนการทำงาน มีสาระสำคัญ ดังนี้ “วารสารเมืองโบราณมีกระบวนการทำงานโดยยึดแนวคิดภูมิวัฒนธรรม คือการให้ความสำคัญกับการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน และความสัมพันธ์ระหว่างคนกับอำนาจนอกเหนือธรรมชาติ จากอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ตามสโลแกน “นิยามไทย เข้าใจถิ่น” นำมาสู่การผลิตผลงานบทความ และการนำข้อมูล reconstruct เป็นภาพวาดแผนที่ขึ้นมาเพื่อทำความเข้าใจอดีตอันไกลโพ้น ซึ่งในระยะสิบกว่าปีให้หลัง วารสารฯ ได้ผลิตภาพวาดแผนที่จำนวนสี่สิบกว่าภาพแล้ว เช่น การนำเสนอแผนที่อยุธยา และเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คนในพื้นที่แม่น้ำลพบุรีสายเก่า พื้นที่บริเวณทุ่งมหาราช แผนที่ภาพวาดเมืองโบราณสมัยทวารวดี เช่น เมืองคูบัว เมืองนครชัยศรี แผนที่ภาพวาดเมืองโบราณในภูมิภาคต่างๆ เช่น เวียงกุมกามที่ภาคเหนือ พระเวียงที่ภาคใต้ จนมาถึงวารสารเมืองโบราณ ฉบับปีที่ 50 มีการปรับโฉมมาเป็นแผนที่บ้านสะแกกรัง เป็นประวัติศาสตร์ใกล้ตัวในพื้นที่ย่านเก่า”
ด้านคุณสุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย ศิลปินผู้ก่อร่างสร้างแผนที่ชีวิตย่าน บอกเล่าถึงประสบการณ์การรังสรรค์ภาพวาดแผนที่ขึ้น ในฐานะศิลปินผู้เรียนศิลปะคุณสุทธิชัยเริ่มต้นด้วยการกล่าวเชิดชูครู 4 ท่าน ได้แก่ อาจารย์สมปอง อัครวงษ์ อาจารย์พรชัย เขมรัฐ อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ (น. ณ ปากน้ำ) และอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ผู้ถ่ายทอดความรู้การฝึกฝนการลงพื้นที่จนนำมาสู่การสร้างผลงานภาพวาดแผนที่เมืองโบราณ อาทิ กรุงศรีอยุธยา สุโขทัย ลพบุรี ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร ธนบุรี กรุงเทพฯ คุณสุทธิชัยได้บอกเล่าถึงการทำงานที่ต้องมาทำความรู้จักกับคันดิน การจัดการน้ำ การผันน้ำ บ่อน้ำ ที่ลุ่ม ที่สูง
“เมืองโบราณต่างๆ ส่วนมากจะตั้งบนที่สูงให้พ้นน้ำ อันนี้คือความใส่ใจของอาจารย์ จากตอนแรก วาดภาพเมืองเรียบราบไปหมด จนถึงตอนนี้พอจะจับได้แล้วว่าอาจารย์ศรีศักรต้องการอะไร ผมก็ตอบสนองได้ทันที เมืองทางเหนือ เชียงใหม่ เมืองทางใต้ สงขลา ซึ่งผมได้ลงพื้นที่กับอาจารย์ สิ่งนี้สำคัญมาก ผมต้องวิ่งไปดูคันดิน ผมดูแล้วรู้สึกว่าผมอยู่ในภาพที่ผมต้องเขียน มันสำคัญมาก เพราะเวลาคุณกลับมานั่งทำงาน คุณต้องทำออกมาให้รู้สึกได้ว่าบ้านเมืองเหล่านี้มันเคยมีอยู่จริง” คุณสุทธิชัยยังเน้นย้ำอีกว่า “แผนที่ทุกฉบับที่ทำออกมาอยากให้ทุกคนได้ร่วมกันใช้ ไม่ได้ทำเพื่อใช้กันเอง และถ้าใช้แล้วเห็นปัญหา ทุกคนมีสิทธิสงสัยและแนะนำเข้ามายังกองบรรณาธิการวารสารฯ เราจะพิจารณาร่วมกันและสามารถปรับแก้ไขได้”
อภิญญา นนท์นาท และสุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
ภาพวาดแผนที่เมืองโบราณกรุงธนบุรีและกรุงเทพฯ เป็นอีกกรณีตัวอย่างที่วิทยากรได้หยิบยกมานำเสนอ เนื่องจากเป็นแผนที่ซึ่งสร้างความท้าทายให้กับผู้วาดเนื่องจากเต็มไปด้วยรายละเอียดและความเปลี่ยนแปลงของเมืองจึงต้องอาศัยเวลาในการค้นคว้าและจัดทำข้อมูลเป็นอย่างมาก “แผนที่กรุงเทพฯ โจทย์ของอาจารย์คือต้องการแผนที่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ต้องใช้เวลาทำถึง 4 เดือนเต็มๆ แต่ที่ได้รับคำสั่งมาคือช่วงเวลาก่อนหน้านั้นซึ่งยังติดภาระงานชิ้นอื่นๆ ก็ทำให้ต้องค่อยๆ ใช้เวลาทำความเข้าใจ เรียกว่าแผนที่กรุงเทพฯ อยู่กับผมมาเป็นปี”
สำหรับความยากง่ายระหว่างการทำแผนที่เมืองโบราณ กับแผนที่ย่านเก่า วิทยากรแลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่า “ตอนทำแผนที่เมืองโบราณสุโขทัย ศรีสัชนาลัยซึ่งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ ก็ได้แต่มองศิลาแลงแล้วฝันไป แต่พอมาทำแผนที่ชุมชนประวัติศาสตร์ เราก็ลงพื้นที่ตะกั่วป่า เดินดูศาลเจ้า พบเจอคนสูงอายุ ตะกั่วป่าเป็นเมืองประวัติศาสตร์ซึ่งเคยมีการทำเหมืองแร่ที่ไม่เคยหลับใหล มีโรงหนัง โรงแรม มีทุกอย่าง ซึ่งคนที่จะบอกเล่าเรื่องราวกับเราได้ก็คือคนสูงอายุที่อยู่บ้านนั้น นั่นเป็นที่แรกๆ ซึ่งผมก็ได้ประสบการณ์ต่างๆ มากมาย จนทำเป็นภาพออกมา ตอนลงพื้นที่เราต้องสเก็ตช์ก่อนว่าตอนนี้เราอยู่ที่ไหน มาทำอะไร ที่นี่มีอะไร คือมาร์คจุดไว้ แล้วเราก็เดินทั่วเพื่อดูว่ามีอะไรบ้าง แต่สิ่งที่เห็นเช่นทางน้ำ เส้นทางต่างๆ อย่าหวังว่าจะเป็นทางเดิม บางครั้งเราเชื่อสิ่งที่เห็นไม่ได้เลย ผมผิดพลาดอยู่บ่อยๆ แต่เราก็ได้โอกาสจากทีมที่ทำงานร่วมกัน หรืออย่างท่านอาจารย์ศรีศักรที่เคยมาตั้งแต่เรายังไม่เกิด ท่านก็บอกเราได้ว่าแต่ก่อนเคยมีอะไร ซึ่งเราต้องเอาข้อมูลจากหลายๆ ทางมาผนวกกันทำให้เกิดเป็นภาพ”
คุณอภิญญากล่าวเสริมถึงกระบวนการทำแผนที่เมืองโบราณ และแผนที่เมืองประวัติศาสตร์ นอกจากแผนที่เมืองโบราณที่อาศัยหลักฐานทางโบราณคดี การลงพื้นที่สำรวจคูน้ำ คันดิน ร่องรอยความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของพื้นที่ ยังมีแผนที่อีกแบบคือแผนที่เมืองประวัติศาสตร์หรือแผนที่ย่านเก่าซึ่งผู้คนในพื้นที่ยังมีความทรงจำเกี่ยวกับสถานที่และผู้คนอยู่ วิทยากรได้ยกตัวอย่างการทำงานเพื่อผลิตบทความ และแผนที่ย่านเก่าที่ตลาดพุมเรียง สุราษฎร์ธานี ตะกั่วป่า พังงา และกรณีศึกษาที่สำคัญของการเสวนาครั้งนี้คือบ้านสะแกกรัง อุทัยธานี การทำงานซึ่งต้องอาศัยหลักฐานจากภาพถ่ายเก่า แผนที่เก่า และคำบอกเล่าของผู้คน
“การทำงานของวารสารเมืองโบราณตั้งแต่สมัยอาจารย์ยูร (ประยูร อุลุชาฎะ) อาจารย์ศรีศักร ท่านเคยไปสำรวจที่ตะกั่วป่าราวปี 2520 ทำให้มีชุดภาพถ่ายเก่าอยู่ในศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์เป็นจำนวนมากที่ยังบันทึกภาพอาคารบ้านเรือน สภาพตลาดตะกั่วป่า ซึ่งเป็นหลักฐานที่เรานำมาใช้ในการสร้างภาพแผนที่ หรือกรณีอย่างอุทัยธานี งานเหล่านี้เราจะใช้หลักฐานสำคัญ อย่างแผนที่เก่าเช่นแผนที่แนบการจัดตั้งสุขาภิบาล ภาพถ่ายเก่าก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะหลายสิ่งหลายอย่างในปัจจุบันไม่อยู่แล้ว และอีกสิ่งซึ่งเป็นหัวใจสำคัญก็คือคำบอกเล่าของผู้คน ซึ่งเป้าหมายสำคัญคือมุ่งหวังให้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเห็นสิ่งซึ่งเป็นรูปธรรมมากกว่าจะเป็นตัวหนังสืออย่างเดียว” อีกหนึ่งตัวอย่างคือแผนที่ทางวัฒนธรรมซึ่งทำโดยคนในท้องถิ่น “วารสารเมืองโบราณ 41.1 เรื่องอ่าวปัตตานี เป็นแผนที่ทางวัฒนธรรมที่วาดโดยคุณดอเลาะ เจ๊ะแต เป็นปราชญ์ที่อ่าวปัตตานี เป็นแผนที่ซึ่งว่าด้วยการหาอยู่หากินของชาวปัตตานี ซึ่งไม่ได้บอกแค่ว่ามีร่องน้ำอะไร มีเกาะแก่งอะไร แต่จะบอกด้วยว่าตรงไหนทำประมงอะไรบ้าง”
ด้านประโยชน์ของการใช้แผนที่ในการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ผศ. สาลินี มานะกิจ เริ่มต้นด้วยการตอบคำถามนี้ว่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคืออะไร
“ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแตกต่างจากการศึกษาประวัติศาสตร์อื่นๆ คือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจะสนใจศึกษาเรื่องราวของชีวิตผู้คนที่ไม่มีพื้นที่ในการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติ ซึ่งคุณูปการสำคัญต้องให้เครดิตอาจารย์ศรีศักร ที่ท่านสนใจศึกษาประวัติศาสตร์โดยการลงพื้นที่ ในคณะโบราณคดีมีวิชาโทประวัติศาสตร์มานานแล้ว แต่เพิ่งจะเปิดหลักสูตรประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในปี 2559... การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต้องอาศัยหลักฐานเอกสารต่างๆ แต่สิ่งที่โดดเด่นคือหลักฐานที่ได้จากคำบอกเล่า ซึ่งต้องเข้าหาผู้คน และอย่างที่ทราบกันว่าการลงพื้นที่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การลงพื้นที่แต่ละครั้ง บางครั้งอาจจะไม่ได้ข้อมูลเลยก็ได้ ดังนั้นคำขวัญประจำใจของการเรียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคือ “ไปอีกก็ได้อีก” “ครั้งเดียวไม่เคยพอ” เพราะฉะนั้นคนเรียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจึงต้องถึกพอสมควร” โดยหลักฐานสำคัญอีกประการในการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคือ แผนที่
“แผนที่คือลักษณะทางกายภาพเบื้องต้น ที่เราต้องรู้ว่าชุมชนนั้นมีภูเขา มีแม่น้ำ เหมาะกับการตั้งถิ่นฐานของผู้คนอย่างไร แผนที่มีหลายประเภทเช่นแผนที่โบราณ เส้นทางการเดินทัพ แต่แผนที่ซึ่งประวัติศาสตร์ท้องถิ่นใช้มากที่สุดคือแผนที่เดินดิน ซึ่งเกิดจากการลงพื้นที่สำรวจสถานที่ พล็อตจุดสำคัญ ต้องใช้เวลาพอสมควร แต่การเรียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นทำให้ต้องคุยกับคน สิ่งที่ได้จากการเรียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคือปฏิสัมพันธ์ เป็นประวัติศาสตร์จากคนที่ทำให้เกิดภาพชีวิตที่มีมิติขึ้นมา แผนที่มีประโยชน์มาก และเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้กับการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น”
ผศ. สาลินี มานะกิจ และ ทพ. กฤตพล พรพิบูลย์
ด้าน ทพ. กฤตพล พรพิบูลย์ นักธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวชาวอุทัยธานี กล่าวถึงศักยภาพของเมืองอุทัยธานี ซึ่งถูกเลือกให้เป็นภาพปกวารสารเมืองโบราณฉบับที่ 50.1
“ขอบคุณเมืองโบราณที่เลือกเมืองอุทัยและทำแผนที่ให้กับจังหวัดอุทัยธานี อยากมาคุยและได้พบกับบรรยากาศการคุยในร้านหนังสือที่อบอุ่นมาก ผมเป็นคนอยู่อุทัย ที่บ้านทำธุรกิจเยอะแต่ไม่ให้ออกนอกบ้าน ตอนเด็กๆ ไม่ได้เห็นตลาด ได้ยินแต่เรื่องเล่า ตอนโตหน่อยก็ไปเรียนที่อื่น แต่จับพลัดจับผลูกลับมาอุทัย และกลับมาอยู่ในแวดวงการท่องเที่ยว ต่างจากคนอื่นที่เรียนในจังหวัด แล้วออกไปอยู่ที่อื่น... ถามว่าผมเห็นศักยภาพของเมืองอุทัยไหม สำหรับคนอุทัยก็จะรู้สึกว่าอุทัยเป็นเมืองเงียบๆ ไม่ค่อยมีอะไร นี่เป็น mindset ของคนในจังหวัด ซึ่งถ้าไม่ได้อยู่ในวงการท่องเที่ยวก็จะรู้สึกว่าที่อื่นเค้าพัฒนาเยอะมีห้างทุกที่ แต่อุทัยตอนนี้มีเปิดที่แรกคือไทวัสดุ แต่ก็ไม่ได้มองว่าเป็นจุดด้อย เมื่อก่อนคนนครสวรรค์จะต้องมากู้เงินคนอุทัย คนอุทัยจะไปเที่ยวที่อื่น กลับมาไม่ต้องใช้เงิน เป็นจังหวัดที่เปลี่ยนแปลงช้า ซึ่งความเปลี่ยนแปลงช้านี้กลายเป็นต้นทุนให้กับคนอุทัยทุกวันนี้ ความเปลี่ยนแปลงช้านี้กลับเป็นเสน่ห์ คนอุทัยภูมิใจในความเป็นอุทัย อุทัยเป็นเมืองที่สงบ และความเป็นเมืองที่เปลี่ยนแปลงช้านี้เป็นจุดสำคัญที่เรารักษาไว้ ซึ่งเป็นศักยภาพของเมืองอุทัยในตอนนี้
ที่ผ่านมามีการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองอุทัยธานีอยู่เป็นระยะๆ ผศ. สาลินีได้นำเสนอ “อุทัยธานีนิพนธ์” เพื่อแสดงให้เห็นพัฒนาการของการศึกษาประวัติศาสตร์เมืองอุทัย
“คนอุทัยจะมีคำพูดติดปากว่า ‘ถึงอุทัยไม่ต้องอุทธรณ์ ค่ำแล้วก็นอนที่เมืองอุทัย แม้นใครได้ดำน้ำสามผุด คงไม่หลุดจากเมืองอุทัย’ คำพูดเหล่านี้สะท้อนความเป็นเมืองปิด เพราะโดยตำแหน่งที่ตั้งทำให้การจะมาที่อุทัยต้องตั้งใจเลี้ยวเข้ามา เพราะฉะนั้นความเป็นเมืองปิดก็สะท้อนวิถีชีวิตคนอุทัย”
อุทัยธานีนิพนธ์ เป็นการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอุทัยธานี ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ หนึ่ง กลุ่มงานเขียนที่ผลิตโดยหน่วยงานในท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานี อาทิ พ.ศ. 2469 หนังสือประวัติเมืองอุทัยธานี เรียบเรียงโดย พระมหาเสถียร วัดมหาธาตุ ซึ่งเล่มนี้จะเน้นไปที่เมืองอุไทยเก่า คือเขตอำเภอหนองฉางในปัจจุบัน ต่อมาในทศวรรษ 2500 เริ่มเห็นบทบาทของคุณพลาดิศัย สิทธิธัญกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการค้นคว้าเรื่องอุทัยธานีเมืองพระชนกจักรี กระทั่งนำไปสู่การตั้งอนุสาวรีย์พระบิดารัชกาลที่ 1 บนยอดเขาสะแกกรัง และในทศวรรษ 2510 การขุดค้นทางโบราณคดีของกรมศิลปากร ส่งผลให้เกิดความสนใจศึกษาเรื่องราวในอดีตของอุทัยธานี ต่อมา พ.ศ. 2528 หนังสือประวัติศาสตร์ส่วนภูมิภาคมหาดไทย จังหวัดอุทัยธานี พ.ศ. 2542 หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดอุทัยธานีแนวคิดหลักเกี่ยวกับบ้านสะแกกรังอุทัยธานีในช่วงแรกนี้เน้นไปที่การสืบค้นความเกี่ยวพันกับราชวงศ์จักรี แต่ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการกล่าวถึงความเป็นเมืองเพาะปลูกข้าว เมืองแห่งการค้าข้าว กระทั่งเกิดการตั้งศูนย์วัฒนธรรมต่างๆ
สอง กลุ่มงานที่เขียนโดยกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นเอง กลุ่มหนังสืองานศพ และประวัติตระกูลคหบดีเมืองอุทัย อาทิ หนังสืองานศพของนายห้างควร พรพิบูลย์ คุณปู่ของ ทพ.กฤตพล หนังสืองานศพของตระกูลวงษ์วิกย์กิจ ให้ภาพของท่าข้าวต่างๆ เพราะท่านเป็นเจ้าของท่าข้าวนายมังกรซึ่งปรากฏในแผนที่ด้วย อีกเล่มหนังสืองานศพของตระกูลแผ่วัฒนากุลก็เป็นหนังสืองานของเจ้าของท่าข้าวอีกท่าหนึ่งคือท่าข้าวโกวาซึ่งเป็นคนจีนไหหลำ หนังสือบันทึกความทรงจำ ตระกูลพรพิบูลย์ และหนังสืออุทัยธานีในความทรงจำ ซึ่งเขียนและเรียบเรียงโดย นายมาโนช พรพิบูลย์ งานชุดนี้จะบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของพ่อค้าชาวอุทัย
สาม งานที่ทำโดยสถานศึกษาและหน่วยงานภายนอกต่างๆ มีงานที่เป็นหมุดหมายสำคัญ เช่น กลุ่มงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวรช่วงประมาณปี 2553 ผลพวงที่สำคัญจากงานวิจัยชุดนี้คือการเกิดถนนคนเดินที่ตรอกโรงยา เป็นจุดพลิกผันในการกระตุ้นให้คนอุทัยลุกขึ้นมาสนใจประวัติศาสตร์ความเป็นย่านเก่าการค้าของคนอุทัยเอง เฉพาะปี 2553 เอง ถนนคนเดินจัด 8 ครั้ง ซึ่งเป็นช่วงที่คนอุทัยพยายามจะหาแนวทางของตนเอง สร้างความตื่นตัวในการทำให้คนอุทัยหันมาทำงานวิจัยเกี่ยวกับเมืองอุทัย
ปี 2558 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ไปสร้างพระตำหนักที่เมืองอุทัย ชาวอุทัยพร้อมใจกันทาสีบ้านเป็นสีม่วงเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติ เรื่องราวเหล่านี้ในช่วงเวลาดังกล่าวยิ่งเป็นการกระตุ้นให้เมืองอุทัยเป็นที่รับรู้ในวงกว้างขึ้น ต่อมาทศวรรษ 2560 คุณเอนก นาวิกมูล และคุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ จัดทำหนังสือสมุดภาพเมืองอุทัยธานี ของสวยของงามอุทัยธานี บอกเล่าเมืองประวัติศาสตร์อุทัยผ่านภาพ สะท้อนภาพบรรยากาศเมือง ตลาด โรงสี ความเป็นเมืองค้าข้าว ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ มุสลิมปาทานซึ่งมีบทบาททางการเมืองตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีมาจนถึงปัจจุบัน
กระทั่งปี 2563 - 2564 อุทัยได้รับความสนใจในฐานะเมืองเก่า กระทั่งได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในเมืองเก่า เกิดผลงานจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรอีก 2 เล่ม ซึ่งมีการพล็อตจุดท่าน้ำ ท่าข้าวต่างๆ ของเมืองอุทัย ล่วงมาถึงปี 2567 นับว่าเป็นปีทองของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองอุทัย โดยมีภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากรที่ทำการศึกษาเมืองอุทัยผ่านงานด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ความสำเร็จของเมืองอุทัยในวันนี้คือได้รับยกย่องเป็นหนึ่งในร้อยเป้าหมายของการท่องเที่ยวแบบใหม่ ซึ่งเป็นผลจากความเป็นเมืองปิดของเมืองอุทัย และท้ายสุดขอจบที่วารสารเมืองโบราณ 50.1 บ้านสะแกกรัง เมืองอุไทยใหม่ ต้องขอบคุณที่วารสารเมืองโบราณทำให้เมืองอุทัยได้รับความสนใจมากขึ้นในกลุ่มคนทั่วไป
ด้านการทำงานของภาคประชาสังคมของชาวอุทัยที่ผ่านมานั้นก็มุ่งเน้นไปที่การฟื้นบ้านย่านเมือง นำมาสู่การพัฒนาถนนคนเดินตรอกโรงยา ทพ. กฤตพล เล่าว่า “โครงการแรกมาจากโครงการวิจัยจากทางส่วนราชการจังหวัดอุทัยธานีที่มีงบให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยนเรศวรมาศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาฟื้นฟูเมืองเก่า เกิดการศึกษาภูมิสถาปัตย์เมืองอุทัย ปรากฏเค้าเห็นว่าอุทัยเป็นเมืองที่มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน มีบ้าน เรือนแพ อาคารไม้ วัด ศาลเจ้า มีชุมชนที่มีเอกลักษณ์ รวมถึงศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขต่างๆ ด้วยภูมิสถาปัตย์ เช่น สร้างจุดพักผ่อนหย่อนใจ เกิดการเสนอโครงการ นอกจากนี้ด้วยทางมหาวิทยาลัยนเรศวรจำเป็นต้องมีโครงการที่ปรากฏผลการพัฒนา ถ้าเป็นโครงการที่เกี่ยวพันกับการก่อสร้างก็จะต้องใช้งบประมาณเยอะ ด้วยความเป็นเมืองอุทัยที่ไม่มีห้างสรรพสินค้า ไม่มีจุดศูนย์รวม จึงเสนอให้จัดซักจุดหนึ่งคืออุทัยควรจะมีถนนคนเดินเป็นแหล่งรวมที่คนจะมาพบกันคุยกัน กลุ่มเป้าหมายของถนนคนเดินที่จะจัดทีแรกไม่ใช่นักท่องเที่ยว แต่เป็นคนอุทัยด้วยกันเอง ด้วยเห็นว่าควรจะมีพื้นที่สำหรับการรวมกลุ่มพูดคุย พื้นที่กิจกรรมสำหรับเด็ก ในระยะแรก ม.นเรศวรเป็นผู้ดำเนินการโดยมีเทศบาลเมืองอุทัยสนับสนุน มีการใช้ภาพเก่าเล่าเรื่อง เพื่อรวมชุมชนให้เกิดกิจกรรม"
ทพ. กฤตพล พรพิบูลย์ เล่าถึงโครงการฟื้นบ้านย่านเมืองอุทัยธานี
"ในส่วนของผมได้ทำพญาไม้รีสอร์ทมาก่อนที่ทางการท่องเที่ยวจะเข้ามาก็เข้ามาร่วมฟังการนำเสนอผลการดำเนินงานของ ม.นเรศวรด้วย ก็มาคิดร่วมกันในกลุ่มคนอุทัยว่าทำไมเราไม่มาทำถนนคนเดินกันเองเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ประธานชุมชนต่างๆ จึงมารวมตัวกัน ร่วมกับภาคเอกชนบางส่วนในลักษณะงานจิตอาสามาช่วยกันขับเคลื่อนถนนคนเดิน จนพัฒนามาเป็นเปิดได้ทุกครั้ง มีการเชิญอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ซึ่งระยะแรกยังมีจำนวนไม่มาก ได้เชิญคุณชายถนัดศรี (หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์) และคุณหมึกแดง (หม่อมหลวงศิริเฉลิม สวัสดิวัตน์) ซึ่งท่านมาช่วยกันอย่างเต็มที่ สุดท้ายถนนคนเดินเป็นจุดเปลี่ยน ทำให้คนมาเที่ยวอุทัยเยอะขึ้นตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวจังหวัดอุทัยในพื้นที่อำเภอเมืองที่มาเที่ยวถนนคนเดินก็ได้ขยายเพิ่มเติมเดินทางไปท่องเที่ยวยังอำเภออื่นๆ เช่น ห้วยขาแข้ง แก่นมะกรูด วัดถ้ำเขาวง ต้นไม้ยักษ์ อำเภอบ้านไร่ หุบป่าตาด อำเภอลานสัก
ส่วนโครงการฟื้นบ้านย่านเมืองได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ สวนดุสิต ได้แนวทางมาจากโครงการฟื้นบ้านย่านเมืองที่เชียงใหม่ เบื้องต้นคิดเรื่องการท่องเที่ยวก่อน ทำแผนที่เดินดิน ตอนแรกคิดแค่การเดินในตลาด เพราะคิดว่าเป็นเมืองที่เดินเล่นได้ มีอะไรน่าสนใจให้คนเดินเล่น ไม่ได้คิดถึงขนาดมองภาพมุมกว้าง โฟกัสจุดเดียวคือในตลาด และเห็นว่าอุทัยมีเรื่องอาหาร ขนม ซึ่งสืบทอดตั้งแต่ชาวจีนโพ้นทะเลเข้ามาตั้งรกรากในอุทัยมาจนถึงปัจจุบัน คัดเลือกมา 10 ร้าน สืบประวัติเกิดเป็นบ้านเล่าเรื่อง 10 แห่ง และได้น้องปรางจากคณะโบราณคดี ม.ศิลปากรมาช่วยจัดทำเอกสาร อันนี้เป็นงานของคนในท้องถิ่นที่เราทำในแบบความเข้าใจของเรา ยังไม่ได้สืบค้นอะไรเยอะ
นอกจากนั้นก็มีงานอื่นๆ เช่น งานของคุณอามาโนช พรพิบูลย์ ซึ่งเก็บความและได้รับสืบทอดมาจากคุณแม่ของท่านซึ่งเป็นนักเล่าเรื่องกลายมาเป็นบันทึกความทรงจำของอุทัยธานี ทั้งงานวิจัย เรื่องเล่า และเรื่องอื่นๆ ทั้งหมด วารสารเมืองโบราณมาทำให้สมบูรณ์ขึ้น เป็นงานที่เป็นประโยชน์มาก ไม่คิดว่าเราจะได้เห็นภาพนั้น เป็นแนวทางซึ่งดีสำหรับประวัติศาสตร์ทุกท้องถิ่น เพราะไม่ว่าใครอยู่ถิ่นไหนย่อมอยากรู้เรื่องราวของถิ่นนั้น ถ้าเรามีกระบวนการ มีเรื่องราว มีขั้นตอนการเดินที่ถูกต้อง เป็นแนวทางที่ดีที่หลายๆ ที่ซึ่งมีประวัติศาสตร์มีเรื่องราวจะนำไปทำต่อ”
ต่อมาคุณอภิญญาได้เล่าถึงการทำงานวารสารเมืองโบราณ 50.1 บ้านสะแกกรัง เมืองอุไทยใหม่ โดยอาศัยต้นทุนเดิมจากการศึกษาค้นคว้าที่คนในพื้นที่และหน่วยงานต่างๆ ได้ดำเนินการไว้ผนวกกับการสำรวจและพูดคุยกับผู้รู้ในพื้นที่ “พื้นที่อุทัยธานีมีการศึกษารวบรวมข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพเก่า หนังสือเก่า ทำให้การทำงานไม่ยากจนเกินไป... กระบวนการทำงานสามารถเริ่มจากข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่เดิม จากนั้นทำการสำรวจชุมชนเรือนแพ บ้านเรือน โดยเริ่มต้นพื้นที่จากวัดพิชัยปุรณาราม ทางด้านใต้จนถึงวัดโค่ง (วัดธรรมโสภิต) ทางด้านเหนือ เข้าไปพูดคุยกับผู้รู้หลายๆ ท่าน กระทั่งได้เรื่องราวเกี่ยวกับเศรษฐกิจข้าว บ้านเรือนเก่า เรือนแพ การล่องซุง การสำรวจในปัจจุบันพบความเปลี่ยนแปลงไปจากสิ่งที่เคยได้รับการบันทึกไว้ “สิ่งที่ไม่เห็นแล้วเลยก็คือโรงสี และท่าข้าวซึ่งเคยมีเรียงราย ที่เหลือร่องรอยอยู่มีแค่โรงสีปล่องช้างตรงวัดโค่ง วัดธรรมโสภิต เราเลยต้องค่อยๆ พล็อตจุด โดยนำงานจากคณะสถาปัตย์ฯ ม.ศิลปากรมาเช็คข้อมูล และสืบค้นต่อ”
คุณสุทธิชัยเล่าถึงกระบวนการทำแผนที่บ้านสะแกกรัง
ด้านคุณสุทธิชัยเล่าถึงกระบวนการทำแผนที่ว่า “ก็หนักหน่วงสำหรับอุทัยธานีกว่าจะมาเป็นภาพนี้ ผมไม่รู้จักอุทัยธานีมาก่อน ได้ลงพื้นที่อุทัยครั้งแรกรู้สึกชอบมาก ชอบเรือนแพในน้ำ ชอบวิถีชีวิตที่สโลว์ไลฟ์ เงียบๆ ไปเดินถ่ายรูปทุกวันด้วยช่วงระยะของเมืองเดินได้ ระยะเวลาหลายวันที่ไปคุยกับชาวบ้านได้ข้อมูลเต็มไปหมด นอกจากจดก็ต้องจำแล้วก็ต้องฝัน ต้องถามต่อว่าโรงสี ท่าต่างๆ ลักษณะเป็นยังไง ผมได้ข้อมูลเยอะมากจนต้องกลับบ้านก่อน ซึ่งข้อมูลไม่สามารถจะวาดลงไปได้ทั้งหมด พอกลับมาตั้งหลักค่อยๆ ทำภาพก็คิดว่าต้องทำให้สมกับที่แต่ละท่านให้ข้อมูลมาให้ได้ ตามที่ได้สัญญาไว้ว่าภาพจะกลับไปสู่ทุกคน ควันจากปล่องโรงสีแสดงความรุ่งเรืองของยุคสมัยที่มีการค้าข้าว ภาพเรือ ผู้คน บึงเพนียด จุดเล็กๆ ที่บอกถึงการมีอยู่จริงของสิ่งเหล่านี้”
คุณอภิญญาเสริมว่า “เราต้องไปเก็บข้อมูลก่อนและเป็นคนชี้จุดว่าควรเน้นอะไรบ้าง การทำแผนที่จึงต้องเน้นตรงจุดที่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงก่อน เช่น วัดต่างๆ โรงเรียน โรงภาพยนตร์ ตลาด หรือตัวอย่างบ้านพิทักษ์อรรณพซึ่งเป็นคหบดีท่านหนึ่ง บ้านหลวงพิทักษ์ภาษาซึ่งเป็นผู้ที่สร้างอุโบสถแปดเหลี่ยมที่วัดอุโปสถาราม เราโชคดีที่ได้เข้าไปคุยกับลูกหลานของท่านและมีโอกาสได้เข้าดูอาคารเก่าซึ่งเราสามารถนำมาใส่ในแผนที่ของเราได้ ส่วนพวกท่าข้าว โรงสีต่างๆ ก็ต้องพล็อตจุดแล้วอาศัยข้อมูลจากการพูดคุย หรือบริเวณโรงไม้จี่ฮะไถ่ตรงหลังศาลเจ้ากวนอู เราเห็นในภาพถ่ายเก่าศาลเจ้ากวนอูที่ถูกเผยแพร่ว่ามีปล่องโรงสีอยู่ข้างหลัง แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว จึงเกิดข้อสงสัยว่าคือโรงสีอะไร ตอนไปสำรวจพบว่าเป็นที่ตั้งของโรงขายไม้แปรรูปจี่ฮะไถ่ ซึ่งเป็นโรงขายไม้แปรรูปแห่งแรกๆ ของอุทัย ซึ่งเมื่อเดินเข้าไปข้างในพบว่าฐานปล่องโรงสีนั้นยังอยู่ เป็นข้อยืนยันว่าเคยมีโรงสีอยู่... ดังนั้นการทำงานของทีมงานทุกครั้งจำเป็นต้องอาศัยการ recheck ข้อมูลเป็นจำนวนมาก ภาพวาดแผนที่จึงถูกแก้ไขหลายครั้งเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด การทำงานทั้งหมดจึงใช้เวลาค่อนข้างมาก
สำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดอุทัยธานีนั้น ตั้งแต่ปี 2522 เคยมีการจัดทำวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 5 ฉบับที่ 5 ซึ่งมีการขึ้นเขาปลาร้าสำรวจภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ และเรื่องราวอื่นๆ เกี่ยวกับจังหวัดอุทัย ล่วงมาถึงปี 2567 วารสารเมืองโบราณฉบับที่ 1 นั้นมีหลากหลายเรื่องราวที่ถูกนำมาถ่ายทอด อาทิ เมืองโบราณบึงคอกช้าง ฮกแซตึ๊ง การแห่เจ้า ความเปลี่ยนแปลงของชาวนาอำเภอหนองฉาง และด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นประวัติศาสตร์ที่ยังอยู่ในความทรงจำของผู้คน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ความขัดแย้ง ความรุ่งเรือง ความร่วงโรย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทางทีมงานจึงจำเป็นต้องระมัดระวังและรับผิดชอบกับข้อมูลที่นำเสนอออกไป กรณีของวารสารฯ ฉบับบ้านสะแกกรังได้รับกระแสการตอบรับด้วยดีจากคนในพื้นที่ ถือว่าเป็นผลงานแรกของปีที่ภูมิใจมากซึ่งงานเสวนาครั้งนี้ก็เป็นผลสืบเนื่องจากที่ทางทีมงานอยากทราบการตอบรับว่าเมื่อชิ้นงานได้ถูกเผยแพร่กลับไปสู่ท้องถิ่นแล้วได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร”
บรรยากาศวงเสวนา "ฟื้นถิ่น ฟื้นย่าน ผ่านแผนที่"
ผศ. สาลินี ในฐานะที่เป็นคนอุทัยธานีได้แสดงความเห็นต่อวารสารเมืองโบราณฉบับบ้านสะแกกรัง ว่า
“ความรู้สึกแรกต่อวารสารฯ ฉบับบ้านสะแกกรังคือความว้าว เพราะภาพที่เห็นเมืองอุทัยคือพอพ้นจากศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ที่นี่ก็ยังเป็นเมืองเงียบๆ แต่แผนที่ชุดนี้สามารถคืนชีวิตความรุ่งเรืองในอดีตของอุทัยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นเมืองที่โตมาด้วยการค้าข้าวเปลือก คิดว่าตอบโจทย์ตรงนี้ชัดมากๆ เมื่อวานนี้ได้คุยถามความคิดเห็นกับน้องซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ เค้าบอกว่าเค้าเห็นแล้วเค้าภูมิใจว่าอุทัยเมืองเล็กๆ แห่งนี้เคยมีสตอรี่ มีเรื่องราวเรื่องเล่า และเท่าที่ทราบแผนที่ชุดนี้ทางเทศบาลเมืองอุทัยธานีได้นำไปขยายใหญ่และนำไปใช้เป็นแผนที่โปรโมตงานตักบาตรเทโวเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มันถูกใช้เป็นรูปธรรมจริงๆ และคิดว่าจะถูกใช้ไปเนิ่นนานสำหรับการพูดถึงอดีตของอุทัยธานีที่เคยรุ่งเรืองด้วยการค้าข้าว สรุปประเด็นแรกคือจากงานชิ้นนี้สามารถสร้างความภูมิใจให้กับชาวอุทัยธานี
ประเด็นที่สองมันอาจจะนำไปสู่การต่อยอด เช่น เด็กนักเรียนมัธยมจากอำเภออื่นๆ หากได้เห็นแผนที่ชุดนี้อาจจะนำไปสู่การตั้งคำถามและค้นคว้าต่อว่าแล้วหนองฉางบ้านฉัน ทัพทันบ้านฉันเป็นอย่างไร อุทัยมีลักษณะเฉพาะตัวทุกอำเภอ หนองฉางเป็นดงมอญ เป็นคนมอญเก่า ทัพทันก็มีเรื่องเล่ามีอะไรต่างๆ ประเด็นที่สองที่มองเห็นคือมันน่าจะปลุกหรือกระตุ้นการศึกษาต่อยอดประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอุทัยในโซนพื้นที่อื่นๆ ด้วย อีกโซนที่คิดว่าน่าสนใจศึกษามากคือโซนที่เรียกบ้านท่าซุง ตรงนั้นในประวัติศาสตร์คือประตูบานแรกที่คนจะล่องเรือมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วจะเข้าสะแกกรัง เป็นชุมชนเก่า มีวัดเก่า ถูกบันทึกในเล่าเรื่องเมืองสยามของบาทหลวงปัลเลอกัวร์ซ์ว่ามีโรงงานถลุงเหล็กโดยคนจีน และที่น่าสนใจคือยังมีร่องรอยให้เห็น อุทัยมีพื้นที่ในการศึกษาเยอะมาก ถ้าคุณไปสว่างอารมณ์คุณจะได้ไปบึงคอกช้างเมืองทวารวดีซึ่งสมบูรณ์มาก ก็หวังว่าแผนที่นี้จะเป็นบานประตูบานแรกที่เปิดให้เด็กๆ หรือคนอุทัยเองได้สนใจศึกษาบ้านเกิดตัวเองมากขึ้น งานนี้มีคุณูปการมาก ขอเป็นกำลังใจให้ทีมงานทำงานที่นี้ต่อไป
ด้าน ทพ. กฤตพล พรพิบูลย์ กล่าวว่า “อย่างที่ผมบอกคือได้เห็นแผนที่ก็ดีใจ จากตัวหนังสือได้แปลงเป็นภาพได้เห็นภาพชัด และเราด้วยทำเรื่องการท่องเที่ยวอยู่แล้ว ที่อุทัยมีการล่องเรือเค้าก็จะเล่าเรื่องท่าข้าว แผนที่นี้ก็จะเป็นตัวสามารถนำไปอธิบายแขกที่มาร่วมกิจกรรมได้ ส่วนตัวผมอยู่ในสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวก็กระจายข่าวนี้กับสมาชิกให้นำข้อมูลไปใช้ ในส่วนตัวก็นำวารสารฯ ไปวางในโรงแรม เป็นหลักฐานใช้ประกอบในการเล่าเรื่อง ในอนาคตของจังหวัดที่ได้รางวัล Green Destination จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ได้เล่าวิถีชีวิตชุมชนชาวแพแห่งสุดท้าย และนำเสนอเรื่อง Uthai Thani Old Town การทำแผนที่และวารสารฯ ก็เป็นสิ่งที่เราได้นำไปใช้ในการเล่าเรื่องเมือง เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เป็นมูลค่าทางการท่องเที่ยวที่ส่งต่อได้ไม่สิ้นสุด”