คลองบางกอกน้อย ในความทรงจำของเทิม มีเต็ม

คลองบางกอกน้อย ในความทรงจำของเทิม มีเต็ม

 

“ผมเป็นคนเมืองธนบุรีโดยตรง เกิดที่บ้านบุ ซึ่งเป็นบ้านทำขัน”

 

เทิม มีเต็ม หรือที่ใครๆ เรียกอาจารย์เทิม ด้วยท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญการอ่านจารึกของกรมศิลปากร แม้วันนี้ท่านจะมีอายุถึง 87 ปีแล้ว แต่ยังคงจดจำเรื่องราวชีวิตของสองฝั่งคลองบางกอกน้อยได้อย่างแม่นยำ ด้วยท่านเกิด เติบโต บวชเรียน และดำเนินชีวิตตามวิถีคนคลองจนถึงรุ่นหนุ่ม ก่อนจะย้ายจากบ้านริมคลองเข้าไปอาศัยอยู่หลังวัดไชยทิศที่อยู่ลึกเข้าไปด้านใน ภาพชีวิตชาวคลองบางกอกน้อยที่ท่านถ่ายทอด จึงอยู่ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2477-2485

 

“คุณแม่เป็นช่างทำขัน ลุงซึ่งเป็นพี่ชายของแม่ก็เป็นช่างตีขัน ป้าสะใภ้เป็นช่างลายขันและช่างบุขันพี่สาวเป็นช่างสูบ ส่วนผมเองไม่ได้เป็นช่างอะไรเลย”

อาจารย์เทิมย้อนเล่าถึงพื้นเพครอบครัว แม่ของท่านเป็นคนบ้านแหลมเมืองเพชรบุรีมีเชื้อสายอิสลามทางคุณตาซึ่งเป็นนายกองที่นำน้ำเสวยจากแม่น้ำเพชรบุรีเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านชื่อนายกองแตง ส่วนยายชื่อหริ่ม เป็นคนบางจาน ในเขตพื้นที่เดียวกัน เนื่องจากคุณตาอยู่ในสังกัดของสกุลบุนนาค คือ เจ้าคุณทหารหรือเจ้าคุณกรมท่า (เจ้าพระยาสุรวงศ์ ไวยวัฒน์-วร) เมื่อท่านนำน้ำเสวยจากแม่น้ำเพชรบุรีเข้ามากรุงเทพฯ จะจอดเรือที่ท่าหน้าวัดอนงคารามคลองสาน ซึ่งแม่เล่าว่าน้ำที่นำมาใส่โอ่งดินใบใหญ่ผูกด้วยผ้าขาว และมีตาครั่งประทับไว้ ในวัยเด็กเมื่อจำความได้ราวอายุ 5 ขวบ ตัวอาจารย์อาศัยอยู่กับคุณปู่และคุณอามาตลอด โดยบ้านของปู่และอาตั้งอยู่ในบริเวณบ้านของพระยาเผด็จดุลยบดีศรีสรคม (เลียบ อรรถยุกติ) เพราะคุณปู่ของท่านเป็นคนในสังกัดของพระยาเผด็จฯ ซึ่งสมัยนั้นไม่ได้เรียกว่าเป็น “ข้ารับใช้” แต่เรียกว่าเป็น “คน ของพระยาเผด็จฯ” ในช่วงหน้าทุเรียนตกผล พ่อมีหน้าที่ไปเฝ้าสวนทุเรียนให้คุณหญิงเลื่อน ภรรยาของพระยาเผด็จดุลยบดีฯ  ส่วนคุณปู่มีหน้าที่ในเวลาเข้าพรรษาต้องรับคุณหญิงเลื่อนกับธิดา-คุณนายพร้อมไปทำบุญที่วัดภาวนาภิรตารามทุกวันพระ

 

ภาพถ่ายทางอากาศของปีเตอร์ วิลเลียมส์ ฮันท์ แสดงให้เห็นสภาพปากคลองบางกอกน้อย บริเวณโรงซ่อมหัวรถจักรของสถานีรถไฟธนบุรี 

 

บ้านของปู่กับบ้านของพระยาเผด็จฯ อยู่ตรงข้ามปากคลองบางบำหรุเยื้องกับวัดนายโรง โดยบ้านเจ้าคุณเป็นเรือนโบราณ 2 หลังแฝดและมีเรือนชานกลางตั้งอยู่ริมน้ำ ส่วนบ้านของปู่อยู่ถัดเข้ามาโดยมีคูน้ำเล็กๆ คั่นกลางเป็นเรือนมุงหลังคาจาก ฝาก็ทำด้วยจาก ประตูใช้ไม้ไผ่ มิได้เป็นประตูไม้ถาวรเพราะไม้มีคนลักเล็กขโมยน้อยเหมือนปัจจุบัน ตัวอาจารย์เองนั้นพักอาศัยและบวชเรียนที่วัดนายโรงแต่เยาว์วัย เนื่องจากมีหลวงอาเป็นเจ้าอาวาสอย สมัยนั้นชีวิตเด็กวัดแตกต่างจากปัจจุบันมาก เพราะมีกฎระเบียบและข้อห้ามที่ทางวัดกำหนดขึ้น คือ 1) ห้ามฆ่าสัตว์ 2) ห้ามพูดปด 3) ในเวลากลางคืนต้องต่อหนังสือค่ำ คือ ทำวัตรสวดมนต์ อีกทั้งต้องปรนนิบัติทำหน้าที่ดูแลพระสงฆ์และสามเณรทุกรูป

 

แม้จะอาศัยอยู่ที่วัดนายโรง แต่เดินไปเรียนหนังสือที่วัดบางบำหรุซึ่งอยู่ใกล้กัน คนสมัยก่อนเรียกสองวัดนี้ว่า “วัดนอก วัดใน” เพราะวัดนายโรงตั้งอยู่ริมคลอง ส่วนวัดบางบำหรุอยู่ลึกเข้าไปในสวนที่เรียกว่าวัดนายโรงนั้น อาจารย์อธิบายว่าเพราะนายโรงละครเป็นผู้สร้าง “สมัยรัชกาลที่ 3 มีนายโรงอยู่ 2 ท่านด้วยกัน คือ นายโรงบุญยังกับนายโรงกรับ นายโรงบุญยังสร้างวัดๆ หนึ่งเรียกว่า ‘วัดละครทำ’ ที่ตั้งอยู่สี่แยกพรานนก ส่วนนายโรงกรับก็มาสร้างวัดนายโรง เมื่อผมเป็นเด็ก เขาจะเรียกกันว่า ‘วัดเจ้ากรับหรือวัดนายโรงกรับ’ ที่วัดนายโรงกรับนี้มีหมู่กุฏิอยู่หมู่หนึ่งเป็นห้องแถว ผมเคยถามคุณปู่ปานซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องตั้งและเป็นคนจีนคลองบางหลวง ‘แซ่เจี่ย’ บวชอยู่ที่วัดนายโรงจนกระทั่งสึกและอาศัยอยู่ที่วัดตราบจนเสียชีวิต ตอนนั้นผมอยู่ประมาณ ป.1 ป.2 แล้ว ท่านอายุประมาณ 80 ปี ผมถามท่านว่ากุฏิวัดนายโรงที่เป็นแถวๆ คือกุฏิอะไร ท่านบอกว่าเป็นเรือนพักของพวกละครนายโรงกรับ สมัยนั้นละครของนายโรงกรับไม่มีผู้หญิงแสดง เป็นผู้ชายล้วน จำได้ว่าที่เป็นตัวนาง พอบวชเป็นพระเรียกว่าขรัวตาหมัด” 

 

 

บ้านเรือนภายในคลองโดยทั่วไป มักสร้างเป็นเรือนชั้นเดียวด้วยไม้ ยกเสาสูง และหลังคามุงจาก ไม่มีรั่วกั้นด้านหน้า

หากเป็นเรือนผู้มีบรรดาศักดิ์ บางหลังสร้างเป็นอาคารตึก 2 ชั้น หลังคามุงจากบ้าง กระเบื้องว่าวบ้าง

(ภาพ : อรรถดา คอมันตร์ หนังสือ สมุดภาพความทรงจำ เมื่อครั้งแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง)

 

ชีวิตวัยเด็กที่วัดนายโรงใช่จะอยู่แต่ในกฎระเบียบของวัดเท่านั้น ความสนุกสนานที่อาจารย์ยังคงรำลึกถึงก็คือ การได้ลงคลองบางกอกน้อยโดยเฉพาะตอนเย็นในช่วงน้ำแห้งคลอง “ผมจะลุยจากวัดนายโรงเลาะไปตามริมคลอง เอากะลาใบหนึ่งสาดน้ำไปตามใต้ถุนบ้าน เก็บเหรียญอันละอัฐ อันละ (โส) ฬศ อันละไพ บางทีก็ได้สตางค์แดงที่มีรูเจาะ บางทีได้ของเล่นเป็นหม้อตาลใบเล็ก ได้นกหวีดเป็นตุ๊กตารูปเป็ด พอได้ของพวกนี้ก็เอามาเก็บใส่ตู้ไว้ เพราะผมเป็นหลานเจ้าอาวาสจึงได้สิทธิ์เป็นตู้ใบหนึ่ง เพราะมีนิสัยแบบนี้มาตั้งแต่เด็กกระมัง โตขึ้นมาเลยชอบพวกวัตถุโบราณเป็นส่วนใหญ่ ...ผมลุยตั้งแต่คลองบางกอกน้อยเรื่อยไปจนถึงสะพานรถไฟตรงวัดไก่เตี้ย ที่ปากคลองวัดไก่เตี้ยมีศาลเจ้าอยู่ศาลหนึ่งเรียกว่าศาลเจ้าแม่ทับทิม เขาเล่ากันว่ามีถ้ำจระเข้ ดังนั้นพอไปถึงวัดไก่เตี้ยผมก็ข้ามไปอีกฝั่งหนึ่ง เพราะถ้าผ่านหน้าศาลจะมีจระเข้นี่เป็นชีวิตช่วงหนึ่งของผม”

 

อาจารย์ได้เล่าถึงช่วงที่บวชเป็นพระภิกษุว่า ในปีที่บวชนั้น หลวงลุง คือ หลวงปู่ชื้น ธรรมปัญโญ ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดภาวนาภิรตาราม แต่ได้มาอยู่ช่วยวัดนายโรงให้มีพระสงฆ์ครบรับองค์กฐิน ท่านเป็นผู้อุปการะดูแลอาจารย์ตอนเป็นเณร เมื่ออายุอาจารย์ถึงเกณฑ์บวชเป็นพระภิกษุ ท่านจึงได้ไปเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช เจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เพื่อขออาราธนามานั่งเป็นพระอุปัชฌาย์ในการอุปสมบท แต่พระสังฆราชเจ้าท่านปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าท่านอยู่ฝ่ายธรรมยุต ไม่เคยไปนั่งเป็นอุปัชฌาย์ทางฝ่ายมหานิกาย แม้พระสงฆ์องค์อื่นๆจะทำ แต่ท่านไม่ทำ หลวงลุงจึงถามว่า ถ้าอย่างนั้นกุลบุตรผู้มีศรัทธาอยากจะได้พระอุปัชฌาย์ที่มีศีลาจริยวัตรงดงามจะได้จากที่ใด ท่านแนะนำให้ไปวัดอนงคาราม หลวงลุงจึงไปนิมนต์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทธสโร) ซึ่งตอนนั้นท่านมีอายุ 90 ปีแล้ว (พ.ศ. 2493) สมเด็จพระพุฒาจารย์ได้มานั่งเป็นพระอุปัชฌาย์ให้ ในขณะนั้นอาจารย์ยังเป็นสามเณรอยู่ สมเด็จพระพุฒาจารย์บอกว่าไม่ต้องสึก แต่ให้บวชต่อเป็นพระได้เลย หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นแล้ว สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) ก็ไม่เคยเข้าคลองบางกอกน้อยอีกเลย อาจารย์จึงเป็นลูกศิษย์คนสุดท้ายของสมเด็จฯ

 

บรรยากาศการสัญจรภายในคลอง ท่าเรือยังคงความสำคัญในวิถีชีวิตของผู้คน  

(ภาพ : อรรถดา คอมันตร์ หนังสือ สมุดภาพความทรงจำ เมื่อครั้งแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง)

 

อ่านเนื้อหาเต็มได้ในบทความ "คลองบางกอกน้อยในความทรงจำของเทิม มีเต็ม" เรียบเรียงโดย สุดารา สุจฉายา ในคอลัมน์ปกิณกะ : เรื่องเล่าชาวกรุง วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 43 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2560) 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น