เรื่องเล่าของ “อากงกะปั่ง” แห่งตลาดบางลี่

เรื่องเล่าของ “อากงกะปั่ง” แห่งตลาดบางลี่

 

“คุณตากะปั่ง แซ่ลิ้ม” เป็นคนเก่าแก่ที่ตลาดบางลี่ จังหวัดสุพรรณบุรี ถึงแม้ว่าคุณตาจะมีอายุมากถึง 90 ปีแล้ว แต่ด้วยท่าทีกระฉับกระเฉงปราดเปรียว ดูอารมณ์ดี และมีรอยยิ้มเปื้อนแก้มตลอดเวลา ทำให้คุณตาดูอ่อนวัยกว่าอายุจริงมาก อีกทั้งยังมีความทรงจำเป็นเลิศ สามารถจดจำเรื่องราวในสมัยก่อนได้อย่างค่อนข้างแม่นยำ

 

คุณตากะปั่ง แซ่ลิ้ม วัย ๙๐ ปี ด้วยรอยยิ้มอารมณ์ดี ทำให้คุณตาดูอ่อนวัยกว่าอายุจริงมาก

 

คุณตากะปั่งเป็นจีนแต้จิ๋ว เกิดที่เมืองจีน แต่พ่อกับแม่อพยพมาตั้งหลักแหล่งที่บางลี่ สุพรรณบุรี ตั้งแต่คุณตาอายุได้เพียง 1 ขวบ โดยพาครอบครัวเข้าจับจองที่ริมคลองสองพี่น้องเพื่อทำไร่ ปลูกผัก เช่น คะน้า กวางตุ้ง ฯลฯ แต่ช่วงหน้าน้ำที่น้ำขึ้นสูงก็ต้องหยุดทำเพราะปลูกผักไม่ได้ เมื่อพอมีทุนพ่อได้หาซื้อเรือไปรับข้าวจากชาวนาในย่านนั้นเพื่อขายต่อให้โรงสีในตลาดบางลี่ คุณตากะปั่งเล่าย้อนรำลึกเรื่องราวเก่าๆ ให้ฟังว่า

 

“สมัยนั้น รอบๆ นี้จนถึงแถบอู่ทอง มีแต่ทุ่งนาทั้งนั้น กงไม่ได้ผูกขาดว่าต้องรับซื้อข้าวจากใคร ล่องเรือไปเรื่อยๆ เอาเงินไปซื้อข้าว ไม่ได้เอาของไปแลก บางครั้งจอดเรือแล้วเดินลัดทุ่งเข้าไปซื้อข้าว พอข้าวเต็มลำเรือ ก็เอากลับมาขายที่บางลี่”

 

ภาพโปสการ์ดหน้าตลาดบางลี่ ริมคลองสองพี่น้อง เมื่อปี พ.ศ. 2509

 

 

วิถีชีวิตของผู้คนที่ตลาดริมน้ำเมืองสุพรรณบุรี เมือปี พ.ศ. 2478

 

ต่อมาคุณตาเปลี่ยนไปรับน้ำตาลและมะพร้าวจากอัมพวาขึ้นมาขายที่ตลาดบางลี่ ชาวบ้านเรียกเรือขนส่งสินค้าประเภทนี้ว่า “เรือบางช้าง” โดยคุณตาจะล่องเรือจากตลาดบางลี่ ผ่านตลาดบางสาม ตลาดบางหลวง ตลาดบางไทร ตลาดบางเลน ตลาดบางปลา ตลาดบางพระ ตลาดห้วยพลู ตลาดงิ้วราย ตลาดสามพราน ตลาดดอนหวาย ผ่านประตูน้ำบางยางเข้าคลองดำเนินสะดวก บางนกแขวก แล้วเอาเรือไปฝากบ้านคนรู้จักในตลาดอัมพวา ก่อนพายเรือบดลำเล็กเข้าไปหาซื้อมะพร้าวและน้ำตาลจากสวนด้านใน ใช้เวลาเดินทางจากตลาดบางลี่ราว ๓ วันจึงจะถึงอัมพวาโดยอาศัยเรือเครื่องลากโยงไปเป็นช่วงๆ ทั้งขาขึ้นและขาล่อง

 

บรรยากาศท่าข้าวสมัยก่อน เรือข้าวมาจอดเทียบท่า กุลีจะรับจ้างหาบข้าวจากเรือไปไว้ในโกดัง (ภาพจาก hlphotogallery.com)

 

ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมคลองกำลังเลือกซื้อสินค้าจากเรือที่พายมาขายถึงท่าน้ำหน้าบ้าน (ภาพจากศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณ)

 

คุณตากล่าวทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงสดใสว่า

“กงเดินเรือขึ้นล่องส่งมะพร้าวกับน้ำตาลนานร่วม 30 ปี ก่อนเลิกไป เพราะช่วงนั้นถนนหนทางเริ่มดี พ่อค้าแม่ค้านิยมขนส่งสินค้าด้วยรถยนต์เพราะสะดวกและรวดเร็วกว่า กงเองก็ขายเรือ แล้วซื้อรถบรรทุกมาวิ่งรับส่งสินค้าวิ่งไปทั่ว แล้วแต่คนว่าจ้าง ทุกวันนี้ยังติดนิสัยชอบเดินทางอยู่เลย ขับรถไม่ไหว แต่กงยังปั่นจักรยานเที่ยวทั่วตลาดบางลี่อยู่ทุกวันเลยนะ ไปบ้านคนรู้จักตรงนั้นตรงนี้ ไปช่วยงานบ้าง ไปนั่งคุยบ้าง สนุกดี ไม่เหงาด้วย”

 

หมายเหตุ* 

เก็บข้อมูลเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2559  


เกสรบัว อุบลสรรค์

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ