หากใครเดินทางผ่านอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา คงจะ “พลาด” หากไม่เลี้ยวรถเข้าไปสักการะ “หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” ที่วัดพะโคะ หรือ วัดราชประดิษฐาน
คอลัมน์ “ภาคสนาม : เที่ยวแบบวารสาร” ครั้งนี้เราขอแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวตามรอยประวัติหลวงปู่ทวดที่สทิงพระ ให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้รักการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือผู้มีศรัทธาในหลวงปู่ทวดที่ต้องการท่องเที่ยวและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน มาค่ะ ... สะพายกล้อง หยิบหมวกใบโปรด สวมรองเท้าคู่ใจ แล้วออกท่องเที่ยวท้องถิ่นไปพร้อมกันกับวารสารเมืองโบราณ
เส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ตามรอยหลวงปู่ทวดที่อำเภอสทิงพระ จัดการโดยชาวชุมชนชุมพลและชุมชนดีหลวง ซึ่งเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่รายรอบวัดพะโคะ ระยะไม่เกิน 2 กิโลเมตร จากพลังความศรัทธาที่สืบทอดเล่าขานกันมาจากรุ่นสู่รุ่นและมรดกวัฒนธรรมจำนวนมากที่มีอยู่ภายในพื้นที่ ถูกนำมาต่อยอดพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่ใกล้ชิดกับวิถีชุมชน
รถรางรับนักท่องเที่ยวในเส้นทางตามรอยหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด วัดพะโคะ
เราเริ่มต้นเส้นทางท่องเที่ยวกันที่จุดรวมพลหรือจุดบริการนักท่องเที่ยว ณ พิพิธภัณฑ์สมเด็จเจ้าพะโคะ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาวัดพะโคะ มีรถรางไว้บริการนักท่องเที่ยวที่สนใจท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะ รถรางสีสันสดใสที่รองรับผู้โดยสารได้มากถึง 30 คนต่อเที่ยว จะพานักท่องเที่ยวลัดเลาะผ่านถนนในชุมชนเข้าไปสู่สถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับหลวงปู่ทวด รวมถึงแหล่งโบราณสถานต่างๆ แต่หากใครสะดวกปั่นจักรยานหรือขับขี่รถจักรยานยนต์ไปด้วยตนเอง ทางจุดบริการนักท่องเที่ยวก็มีแผ่นพับแผนที่แนะนำสถานที่สำคัญต่างๆ ที่ต้องแวะตามรายทาง
แผนที่แสดงตำแหน่งสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ตามเส้นทาง
สถานที่แห่งแรกที่จะแนะนำให้รู้จักคือ ถ้ำคูหา ซึ่งเป็นถ้ำขุดที่พบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย เป็นศาสนถานในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระปรากฏหลักฐานโบราณสถานและโบราณวัตถุที่แสดงถึงการรับวัฒนธรรมศาสนาจากอินเดีย ทั้งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธมหายาน เก่าแก่ถึงราวพุทธศตวรรษที่ 12-13
"ถ้ำคูหา" เป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เก่าแก่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓
พระครูใบฎีกาศักรินทร์ สิริภทฺโท นำชมโบราณวัตถุต่างๆ ที่พบอยู่ใกล้กับถ้ำคูหา
ใกล้กับถ้ำคูหามี ตระพังพระ สระน้ำโบราณขนาดกว้างใหญ่ เป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่กับวัดพะโคะและพระมาลิกเจดีย์มาแต่โบราณกาล ตรงกลางตระพังพระมีเกาะอยู่กลางน้ำ ปัจจุบันมีต้นไม้ขึ้นรกทึบ ที่เกาะกลางตระพังแห่งนี้เคยพบโบราณวัตถุ ได้แก่ ประติมากรรมรูปพระอคัสตยะ ทำด้วยสำริด ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มัชฌิมาวาส อำเภอเมืองสงขลา และประติกรรมรูปนางตาราสี่กร ทำด้วยสำริด ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา จึงสันนิษฐานว่าเป็นสถานที่สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในสมัยโบราณ พื้นที่โดยรอบตระพังพระถูกโอบล้อมด้วยทุ่งนาที่มีตาลโตนดขึ้นอยู่เรียงราย และหากมาในช่วงที่ดอกบัวในตระพังพระกำลังบานสะพรั่ง บริเวณนี้ถือเป็นจุดถ่ายภาพที่สวยที่สุดแห่งหนึ่ง
จากตระพังพระมองเห็นเจดีย์วัดพะโคะอยู่ไกลๆ
จากตระพังพระ จะเห็นป้ายบอกทางทำเป็นรูปการ์ตูน “เด็กชายปู” เด็กน้อยไว้จุกนุ่งโจงสีสันสดใส เป็นภาพแทนของหลวงปู่ทวดในวัยเด็ก ตามประวัติที่บอกเล่าสืบมาว่าเดิมท่านชื่อ “ปู” เป็นบุตรของนายหูกับนางจันทร์
ป้ายบอกทางรูป "เด็กชายปู" ภาพแทนหลวงปู่ทวดในวัยเด็ก
ป้ายบอกทางรูปเด็กชายปูนำทางเราไปสู่สถานที่ถัดไปคือ ต้นเลียบ ที่เชื่อกันว่าเป็นสถานที่ฝังรกของหลวงปู่ทวด ซึ่งอยู่ในที่สวนของท่านเศรษฐีปาน ตามที่ปรากฏอยู่ในประวัติของหลวงปู่ทวด ต่อมาบริเวณนี้ได้ก่อตั้งเป็นสำนักสงฆ์ต้นเลียบ และได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น วัดต้นเลียบ สืบมาถึงปัจจุบัน
สถูปที่สร้างขึ้นตรงจุดที่เชื่อว่าเป็นสถานที่ฝังรกหลวงปู่ทวด
ต้นเลียบต้นนี้มีความสูงกว่า 28 เมตร แผ่กิ่งก้านสาขาออกไปกว้างขวาง ที่ใต้ต้นเลียบมีสถูปองค์เล็กๆ ตั้งอยู่ เล่ากันว่าสร้างขึ้นตรงจุดที่ฝังรกของหลวงปู่ทวด ภายหลังได้รับการบูรณะใหม่เป็นสถูปโลหะดังที่เห็นในปัจจุบัน ด้วยความอุดมสมบูรณ์และความสำคัญในฐานะต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ประจำท้องถิ่น ต้นเลียบต้นนี้ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 63 รุกขมรดกของแผ่นดิน เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสเจริญพระชนมายุ 63 พรรษา เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2561 สร้างความภาคภูมิใจให้กับท้องถิ่น
"ต้นเลียบ" รุกขมรดกของแผ่นดิน
นอกจากนี้ภายในวัดต้นเลียบยังมีจุดสำคัญอื่น ๆ ที่ต้องไม่พลาดแวะชม ได้แก่ สักการะสังขารของพ่อท่านจำเนียร โชติธมฺโม อดีตเจ้าอาวาสสำนักสงฆ์ต้นเลียบ และศาลตาหู-ยายจันทร์ บิดามารดาของหลวงปู่ทวดที่มีผู้มาสร้างอุทิศถวายไว้ และบริเวณตรงข้ามวัดต้นเลียบ เป็นสวนไผ่ขนาดย่อมๆ เรียกว่า บ้านสวนจัน ชาวบ้านเตรียมที่ทางไว้สำหรับจัดกิจกรรมของชุมชน และกำลังริเริ่มทำตลาดนัดเล็กๆ มีอาหารพื้นบ้านให้นักท่องเที่ยวได้ชิมกัน ไม่ว่าจะเป็นยำลูกโหนด แกงเลียง ขนมดู ซึ่งตลาดบ้านสวนจันแห่งนี้ยังอยู่ในขั้นทดลองของกลุ่มชาวบ้านที่ต้องการพัฒนาให้เส้นทางท่องเที่ยวภายในชุมชนดีหลวงมีอะไรให้น่าดูชมมากขึ้น
ทุ่งนา ป่าหญ้า ดงโหนด เป็นภูมิทัศน์สวยงามที่เห็นอยู่ทั่วไปในบริเวณนี้
จากวัดต้นเลียบ เดินทางต่อไปยังสำนักสงฆ์นาเปล ระหว่างทางจะผ่านทุ่งนาที่มีตาลโตนดขึ้นอยู่มากมายนับไม่ถ้วน วิถีชีวิตของคนสทิงพระแต่ดั้งเดิมนั้น นอกจากการทำนาแล้ว ยังทำน้ำตาลโตนดควบคู่กันมาช้านาน ซึ่งจุดเด่นบนเส้นทางสายนี้ คือ ถนนสายโหนด ที่ตลอดทั้งสองฝั่งถนนมีต้นโหนดหรือตาลโตนดปลูกเรียงรายเป็นแถว ชาวบ้านเล่าว่าตาลโตนดเหล่านี้ถูกปลูกขึ้นเมื่อราว 40 ปีที่แล้ว ถือเป็นจุดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวต้องแวะเก็บภาพ
"ถนนสายโหนด" ต้นตาลโตนดที่เรียงรายอยู่ทั้งสองฟากถนนปลูกขึ้นเมื่อราว 40 ปีมาแล้ว
สำนักสงฆ์นาเปล อยู่ไม่ไกลจากวัดต้นเลียบ แม้ว่าไม่มีอะไรให้เที่ยวชมมากนัก เพราะกำลังก่อสร้างอาคารต่างๆ แต่มีสิ่งหนึ่งที่สะดุดตาคือ งานประติมากรรมรูปงูตัวใหญ่กำลังคายลูกแก้วให้เด็กน้อยที่นอนอยู่ในเปล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องเล่าประวัติหลวงปู่ทวดที่สอดคล้องกับชื่อบ้านนามเมืองของบริเวณนี้ ที่เรียกว่า “นาเปล” เล่ากันว่า เมื่อครั้งที่หลวงปู่ทวดยังเป็นเด็กชายปูอยู่นั้น นายหูและนางจันทร์ผู้เป็นบิดา-มารดา ได้นำมาผูกเปลเลี้ยงไว้ที่ปลายนา แล้วเกิดเหตุอัศจรรย์เมื่อมีงูบองหลาหรืองูจงอางยักษ์มาคายลูกแก้วทิ้งไว้ที่บนเปล ต่อมาลูกแก้วนั้นได้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของหลวงปู่ทวด
รูปปั้นงูจงอางยักษ์กำลังคายลูกแก้วที่สำนักสงฆ์นาเปล
วัดดีหลวง ตำบลดีหลวง เป็นสถานที่หนึ่งที่เกี่ยวพันกับประวัติของหลวงปู่ทวด เป็นสถานที่ที่เด็กชายปูมาร่ำเรียนเขียนอ่านกับท่านสมภารจวง เจ้าอาวาสวัดดีหลวง ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุง ภายในวัดดีหลวงมีโบราณวัตถุสถานหลายอย่างที่น่าสนใจให้แวะชม อาทิ สถูปสมภารจวงที่ตั้งอยู่ด้านหน้าอุโบสถ ซึ่งเป็นงานช่างท้องถิ่น เดิมเป็นอาคารโถงก่อนจะก่อผนังขึ้นภายในหลัง ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปประธานประทับอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว
อุโบสถวัดดีหลวง ด้านหน้ามีสถูปสมภารจวงองค์เล็กๆ มีหลังคาคลุมตั้งอยู่
นอกจากนี้ในบริเวณวัดดีหลวงมีศาลาเก่าแก่ ซึ่งเป็นงานช่างท้องถิ่นอยู่อีก 2 หลัง หลังหนึ่งตั้งอยู่ด้านข้างอุโบสถ แม้อยู่ในสภาพทรุดโทรมตามกาลเวลา แต่ทรวดทรงและลวดลายไม้ฉลุยังคงเห็นเค้าความงาม อีกหลังหนึ่ง คือ ศาลาอธิการแก้ว พุทธมณี สร้างขึ้นโดยพ่อท่านแก้ว อดีตเจ้าอาวาสวัดดีหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2485 เพื่อใช้เป็นที่สวดอภิธรรมศพของตัวท่านเอง ถือเป็นงานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นในเขตสทิงพระที่มีความสวยงามและอยู่ในสภาพสมบูรณ์ หากใครมาเที่ยวตรงกับวันอาทิตย์ ภายในวัดดีหลวงจะมีตลาดนัดเล็กๆ ที่ชาวบ้านนำพืชผัก อาหาร และขนมต่างๆ มาตั้งขายในราคาย่อมเยา
"ศาลาอธิการแก้ว พุทธมณี" ตั้งอยู่ภายในวัดดีหลวง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2485
ศาลาเก่าแก่อีกหลังหนึ่งที่ตั้งอยู่ภายในวัดดีหลวง
ปิดท้ายกันด้วยสถานที่สำคัญของการท่องเที่ยวตามรอยหลวงปู่ทวด คือ วัดพะโคะ ตำบลชุมพล เป็นวัดที่หลวงปู่ทวดเป็นเจ้าอาวาสและทะนุบำรุงจนรุ่งเรือง ก่อนท่านจะหายไปเมื่อได้ 80 พรรษา ที่วัดพะโคะเป็นที่เก็บรักษา “ลูกแก้วของหลวงปู่ทวด” เชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามที่ปรากฏในตำนานหลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด สำหรับนักท่องเที่ยวสายบุญต้องเข้าไปสักการบูชา จึงจะถือว่าครบถ้วนสมบูรณ์ และอย่าลืมแวะขึ้นไปสักการะ “พระมาลิกเจดีย์” ตั้งอยู่บนยอดควน (ยอดเขา) ที่สูงที่สุดในบริเวณนี้ ด้านบนจะมองเห็นทัศนียภาพของคาบสมุทรสทิงพระที่ทางทิศตะวันออกเป็นทะเลอ่าวไทย ส่วนทิศตะวันตกเป็นทะเลสาบสงขลา
พระมาลิกเจดีย์ วัดพะโคะ ตั้งเด่นอยู่บนยอดเขาพะโคะ
หลังจากท่องเที่ยวจบครบสายบุญตามที่ตั้งใจแล้ว ถ้าไม่มีของฝากติดไม้ติดมือกลับไปก็กระไรอยู่... ที่ บ้านคลองฉนวน ตำบลชุมพล ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดพะโคะ มีกลุ่มอาชีพผลิตภัณฑ์น้ำตาลโตนด “ดาวราย” ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของชาวบ้าน มีผลิตภัณฑ์น้ำตาลโตนดแปรรูปเป็นของฝากหลากหลายรูปแบบ เช่น น้ำตาลโตนดผง น้ำตาลแว่น เป็นต้น และหากใครอยากจะเรียนรู้กระบวนการทำน้ำตาลโตนด ตั้งแต่การขึ้นต้นโหนดไปจนถึงการเคี่ยวน้ำตาล เราขอแนะนำให้ไปเที่ยวในช่วงหน้าแล้ง ตั้งแต่ราวเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ซึ่งเป็นฤดูกาลที่ชาวบ้านจะขึ้นไปเก็บน้ำตาลสดกันมาก มีทั้งรอบเช้าและบ่าย ถือเป็นช่วงเวลาที่วิถีโหนดแห่งสทิงพระจะคึกคักมากที่สุดในรอบปี
การเดินทางไปยังวัดพะโคะ
รถยนต์ส่วนตัว ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 408 สงขลา-นครศรีธรรมราช ระยะทางจากตัวเมืองสงขลาราว 70 กิโลเมตร หรือ 1 ชั่วโมง
รถตู้โดยสาร สามารถใช้บริการคิวรถตู้ได้หลายแห่ง เช่น คิวรถตู้สงขลา-ระโนดที่ห้าแยกน้ำกระจาย เป็นต้น
สนใจติดต่อชุมชนท่องเที่ยว
Facebook : พิพิธภัณฑ์สมเด็จเจ้าพะโคะ หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด
เส้นทางตามรอยหลวงปู่ทวด-พะโคะ
โทรศัพท์ 082 431 2716 (พระครูใบฎีกาศักรินทร์ สิริภทฺโท) , 086 052 6718 (คุณบุญสิริ)