สมัยฟูนันในประเทศไทย
ศรีศักรทัศน์

สมัยฟูนันในประเทศไทย

 

“...าจารย์มานิต วัลลิโภดม และอาจารย์ชิน อยู่ดี ทำการศึกษาค้นคว้าจนเชื่อได้ว่าอู่ทองเป็นเมืองเก่าแก่กว่าสมัยอยุธยา โดยปรากฏหลักฐานมาแต่สมัยฟูนัน และน่าจะเก่าถึงสมัยสุวรรณภูมิตามตำนานมหาวงศ์ของลังกาด้วย นครรัฐร่วมสมัยกับอู่ทองหรือเมืองกิมหลิน คือ ละโว้และเมืองศรีมโหสถในจังหวัดปราจีนบุรี โดยเมื่อเส้นทางข้ามคาบสมุทรจากชายฝั่งอันดามัน ข้ามเทือกเขาตะนาวศรี มายังเขตสวนผึ้งและจอมบึงในจังหวัดราชบุรี เลาะตามลำน้ำแม่กลองในเขตจังหวัดกาญจนบุรี เข้าสู่เขตลุ่มน้ำจรเข้สามพัน จนถึงเมืองอู่ทองก่อนข้ามต่อไปยังบ้านเมืองฝั่งตะวันออก เช่น เวียดนาม และยูนนาน หมดความสำคัญลง ความเป็นศูนย์กลางเมืองท่าของอู่ทองก็ถูกแทนที่ด้วยเมืองนครชัยศรีหรือนครปฐมโบราณ ขณะที่เมืองละโว้และเมืองศรีมโหสถยังมีความสำคัญสืบเนื่องลงมาถึงสมัยหลัง...”

 

 

ชื่อบทความ     สมัยฟูนันในประเทศไทย

ผู้เขียน              อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม

คอลัมน์            บทบรรณาธิการ

ปีที่พิมพ์           วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 45 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2562)

“พระเวียง : เมืองตามพรลิงค์บนหาดทรายแก้ว”

 

สมัยฟูนันในประเทศไทย

ทุกวันนี้การค้นคว้าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โบราณคดีของประเทศไทยอยู่ในลักษณะติดเพดานเรื่องยุคสมัยทางวัฒนธรรม บรรดาแหล่งโบราณคดีที่เป็นบ้านเมืองทางประวัติศาสตร์ถูกกำหนดอายุสูงสุดเพียงแค่สมัยทวารวดี คือพุทธศตวรรษที่ 12 ลงมาเท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่าพัฒนาการของบ้านเมือง จากชุมชนในท้องถิ่นขึ้นเป็นเมือง เป็นรัฐ ทางประวัติศาสตร์เริ่มตั้งแต่สมัยทวารวดีลงมา และหากจะอธิบายให้เห็นว่ามีหลักฐานทางโบราณคดีที่เก่าแก่กว่าสมัยทวารวดีขึ้นไป ก็มักให้ความเห็นว่าเป็นสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 1-2 ลงมา (500 ปีก่อนคริสตกาล) เนื่องจากการพบโบราณวัตถุที่มาจากภายนอก เช่นจากทางอินเดียและยูนนาน ดังเช่นโบราณคดีเมืองอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น

 

ในเรื่องนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ได้ใช้หลักฐานเอกสารทางตำนานและพงศาวดารอธิบายว่า เป็นเมืองที่พระเจ้าอู่ทอง คือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เคยปกครองและเกิดโรคระบาด ผู้คนล้มตายจึงต้องทิ้งเมืองมาสร้างเมืองใหม่ที่พระนครศรีอยุธยา โดยให้คำอธิบายว่า บริเวณนี้เคยเป็นบ้านเมืองเก่ามาก่อนภายใต้การปกครองของขอมจากอาณาจักรกัมพูชา ในสมัยหลังลงมามีนักประวัติศาสตร์โบราณคดีนอกกรอบ เช่น อาจารย์มานิต วัลลิโภดม และข้าพเจ้า หาหลักฐานใหม่มาโต้แย้งว่าเมืองอู่ทองเป็นเมืองที่มีมาแต่สมัยทวารวดี อายุเก่ากว่าสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ในพระราชพงศาวดารราว 300-400 ปีขึ้นไป และบริเวณที่เป็นเมืองเก่าสมัยขอมปกครองที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงสร้างเมืองขึ้นใหม่ มีชื่อว่าพระนครศรีอยุธยานั้น ก็เป็นเมืองที่ไม่เคยถูกทิ้งร้าง มีชื่อว่า เมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของคลองคูขื่อหน้าที่กลายมาเป็นลำน้ำป่าสักปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับเมืองธนบุรีที่รัชกาลที่ 1 มาสร้างใหม่เป็นกรุงเทพฯ ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นคลองขุดสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช ที่กลายมาเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยต่อมา กรุงศรีอยุธยาก็เหมือนกับกรุงเทพฯ-ธนบุรี เป็นเมืองเก่า-เมืองใหม่บนสองฝั่งแม่น้ำ ต่างกันแต่ว่ากรุงเทพฯ เป็นชื่อเมืองใหม่ ขณะที่กรุงศรีอยุธยายังคงใช้ชื่อเมืองเดิมที่เรียกว่า “อโยธยา” ซึ่งสามารถแผลงมาเป็น “อยุธยา” ได้เท่านั้นเอง  ปัจจุบันนักวิชาการและคนทั่วไปคลายความเชื่อในเรื่องเมืองอู่ทองคือเมืองร้าง ที่พระเจ้าอู่ทองหรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงทิ้งร้างและย้ายมาสร้างเมืองใหม่ที่พระนครศรีอยุธยากันแล้ว

 

อู่ทอง : เก่าแก่ถึงสมัยฟูนัน

ในขณะที่เมืองโบราณอู่ทองอันเป็นเมืองสมัยทวารวดีนั้น ทางราชการได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีชาวฝรั่งเศสมาทำการศึกษาและขุดค้น ได้ข้อเสนอว่าเป็นเมืองในสมัยทวารวดีจริง แต่เพิ่มเติมมากกว่านั้นในลักษณะที่ว่าเป็นเมืองสำคัญ ที่มีความเก่าแก่กว่าสมัยทวารวดีไปจนถึงสมัยฟูนัน เพราะพบร่องรอยของโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่มีความเก่าแก่ บ่งบอกความเป็นเมืองสำคัญของอาณาจักรฟูนัน ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองออกแอวและอังกอร์บอเรยในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง  ในขณะที่นักโบราณคดีไทยรุ่นเก่า เช่น อาจารย์มานิต วัลลิโภดม และอาจารย์ชิน อยู่ดี ซึ่งค้นคว้าต่อและเชื่อว่าเมืองอู่ทองนอกจากมีอายุอยู่ในสมัยฟูนันแล้ว ยังกินเลยไปจนถึงสมัยสุวรรณภูมิซึ่งสัมพันธ์กับ ตำนานมหาวงศ์ ของลังกา ที่กล่าวถึงเรื่องพระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งสมณทูตคือ พระโสณะและพระอุตตระมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังเมืองสุวรรณภูมิ ทั้งอาจารย์มานิตและอาจารย์ชินให้ความสำคัญกับลูกปัดที่พบที่เมืองอู่ทองมากกว่าบรรดาชุมชนโบราณแห่งใดในประเทศ และเห็นว่าเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ ต่างจากนักโบราณคดีอื่นที่มองลูกปัดเป็นเพียงโบราณวัตถุที่เคลื่อนย้ายได้ ถ้าหากไม่ทราบที่มาก็ไม่มีประโยชน์ ใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงใดๆ มิได้

 

อาจารย์ชินได้ศึกษาลูกปัดเมืองอู่ทองที่พบในขณะนั้นว่า มีจำนวนที่มีรูปแบบเหมือนกับบรรดาลูกปัดที่พบที่เมืองออกแอว อันเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรฟูนันในเวียดนาม แสดงให้เห็นว่าเมืองอู่ทองมีการติดต่อทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมกับเมืองในสมัยฟูนัน ในขณะที่อาจารย์มานิตนำเอาหลักฐานจากเอกสารโบราณและตำนานมาเชื่อมโยงให้เห็นเรื่องราวทางการเมืองของรัฐและอาณาจักรที่ว่า มหาราชของฟูนันอันมีราชธานีอยู่ที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ยกกองทัพเรือออกมาปราบปรามบรรดารัฐและบ้านเมืองตามชายฝั่งทะเล เช่น กิมหลิน  พัน-พัน เซียะโท้ว เป็นต้น  โดยเฉพาะกิมหลินนั้นอยู่ในบริเวณอ่าวใหญ่ที่อาจารย์มานิตให้ความเห็นว่าคือเมืองอู่ทอง ทำให้เมืองอู่ทองมีความเป็นมาอยู่ในสมัยก่อนพุทธศตวรรษที่ 12 ขึ้นไป จนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 8-9 นับเนื่องเป็นสมัยฟูนัน สอดคล้องกันกับโบราณวัตถุหลายชิ้นที่มีรูปแบบทางศิลปะที่พบอยู่ในเมืองอู่ทอง เช่น ชิ้นส่วนของกุฑุที่มีรูปหน้าตาอยู่ข้างใน และปูนปั้นรูปพระสงฆ์อุ้มบาตร มีจีวรเป็นริ้วแบบอย่างศิลปะอมราวดี รวมทั้งศิวลึงค์ที่เหมือนกันกับของที่พบที่เมืองออกแอว ประเทศเวียดนาม เป็นต้น ในเรื่องนี้หากจะใช้โบราณวัตถุที่เป็นศิลปะแบบอมราวดีมาเป็นสิ่งกำหนดอายุของยุคสมัยแล้ว อาจกล่าวได้ว่าเมืองอู่ทองมีอายุเก่าแก่ถึงสมัยอมราวดี ที่มีมาก่อนศิลปะแบบคุปตะตอนปลาย และศิลปะปาละที่นับเนื่องในสมัยทวารวดี

 

ปูนปั้นพระสงฆ์อุ้มบาตร จีวรเป็นริ้วอย่างสมัยอมราวดี พบที่เมืองอู่ทอง

 

คือเมืองสมัยสุวรรณภูมิ

แต่การค้นคว้าหาอายุเก่าแก่ของเมืองอู่ทองจากลูกปัดของอาจารย์มานิตและอาจารย์ชินไม่หยุดอยู่แต่สมัยฟูนัน อาจารย์ชินพบลูกปัดหินรูปสัตว์สองหัวที่เรียกว่า ลิง-ลิง-โอ ที่เมืองอู่ทอง อันเป็นของที่มาจากบ้านเมืองชายทะเลในเวียดนาม อายุราว 500 ปีก่อนคริสตกาลลงมา ซึ่งในวงการโบราณคดีนับเนื่องเป็นยุคเหล็กในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจารย์มานิตเปรียบเทียบเป็นสมัยสุวรรณภูมิ ที่นับเป็นยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ และเชื่อว่าบรรดาแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ของยุคเหล็กที่พบในลุ่มน้ำจรเข้สามพันของเมืองอู่ทองนั้น คือถิ่นฐานบ้านเมืองแต่สมัยสุวรรณภูมิลงมา ความเชื่อของอาจารย์มานิตดูเป็นจริงขึ้นมา เมื่ออาจารย์ชินขุดแหล่งโบราณคดีที่บ้านดอนตาเพชรซึ่งอยู่ในบริเวณต้นน้ำจรเข้สามพันในเขตอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ที่เป็นแหล่งฝังศพคนโบราณ พบลูกปัดหินหลากสี เครื่องสำริด เครื่องมือเหล็กที่มีอายุจากการกำหนดทางวิทยาศาสตร์ของนักโบราณคดีอังกฤษผู้ทำการขุดค้น อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 3 อันเป็นสมัยรัชกาลพระเจ้าอโศกมหาราช และบอกว่ารูปแบบของโบราณวัตถุ เช่น ลูกปัดและภาชนะสำริดเป็นของคนอินเดีย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากภาพสลักบนภาชนะสำริด ที่มีภาพสตรีแต่งกายด้วยเสื้อผ้าและทรงผม ตลอดจนเครื่องประดับแตกต่างไปจากภาพเขียนสีของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยซึ่งส่วนใหญ่นุ่งผ้าเตี่ยว รูปร่างผอมเกร็ง น่องโต ต่างจากทรวดทรงของสตรีในภาพสลักที่ดอนตาเพชร ที่มีลักษณะเอวคอด สะโพกใหญ่ และหน้าอกโตเหมือนกันกับผู้หญิงอินเดียทั้งในอดีตและปัจจุบัน

 

ภาชนะสำริดที่มีภาพสลักดังกล่าวและภาพลวดลายของสัตว์ เช่น ช้างและม้า เป็นลวดลายสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูในอินเดียโบราณ นอกจากนี้ยังมีลูกปัดรูปสัตว์ เช่น สิงห์ ที่นักโบราณคดีผู้ขุดค้นให้ความเห็นว่าเป็นสิงห์ อันเป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาแต่สมัยรัชกาลพระเจ้าอโศกมหาราช นอกจากลูกปัด เครื่องประดับ ที่น่าจะมาจากอินเดียแล้ว ยังมีเครื่องสำริดและลูกปัดแบบลิง-ลิง-โอที่มาจากทางเวียดนาม อายุราว 500 ปีก่อนคริสตกาลลงมา สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างอินเดียตะวันตกกับเวียดนามและยูนนานในยุคพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ดอนตาเพชรในลุ่มน้ำจรเข้สามพันอย่างชัดเจน หลักฐานดังกล่าวทำให้อาจารย์มานิตเชื่อและเสนอว่าอู่ทองคือเมืองในสมัยสุวรรณภูมิ และในที่สุดเรื่องการเผยแผ่พุทธศาสนาเข้ามายังอู่ทองก็ได้หลักฐานเพิ่มเติมจากลูกปัดตรีรัตนะจากเมืองอู่ทอง ที่นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช รวบรวมไว้

 

ภาชนะสำริดสลักภาพสตรีซึ่งมีสรีระแบบหญิงอินเดีย ได้จากแหล่งโบราณคดีดอนตาเพชร จ. กาญจนบุรี

(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)

 

งานค้นคว้าศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีที่ข้าพเจ้าทำสืบต่อมาจากบิดา ก็คือการพบว่าเมืองอู่ทองและลุ่มน้ำจรเข้สามพันเป็นบริเวณศูนย์กลางของการคมนาคมบนเส้นทางข้ามคาบสมุทร ตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิลงมาจนถึงสมัยฟูนัน คือคนจากอินเดียข้ามมหาสมุทรอินเดียมาขึ้นบกที่แหล่งจอดเรือและเมืองท่า (Port polity) ทางฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งอยู่บริเวณชายทะเลตั้งแต่เมืองทวายลงมาจนถึงเขตเมืองระนอง จากนั้นข้ามเทือกเขาตะนาวศรีมายังอำเภอสวนผึ้ง ผ่านชุมชนบ้านเมืองระหว่างทางที่ตั้งอยู่ใกล้ทะเลสาบภายในที่อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ขึ้นมาตามลำน้ำแม่กลองในเขตจังหวัดกาญจนบุรี ข้ามแม่น้ำมายังลุ่มน้ำจรเข้สามพัน ถึงบริเวณท่าจอดเรือ ที่ต่อมาคือเมืองอู่ทอง อันเป็นที่ที่มีการส่งต่อสินค้าข้ามคาบสมุทรผ่านอ่าวไทยไปยังบ้านเมืองทางตะวันออก เช่น เวียดนามและยูนนาน

 

การศึกษาสำรวจทางโบราณคดีที่เกี่ยวกับชุมชนโบราณและภูมิวัฒนธรรม เพื่อทำความเข้าใจเมืองอู่ทองของข้าพเจ้ายังดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ข้าพเจ้าและผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พรชัย สุจิตต์ จากภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกันศึกษาสำรวจแหล่งชุมชนโบราณในลุ่มน้ำจรเข้สามพันและลุ่มน้ำท่าว้าที่มาสบกันเป็นลำคลองสองพี่น้อง ไปออกพื้นที่ลุ่มต่ำของแม่น้ำสุพรรณบุรีทางตะวันออก ซึ่งเคยเป็นเวิ้งทะเลของอ่าวไทย พบร่องรอยของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคเหล็กที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับเมืองอู่ทอง คือราว 500 ปีก่อนคริสตกาลลงมา ล้วนมีความสัมพันธ์กัน บรรดาลูกปัดแบบที่พบที่เมืองอู่ทอง ที่ประกอบด้วยลูกปัดธรรมดาที่พบบนผิวดินที่มีอายุราวสมัยทวารวดีลงมา กับลูกปัดที่พบตามแหล่งฝังศพที่มีอายุสมัยสุวรรณภูมิลงมา เช่นที่ดอนตาเพชร และโคกสำโรงในเขตเมืองอู่ทอง บรรดาลูกปัดที่พบจากหลุมศพเหล่านั้น ทั้งลวดลายสัญลักษณ์ ขนาด และสีคล้ายคลึงกันกับที่พบที่เมืองอู่ทอง จึงอนุมานได้ว่าบรรดาชุมชนโบราณเหล่านั้นร่วมสมัยกันกับเมืองอู่ทอง เมื่อลงตำแหน่งที่ตั้งและการกระจายตัวของชุมชนในพื้นที่ แสดงให้เห็นว่าเมืองอู่ทองมีความหนาแน่น และเป็นบริเวณศูนย์กลางของเส้นทางคมนาคมและการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า ที่น่าจะเป็นแหล่งท่าจอดเรือที่พัฒนาการขึ้นมาแต่สมัยสุวรรณภูมิ เพราะเป็นบริเวณปลายสุดที่สินค้าผ่านข้ามมหาสมุทรมาจากอินเดีย ผ่านเส้นทางบกข้ามช่องเขามายังเมืองชายทะเลในอ่าวไทย ก่อนจะต่อไปยังเวียดนามและยูนนาน

 

นครรัฐร่วมสมัยก่อนการเดินเรืออ้อมแหลมมลายู

ในสมัยสุวรรณภูมิที่กล่าวมา ยังไม่อาจกล่าวได้ว่ามีการสร้างเมืองอู่ทองให้เป็นเมืองที่มีคูน้ำและคันดินโอบรอบหรือไม่ แต่ในการขุดค้นทางโบราณคดีในเมืองอู่ทองและพื้นที่โดยรอบ เช่นสองฝั่งลำน้ำจรเข้สามพันและลำน้ำเล็กๆ ที่ไหลลงจากเขาทำเทียมสู่ที่ราบลุ่ม มีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนแต่สมัยสุวรรณภูมิจนถึงสมัยทวารวดี อันแสดงให้เห็นการสืบเนื่องและการขยายตัวเติบโตของชุมชน ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการจัดการน้ำ ทั้งในด้านการชลประทานเพื่อการเพาะปลูก และการมีสระน้ำและอ่างเก็บน้ำเพื่อการบริโภคอุปโภคของชุมชนได้ อันเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการสร้างทำนบ การสร้างอ่างเก็บน้ำและคูน้ำ กำแพงเมืองขึ้นมา โดยเฉพาะคูเมืองอู่ทองนั้น มีความกว้างและลึกพอเป็นที่กักเก็บน้ำไว้ได้ (tank moats) ดังเช่นชุมชนโบราณที่มีคูน้ำหรือสระน้ำล้อมรอบในภาคกลางและภาคอีสาน การสร้างเมืองที่มีคูน้ำคันดินโอบรอบอย่างที่เมืองอู่ทอง รวมทั้งบรรดาทำนบเพื่อการแบ่งน้ำ แยกน้ำ และกระจายน้ำนั้น คือโครงสร้างทางกายภาพที่เกิดขึ้นมาก่อนสมัยทวารวดี ซึ่งเมื่อศึกษาจากบรรดาโบราณสถาน โบราณวัตถุ ในเมืองอู่ทองที่มีการขุดค้นและสำรวจแล้วหลายๆ แห่ง เป็นของที่มีมาก่อนสมัยทวารวดี ดังเช่น ลูกปัด ลายปูนปั้น รูปพระสงฆ์ ภาพคนในซุ้มกุฑุที่ประดับสถาปัตยกรรม ในช่วงเวลานี้ชาวเมืองอู่ทองนับถือศาสนาทั้งพุทธและพราหมณ์ ดังเห็นได้จากการกระจายตัวของบรรดาศาสนสถานพราหมณ์ที่ลาดเขาถ้ำเสือ และการมีอยู่ของอ่างเก็บน้ำ (บาราย) ที่คนท้องถิ่นเรียก คอกช้าง อยู่ห่างจากเมืองอู่ทองราว 7 กิโลเมตรทางตะวันตกเฉียงใต้ และเทวรูปพระนารายณ์สวมหมวกแขกที่ท่าพระยาจักร ริมลำน้ำจรเข้สามพันในเขตย่านตลาดเมืองอู่ทอง เป็นต้น นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสคนสำคัญคือศาสตราจารย์ฌอง บวสเซอลิเยร์ (Prof. Jean Boisselier) ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ศิลปะ ที่ทางกรมศิลปากรเชิญมาทำการขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองอู่ทอง คือบุคคลสำคัญที่บอกว่าเมืองอู่ทองมีมาแต่สมัยฟูนัน รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรฟูนันด้วย ในขณะที่อาจารย์มานิตอ้างหลักฐานจากจดหมายเหตุจีนที่กล่าวถึงฟูนันว่า กษัตริย์องค์สำคัญของฟูนันคือ ฟันมัน ยกกองทัพเรือมาปราบปรามรัฐที่อยู่ทางฝั่งทะเลที่เป็นอ่าวใหญ่ ชื่อกิมหลินหรือเมืองอู่ทอง และในการศึกษาภูมิศาสตร์เมืองโบราณในประเทศไทยของข้าพเจ้า เมืองอู่ทองคือรัฐเมืองท่าบนเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรในสมัยฟูนัน ก่อนที่จะเกิดเมืองนครชัยศรีหรือนครปฐมโบราณพัฒนาขึ้นมาแทนที่ หลังจากเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรเปลี่ยนมาเป็นเส้นทางอ้อมแหลมมะละกาในสมัยทวารวดีและศรีวิชัย

 

นครรัฐร่วมสมัยกับอู่ทองหรือกิมหลินก็คือละโว้ ที่อยู่ทางฟากตะวันออกของอ่าวไทย ซึ่งเป็นเครือข่ายของเมืองท่า และเมืองศรีมโหสถในเขตจังหวัดปราจีนบุรี ที่นับเนื่องบนเส้นทางการค้ากับฟูนันในช่วงเวลาของการใช้เส้นทางข้ามคาบสมุทรจากเมืองอู่ทองข้ามเขาตะนาวศรีมายังชายฝั่งทะเลอันดามัน ทั้งอู่ทอง ละโว้ ศรีมโหสถ ล้วนเป็นรัฐเมืองท่าที่อยู่ในเวิ้งอ่าวใหญ่ที่เป็นลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งในจดหมายเหตุจีนรุ่นสมัยทวารวดีที่บันทึกโดยหลวงจีนเหี้ยนจังและอี้จิงกล่าวถึงรัฐหลั่งยะสิว โตโลโปตี นั้น เป็นช่วงเวลาที่การเดินทางข้ามคาบสมุทรหมดความสำคัญแล้ว เพราะมีเส้นทางอ้อมแหลมมะละกามาแทน ทำให้เมืองอู่ทองหมดความสำคัญในความเป็นเมืองท่า เปลี่ยนมาเป็นเมืองนครชัยศรี (นครปฐมโบราณ) แทน ขณะที่ละโว้และศรีมโหสถยังดำรงต่อมาอย่างสืบเนื่อง บรรดานครรัฐในยุคนี้มีการรวมตัวกันเป็นสมาพันธรัฐ หรือมัณฑละทวารวดี ภายใต้อำนาจบารมีของพระเจ้ากรุงทวารวดี (ศรีทวารวดีศวร) ถ้าเดินทางตามการยกกองทัพเรือของกษัตริย์ฟันมันจากฟูนัน มาปราบปรามบ้านเมืองตามอ่าวชายทะเลเช่นกิมหลินแล้ว ยังมีนครรัฐอีกหลายแห่งต่ำจากกิมหลินลงไป เช่นรัฐที่เรียกว่า พัน-พัน และ เซียะโท้ว เป็นต้น

 

มุขลึงค์พบที่เมืองอู่ทอง

 

การศึกษาของข้าพเจ้าในขณะนี้มีความเห็นว่าพัน-พันอยู่ที่อ่าวบ้านดอน เป็นรัฐที่ต่อมาอยู่ในมัณฑละศรีวิชัย ร่วมสมัยกันกับทวารวดี ซึ่งพบการเอ่ยพระนามของพระเจ้ากรุงศรีวิชัย ต่ำจากอ่าวบ้านดอนเป็นบริเวณสันทรายไปจดทะเลสาบสงขลา เป็นเขตแคว้นของรัฐที่เรียกว่า เซียะโท้ว มีนครรัฐซึ่งมีตัวตนและหลักฐานโบราณคดีอยู่ที่ตามพรลิงค์ ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตั้งแต่อำเภอขนอม สิชล ท่าศาลา ผ่านอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชลงมาจนถึงปากพนัง รัฐตามพรลิงค์มีหลักฐานระบุในศิลาจารึกหลักที่ 24 วัดหัวเวียง เมืองไชยา กล่าวถึง “ตามพรลิงเคศวระ” กับ “ตามพรลิงเคศวร” หรือพระเจ้ากรุงตามพรลิงค์ เช่นเดียวกับพระเจ้ากรุงศรีวิชัย และพระเจ้ากรุงทวารวดีที่นับเนื่องเป็นสมัยทวารวดีร่วมกัน การเสนอเรื่องราวทางโบราณคดีในวารสารฉบับนี้ จะเป็นเรื่องของตามพรลิงค์ที่มีมาแต่สมัยทวารวดี ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-13 ลงมา จนถึงสมัยพุทธศตวรรษที่ 18-19 หลังจากนั้นรัฐตามพรลิงค์ได้เปลี่ยนมาเป็นนครศรีธรรมราช

 

ควบคู่ไปกับการศึกษาชุมชนโบราณและภูมิวัฒนธรรม ข้าพเจ้าให้ความสนใจกับศาสนา พิธีกรรม และประติมากรรมที่เป็นรูปเคารพที่พบตามแหล่งชุมชนโบราณ เพื่อศึกษาการนับถือศาสนาของบ้านเมืองเหล่านั้นในระยะเวลาต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ พบว่าบ้านเมืองในสมัยทวารวดีที่พบทั้งในภาคกลาง ภาคใต้ และภาคอีสาน มีการนับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่มีพุทธมหายาน คือการนับถือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปัทมปาณิและเมตไตรยเป็นสำคัญ เป็นพระพุทธศาสนาในอินเดียครั้งหลวงจีนฟาเหียน เหี้ยนจัง และอี้จิง ซึ่งแพร่หลายผ่านลังกาเข้ามาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-14 ซึ่งก่อนหน้าพุทธศตวรรษที่ 12 นั้น บ้านเมืองที่เกิดมาก่อนตั้งแต่สมัยฟูนัน มีการนับถือพุทธเถรวาทและฮินดูปะปนกัน เหตุนี้จึงพบบรรดารูปเคารพทางศาสนาร่วมสมัยเดียวกันในยุคฟูนัน หากเป็นพระพุทธรูปแม้ว่าจะเรียกรวมๆ กันว่าเป็นแบบทวารวดี แต่รูปร่างหน้าตาจะละม้ายไปทางพระพุทธรูปอินเดียสมัยอมราวดีและสมัยอนุราธปุระของลังกา ขณะที่เทวรูปในศาสนาฮินดูเป็นเทวรูปรุ่นเก่าที่เรียกว่า สมัยเจนละ หรือสมัยก่อนเมืองพระนคร เป็นรูปเคารพที่เกิดขึ้นร่วมสมัยทวารวดีแต่พุทธศตวรรษที่ 12-13 ลงมา รวมทั้งเก่าแก่ขึ้นไปถึงพุทธศตวรรษที่ 9-10 อันนับเนื่องเป็นสมัยฟูนัน ทั้งพระพุทธรูปและเทวรูปรุ่นเก่าที่กล่าวมานี้ นับเนื่องเป็นสมัยฟูนันที่พบตามบ้านเมืองที่มีเส้นทางการค้าผ่านบรรดาบ้านเมืองต่างๆ ในยุคก่อนอ้อมแหลมมะละกาในสมัยทวารวดี-ศรีวิชัย ราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 ลงมา