ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างไทย-จีน มีความสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยโบราณ สะท้อนผ่านคติความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม ตลอดจนวิถีชีวิตประจำวัน เช่น อาหารการกิน รูปแบบงานศิลปกรรมก็เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลศิลปกรรมจีนที่ถูกหยิบยืมมาผสมผสานเข้ากับลักษณะงานช่างท้องถิ่น ดังที่ปรากฏอยู่ในลวดลายปูนปั้นประดับอาคารศาสนสถาน จิตรกรรม และเครื่องถ้วยประเภทต่างๆ
ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 5 ฉบับที่ 6 (สิงหาคม - กันยายน 2522) มีบทความตีพิมพ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับอิทธิพลจีนในงานศิลปกรรมไทยยุคสมัยต่างๆ ซึ่งมีทั้งหมด 2 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ “มัณฑนะศิลปจีนส่งอิทธิพลแก่ศิลปไทย” โดย ธีระ คำลือชา และ “ศิลปจีนที่เข้ามาสัมพันธ์กับศิลปไทย” โดย น. ณ ปากน้ำ (อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ) มีเนื้อหาสาระโดยสังเขป ดังนี้
ภาพลายเส้นรูปดอกไม้ เทียบระหว่างลวดลายศิลปจีนกับศิลปไทย
มัณฑนะศิลปจีนส่งอิทธิพลแก่ศิลปไทย
โดย ธีระ คำลือชา
วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 5 ฉบับที่ 6 (สิงหาคม - กันยายน 2522) หน้า 13-22
“จากจดหมายเหตุของจีนได้กล่าวถึง ฟูนัน เจนละ และจินหลิน ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำโขงนั้น แสดงให้เรารู้ว่าจีนได้เข้ามามีบทบาทแพร่วัฒนธรรมและศิลปกรรมเข้าสู่ดินแดนแถบนี้ ฉะนั้น จึงเห็นว่าเราได้อิทธิพลจากศิลปจีนมาเกือบทุกยุคสมัย เฉกเช่นเราได้รับอิทธิพลมาจากศิลปกรรมอินเดียดุจกัน ซึ่งได้ปรากฏอยู่ในลีลาของศิลปกรรมบางแบบ ในแต่ละสมัยของศิลปไทยจนทุกวันนี้”
ผู้เขียนได้นำเสนอพัฒนาการของลวดลายประดับที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปจีน ทั้งที่พบในงานจิตรกรรมและงานปูนปั้น ตั้งแต่ยุคสมัยสุโขทัยจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยทำเป็นภาพวาดลายเส้นเปรียบเทียบให้เห็นถึงการคลี่คลายของรูปแบบลวดลายต่างๆ เช่น ลวดลายดอกไม้แบบจีน โดยเฉพาะดอกโบตั๋น ซึ่งเป็นลวดลายประดับที่พบมากในงานศิลปกรรมสมัยสุโขทัยและอโยธยา ราวพุทธศตวรรตที่ 19-20 เช่น ลวดลายดอกไม้แบบจีนในภาพสลักเรื่องชาดกบนแผ่นหินชนวนที่ประดับอยู่ภายในอุโมงค์มณฑปวัดศรีชุม สมัยสุโขทัย และลวดลายปูนปั้นประดับผนังวิหารวัดไลย์ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นศิลปะสมัยอโยธยา
ลายกลีบบัวแบบจีน นิยมทำกลีบหยักโค้ง พบในศิลปะสมัยสุโขทัยและอโยธยา
นอกจากนี้มียังมี “ลายบัวแบบจีน” ทำกลีบหยักโค้ง พบที่ลายกระจังประดับเสาด้านในวิหารวัดไลย์ “ลายประแจจีน” มีลักษณะของลายที่หักมุมสอดสลับกัน พบในลวดลายปูนปั้นที่วิหารวัดไลย์เช่นเดียวกัน เป็นต้น
ลายปูนปั้นบนผนังด้านหลังวิหารวัดไลย์ จังหวัดลพบุรี ทำเป็นลายประแจจีน
อ่านบทความฉบับเต็มใน “10 ปีแรก วารสารเมืองโบราณ” คลิก https://www.yumpu.com/en/document/view/67682806/-5-6
รูปปั้นดินเผาเคลือบ ทำเป็นรูปบุคคลขนาดสูงใหญ่ เดิมตั้งไว้ตรงบริเวณประตูทางเข้าพระอุโบสถ วัดราชโอรส แต่ภายหลังถูกโจรมาลักตัดหัวไปจนหมด
ศิลปจีนที่เข้ามาสัมพันธ์กับศิลปไทย
โดย น. ณ ปากน้ำ
วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 5 ฉบับที่ 6 (สิงหาคม - กันยายน 2522) หน้า 23-38
อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ เล่าถึงอิทธิพลของศิลปจีนที่แพร่หลายเข้ามายังดินแดนไทยในยุคสมัยต่างๆ โดยมีปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ การเผยแผ่ความเชื่อทางศาสนาพุทธมหายาน การค้าสำเภา และคนจีนโพ้นทะเลที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภูมิภาคต่างๆ ของไทย
ภาพจำหลักบนประตูบานเฟี้ยมแบบจีน พบที่คฤหาสน์เจ้าเมืองสงขลา ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
ในสมัยอยุธยามีอิทธิพลศิลปจีนปรากฏอยู่ในงานศิลปกรรมหลายอย่าง เช่น จิตรกรรมภายในกรุปรางค์วัดราชบูรณะ สมัยอยุธยาตอนต้น ขณะที่เครื่องถ้วยจีนประเภทต่างๆ ได้กลายเป็นสินค้ายอดนิยมเรื่อยมาจนถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังพบว่ามีภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนปลายที่มีการเขียนรูปสถาปัตยกรรมแบบจีน เช่น อาคารเก๋งจีน แทรกอยู่ตามภาพปราสาทราชวังและบ้านเรือน จึงเป็นไปได้ว่าการก่อสร้างอาคารแบบจีนได้แพร่หลายเข้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว
ภาพจำหลักนูนแบบจีนที่วัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา
การค้าสำเภากับจีนยังคงมีความสำคัญสืบเนื่องเรื่อยมาถึงสมัยธนบุรีและรุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อันเป็นช่วงเวลาที่ปรากฏรูปแบบงานศิลปกรรมแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 ที่ได้รับอิทธิพลงานศิลปกรรมจีนอย่างเข้มข้น เช่น พระอุโบสถนิยมทำเสาพาไลเป็นทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ไม่มีบัวหัวเสา ทรงหลังคาทำอย่างเก๋งจีน ไม่มีคันทวย ช่อฟ้า และใบระกา ส่วนหน้าบันประดับด้วยสัญลักษณ์มงคล ลวดลายดอกไม้แบบจีน หรือชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนหลากสีสัน
ภาพจำหลักบนประตูบานเฟี้ยมแบบจีน พบที่คฤหาสน์เจ้าเมืองสงขลา ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
นอกจากนี้ยังพบรูปแบบงานสถาปัตยกรรมจีนประเภทที่อยู่อาศัย ได้แก่ คฤหาสน์ บ้านเรือน ตึกแถว รวมถึงศาลเจ้า สร้างขึ้นโดยกลุ่มคนจีนโพ้นทะเลที่เดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานและเปิดธุรกิจการค้าในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย เช่น ตึกแถวและคฤหาสน์เก่าในย่านสำเพ็ง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพฯ ตึกแถวแบบจีนและแบบผสมผสานอิทธิพลตะวันตกพบที่ตะกั่วป่า ภูเก็ต สงขลา นอกจากนี้ยังมีตึกแถวที่ก่อด้วยดินเหนียว พบมากในแถบภาคอีสาน เช่น กันทรลักษณ์ ยโสธร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เป็นต้น
อ่านบทความฉบับเต็มใน “10 ปีแรก วารสารเมืองโบราณ” คลิก https://www.yumpu.com/en/document/view/67682806/-5-6